SIHH 2012 - New pieces from PIAGET & GIRARD-PERREGAUX
PIAGET
The New Gouverneur Line
PIAGET เปิดศักราชปี 2012 ด้วยการออกโฉมใหม่ให้กับนาฬิกาไลน์ Gouverneur ของตน ซึ่งจะมาในตัวเรือนที่ได้รับการออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมดโดยเป็นผลลัพธ์แห่งการผสมผสานอย่างสมดุลย์ระหว่างเส้นสายทรงกลมและทรงไข่ โดยตัวเรือนทรงกลมจะถูกซ้อนด้วยขอบตัวเรือนและขอบหน้าปัดที่ทอดตัวเป็นรูปไข่ในแนวตั้งอย่างแปลกตาและมีสไตล์
นาฬิกาชุดแรกที่จะได้ใช้ตัวเรือน Gouverneur แบบใหม่นี้ ได้แก่ นาฬิกา 3 รุ่นจากคอลเลคชั่นที่ใช้ชื่อว่า Black Tie ซึ่งจะเป็นคอลเลคชั่นที่ถึงพร้อมด้วยศักดิ์ศรีแห่งการเป็นนาฬิกาเครื่องจักรกลทรงอานุภาพด้วยการบรรจุเครื่องอินเฮ้าส์ของตน ซึ่งได้แก่เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติ เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติโครโนกราฟ และเครื่องไขลานฟลายอิ้งตูร์บิยอง ลงไปในตัวเรือนขนาด 43 มิลลิเมตร ที่ผลิตขึ้นและขัดแต่งอย่างประณีตด้วยตัวเองแบบอินเฮ้าส์ลงไปประจำการในแต่ละรุ่น โดยทุกรุ่นมีตัวเรือนให้เลือกในวัสดุพิงค์โกลด์ 18k หรือไวท์โกลด์ 18k และยังมีเวอร์ชั่นตัวเรือนไวท์โกลด์ 18k ประดับเพชร 2 แถว รวม 128 เม็ด น้ำหนักรวม 1.4 กะรัต ลงบนขอบตัวเรือนให้เลือกอีกด้วยโดยเป็นการเซ็ตติ้งภายในเวิร์คช็อปของตนเองเช่นกัน ส่วนฝาหลังของทุกรุ่นนั้นกรุด้วยกระจกแซฟไฟร์คริสตัล อีกทั้งยังมากับหน้าปัดที่มีแพทเทิร์นเดียวกันด้วยพื้นสีเงินลายซันเบิร์สท์กิโยเช่ ตกแต่งด้วยเส้นทองบางๆ วางเป็นวงกลม 2 ระดับ ซึ่งจะเป็นสีไวท์โกลด์หรือสีพิงค์โกลด์ตามวัสดุตัวเรือน โดยบนเส้นนอกจะมีสเกลนาทีอยู่ด้านบน ส่วนเส้นในจะเป็นฐานของเส้นรัศมี 12 เส้น ทำจากไวท์โกลด์ 18k หรือพิงค์โกลด์ 18k ซึ่งใช้เป็นหลักชั่วโมงทอดยาวไปจนจรดขอบหน้าปัดด้านนอก ส่วนสีโรเตอร์ของกลไกอัตโนมัตินั้นในตัวเรือนไวท์โกลด์จะเป็นสีดำ ขณะที่ตัวเรือนพิงค์โกลด์จะใช้โรเตอร์สีทอง ทุกแบบถูกจับคู่สวมใส่กับสายหนังจระเข้สีดำในตัวเรือนไวท์โกลด์ และสีน้ำตาลในตัวเรือนพิงค์โกลด์
Gouverneur Automatic Calendar
Gouverneur รุ่นนี้มากับเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติอินเฮ้าส์ Calibre 800P ทำงานด้วยความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง 25 จิวเวล ที่มีความหนาเพียง 4 มิลลิเมตร มีบาร์เรลสองกระปุกซึ่งให้กำลังสำรองได้ถึง 85 ชั่วโมง บอกชั่วโมง นาที และวินาที ด้วยเข็มกลาง 3 เข็ม พร้อมแสดงวันที่บนหน้าต่าง ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา ขัดแต่งอย่างงดงามตามมาตรฐาน PIAGET
