Untold Story “The Cartiers” Part IX
ส่วนตัวของ Jacqueline เองนั้นเติบโตมาเป็นผู้หญิงที่ถือว่าเชื่อมั่นในตัวเองสูง และยังมีมุมมองทางการเมืองอันแข็งกร้าว โดยในปี 1917 เธอแต่งงานกับท่านเคาน์ Charles Bissingen-Nippenburg ขุนนางฮังกาเรียน แต่เพียงหนึ่งปีต่อมาหลังจากนั้น เมื่ออายุได้เพียง 23 เธอก็ได้กลายเป็นแม่ม่ายหลังจากสงคราม ส่วน Louis เองก็รู้สึกหลงใหล Jacqueline ที่ทั้งยังยังเด็ก สวย และถือว่ามีศักดินา แต่สิ่งที่ดึงดูดใจมากกว่านั้น คือการที่เธอพูดจาฉะฉาน มีความมั่นใจในความคิดของตัวเอง Louis จึงตัดสินใจต่อเวลาการเดินทางเพื่ออยู่ในเมืองนี้เพิ่ม โดยเพียรพยายามส่งดอกไม้ไปให้เธอทุกเช้า และพาเธอไปทานอาหารเย็นที่ไนท์คลับสุดพิเศษเกือบทุกวัน แม้ในความรู้สึกส่วนหนึ่งของเขาจะยังคงรัก Jeanne Toussaint แต่เขาตัดสินใจเรียบร้อยแล้วว่า เขาจะไม่แต่งงานกับเธอ โดยจะเป็นได้เพียงความทรงจำและความสัมพันธ์ที่ไม่สามารถไปต่อได้ ทั้งด้วยภาระทางธุรกิจและเพราะต้องการรักษาชื่อเสียง ที่พ่อของเขาได้เสียสละทำงานอย่างหนักเพื่อทุกคน ดังนั้นเมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิในปี 1922 หนังสือพิมพ์ในฮังการีจึงได้ประกาศข่าวดีถึงการหมั้นหมายของพวกเขา และงานแต่งงานก็จัดขึ้นที่ฮังการีในเดือนมกราคมปี 1924
ในปี 1924 หนึ่งเดือนหลังจากการแต่งงาน Louis เลือกที่จะลาออกจากคณะกรรมการบริษัท CARTIER S.A. โดยเขายังคงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยมอบตำแหน่งให้กับ René Revillon ลูกเขยของเขาเป็นกรรมการผู้จัดการ โดยการปรับคณะกรรมการครั้งนี้ทำให้ Louis สามารถมุ่งไปที่การสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งเขาได้รับแรงบันดาลใจจากโบราณวัตถุ ในเอเชียที่เขาเคยพบเห็นในร้านค้าต่างๆ ที่ปารีส เช่น งานศิลปะของ C.T. Loo(Ching Tsai Loo) ผู้ค้างานศิลปะและวัตถุโบราณจากจีน โดยเขาขายงานให้กับพิพิธภัณฑ์ และนักสะสมที่สำคัญทั่วทั้งในยุโรปและอเมริกา ซึ่งเขาเองมักถูกกล่าวหาว่าขโมยสิ่งของล้ำค่าในประเทศบ้านเกิดของเขามาขาย และเป็นที่มาที่ทำให้ในช่วงปี 1924 Louis ได้นำเสนอผลงานชิ้นเอกขึ้นนั่นก็คือ Tank Chinoise ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของนาฬิการุ่น Tank อันคลาสสิคที่ได้แรงบันดาลใจจากมุขของวัดจีน
Louis เองมักมีไอเดียในด้านการสร้างสรรค์สำหรับ CARTIER แต่บางครั้งก็ได้จากพนักงานของเขา และบางครั้งก็อาจจะเป็นไอเดียจากลูกค้าอย่างเช่น Jean Cocteau นักประพันธ์ นักเขียนบทละคร/กวี ศิลปินชาวฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียง และมีอิทธิพลมากที่สุดในด้านศิลปะช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดย Jean Cocteau ชื่นชม CARTIER มาตั้งแต่อายุยังน้อย