NEW PIECES OF L.U.C (LOUIS-ULYSSE CHOPARD)
L.U.C (Louis-Ulysse Chopard) คือคอลเลคชั่นนาฬิการะดับสูงของ Chopard แบรนด์นาฬิกาเก่าแก่ที่มีถิ่นฐานอยู่ที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งมีอายุอานามจากแรกก่อตั้งจนถึงปัจจุบันนับได้กว่า 150 ปี ความสำคัญของคอลเลคชั่น L.U.C ก็คือ การเป็นผู้สืบทอดมรดกการผลิตนาฬิกาตามแบบฉบับดั้งเดิมตลอดจนทำหน้าที่คิดค้นและพัฒนาเทคนิคตลอดจนนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับวงการในฐานะผู้ผลิตนาฬิกาที่เปี่ยมศักยภาพ ภายใต้กระบวนการผลิตแบบอินเฮ้าส์ภายในโรงงานของตนเอง และเมื่อช่วงเดือนธันวาคมของปี 2013 ที่เพิ่งผ่านพ้นมาก็มีการเผยโฉมนาฬิการุ่นใหม่ออกมาให้เห็นกัน 2 รุ่น คือ L.U.C 1963 นาฬิการุ่นพิเศษที่สร้างขึ้นเพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี แห่งการเข้าดำเนินกิจการ Chopard ของตระกูล Scheufele และ L.U.C Urushi “Year of the Horse” นาฬิการุ่นพิเศษสำหรับปี 2014 ซึ่งเป็นปีมะเมียตามปีนักษัตรจีน
L.U.C 1963, THE QUINTESSENTIAL CHRONOMETER
ปี 2013 ถือเป็นปีที่ทางครอบครัว Scheufele เข้าดำเนินกิจการของแบรนด์นาฬิกาเก่าแก่ Chopard แห่งเจนีวามาเป็นเวลาครบ 50 ปี เนื่องในโอกาสสำคัญนี้ ทาง Chopard จึงเฉลิมฉลองด้วยการออกนาฬิกาสไตล์คลาสสิกรุ่นใหม่ที่ถึงพร้อมด้วยวัฒนาการทางเทคนิคสมัยใหม่มารุ่นหนึ่งโดยใช้ชื่อว่า L.U.C 1963 ซึ่งถือเป็นการสืบเชื้อสายมาจากนาฬิกาโครโนมิเตอร์สุดยิ่งใหญ่ในอดีตของ Chopard และเป็นการสะท้อนรูปแบบของการนำกลไกของนาฬิกาพกมาใช้ในนาฬิกาข้อมือซึ่งยังคงมีการผลิตอยู่เมื่อครั้งที่ตระกูล Scheufele เริ่มต้นเข้ามาดำเนินกิจการในปี ค.ศ. 1963
หากขอ 3 คำให้กับนาฬิการุ่นนี้ คงจะต้องบอกว่า “สง่างาม เที่ยงตรง และบริสุทธิ์” เพราะเป็นการออกแบบมาในลักษณะของคอนเซ็ปต์ความเป็นนาฬิกาโดยแท้ คือ เป็นเครื่องบอกเวลาที่เที่ยงตรงแม่นยำและอ่านค่าได้อย่างชัดเจน โดยนาฬิการุ่นใหม่นี้จะใช้กลไกไขลานที่ได้รับการรับรองคุณภาพด้วยตรา Poincon de Geneve ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรฐานสูงสุดของปัจจุบัน ที่ซึ่งนาฬิกาที่จะได้รับการรับรองนี้จะต้องใช้กลไกที่ผ่านการรับรองความเที่ยงตรงตามมาตรฐานโครโนมิเตอร์จาก COSC เป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วย และหากจะถามว่าทำไม L.U.C 1963 รุ่นนี้ถึงต้องออกมาในรูปโฉมสุดคลาสสิกพร้อมหน้าปัดสีขาวและหลักชั่วโมงโรมันสีดำแบบนี้ คำตอบที่ทางคุณ Karl-Friedrich Scheufele ประธานร่วมแห่ง Chopard ให้ก็คือ เป็นรูปแบบนาฬิกาที่คุณพ่อของเขาเคยสร้างขึ้นเมื่อครั้งเริ่มเข้ามาบริหาร Chopard นั่นเอง