Gouverneur Chronograph
ส่วน Gouverneur ในรุ่นโครโนกราฟนั้นบรรจุภายในด้วยเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติคอลัมน์วีลโครโนกราฟอินเฮ้าส์แบบสุดบางรุ่นใหม่ Calibre 882P พร้อมฟังก์ชั่นฟลายแบ็ค ที่มีความหนาของเครื่องเพียง 5.6 มิลลิเมตร ทำงานด้วยความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง 33 จิวเวล มีกำลังสำรองราว 50 ชั่วโมงเมื่อใช้งานฟังก์ชั่นโครโนกราฟซึ่งได้จากบาร์เรลสองกระปุก แสดงนาทีจับเวลา 30 นาทีด้วยสเกลบนเคาน์เตอร์พิงค์โกลด์หรือไวท์โกลด์ขัดซาตินตามวัสดุตัวเรือน ณ ตำแหน่ง 3 นาฬิกา ส่วนหน้าปัดย่อย ณ ตำแหน่ง 9 นาฬิกานั้นจะทำหน้าที่แสดงเวลาที่ 2 ในรูปแบบ 24 ชั่วโมงด้วยสเกล 24 ชั่วโมงบนเคาน์เตอร์พิงค์โกลด์หรือไวท์โกลด์ขัดซาตินเช่นกัน โดยมีหน้าต่างบอกวันที่อยู่ที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา ซึ่งทำให้สไตล์หน้าปัดที่มี 2 เคาน์เตอร์ของนาฬิการุ่นนี้ดูคลาสสิกเหมือนกับนาฬิกาโครโนกราฟจากสมัยก่อน ตัวเครื่องและชิ้นส่วนถูกขัดแต่งอย่างงดงามและมองเห็นได้ผ่านทางฝาหลังกรุแซฟไฟร์คริสตัล อีกทั้งเพื่อให้รับกับตัวเรือน ปุ่มกดโครโนกราฟข้างตัวเรือนของรุ่นนี้ยังได้รับการออกแบบให้เป็นรูปไข่อีกด้วย
Gouverneur Tourbillon
ที่สุดของไลน์ Gouverneur รุ่นใหม่ในขณะนี้ ต้องยกให้กับรุ่นนี้ซึ่งมากับกลไกไขลานตูร์บิยองอินเฮ้าส์แบบสุดบางรุ่นใหม่ Calibre 642P ที่มีความหนาเพียง 4 มิลลิเมตร ทำงานด้วยความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง 23 จิวเวล กำลังสำรอง 40 ชั่วโมง ใช้ฟลายอิ้งตูร์บิยองที่หมุนครบรอบใน 1 นาทีติดตั้งอยู่ที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกาทำหน้าที่บอกวินาทีไปในตัวโดยมีสัญลักษณ์อักษร P ที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษประดับอยู่ด้วย ซึ่งนอกจากจะมองเห็นการทำงานได้จากช่องกลมกรุกระจกแซฟไฟร์คริสตัลบนหน้าปัดที่ถูกล้อมรอบด้วยสเกลวินาทีบนขอบพิงค์โกลด์หรือไวท์โกลด์ตามวัสดุตัวเรือนแล้ว ที่ฝาหลัง ณ ตำแหน่งเดียวกันยังกรุด้วยกระจกแซฟไฟร์ขนาดเล็กเพื่อให้มองเห็นทะลุได้อย่างเต็มตาด้วย และนอกจากนั้นเครื่องรุ่นใหม่นี้ยังมาพร้อมฟังก์ชั่นแสดงมูนเฟสแบบใช้เข็มชี้ในวงดิสเพลย์ทรงกลมที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกาอีกต่างหากโดยจะต้องการปรับแก้เพียง 1 วันในทุกๆ 122 ปีเท่านั้น แต่ละชิ้นส่วนของเครื่องและกลไกถูกขัดแต่งอย่างประณีตด้วยมือ นาฬิการุ่นนี้ผลิตขึ้นในแบบนัมเบอร์เอดิชั่นที่รันนิ่งหมายเลขประจำเรือนเอาไว้บนฝาหลัง