โดยได้เขียนบทความถึง CARTIER ว่าเป็น "นักมายากลผู้บอบบางที่จับเศษเสี้ยวของดวงจันทร์ ไว้บนเส้นด้ายของดวงอาทิตย์" Louis ที่มีบางอย่างเหมือน Cocteau คือมีความเป็นศิลปินที่มีความเชื่อว่า ศิลปะต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง Louis จึงศึกษารูปแบบศิลปะตั้งแต่บทกวี นวนิยาย และบทละคร ไปจนถึงการร่างภาพและการวาดภาพ ดนตรี รวมทั้งภาพยนตร์ โดยเมื่อ Cocteau อายุ 66 ปี เขาได้รับเชิญจาก Académie Française หรือสภาภาษาฝรั่งเศสที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1635 เพื่อกล่าวสุนทรพจน์เป็นเวลา 2 ชั่วโมงในปี และทำให้ผู้คนทึ่งในความความเฉลียวฉลาดด้านบทกวีของเขา รวมไปถึงเครื่องแต่งกายด้วยเสื้อคลุมของ LANVIN และในมือซ้ายถือดาบในมาดนักวิชาการอันโดดเด่นซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นโดย CARTIER ที่เขาได้ร่วมออกแบบชิ้นงานด้วยตัวเอง
ชื่อของ Cocteau นั้นเชื่อมโยงกับผลงานสร้างสรรค์ของ CARTIER หลายชิ้นซึ่งหนึ่งในผลงานที่ปรากฏออกมาได้อย่างเด่นชัดเจนที่สุด นั่นก็คือแหวนที่เชื่อมต่อกันเป็นชุดสามชิ้น โดยมีเรื่องราวเกี่ยวกับที่มาของแหวนวงนี้ในมากมายหลายชื่อ โดยในช่วงหลายปีแรกมีการเรียกแหวนวงนี้ว่า Bague Troisors ซึ่งมีความหมายถึงแหวนทองคำสามชุด หรือ Bague Trois Anneaux ซึ่งมีความหมายถึงวงแหวนสามชั้น รวมทั้งในชื่อวงแหวนกลิ้ง วงแหวนแต่งงานรัสเซีย และล่าสุดในชื่อ Trinity ซึ่งเป็นชื่อที่มีความหมายอย่างชัดเจนที่สุด โดยเมื่อ CARTIER สร้างวงแหวนที่ผลิตจากแพลทตินั่มในแบบเรียบง่าย ประกอบเข้ากับวงแหวนเยลโลว์โกลด์ และวงแหวนโรสโกลด์ โดยวงแหวนทั้งสามจะประกอบรวมกันได้เป็นหนึ่งเดียว พร้อมถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกในปี 1924 และได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งต่อมาวัสดุแพลทตินั่มของแหวนรุ่นนี้ ถูกแทนที่ด้วยวัสดุไวท์โกลด์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันแทน
โดยมีเรื่องเล่าว่าแหวน Trinity มาจากแรงบันดาลใจในความฝันของ Cocteau ในช่วงเวลาที่ Raymond Radiguet นักประพันธ์หนุ่มผู้เป็นที่รักของเขาเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ซึ่งอาจเป็นภายใต้อิทธิพลของฝิ่นที่เขาเสพและทำให้ Cocteau บอกว่ามองเห็นวงแหวนรอบดาวเสาร์และรู้สึกทึ่งในมนตร์เสน่ห์ และเขาคิดว่า CARTIER จะสามารถแปลงวงแหวนเหล่านั้น ให้เป็นแหวนสำหรับนิ้วก้อยของเขาได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามเรื่องราวนี้ไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่บทบาทของ Cocteau ในการช่วยให้แหวน Trinity ของ CARTIER กลายเป็นสัญลักษณ์อันสำคัญ ที่ไม่ใช่เพียงเครื่องประดับในหมู่เกย์ยังมีมากกว่านั้น