ตัวเรือนทรงกลมของ L.U.C 1963 มาในขนาดร่วมสมัยที่ 44 มิลลิเมตร หนา 11.5 มิลลิเมตร โดยมีขาตัวเรือนที่โค้งลู่ลงรับกับความโค้งของข้อมือได้เป็นอย่างดี ด้านข้างของตัวเรือนถูกออกแบบให้มีความโค้งมนและถูกปัดลายอย่างประณีตเพื่อสร้างความแตกต่างกับขอบตัวเรือนทรงมนที่เป็นงานขัดเงาแวววาว ผืนหน้าปัดมาในสไตล์พอร์ซเลนพื้นขาวบริสุทธิ์พร้อมวงวินาที ณ ตำแหน่ง 9 นาฬิกา ชี้บอกเวลาด้วยเข็มทรงดอฟีนไปยังหลักชั่วโมงเลขโรมันสีดำที่อยู่รอบนอกซึ่งถัดเข้ามาก็จะเป็นสเกลนาทีแบบรางรถไฟ ตามรูปแบบของนาฬิกาโครโนมิเตอร์ในอดีต พร้อมบ่งชี้คุณลักษณ์แห่ง Chronometer ด้วยข้อความบ่งชี้ใต้ชื่อแบรนด์ L.U. CHOPARD แต่จะว่าหน้าปัดดูโบราณซะทีเดียวก็ไม่ได้เพราะทาง Chopard ได้เสริมสไตล์สมัยใหม่เข้าไปด้วยการดีไซน์ขอบวงวินาทีให้มีขนาดใหญ่และวางเหลื่อมเกินออกจากแทร็กนาทีรางรถไฟออกมาอย่างโดดเด่นและยังใช้ตัวเลขอารบิกสีแดงในสเกลวินาทีเพื่อเติมความทันสมัยให้กับหน้าปัดด้วยขณะที่เข็มทรงดอฟีนที่ใช้ก็เป็นเข็มแบบเดียวกับที่ใช้ในคอลเลคชั่น L.U.C ในปัจจุบัน
เมื่อมองทางด้านหลังของตัวเรือนก็ประทับใจกับกลไกไขลาน 20 จิวเวล ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 60 ชั่วโมง L.U.C Calibre 63.01-L ที่ชิ้นส่วนต่างๆ ล้วนถูกขัดแต่งอย่างประณีตงดงามวางเด่นเห็นชัดผ่านกระจกแซฟไฟร์จนเกือบเต็มตัวเรือนเลยทีเดียว ตัวกลไกที่ตกแต่งแบบทูโทน (ภายในเป็นสีโรสโกลด์-ภายนอกเป็นงานบริดจ์สีเงินขัดลายโค้ตเดอเชอแนฟ เสริมแสดงความเป็นสามมิติยามมอง) ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่ถึง 38 มิลลิเมตรเครื่องนี้ถูกปรับปรุงมาจาก Calibre 06.01-L ซึ่ง Chopard พัฒนาร่วมกับ Geneva Watchmaking School ที่เปิดตัวเมื่อปี 2010 ในวาระครบรอบ 150 ปีของแบรนด์
L.U.C 1963 มีออกมาให้เลือก 2 รูปแบบด้วยกัน คือ แบบตัวเรือนวัสดุโรสโกลด์ กับแบบตัวเรือนวัสดุแพลตินั่ม ทั้งคู่มากับเม็ดมะยมขนาด 8 มิลลิเมตรซึ่งผลิตจากวัสดุชนิดเดียวกับตัวเรือน มาพร้อมกับสายหนังจระเข้สีน้ำตาลพร้อมหัวเข็มขัดวัสดุเดียวกับตัวเรือน ผลิตจำนวนจำกัดเพียงแบบละ 50 เรือนเท่านั้น
L.U.C URUSHI “YEAR OF THE HORSE”
