NEW 'CELLINI' COLLECTION FROM ‘ROLEX’
ใครที่ไม่ได้เป็นแฟนตัวจริงของโรเล็กซ์อาจไม่รู้ว่านอกจากรุ่นเดทจัสต์ รุ่นเดท หรือเดย์-เดท ซึ่งเป็นนาฬิกาแบบเดรสที่คุ้นเคยกันดีทั่วโลกในตัวเรือนที่เรียกว่าแบบ ออยสเตอร์ แล้ว โรเล็กซ์ยังมีนาฬิกาตระกูลคอลเลคชั่น ‘เซลลินี่ (Cellini)’ ซึ่งเป็นนาฬิกาเดรสที่มีความเป็นเดรสมากกว่ากันออกจำหน่ายมาตั้งแต่ ค.ศ.1975 แล้ว โดยได้ออกลักษณะตัวเรือนที่หลากหลายมาเรื่อยไม่ว่าจะเป็นทรงกลม ทรงถังเบียร์ หรือทรงเหลี่ยม ก็ตาม โดยมีทั้งขนาดสำหรับผู้ชายและผู้หญิง และที่สำคัญคือ ผลิตในตัวเรือนวัสดุมีค่าทั้งสิ้น ไม่ใช่เหล็กหรือสตีลธรรมดา ซึ่งแต่ละรุ่นก็เป็นนาฬิกาที่มีความงดงามและมาพร้อมกับคุณภาพระดับสูงตามมาตรฐานของโรเล็กซ์ แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้รับความนิยมกันเท่าใดนักโดยเฉพาะในประเทศไทยเรา แต่เมื่อได้เห็นคอลเลคชั่นนาฬิกาผู้ชายใหม่เอี่ยมของ Cellini ในปี 2014 นี้ ทำให้เชื่อได้ว่าคอลเลคชั่นนี้จะต้องเป็นที่รู้จักและกล่าวถึงกันมากขึ้นเป็นแน่
Cellini รุ่นต่างๆ ในอดีต
คอลเลคชั่นใหม่ของ Cellini ในครั้งนี้ ถูกออกแบบขึ้นในลักษณะของนาฬิกาเดรสคลาสสิกร่วมสมัยที่ยึดถือบุคลิกลักษณะของดั้งเดิมของนาฬิกาข้อมือจากยุคก่อนมาเป็นจุดตั้งต้น โดยออกมาทั้งหมด 3 รุ่น คือ แบบบอกเวลามาตรฐาน แบบพร้อมฟังก์ชั่นแสดงวันที่ และแบบดูอัลไทม์ แต่ละรูปแบบจะประกอบด้วยเวอร์ชั่นต่างๆ ทั้งหมด 4 เวอร์ชั่นด้วยกัน แบ่งเป็นตัวเรือนไวท์โกลด์ 2 เวอร์ชั่นหน้าปัด กับตัวเรือนเอฟโรสโกลด์ (พิ้งค์โกลด์สีเฉพาะของโรเล็กซ์) อีก 2 เวอร์ชั่นหน้าปัด ซึ่งจุดประสงค์ก็น่าจะต้องการให้ตอบสนองความต้องการของผู้คนได้อย่างครอบคลุมที่สุด
ทุกแบบจะใช้ตัวเรือนสไตล์คลาสสิกรูปทรงเดียวกันซึ่งดูอ่อนช้อยกว่าตัวเรือนแบบออยสเตอร์ที่เราคุ้นตากันมากทีเดียว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางจะอยู่ที่ 39 มิลลิเมตร ฟินิชชิ่งแบบขัดเงาแวววาว และโดดเด่นด้วยขอบตัวเรือนที่ดีไซน์ให้เป็นแบบ 2 ชั้น คือ รอบนอกเป็นแบบร่องละเอียดที่เรียกกันว่าแบบขอบฟลุ้ต ส่วนวงในจะเรียบนูนเป็นทรงโดมลอยขึ้นมา ให้ความรู้สึกที่ดูร่วมสมัย ไม่ดูโบราณจนเกินไป ผนึกด้วยกระจกหน้าปัดแซฟไฟร์ทรงนูน ติดตั้งเม็ดมะยมแบบขันเกลียวกันน้ำที่มีขนาดใหญ่แต่ไม่หนาเทอะทะปั๊มสัญลักษณ์โรเล็กซ์ และใช้ฝาหลังขอบฟลุ้ตรูปทรงโดมที่เป็นแบบเกลียว ร่วมกันมอบคุณสมบัติการป้องกันน้ำได้ที่ระดับความลึก 50 เมตร ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานโดยทั่วไป