โดยในช่วงทศวรรษที่ 1930 แหวนนี้ยังเชื่อมโยงกับคู่รักอีกคนหนึ่งของเขาด้วย นั่นก็คือเจ้าหญิงแสนสวยแห่งรัสเซีย Natalia Pavlovna Paley ซึ่งเป็นลูกสาวของดยุค Paul Alexandrovich และเจ้าหญิง Olga Valerianovna Paley ดังนั้นจึงทำให้ในช่วงปี 1940 แหวน Trinity ได้รับการยอมรับอย่างมากมาย รวมไปถึงชายที่มีชื่อเสียงและเลือกการต่อต้านราชวงศ์ของตนเอง โดยการสละราชบัลลังก์เพื่อความรักนั่นก็คือดยุคแห่งราชวงศ์ Windsor
ซึ่งแนวคิดในการสร้างสรรค์ของ Louis ยังคงส่งผลให้ CARTIER อย่างต่อเนื่องจากการนำเสนอนาฬิกาในแบบที่หลากหลายมากขึ้น โดยเพิ่มคุณประโยชน์ด้านต่างๆ ให้กับนาฬิกา ทั้งในแง่ของการแสดงเวลา และราคาที่ไม่แพงมากนักเช่น นาฬิกาสำหรับเดินทางขนาดเล็กซึ่ง Louis ยังคงเชื่อมั่นในอนาคตของนาฬิกาข้อมือ แม้ว่าความคิดเห็นของสาธารณชน จะไม่ค่อยสอดคล้องกับมุมมองของเขาก็ตาม และนาฬิกาพกก็ยังคงได้รับความนิยมมากกว่า โดยย้อนไปในปี 1919 ที่นาฬิการุ่น Tank จำนวน 6 เรือนแรกได้นำออกจำหน่าย และช่วงสามปีต่อจากนั้น CARTIER ก็ได้ต่ออายุสัญญาระยะยาวกับทาง Edmond Jaeger ช่างนาฬิกาฝีมือสูงจากสวิตเซอร์แลนด์และได้จ้าง Henri Rodanet ผู้เชี่ยวชาญด้านนาฬิกาชาวปารีส และทั้งสองก็ได้ทดลองสร้างต้นแบบของนาฬิการุ่น Tank Cintrée ที่มีรูปทรงโค้งไปจนถึงนาฬิการุ่น Tank Allongée รูปทรงสี่เหลี่ยมยาวแนวตั้งรวมไปถึงนาฬิการุ่น Cloche รูปทรงระฆังแปลกตา
ดังนั้นหลังจากที่ Edmond Jaeger ในวัย 64 ปีเสียชีวิตลงในปี 1922 CARTIER ก็ยังคงเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทในชื่อเดียวกันของเขาอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งต่อมาที่ทาง JAEGER จะมีการควบรวมกิจการกับ LeCOULTRE แต่อิทธิพลมหาศาลทางแนวคิดด้านกลไกของ Edmond Jaeger ที่เน้นไปที่นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการยึดมั่นในคุณภาพระดับสูงสุด จะยังคงเป็นแนวคิดและวิธีการที่ Louis เชื่อถือให้ผลิตนาฬิกาสำหรับ CARTIER ต่อไป และในช่วงเวลาต่อมาตามที่ Louis คาดการณ์ไว้ถึงเรื่องของนาฬิกาข้อมือที่จะมาแทนนาฬิกาพก แม้ในขณะนั้นแง่ของความน่าดึงดูดเรื่องนี้ สำหรับกลุ่มลูกค้ายังมีจำนวนไม่มาก แต่ไม่ช้านานแนวคิดของ Louis ก็กลายเป็นจริงและนาฬิกาข้อมือก็แพร่หลายไปทั่วทั้งโลก
โปรดติดตามตอนต่อไปในครั้งหน้า และสามารถติดตามบทความ Untold Story “The Cartiers” ตอนก่อนหน้านี้ได้ที่
Untold Story “THE CARTIERS” Part I
Untold Story “THE CARTIERS” Part ll
Untold Story “THE CARTIERS” Part llI
Untold Story “THE CARTIERS” Part lV
Untold Story “THE CARTIERS” Part V
Untold Story “THE CARTIERS” Part Vl
Untold Story “THE CARTIERS” Part VlI
Untold Story “THE CARTIERS” Part VlIl