SIHH 2018 - Thin, Moon Phase และ Outsize Date นาฬิกาใหม่ล่าสุดจากตระกูล Saxonia ของ A. LANGE & SӦHNE
ปี 2018 ที่งาน SIHH ในเจนีวา แบรนด์นาฬิการะดับสูงที่เรียกได้ว่าเป็นอันดับหนึ่งของเยอรมัน A. LANGE & SӦHNE (เอ ลังเงอ แอนด์ โซเนอ) เปิดตัวนาฬิการุ่นใหม่จากตระกูล Saxonia ออกมาพร้อมกันถึง 3 รุ่น 3 ฟังก์ชั่น โดย 2 รุ่นจะเป็นเวอร์ชั่นใหม่ของรุ่นที่มีอยู่แล้ว อันได้แก่ รุ่นหรูเรียบในตัวเรือนสุดบาง Saxonia Thin วัสดุไวท์โกลด์ที่มากับหน้าปัดสีใหม่ คอปเปอร์ บลู และรุ่น Saxonia Moon Phase ในวัสดุไวท์โกลด์หรือพิ้งค์โกลด์ที่มากับหน้าปัดสีดำ ส่วนอีกรุ่นนั้นเป็นรุ่นที่เพิ่งเปิดตัวออกมาใหม่เป็นครั้งแรก นั่นก็คือรุ่นเอ้าท์ไซส์เดท Saxonia Outsize Date
ก่อนจะเข้าเรื่อง ขอย้อนความถึงนาฬิกาตระกูล Saxonia กันสักนิด นาฬิกาตระกูล Saxonia นั้นเป็นหนึ่งในสี่ตระกูลหลักของนาฬิกา A. LANGE ในยุคใหม่ ซึ่งกลับมาผลิตนาฬิกาออกจำหน่ายตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมา โดยชื่อคอลเลคชั่นนั้นมาจากชื่อแคว้น แซ็กโซนี อันเป็นแหล่งกำเนิดดั้งเดิมของแบรนด์ที่ Ferdinand Adolph Lange เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นในปี 1845 สำหรับเจเนอเรชั่นปัจจุบันของนาฬิกาตระกูล Saxonia นั้นเป็นการปรับโฉมเมื่อปี 2015 โดยเป็นการอัพเดทลักษณะหน้าปัดให้ดูร่วมสมัยยิ่งขึ้น แต่ก็ยังคงความเป็นนาฬิกาดีไซน์มินิมัลที่สวยงามแบบเรียบง่ายแต่ครบครันสำหรับการใช้งานอันเป็นคอนเซ็ปต์ประจำตัวของตระกูลนาฬิกา Saxonia เอาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง
Saxonia Thin หน้าปัดสีน้ำเงิน คอปเปอร์ บลู (Ref. 205.086)
ปีนี้นาฬิกาดีไซน์เรียบหรูสุดเนี๊ยบอย่าง Saxonia Thin ในตัวเรือนขนาด 39 มม. ที่มีความบางเฉียบเพียง 6.2 มม. มีทางเลือกใหม่ออกมาเพิ่มเติมจากเดิมที่มีแต่หน้าปัดโซลิดซิลเวอร์สีเงิน นั่นก็คือ หน้าปัดสีน้ำเงิน คอปเปอร์ บลู ที่งามล้ำไม่เหมือนใคร ด้วยแผ่นหน้าปัดวัสดุโซลิดซิลเวอร์ที่ถูกเคลือบผิวด้วย อเวนทูรีนที่เต็มไปด้วยประกายของอนุภาคผลึกออกไซด์ทองแดง เป็นชั้นบางๆ อันเป็นเทคนิคอันละเอียดอ่อนที่รังสรรค์ขึ้นอย่างพิถีพิถันตามกรรมวิธีโบราณที่ถูกคิดค้นขึ้นที่เวนิซ เมื่อสมัยศตวรรษที่ 17 บรรลุเป็นลักษณะราวกับท้องฟ้ายามค่ำคืนที่เต็มไปด้วยประกายแห่งหมู่ดาวดังที่เห็น
Saxonia Thin เวอร์ชั่นหน้าปัดสีน้ำเงิน คอปเปอร์ บลู นี้ จับคู่มากับตัวเรือนวัสดุไวท์โกลด์ พร้อมติดตั้งแท่งขีดหลักชั่วโมงและใช้เข็มชั่วโมงกับนาทีอันแสนเรียวบางซึ่งทำจากทองคำเคลือบโรเดียม โดยปราศจากขีดสเกลใดๆ มารบกวนความงามของพื้นหน้าปัด และสวมเข้าคู่มากับสายหนังจระเข้สีน้ำเงินเข้มผิวเงาที่สอดคล้องเข้ากับสีหน้าปัด