นอกจากนี้ ในแต่ละรุ่นยังมีจุดร่วมที่มีดีไซน์ลักษณะเดียวกันก็คือ หลักชั่วโมงแบบแท่งขีดทรงผอมวัสดุพิ้งค์โกลด์ 18 กะรัต หรือไวท์โกลด์ 18 กะรัต ตามสีของตัวเรือน ที่แยกหลักเดียวกันออกบริเวณกึ่งกลางให้เป็นที่อยู่ของตัวเลขอารบิกขนาดเล็กของนาทีในวงสเกลนาทีที่พิมพ์อยู่บนพื้นหน้าปัด และเข็มทรงดาบวัสดุเดียวกับหลักชั่วโมง สวมใส่คู่กับสายหนังจระเข้แบบเคลือบเงาโดยใช้เป็นสีน้ำตาลในตัวเรือนเอฟโรสโกลด์ และสีดำในตัวเรือนไวท์โกลด์ ล็อคติดข้อมือด้วยบัคเกิ้ลวัสดุเดียวกับตัวเรือน และทุกรุ่นจะทำงานด้วยกลไกแบบขึ้นลานอัตโนมัติ กำลังสำรอง 48 ชั่วโมง ของโรเล็กซ์ที่ได้รับการรับรองความแม่นยำระดับโครโนมิเตอร์จาก COSC
Cellini แบบบอกเวลามาตรฐานจะใช้ชื่อรุ่นว่า Cellini Time ซึ่งจะแสดงเวลาแบบ 3 เข็มในรูปแบบที่คุ้นเคย โดยมีหลักชั่วโมงที่ 12, 3,6 และ 9 พิมพ์ด้วยเลขโรมันฟอนต์บางทรงผอมสูงให้ความคลาสสิกบนพื้นหน้าปัดผิวเรียบที่เคลือบด้วยแล็กเกอร์ซึ่งมีให้เลือกระหว่างสีขาวกับสีดำอย่างสวยงามเนียนตา ขณะที่แบบพร้อมฟังก์ชั่นแสดงวันที่ที่เรียกว่ารุ่น Cellini Date จะมอบความคลาสสิกของวงหน้าปัดย่อยขอบทองที่ใช้เข็มขนาดเล็กชี้แสดงวันที่มาให้ ณ ตำแหน่ง 3 นาฬิกา บนพื้นหน้าปัดสีเงินหรือสีดำที่ถูกสลักลายกิโยเช่ในรูปแบบซันเรย์
ส่วนแบบสุดท้ายที่เป็นแบบดูอัลไทม์นั้น วงหน้าปัดย่อยจะอยู่ที่บริเวณตำแหน่ง 6 นาฬิกาของพื้นหน้าปัดสีเงินหรือสีดำสลักลายกิโยเช่ โดยจะบอกเวลาที่สองรอบละ 12 ชั่วโมงด้วยเข็มสั้นกับเข็มยาวเพื่อให้สามารถตั้งแสดงเวลาได้แม้เวลาท้องถิ่นของที่ตั้งนั้นจะต่างแบบไม่เต็มชั่วโมงก็ตาม ทั้งยังมาพร้อมกับช่องหน้าต่าง ณ ตำแหน่ง 9 นาฬิกาของวงหน้าปัดย่อยเพื่อให้แสดงกลางวัน/กลางคืนของเวลาที่สองด้วยสัญลักษณ์พระอาทิตย์กับพระจันทร์อีกด้วย นับว่าเป็นนาฬิกาที่บอกเวลาได้ 2 ไทม์โซนอย่างแท้จริงสมชื่อรุ่นว่า Cellini Dual Time
น่าสนใจใช่มั้ยล่ะครับ สำหรับเจ้า Cellini คอลเลคชั่นใหม่นี้ แต่จะได้รับความนิยมมากน้อยเพียงไรก็ขึ้นอยู่กับคุณๆ แล้วล่ะ ว่าจะเปิดใจรับเอา Cellini มาสวมใส่แทน เดทจัสท์ รุ่นพิมพ์นิยมกันหรือไม่ สำหรับราคาก็คงไม่ขายกันถูกๆ แน่นอนเพราะจะถูกผลิตขึ้นเฉพาะตัวเรือนวัสดุทองคำตามวิถีปฏิบัติของตระกูลคอลเลคชั่น Cellini ที่สืบต่อกันมาตั้งแต่รุ่นต้นกำเนิดเมื่อเกือบสี่ทศวรรษก่อน ซึ่งก็ทำให้นาฬิการุ่นนี้สามารถบ่งบอกถึงฐานะของผู้สวมใส่ได้เป็นอย่างดีครับ
By: Viracharn T.