BREITLING Chronoliner B04 นาฬิกาสำหรับนักบินระดับกัปตัน โดดเด่นด้วยเครื่องอินเฮ้าส์ และการผลิตแบบจำนวนจำกัด

 

เมื่อปี 2017 ที่เพิ่งผ่านพ้นมา BREITLING (ไบรท์ลิ่ง) ผู้ผลิตนาฬิกาที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตนาฬิกาสำหรับนักบินมาอย่างยาวนาน ได้ทำการอัพเลเวลให้กับคอลเลคชั่นนาฬิกาโครโนกราฟสไตล์นักบิน Chronoliner ขึ้นมาอีกระดับด้วยการเปิดตัวรุ่น Chronoliner B04 ออกมา โดยมีความดีงามเหนือรุ่น Chronoliner เฉยๆ ที่มีจำหน่ายอยู่หลากหลายเวอร์ชั่น ด้วยการแทนที่กลไกเดิมด้วยกลไกอินเฮ้าส์ หากแต่ยังคงจำกัดความพิเศษไว้ด้วยการผลิตออกมาแบบจำนวนจำกัด โดยเริ่มต้นในช่วงกลางปีเมื่อเดือนพฤษภาคมด้วย “บูติก เอดิชั่น” ผลิตจำนวนจำกัด 100 เรือน ในตัวเรือนสตีล คู่กับโทนการตกแต่งสีน้ำเงิน ซึ่งมีจำหน่ายเฉพาะที่บูติกของ BREITLING ก่อนจะตามมาในเดือนพฤศจิกายนด้วย “ลิมิเต็ด เอดิชั่น” ผลิตจำนวนจำกัด 250 เรือน ในตัวเรือนเร้ดโกลด์ คู่กับโทนการตกแต่งสีน้ำเงินเช่นกัน

 

ก่อนจะว่าถึงรายละเอียดของรุ่น Chronoliner B04 ขอเท้าความถึงคอนเซ็ปต์ในการสร้างนาฬิกาคอลเลคชั่น Chronoliner กันสักนิด ความตั้งใจของ BREITLING ในการสร้างนาฬิการุ่นนี้ก็คือ การเป็นนาฬิกาโครโนกราฟสำหรับกัปตันผู้ควบคุมเครื่องบินอย่างแท้จริง มันจึงมีลักษณะเป็นทูลวอตช์ ซึ่งหมายถึงเป็นอุปกรณ์การใช้งาน มากกว่าความสละสลวย ซึ่งเป็นการตีความรูปแบบมาจากนาฬิกานักบินที่ BREITLING ผลิตขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1950-1960 และนั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไมมันจะต้องใช้ตัวเรือนขนาดใหญ่ถึง 46 มม. และมีเม็ดมะยมขนาดใหญ่กับปุ่มกดทรงหัวเห็ดขนาดใหญ่เช่นนี้ ส่วนฟังก์ชั่นการใช้งานนั้นนอกจากจะเป็นโครโนกราฟจับเวลา 12 ชั่วโมง ที่ออกแบบให้อ่านค่าสเกลกับตัวเลขต่างๆ ได้อย่างชัดเจน รวดเร็ว และแม่นยำแล้ว ก็มีฟังก์ชั่นจีเอ็มที สำหรับแสดงค่าเวลาที่สองแบบ 24 ชั่วโมงด้วยเข็มกลางปลายศรแดง และมีการสลักสเกล 24 ชั่วโมงเอาไว้อีกชุดหนึ่งบนวงขอบตัวเรือนวัสดุเซรามิกซึ่งสามารถปรับหมุนได้แบบสองทิศทางเพื่อตั้งให้แสดงค่าเวลาได้อีกไทม์โซนหนึ่ง รวมทั้งหมดเป็น 3 ไทม์โซน และฟังก์ชั่นแสดงวันที่ด้วยตัวเลขผ่านช่องหน้าต่างมาด้วย เพื่อให้ยังประโยชน์ครอบคลุมการใช้งานของกัปตันได้อย่างสมบูรณ์ ขณะที่ความสามารถในการกันน้ำนั้นระบุมาเพียง 100 เมตร เนื่องจากแม้จะใช้ฝาหลังเป็นแผ่นทึบที่ล็อคด้วยเกลียว แต่เม็ดมะยมกับปุ่มกดจับเวลาก็ไม่ได้เป็นแบบมีเกลียวล็อคแต่อย่างใด ซึ่งก็คงไม่เป็นปัญหาอะไรเพราะจริงๆ แค่ 100 เมตรก็เพียงพอต่อการใช้งานบนภาคพื้นดินและบนฟากฟ้าของกัปตันแล้ว ส่วนกระจกหน้าปัดก็เป็นแบบแซฟไฟร์ที่เคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนมาให้ทั้งสองฝั่งของผิวกระจก

 

Chronoliner B04 Boutique Edition 05

 

Chronoliner B04 ‘Boutique Edition’ ตัวเรือนสตีล ผลิตจำนวนจำกัด 100 เรือน มีจำหน่ายเฉพาะที่บูติกของ Breitling เท่านั้น

 

chronoliner b04 boutique edition 02

 

Chronoliner B04 Boutique Edition 04

 