กลไกที่ใช้กับ Saxonia Thin นั้นเป็นกลไกอินเฮ้าส์ แบบไขลาน ความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง แสดงเวลาแบบสองเข็ม คาลิเบอร์ L093.1 ที่มีความบางเฉียบเพียง 2.9 มม. แต่กลับสามารถให้กำลังสำรองได้อย่างยาวนานถึง 72 ชั่วโมง (3 วัน) เลยทีเดียว กลไกเครื่องนี้ใช้เพลทแบบ ทรี-ควอเตอร์ ที่ทำจากเยอรมันซิลเวอร์ อันเป็นลักษณะเด่นของแบรนด์ และแน่นอนว่าถูกตกแต่งมาอย่างงดงามในทุกรายละเอียด โดยเฉพาะตรง บาลานซ์ ค็อก ที่มีการสลักลวดลายอย่างสวยงามด้วยมือ และการใช้สกรูว์สีน้ำเงิน อันเป็นรูปแบบการตกแต่งกลไกของแบรนด์นี้ที่ทำให้คนรักนาฬิกาทั่วโลกหลงใหลเสมอมา โดยสามารถชื่นชมความงามได้อย่างเต็มตาผ่านกระจกแซฟไฟร์บานใหญ่บนฝาหลัง
อีกสิ่งที่ได้รับการปรับก็คือ ตัวเรือน ที่แม้จะมีรูปทรงเหมือนเดิม แต่มีขนาดเล็กลงเล็กน้อยจาก 40 มม. ของ Ref. 211.XXX มาเป็น 39 มม. ขณะที่กลับมีความหนาเพิ่มขึ้นนิดนึงจาก 5.9 มม. มาเป็น 6.2 มม. ซึ่งทางแบรนด์ก็ไม่ได้ให้เหตุผลว่าเพราะอะไร แต่ก็ทำให้เวอร์ชั่นหน้าปัดสี คอปเปอร์ บลู นี้ไม่ถือเป็นนาฬิกาที่มีขนาดบางที่สุดเท่าที่ Lange เคยผลิตขึ้นมาเหมือนกับเวอร์ชั่นที่เป็นขนาด 40 มม. (Ref. 211) หรือเวอร์ชั่นที่เป็นขนาด 37 มม. (Ref. 201) ซึ่งต่างก็หนา 5.9 มม. เท่ากัน ทั้งๆ ที่ทั้งหมดต่างก็ใช้กลไกรุ่นเดียวกัน
Saxonia Moon Phase
ความโดดเด่นที่ทำให้ผู้คนชื่นชอบนาฬิกา Saxonia Moon Phase รุ่นนี้ก็คือ นอกจากฟังก์ชั่นแสดงมูนเฟสที่แสดงค่าได้อย่างแม่นยำต่อเนื่องได้ถึง 122.6 ปี ซึ่งใช้จานสีน้ำเงินตกแต่งด้วยดวงดาวจำนวนมากถึง 852 ดวงโดยใช้ดาวกับพระจันทร์สีเดียวกับตัวเรือน (ช่างขยันนับจริงๆ) แสดงผ่านช่องหน้าต่างในวงวินาทีขนาดเล็กแล้ว ยังมาพร้อมกับฟังก์ชั่นเอ้าท์ไซส์เดท อันเป็นการแสดงวันที่ด้วยตัวเลขขนาดใหญ่ 2 หลัก ผ่านกรอบหน้าต่างคู่บานใหญ่ ซึ่งปรับตั้งได้อย่างสะดวกง่ายดายด้วยปุ่มกดขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านข้างของตัวเรือน ณ ตำแหน่ง 10 นาฬิกาอีกด้วย
แต่เดิมนั้น Saxonia Moon Phase รุ่นนี้ใช้แต่หน้าปัดโซลิดซิลเวอร์ทำสีเงินมาโดยตลอด ทางแบรนด์คงเพิ่งรู้สึกว่าไม่ใช่ทุกคนที่ชอบหน้าปัดสีเงิน จึงได้ออกเวอร์ชั่นหน้าปัดสีดำมาเพิ่มเติมในปีนี้ ซึ่งนอกจากหน้าปัดแล้วก็ต้องเปลี่ยนจานวันที่มาเป็นสีดำและพิมพ์ตัวเลขเป็นสีขาวเพื่อให้เข้ากับสีหน้าปัด โดยจะมีให้เลือกทั้งแบบตัวเรือนไวท์โกลด์ ซึ่งใช้แท่งขีดหลักชั่วโมงกับเข็มและกรอบหน้าต่างเป็นทองคำเคลือบโรเดียม (Ref. 384.029) และแบบตัวเรือนพิ้งค์โกลด์ ซึ่งใช้แท่งขีดหลักชั่วโมงกับเข็มและกรอบหน้าต่างเป็นพิ้งค์โกลด์ (Ref. 384.031) ซึ่งทั้ง 2 แบบสวมคู่มากับสายหนังจระเข้สีดำ