Altiplano Automatic Skeleton Ultra-Thin
Altiplano เป็นหนึ่งในคอลเลคชั่นนาฬิกาที่มีรูปแบบเรียบร้อยหมดจดและมีความบางที่สุดรุ่นหนึ่งในตลาด ณ ปัจจุบัน จนเราแทบนึกไม่ออกว่าจะทำ Altiplano ในรูปแบบที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นโดยคงคุณลักษณะเด่นประจำตัวเอาไว้มิให้สูญเสียไปได้อย่างไร แต่ PIAGET ก็ยังคิดค้นและทำออกมาขายจนได้แถมยังประกาศความเป็นที่สุดใน 2 ด้านพร้อมๆ กันไปด้วย และ Alitplano Skeleton Ultra-Thin ก็คือนาฬิการุ่นที่ว่าครับ
ทันทีที่ทำขึ้นสำเร็จ นาฬิการุ่นใหม่นี้ก็ได้กลายเป็นนาฬิกาเครื่องอัตโนมัติสเกเลตันที่บางที่สุดในโลก ซึ่งทำงานด้วยกลไกขึ้นลานอัตโนมัติโครงสร้างสเกเลตันที่บางที่สุดในโลกไปในทันที ด้วยความบางของตัวเรือนเพียง 5.34 มิลลิเมตร และความบางของเครื่องที่ 2.4 มิลลิเมตร การทำสเกเลตันทำให้นาฬิกาสุภาพเรียบร้อยเรือนบางอย่าง Altiplano ดูโมเดิร์นยิ่งขึ้น ทีนี้ใครที่เคยมองว่า Altiplano เป็นนาฬิกาสำหรับคนมีอายุก็คงต้องหันกลับมาเล็งนาฬิการุ่นนี้กันบ้างแล้ว
เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติสุดบางทำสเกเลตันโชว์ชิ้นส่วนและการทำงานของกลไกที่พัฒนาขึ้นมาใช้กับนาฬิการุ่นนี้มีรหัสเรียกขานว่า Calibre 1200S ทำงานด้วยความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง มี 26 จิวเวล ให้กำลังสำรอง 44 ชั่วโมง แน่นอนว่าเครื่องที่บางที่สุดในโลกในประเภทของมันนี้ได้ถูกออกแบบ พัฒนา และผลิตขึ้นทั้งหมดโดย PIAGET เอง โดยต้องใช้ฝีมือและความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมากที่จะต้องคงความแข็งแรงของส่วนประกอบที่มีขนาดเล็กและบางอยู่แล้วเอาไว้อย่างเพียงพอให้สามารถทำงานอย่างราบรื่นได้ซึ่งต้องใช้เวลาค้นคว้าและพัฒนากว่า 3 ปีจึงจะสำเร็จออกมาเป็นที่พึงพอใจ และเมื่อเทียบกับเครื่อง Calibre 1200P ซึ่งออกมาเมื่อปี 2010 ในวาระครบรอบ 50 ปีของเครื่อง 12P ในตำนานที่เป็นเครื่องต้นแบบของมันแล้ว เครื่อง 1200S จะใช้ชิ้นส่วนใหม่ๆ ทดแทนของเดิมหลายชิ้นด้วยกัน อาทิ การใช้ไมโครโรเตอร์ที่ทำจากแพลตินัม 950 การใช้บาลานซ์บริดจ์แบบใหม่ที่ดูสมดุลย์กลมกลืนและงดงามยิ่งขึ้น ใช้อาวร์-วีลบริดจ์ที่บางกว่าเดิมโดยมีความหนาเพียง 0.11 มิลลิเมตร และทั้งหมดยังถูกตกแต่งให้สวยด้วยการผสมผสานชิ้นงานผิวด้านกับงานขัดซันเรย์และงานพ่นทราย และสร้างความแตกต่างด้วยงานขัดเงาเหลี่ยมมุมต่างๆ และงานชุบโรเดียมกับงานทำสีดำ
