Pre-SIHH 2013 - 3 รุ่น 3 สไตล์จาก CARTIER
CARTIER แบรนด์หรูด้านสินค้าลักชัวรี่ชั้นนำของโลกที่ไม่เคยยอมใครเรื่องผลงานนาฬิกา เผยโฉมผลงานไฮไลต์ 3 รุ่นเด็ดก่อนงาน SIHH 2013 ณ กรุงเจนีวาซึ่งจะจัดขึ้นช่วงท้ายของเดือนมกราคมนี้ (21-25 มกราคม 2013) ให้ได้ชมกันเป็นการเรียกน้ำย่อย ซึ่งก็ชวนให้คอนาฬิกาทั้งชายและหญิงกระหายได้จริงๆ ครับ
นาฬิกา 3 รุ่นที่ว่านี้ ได้แก่ Rotonde de Cartier หน้าปัดรูปเสือแพนเธอร์ งาน Cartier d'Art ที่ใช้ศาสตร์เก่าแก่แห่งช่างทองในการตกแต่งหน้าปัด, Crash นาฬิกาทรงแปลกตาไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ในแบบประดับเพชรพร้อมสายแบบสร้อยข้อมือ และ Calibre de Cartier คอลเลคชั่นนาฬิกาสไตล์สปอร์ตที่คราวนี้มากับฟังก์ชั่นจับเวลาโดยการทำงานของเครื่องออโต้โครโนกราฟอินเฮ้าส์รุ่นใหม่ล่าสุด
Cartier d’Art - Rotonde de Cartier 42 mm watch, panther, granulation
CARTIER แสดงอีกขีดขั้นแห่งการพัฒนาฝีมือศิลปะในด้านทองคำด้วยการนำเทคนิคการตกแต่งอันเก่าแก่ที่ช่างทองในสมัยโบราณใช้กันมาประยุกต์ใช้กับหน้าปัดของนาฬิการุ่นนี้ เทคนิคนี้เรียกว่า granulation ซึ่งมีใช้กันตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาลราว 3,000 ปี โดยนักประวัติศาสตร์ด้านวัตถุจะรู้จักกันในชื่อวัตถุ Etruscan granulation
กรรมวิธี granulation ที่ CARTIER นำมาประยุกต์ใช้คือการนำเม็ดทองคำกลมๆ หลากหลายขนาดมาจัดเรียงตกแต่งบนแผ่นหน้าปัดเยลโลว์โกลด์ 22k สลักรูปเสือแพนเธอร์อย่างประณีตแล้วนำไปเผาเหนือเปลวไฟให้เม็ดทองแต่ละเม็ดหลอมรวมเข้าไปบนแผ่นทองคำ ผลที่ได้คือหน้าปัดทองคำที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ มิติ และความรู้สึกซึ่งแตกต่างจากกรรมวิธีเชิงช่างอื่นใด โดยจะมีผู้ที่มีโอกาสได้เป็นเจ้าของเพียงไม่กี่ท่านเท่านั้น เพราะงานฝีมือเช่นนี้จะถูกผลิตขึ้นในจำนวนจำกัดเพียง 20 เรือนเท่านั้น
หน้าปัดสุดวิจิตรนี้ใช้เข็มบลูด์สตีลทรงแอปเปิ้ลก้านบางเพียง 2 เข็ม เพื่อให้แสดงความงดงามของพื้นหน้าปัดออกมาได้อย่างเต็มที่บรรจุบนตัวเรือนเยลโลว์โกลด์ 18k ขนาด 42 มม. ประดับเพชรบนขอบตัวเรือนและขาจำนวนรวม 306 เม็ด (น้ำหนักรวม 3.63 กะรัต) เม็ดมะยมทำจากเยลโลว์โกลด์ 18k ประดับเพชรปลายแหลม ใช้เครื่องไขลานอินเฮ้าส์ Calibre 9601 MC ที่มองเห็นการทำงานได้จากกระจกแซฟไฟร์ซึ่งกรุบนฝาหลัง สวมคู่สายหนังจระเข้ผิวกึ่งด้านสีดำพร้อมบานพับเยลโลว์โกลด์ 18k ประดับเพชรอีก 43 เม็ด (รวม 0.42 กะรัต)
Image Credit: Fabien Sarazin
Crash Watch 4 แบบล่าสุด
รุ่นต่อมาที่เผยโฉมก็คือ นาฬิกา Crash ตัวอย่างของอิสระแห่งดีไซน์ที่ CARTIER รังสรรค์ขึ้นจากแรงบันดาลใจของนาฬิกา CARTIER ตัวเรือนบิดเบี้ยวจากอุบัติเหตุ ที่ลูกค้าท่านหนึ่งส่งมาซ่อมที่ Cartier London
นาฬิกา Crash รุ่นล่าสุดมีด้วยกันทั้งหมด 4 แบบ โดยเป็นครั้งแรกที่จะมาคู่กับสายสร้อยทรงหยดน้ำเรียงราย บอกเวลาด้วยเข็มทรงดาบสองเข็มที่ทำจากบลูด์สตีล ทำงานด้วยเครื่องไขลาน 18 จิวเวล ในตัวเรือนขนาด 38.45 x 25.5 มม. กระจกหน้าปัดเป็นไมเนอรัล ฝาหลังเป็นแบบทึบ โดย 4 แบบนั้นจะมีความแตกต่างอยู่ที่วัสดุตัวเรือนกับสายและการประดับเพชร คือ ตัวเรือนไวท์โกลด์ 18k เคลือบโรเดียม หรือพิงค์โกลด์ 18k ประดับเพชร 150 เม็ด น้ำหนักรวม 2.15 กะรัต คู่กับสายไวท์โกลด์ 18k หรือพิงค์โกลด์ 18k ผลิตแบบละ 267 เรือน กับตัวเรือนและสายไวท์โกลด์ 18k เคลือบโรเดียม หรือตัวเรือนและสายพิงค์โกลด์ 18k ประดับเพชรรวม 471 เม็ด น้ำหนักรวมถึง 4.27 กะรัต ผลิตแบบละ 67 เรือน ซึ่งทั้งหมดจะมีจำหน่ายเฉพาะในบูติกของ CARTIER เท่านั้น