งานนาฬิกาศิลป์ที่โดดเด่นของ Chopard ในช่วงปีหลังๆ มานี้ เห็นจะต้องยกให้กับการที่นำเอาศิลปินชาวญี่ปุ่นมาสร้างสรรค์งานศิลปะประจำชาติอันเก่าแก่ของแดนอาทิตย์อุทัยลงบนหน้าปัดของนาฬิกา ศิลปะแขนงนี้เรียกว่า อุรุชิ โดยจะเป็นกรรมวิธีการวาดภาพและตกแต่งด้วยเทคนิคโบราณซึ่งมีเพียงไม่กี่คนในโลกนี้ที่สามารถทำได้ ความงดงามนี้เป็นที่ประจักษ์จากผลงานนาฬิกาในซีรี่ส์ Urushi งานผลิตแบบสเปเชี่ยลเอดิชั่นซึ่งมีออกมาให้เห็นกันแล้วหลายแบบด้วยกัน โดยใช้ผืนหน้าปัดของนาฬิกากลไกอัตโนมัติเรือนบางรุ่น L.U.C XP เป็นพื้นฐานในการสร้างงานศิลป์แขนงนี้
เมื่อวาระก้าวเข้าสู่ปี 2014 มาถึง ทาง Chopard จึงได้มอบหมายให้ศิลปินชาวญี่ปุ่นมาแต่งแต้มความงดงามแห่งศิลปะ อุรุชิ อีกครั้งด้วยการสร้างสรรค์ภาพม้า สัตว์ประจำปีนักษัตรจีนของปี 2014 ลงบนหน้าปัดของนาฬิกาสเปเชี่ยลเอดิชั่นตัวเรือนโรสโกลด์ที่ให้ชื่อว่า L.U.C. XP Urushi “Year of the Horse” โดยภาพม้าที่รายล้อมด้วยดอกบัวที่เห็นอยู่นี้ถูกเขียนและตกแต่งอย่างประณีตด้วยมือตามกรรมวิธี อุรุชิ ซึ่งเป็นศิลปะการสร้างงานแล็กเกอร์ด้วยการใช้สารเคลือบเงาที่ได้จากยางของต้น อุรุชิ ต้นไม้ที่มีอยู่ในประเทศญี่ปุ่นและจีน ยางที่ได้นั้นจะกรีดได้เพียงปีละครั้งเท่านั้นและมีจำนวนที่น้อยมากในแต่ละต้น โดยกว่าที่จะนำมาใช้ในงานศิลปะได้จะต้องนำมาเก็บไว้เป็นเวลา 3-5 ปี ยางจึงจะมีสภาพเป็นแล็กเกอร์เหนียวและทนทานเพียงพอที่จะนำมาเคลือบบนพื้นผิวได้ เมื่อเคลือบบนชิ้นงานแล้วก็จะมีการตกแต่งเพิ่มเติมด้วยเทคนิคที่เรียกว่า มากิ-เอะ (Maki-e) ซึ่งเป็นการโปรยผงโลหะลงไปบนชิ้นงานที่ถูกเคลือบไว้ สำหรับสีทองที่เห็นบนหน้าปัดนาฬิกาก็คือผงทองนั่นเอง สำหรับการลงผงโลหะหรือทองบริเวณขอบและลายเส้นนั้นจะเป็นการลงผ่านหลอดไม้ไผ่และใช้แปรงขนาดเล็กแต่งให้เข้ารูปอย่างประณีต
สำหรับนาฬิกาที่ใช้เป็นวัตถุในการสร้างงานศิลปะอุรุชินี้ คือรุ่น L.U.C XP ตัวเรือนโรสโกลด์ขนาด 39.5 มิลลิเมตร และบางเพียง 6.8 มิลลิเมตร บอกเวลาผ่านเข็มทรงดอฟีนชุบทอง 2 เข็ม ทำงานด้วยกลไกอัตโนมัติ 29 จิวเวล ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง Calibre 96.17-L ที่ Chopard ภาคภูมิใจด้วยการเป็นกลไกที่มีความบางเป็นพิเศษเพียง 3.3 มิลลิเมตร แม้จะมีบาร์เรลถึง 2 ชุด ซึ่งสามารถให้กำลังสำรองได้ถึง 65 ชั่วโมงก็ตาม โดยจะสามารถมองเห็นได้จากกระจกบนฝาหลัง สวมใส่คู่กับสายหนังจระเข้สีดำพร้อมหัวเข็มขัดโรสโกลด์ โดย L.U.C. XP Urushi “Year of the Horse” จะมาพร้อมกับกล่องทรงแปดเหลี่ยมดีไซน์พิเศษที่มีการตกแต่งด้วยเทคนิคอุรุชิเช่นกันโดยด้านนอกจะเป็นสีดำ ส่วนด้านในจะเป็นงาน มากิ-เอะ ทอง อันแสนงดงาม
By: Viracharn T.