Chronoliner B04 ที่เพิ่งออกมา 2 เอดิชั่น ด้วยการผลิตแบบจำนวนจำกัดทั้งคู่นั้น เป็นการยกระดับความพิเศษให้เหนือกว่ารุ่น Chronoliner เฉยๆ ที่เป็นรุ่นปกติซึ่งมีจำหน่ายอยู่ก่อนแล้ว ด้วยการเปลี่ยนจากกลไกอัตโนมัติ คาลิเบอร์ Breitling 24 กำลังสำรอง 42 ชั่วโมง ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง มาเป็นกลไกอินเฮ้าส์ ขึ้นลานอัตโนมัติ คาลิเบอร์ Breitling B04 ความถี่เท่ากัน แต่มอบกำลังสำรองได้อย่างยาวนานถึง 70 ชั่วโมง และแน่นอนว่ายังคงเป็นไปตามมาตรฐานของ BREITLING ที่กลไกทุกเครื่องที่นำมาใช้กับนาฬิกาของตนจะต้องได้รับการรับรองความแม่นยำตามมาตรฐานโครโนมิเตอร์ของ COSC

 

จุดสังเกตที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ แม้ฟังก์ชั่นต่างๆ จะเหมือนกัน แต่การจัดวางเลย์เอ้าท์ของหน้าปัดย่อยสามวงของสองคาลิเบอร์นี้จะอยู่คนละตำแหน่งกัน คือ รุ่น Chronoliner B04 จะอยู่ที่ตำแหน่ง 3-6-9 นาฬิกา โดยเจาะหน้าต่างวันที่ไว้ที่ตำแหน่ง 4.30 นาฬิกา ซึ่งดูคลาสสิกและได้สมดุลย์กว่าตำแหน่ง 12-6-9 นาฬิกากับหน้าต่างวันที่ ณ 3 นาฬิกาของรุ่น Chronoliner ปกติ แต่กลไกอินเฮ้าส์เครื่องนี้ก็ทำให้ตัวเรือนของรุ่น B04 หนาขึ้นกว่ารุ่นปกติอีกเล็กน้อยเกือบ 1 มม. จาก 15.95 มม. มาเป็น 16.85 มม.

 

chronoliner b04 rg 4

 

Chronoliner B04 ‘Limited Edition’ ตัวเรือนเร้ดโกลด์ 18 เค ผลิตจำนวนจำกัด 250 เรือน

 

chronoliner b04 rg 2

 

chronoliner b04 rg 1

 

ทั้ง “บูติก เอดิชั่น” ตัวเรือนสตีล และ “ลิมิเต็ด เอดิชั่น” ตัวเรือนเร้ดโกลด์ ของรุ่น Chronoliner B04 ต่างมากับการตกแต่งในธีมสีน้ำเงินด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งส่วนที่เป็นสีน้ำเงินก็มีทั้งพื้นหน้าปัดหลัก วงขอบตัวเรือนเซรามิก และสายยางแบบแอโรคลาสสิกลายสวยซึ่งจำแลงมาจากลักษณะของสายตาข่ายโลหะถัก ขณะที่พื้นวงหน้าปัดย่อยทั้งสามวงจะใช้เป็นโทนขาวหม่น ขณะที่เม็ดมะยม ปุ่มกด ตลอดจนเข็มและโลโก้จะเป็นเร้ดโกลด์เช่นเดียวกับตัวเรือน ส่วนสเกลกับตัวอักษรต่างๆ นั้น เรือนเร้ดโกลด์จะใช้เป็นสีเร้ดโกลด์เช่นกัน ในขณะที่เรือนสตีลจะใช้เป็นสีขาว และที่ต่างกันอีกจุดหนึ่งของสองเอดิชั่นนี้ก็คือ แผ่นฝาหลังของรุ่น “บูติก เอดิชั่น” จะมีภาพหญิงสาวกำลังบินพร้อมลูกระเบิดบนข้อมือและข้อความ “SPECIAL DELIVERY” กับ “BOUTIQUE EDITION” และหมายเลขประจำเรือน สลักเอาไว้เพื่อบ่งบอกความพิเศษด้วย

 

Chronoliner blue meshchronoliner bronze leatherchronoliner black

 

Chronoliner รุ่นปกติมาตรฐาน

สองรุ่นทางซ้ายเป็นเวอร์ชั่นใหม่ล่าสุดที่เพิ่งออกมาเมื่อเดือนตุลาคม 2017 คือ แบบตัวเรือนสตีลเวอร์ชั่นตกแต่งโทนสีน้ำเงิน และเวอร์ชั่นตกแต่งโทนสีบรอนซ์ ซึ่งหมายถึงสีของพื้นหน้าปัดกับสีของขอบตัวเรือนเซรามิก โดยจะมีให้เลือกจับคู่ทั้งกับสายวัสดุสตีลถักแบบตาข่ายที่เรียกว่าโอเชี่ยนคลาสสิก และสายยางแบบแอโรคลาสสิกลายตาข่ายหรือแบบสายหนังวัวซึ่งเป็นโทนสีที่แม็ตช์กับสีหน้าปัด ส่วนรุ่นขวามือที่เป็นหน้าปัดสีดำพร้อมขอบตัวเรือนเซรามิกสีดำจะเป็นเวอร์ชั่นที่มีจำหน่ายอยู่ก่อนแล้วซึ่งนอกจากจะมีสายยางแบบแอโรคลาสสิกกับสายวัสดุสตีลแบบโอเชี่ยนคลาสสิกให้เลือกแล้ว ก็จะมีสายสตีลแบบเนวิไทเมอร์ให้เลือกอีกแบบหนึ่งด้วย

 

 

By: Viracharn T.