ตัวเรือนของนาฬิการุ่นนี้มีขนาด 38 มิลลิเมตร ทำจากไวท์โกลด์ 18k ไร้ซึ่งหน้าปัดใดๆ มีเพียงเข็มชั่วโมงกับนาทีทรงดอฟีนสีดำเท่านั้นจึงมองเห็นเพลทและบริดจ์ขัดซาตินที่ลบเหลี่ยมกับขัดแต่งด้วยมือและเหล่าสกรูว์สีดำได้แบบเต็มๆ วีลต่างๆ ที่เห็นถูกขัดลายซันเรย์ หรือไม่ก็ขัดซาตินลายเซอร์คูล่า ส่วนทางด้านหลังก็สามารถมองเห็นกลไกและโรเตอร์แพลตินัมสีดำขัดซาตินได้อย่างชัดเจนผ่านฝาหลังกรุกระจกใส สวมคู่กับสายหนังจระเข้สีดำ
GIRARD-PERREGAUX
Laureato Tourbillon with Three Bridges
GIRARD-PERREGAUX ย้อนรอยประวัติศาสตร์ของแบรนด์เพื่อรำลึกถึงงานนาฬิกาตูร์บิยองที่มีบริดจ์ทองคำ 3 ชิ้นเป็นส่วนประกอบซึ่งได้รับเหรียญทองเกียรติยศจากงาน Universal Exhibition เมื่อปี 1889 อันเป็นสถานที่เปิดตัวของมัน ด้วยงานนาฬิกาที่ให้ชื่อว่า Laureato Tourbillon with Three Bridges รุ่นนี้ที่ด้วยชื่อก็บอกอย่างชัดแจ้งแล้วว่าใช้กลไกลักษณะใด โดยจะผลิตในจำนวนจำกัดแค่ 10 เรือนเท่านั้น
ตูร์บิยองประกอบและขัดแต่งด้วยมือของเครื่องที่ใช้นี้ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วน 72 ชิ้น โดยจะหมุนครบรอบใน 1 นาที สร้างความโดดเด่นด้วยบริดจ์พาดขนานกัน 3 ชิ้นขวางอยู่บนตัวเรือน บริดจ์นี้ทำจากนิลสีฟ้าที่มีลักษณะโปร่งแสงมองผ่านทะลุได้เพื่อให้เห็นชิ้นส่วนกลไกที่อยู่ด้านใน ชิ้นบนสุดเป็นบาร์เรลบริดจ์ ชิ้นกลางเป็นเซ็นทรัลบริดจ์ และชิ้นล่างเป็นตูร์บิยองบริดจ์ กลไกนี้มีชื่อรุ่นว่า Calibre 9600-0004 ประกอบขึ้นด้วยชิ้นส่วน 241 ชิ้น 31 จิวเวล ทำงานด้วยความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั้วโมง กำลังสำรอง 48 ชั่วโมง ขึ้นลานอัตโนมัติด้วยไมโครโรเตอร์ที่ทำจากแพลตินัม
ขอบตัวเรือนทรงแปดเหลี่ยมของนาฬิการุ่นนี้ทำจากแพลตินัมขัดซาตินด้านบนผสานด้วยงานขัดเงาที่ส่วนฐานซึ่งนำแรงบันดาลใจมาจากงานในยุคทศวรรษ 1970 ฝาหลังกรุกระจกแซฟไฟร์คริสตัลเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนสลักเลขประจำเรือนบนขอบฝาด้วยมือ นาฬิการุ่นนี้ใช้เมนเพลทชุบโรเดียมแกะกิโยเช่ลายวงกลมที่ด้านหน้าซึ่งใช้แทนพื้นหน้าปัดส่วนใหญ่โดยมีเข็มทรงบาตองที่ออกแบบให้ดูสปอร์ตพร้อมแต้มสารเรืองแสงที่สร้างความแปลกตาได้อย่างดี ส่วนเข็มวินาทีใช้เป็นแกนสีฟ้าซึ่งจะหมุนพร้อมกับตูร์บิยอง ส่วนของบาร์เรลมีฝาครอบเซาะร่องขัดเซอร์คูลาร์เกรนสลักตัวอักษรด้วยมือติดตั้งเอาไว้ ตัวเรือนขนาด 42.6 มิลลิเมตรของนาฬิการุ่นนี้ทำจากวัสดุแพลตินัม เม็ดมะยมไวท์โกลด์ชุบโรเดียม กระจกหน้าปัดแซฟไฟร์เคลือบสารป้องกันแสงสะท้อน สายนาฬิกาทำจากไทเทเนียมขัดลายซาติน 2 แนวเพื่อความสวยงามโดยส่วนนอกเป็นลายตั้งกลมกลืนกับตัวเรือน ส่วนตัวลิ้งค์ด้านในขัดเป็นแนวขวาง