Image Credit: Ali Mahdavi
Calibre de Cartier Chronograph
Calibre de Cartier เป็นหนึ่งในคอลเลคชั่นหลักที่สร้างชื่อเสียงให้กับนาฬิกา CARTIER ยุคปัจจุบัน ซึ่งนับตั้งแต่ที่เปิดตัวมาในปี 2010 ก็ทำให้นาฬิกาจาก CARTIER ได้รับความสนใจจากคอนาฬิกาสปอร์ตทั่วโลกมากขึ้น ล่าสุดทาง CARTIER ก็ได้เผยหน้าตาของนาฬิกาโครโนกราฟของคอลเลคชั่นนี้ออกมาแล้ว Calibre de Cartier Chronograph ที่เห็นอยู่นี้ถูกปรับดีไซน์ให้มีความเป็นสปอร์ตยิ่งขึ้นให้สมกับเป็นนาฬิกาโครโนกราฟ โดยมีขุมพลังเป็นเครื่องอัตโนมัติโครโนกราฟอินเฮ้าส์รุ่นใหม่ล่าสุดที่ CARTIER ผลิตขึ้นเอง โดยจะมีรุ่นย่อยให้เลือกอย่างหลากหลายตั้งแต่ตัวเรือนสตีลคู่กับสายสตีลหรือสายหนังไปจนถึงตัวเรือนทองคำ หรือแม้แต่ตัวเรือนไวท์โกลด์ประดับเพชร
Calibre de Cartier Chronograph ในตัวเรือนสตีลพร้อมสายสตีล หน้าปัดสีเงินโอปอลีน
หน้าปัดของ Calibre de Cartier Chronograph จะมีวงหน้าปัดย่อยอยู่ 2 วง วางอยู่ ณ ตำแหน่ง 3 กับ 9 นาฬิกาโดยจะเป็นหน้าปัดนาทีจับเวลาและชั่วโมงจับเวลา ไม่มีหน้าปัดวินาที บอกเวลาด้วยเข็มทรงดาบโดยมีแทร็คนาทีแบบรางรถไฟทอดเส้นทางอยู่บนขอบตัวเรือน ส่วนบริเวณผนังขอบด้านในก็ยังเป็นแบบฟลุ้ตเหมือนรุ่นกลไกอัตโนมัติ บอกวันที่ผ่านช่องหน้าต่างขนาดใหญ่ แน่นอนว่ายังคงใช้หลักชั่วโมงแบบผสมผสานระหว่างแบบแท่งกับเลขโรมันพร้อมเลข XII ขนาดใหญ่อันเป็นเอกลักษณ์ประจำคอลเลคชั่น ขนาดของตัวเรือนอยู่ที่ 42 มม. ดูเด่นด้วยเม็ดมะยม 7 เหลี่ยมฝังสปิเนลสังเคราะห์สีน้ำเงินซึ่งมีดีไซน์เข้ากันได้ดีกับปุ่มกดโครโนกราฟทรงเหลี่ยมมนที่วางตัวอยู่ขนาบข้าง ทั้งหมดถูกติดตั้งอยู่บนสันของตัวเรือนที่ทำหน้าที่เป็นบ่าปกป้องเม็ดมะยมไปในตัวอันเป็นดีไซน์ประจำคอลเลคชั่น Calibre de Cartier เช่นกัน กระจกหน้าและที่กรุบนฝาหลังเป็นแซฟไฟร์ มีคุณสมบัติกันน้ำได้ 100 เมตร
เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติโครโนกราฟกลไกคอลัมน์วีล 35 จิวเวล ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง Calibre 1904-CH MC ที่ใช้ในนาฬิการุ่นนี้เป็นเครื่องอัตโนมัติโครโนกราฟรุ่นใหม่ล่าสุดที่ CARTIER ผลิตขึ้นด้วยตนเองแบบอินเฮ้าส์ โดยได้ใส่คุณสมบัติทางกลไกเด่นๆ เข้าไปอย่างครบเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นบาร์เรลสองกระปุกที่ให้กำลังสำรอง 48 ชั่วโมง ซึ่งอาจดูไม่มากมาย แต่หน้าที่หลักก็คือความต่อเนื่องและเสถียรภาพในการส่งกำลังเพื่อให้แสดงค่าได้อย่างแม่นยำสูงสุด การใช้เวอร์ติคัลคัพลิงเพื่อให้กลไกโครโนกราฟใช้พลังในการทำงานน้อยลง และการใช้ระบบเซรามิกบอลแบริ่งกับโรเตอร์เพื่อความทนทานในการใช้งาน เป็นต้น และที่ขาดไม่ได้ก็คือการขัดแต่งอย่างประณีตโดยใช้ลวดลายโค้ตเดอเชอแนฟบนบริดจ์กับโรเตอร์และลายเซอร์คูลาร์เกรนด์บนเพลท
Calibre de Cartier Chronograph ในตัวเรือนพิงค์โกลด์ 18k หน้าปัดสีเงินโอปอลีน ขอบเคาน์เตอร์จับเวลาทั้งสองเป็นสีทอง สวมคู่กับสายหนังจระเข้สีน้ำตาลเข้มผิวกึ่งด้านพร้อมบานพับพิงค์โกลด์
Image Credit: Laziz Hamani
By: Viracharn T.