กลไกที่ใช้ขับเคลื่อนก็ไม่มีอะไรต่างไปจากรุ่นหน้าปัดสีเงินที่มีจำหน่ายอยู่ก่อนแล้ว นั่นก็คือ กลไกอินเฮ้าส์ ขึ้นลานอัตโนมัติ ความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 72 ชั่วโมง คาลิเบอร์ L086.5 ที่มีชิ้นถ่วงโรเตอร์เป็นแพลตินั่ม เพลทแบบ ทรี-ควอเตอร์ วัสดุเยอรมันซิลเวอร์ และสลักลวดลายอย่างงดงามด้วยมือบน บาลานซ์ ค็อก มอบความงดงามสู่สายตาผ่านกระจกแซฟไฟร์บนฝาหลังของตัวเรือนขนาด 40 มม. หนา 9.8 มม. เหมือนเช่นเดิม
Saxonia Outsize Date
นี่เป็นการเปิดตัวหนแรกของรุ่น Saxonia Outsize Date นาฬิกา Saxonia ฟังก์ชั่น เอ้าท์ไซส์ เดท (หรือเราจะเรียกว่า บิ๊กเดท ตามที่คุ้นเคยก็น่าจะได้) แสดงวันที่ด้วยตัวเลขขนาดใหญ่ 2 หลักผ่านกรอบหน้าต่างคู่บานใหญ่สีเดียวกับตัวเรือน โดยทางแบรนด์เลือกเปิดตัวด้วยหน้าปัดสีดำ (ทำจากโซลิดซิลเวอร์เคลือบกัลวาไนซ์เป็นสีดำ) ซึ่งก็ใช้จานวันที่เป็นสีดำและพิมพ์ตัวเลขเป็นสีขาวเพื่อให้เข้ากับสีหน้าปัด โดยเปิดตัวมาทั้งแบบวัสดุไวท์โกลด์ (Ref. 381.029) ซึ่งใช้เข็มกับหลักชั่วโมงเป็นทองคำเคลือบโรเดียม และแบบวัสดุพิ้งค์โกลด์ (Ref. 381.031) ซึ่งใช้เข็มกับหลักชั่วโมงเป็นพิ้งค์โกลด์ โดยทั้งคู่ต่างมากับสายหนังจระเข้สีดำเช่นเดียวกัน
หากดูแต่ในภาพ อาจคิดว่ามันเป็นรุ่น Saxonia Moon Phase ที่ถอดเอาฟังก์ชั่นมูนเฟสออกไปให้เหลือแต่ฟังก์ชั่น เอ้าท์ไซส์ เดท เพราะหน้าตามันช่างเหมือนกันเสียเหลือเกิน แต่ที่จริงแล้วมันใช้ตัวเรือนคนละขนาดกัน โดย Saxonia Outsize Date จะมีขนาดเล็กกว่า คือ 38.5 มม. หนา 9.6 มม.
กลไกที่ใช้กับรุ่นนี้เป็นแบบอินเฮ้าส์ ขึ้นลานอัตโนมัติ ความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 72 ชั่วโมง คาลิเบอร์ L086.8 ที่มีชิ้นถ่วงน้ำหนักเป็นแพลตินั่ม ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมกลไกการแสดงวันที่แบบเอ้าท์ไซส์เดท ที่ตั้งค่าอย่างง่ายดายด้วยการกดปุ่มสั่งการ ณ ตำแหน่ง 10 นาฬิกา เข้าไปบนกลไกแสดงเวลาด้วยสองเข็มกลางและเข็มวินาทีขนาดเล็ก คาลิเบอร์ L086.1 (ซึ่งเป็นกลไกที่ใช้ในรุ่น Saxonia Automatic มาตั้งแต่ปี 2011 แล้ว) เช่นเดียวกับกลไกของรุ่น Saxonia Moon Phase ดังนั้นรูปแบบของเพลทแบบทรี-ควอเตอร์ ที่ทำจากเยอรมันซิลเวอร์ และความงดงามของลายสลักด้วยมือบน บาลานซ์ ค็อก ตามแบบฉบับของแบรนด์ ซึ่งมองเห็นได้จากกระจกแซฟไฟร์บนฝาหลัง ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน
By: Viracharn T.