1966 Minute Repeater
นอกจาก Tourbillon with Three Bridges ที่กล่าวไปแล้ว ในปี 2012 นี้ GIRARD-PERREGAUX ยังตอกย้ำถึงความเชี่ยวชาญในการประดิษฐ์นาฬิกาของตนด้วยสุดยอดคอมพลิเคชั่นอีกแขนงหนึ่งซึ่งก็คือกลไกมินิทรีพีตเตอร์ที่ทางเขาบอกว่าให้คุณภาพเสียงที่ไพเราะเป็นอย่างยิ่ง โดยมาในรูปทรงสไตล์คลาสสิกสุดสง่างามเรียบง่าย บอกเวลาแบบสองเข็มครึ่งด้วยเข็มบลูด์สตีลทรงใบไม้และหลักชั่วโมงพิงค์โกลด์เลขอารบิกที่แปะลงบนพื้นหน้าปัดอีนาเมลสีขาว ตัวเรือนขนาด 42 มิลลิเมตร ทำจากพิงค์โกลด์ กระจกหน้าปัดแซฟไฟร์คริสตัลเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อน เม็ดมะยมพิงค์โกลด์ ตัวอักษรบนขอบฝาหลังสลักด้วยมือ สวมคู่กับสายหนังจระเข้แบบด้านสีดำ แต่นาฬิการุ่นนี้ไม่ได้ผลิตในแบบลิมิเต็ดเอดิชั่นนะครับแต่เป็นการผลิตแบบนัมเบอร์เอดิชั่น คือรันหมายเลขประจำตัวเรือนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเลิกผลิตในวันใดวันหนึ่งในอนาคต
ตัวกลไกไขลาน Calibre E09-0001 ชิ้นส่วน 317 ชิ้น 27 จิวเวล ทำงานด้วยความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 100 ชั่วโมง ถูกพัฒนาขึ้นด้วยการยึดถือประเพณีดั้งเดิมของมินิทรีพีตเตอร์เอาไว้อย่างเหนียวแน่น ให้เสียงด้วยก็องทรงกลม 2 ชิ้นที่จะถูกตีด้วยค้อนในจังหวะสม่ำเสมอเพื่อบอกชั่วโมง ควอเตอร์ และนาที ซึ่งสิ่งที่ต้องพิถีพิถันสุดๆ ก็คือการปรับตั้งให้ได้เสียงในระดับและคุณภาพที่ต้องการ ซึ่งก่อนหน้าที่จะถึงขั้นตอนนี้ได้นั้น ต้องเริ่มต้นจากการออกแบบพื้นที่ของตัวเรือนภายในให้มีความสมดุลย์กับขนาดของเครื่องตั้งแต่แรก และฝาหลังยังถูกออกแบบให้มีความโค้งเพื่อเพิ่มมวลอากาศระหว่างเครื่องและตัวเรือนด้วย เมื่อมองผ่านทางฝาหลังแซฟไฟร์คริสตัลเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนเข้าไปจะเห็นบาลานซ์บริดจ์ทองคำทรงกึ่งหัวลูกศรซึ่งเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของแบรนด์และการขัดแต่งวัสดุต่างๆ อย่างงดงาม
1966 Lady Moon-phases
มาดูนาฬิการุ่นใหม่สำหรับคุณผู้หญิงกันบ้าง กับไลน์ 1966 ในตัวเรือนพิงค์โกลด์ขนาด 36 มิลลิเมตร ประดับเพชร 54 เม็ด น้ำหนักรวม 1.35 กะรัตบนขอบตัวเรือน ที่บรรจุกลไกอัตโนมัติพร้อมฟังก์ชั่นแสดงมูนเฟสเอาไว้ แสดงเวลาบนผืนหน้าปัดเปลือกหอยมุกสีขาวด้วยเข็มชั่วโมงกับนาทีทรงใบไม้สีทอง ติดหลักชั่วโมงโรมันสีทองที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา และหลักชั่วโมงแบบขีดสีทองที่ 3 กับ 9 นาฬิกา ส่วนที่เหลืออีก 9 หลักแทนด้วยเพชร 9 เม็ดน้ำหนักรวม 0.06 กะรัต ส่วนเข็มวินาทีเล็กที่หมุนบอกอยู่เหนือหน้าต่างแสดงมูนเฟสถูกใช้เป็นบลูด์สตีลทรงลูกศรซึ่งมีส่วนหัวเป็นรูปดวงอาทิตย์ เม็ดมะยมทำจากพิงค์โกลด์ สวมใส่คู่กับสายหนังจระเข้สีดำเคลือบเงา และนาฬิการุ่นนี้ยังมีในเวอร์ชั่นตัวเรือนไวท์โกลด์ให้เลือกด้วย
กลไกอัตโนมัติที่มากับฟังก์ชั่นมูนเฟสของนาฬิการุ่นนี้มีชื่อว่า Calibre 3300-0067 มี 32 จิวเวล ทำงานที่ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 46 ชั่วโมง ใช้โรเตอร์พิงค์โกลด์สลักโลโก้ GP ซึ่งมองเห็นได้ผ่านทางฝาหลังแซฟไฟร์คริสตัลเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อน ส่วนกระจกหน้าปัดทางด้านหน้าก็เป็นแซฟไฟร์คริสตัลเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนเช่นกัน
Vintage 1945 Large Date Moon-phases
กลับมาดูรุ่นสำหรับคุณผู้ชายกันบ้าง กับนาฬิกากลไกอัตโนมัติพร้อมฟังก์ชั่นแสดงมูนเฟสบวกกับการแสดงวันที่ขนาดใหญ่ในรุ่น Vintage 1945 Large Date Moon-Phases ที่มาในตัวเรือนสไตล์อาร์ตเดโคทรงเหลี่ยมอันคุ้นตาผู้คนมากว่า 50 ปีซึ่งเกิดจากการผสมผสานเส้นตรงกับเส้นโค้งของสไตล์คลาสสิกและสมัยใหม่เข้าด้วยกันอย่างกลมกล่อม และถือเป็นรูปแบบนาฬิกาที่คงคุณค่าเหนือกาลเวลาจนกลายเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของแบรนด์
บนหน้าปัดโดดเด่นด้วยหน้าต่างขนาดใหญ่ ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา ซึ่งจะแสดงวันที่เป็นตัวเลขขนาดใหญ่ 2 หลักด้วยจานดิสก์คู่อย่างเนียนตาไร้ขีดใดแบ่งกลาง โดยความเนียนนี้เกิดจากการที่ตัวเลขแสดงหลักหน่วยนั้นถูกพิมพ์ลงบนจานดิสก์ใสซึ่งได้จดสิทธิบัตรเอาไว้แล้ว หลักชั่วโมงเลขอารบิกทรงอ่อนช้อยถูกติดตั้งไว้รอบนอกของรางรถไฟแสดงนาที แสดงมูนเฟสผ่านหน้าต่างภายในหน้าปัดวินาที ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติที่ใช้มีชื่อรุ่นว่า Calibre 03300-0062 ประกอบด้วยชิ้นส่วน 282 ชิ้น 32 จิวเวล กำลังสำรอง 46 ชั่วโมง ทำงานที่ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง ขัดแต่งอย่างงดงามซึ่งมองเห็นได้ผ่านทางฝาหลังแซฟไฟร์คริสตัล ตัวเรือนที่ใช้มีขนาด 36.1 x 35.25 มิลลิเมตร มีวัสดุให้เลือกทั้งพิงค์โกลด์และสตีล กระจกหน้าปัดแซฟไฟร์คริสตัลเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อน เม็ดมะยมใช้วัสดุตามตัวเรือน สวมใส่คู่กับสายหนังจระเข้สีดำ
By: Viracharn T.