CHRISTOPHE CLARET เผยโฉมนาฬิการุ่นใหม่ Maestro ที่มาพร้อมฟังก์ชั่น Memo อันแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร
หากกล่าวถึงแบรนด์นาฬิการะดับสูงอุดมฝีมือของโลก ณ ปัจจุบันนี้ อย่างไรก็จะต้องมี CHRISTOPHE CLARET (คริสทอพ คลาเร่ต์) ซึ่งมี Mr. Christophe Claret สุดยอดนักประดิษฐ์นาฬิกา ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างกลไกระดับซับซ้อนให้กับแบรนด์ดังต่างๆ มาแล้วมากมาย เป็นผู้ก่อตั้งและควบคุมการผลิต ติดโผอยู่ในลำดับต้นๆ อย่างแน่นอน และในปี 2017 นี้ ผลงานใหม่ลำดับแรกของปีที่เปิดตัวในงาน SIHH 2017 ก็คือ นาฬิการุ่นใหม่นาม Maestro (เมสโทร: แปลว่านักดนตรีระดับเกจิ มักใช้กับผู้อำนวยเพลงหรือวาทยากรในการบรรเลงดนตรีคลาสสิก) ที่แม้หน้าตาเมื่อมองเผินๆ อาจดูคล้ายกับรุ่น Maestoso ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2014 แต่ที่จริงแล้วมันมีเพียงลักษณะการจัดวางองค์ประกอบของกลไกเท่านั้นที่คล้ายกัน เพราะเจ้า Maestro ที่ออกมาใหม่นี้ใช้กลไกเครื่องใหม่ที่แตกต่างไปจาก Maestoso ด้วยคุณประโยชน์ของฟังก์ชั่นที่มากกว่า ให้กำลังสำรองได้ยาวนานกว่าเท่าตัว และทำงานที่ความถี่สูงกว่า ทั้งยังมากับตัวเรือนที่มีขนาดเล็กกว่าด้วย
ตัวเรือนของ Maestro มีขนาดเท่ากับ 42 มม. หนา 16.06 มม. ซึ่งด้วยเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดนี้ทำให้สวมใส่ใช้งานได้ง่ายขึ้นกว่านาฬิกา CHRISTOPHE CLARET เรือนกลมรุ่นอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่จะมีขนาดราว 44 - 45 มม. ลักษณะเด่นของตัวเรือนใหม่นี้ก็คือ การไม่มีวงขอบตัวเรือนชิ้นนอกโดยจะใช้กระจกหน้าปัดทรงโดมขนาดใหญ่ครอบลงบนด้านหน้าของตัวเรือนทั้งหมดซึ่งก็ทำให้ชิ้นส่วนต่างๆ ที่อยู่ภายในดูโดดเด่นและสร้างมุมมองแบบสามมิติให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ซึ่งก็น่าจะถูกใจผู้ที่ชื่นชอบในการเสพความงามของชิ้นส่วนกลไกเป็นอย่างยิ่ง
กลไกที่ใช้กับ Maestro เป็นกลไกไขลาน ความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ มีชื่อเรียกว่าคาลิเบอร์ DMC16 ซึ่งนอกจากจะใช้บาลานซ์สปริงทรงกระบอกที่ยากจะพบเจอในกลไกนาฬิกายุคปัจจุบันและยึดชุดบาลานซ์ด้วยอัญมณีอันเป็นลักษณะเดียวกับชุดบาลานซ์ของกลไกที่ใช้กับรุ่น Maestoso แล้ว กลไกเครื่องใหม่นี้ยังมีคุณสมบัติเด่นๆ อีกมากมาย อันได้แก่ การมีกำลังสำรองยาวนานถึง 7 วัน, การมีฟังก์ชั่นแสดงวันที่รูปแบบใหม่ด้วยการใช้กรวยอลูมิเนียมสลักตัวเลขอารบิก 2 ชิ้นจัดวางซ้อนกันเพื่อหมุนแสดงวันที่ให้เห็นชัดๆ โดยอ่านค่าตรงแถบบรรทัด ณ ตำแหน่ง 5 นาฬิกา ทั้งยังสามารถปรับตั้งได้อย่างสะดวกง่ายดายด้วยปุ่มกด ณ ตำแหน่งราว 4 นาฬิกา และการมีฟังก์ชั่น MEMO (เมโม) ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นกลไกใหม่ที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในการเตือนความจำผู้สวมใส่ให้กระทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามแต่ความมุ่งหมายของเขา โดยจะใช้กรวยอลูมิเนียมที่ประดับชิ้นสามเหลี่ยมที่ทำจากอัญมณี (ทับทิมหรือแซฟไฟร์) กับเพชร อย่างละชิ้นพร้อมสลักข้อความว่า MEMO ซึ่งจะแสดงเตือนด้วยการหมุนด้านที่ประดับทับทิมหรือแซฟไฟร์ออกมาทางด้านล่างเพื่อย้ำเตือนว่าเขาจะต้องทำอะไรที่ตั้งใจไว้ ซึ่งหากเมื่อได้กระทำการตามที่ตั้งใจไว้แล้วก็กดปุ่มรีเซ็ทที่ตำแหน่งราว 2 นาฬิกา ซึ่งจะทำให้กรวยหมุนฝั่งที่เป็นเพชรออกมาทางด้านล่างเพื่อแสดงว่าได้กระทำการแล้ว จากนั้นกรวยนี้ก็จะใช้ช่วงเวลาหนึ่งในตอนกลางคืนหมุนด้านที่เป็นเพชรกลับขึ้นไปด้านบนและหมุนด้านที่ประดับทับทิมหรือแซฟไฟร์ออกมาทางด้านล่างอันเป็นตำแหน่งย้ำเตือน เพื่อเป็นการแจ้งเตือนสำหรับวันรุ่งขึ้น
นอกจากนี้ลักษณะโครงสร้างของชิ้นส่วนกลไกและชิ้นบริดจ์ก็เป็นการดีไซน์มาในรูปแบบที่เรียกว่า Charles X (ชาลส์ เอ็กซ์) ซึ่งมีลักษณะโครงสร้างแบบเล่นระดับและฉลุสเกเลตัน คล้ายกับกลไกของรุ่น Maestoso แต่ได้ออกแบบให้ดูมีระดับมิติยิ่งขึ้นทั้งทางด้านหน้าและด้านหลัง อีกทั้งบริดจ์ชิ้นต่างๆ ทางฝั่งด้านหน้ายังทำจากวัสดุสีเดียวกับตัวเรือนเพื่อให้ดูมีความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกันตั้งแต่ภายในจรดภายนอกซึ่งแน่นอนว่าทุกชิ้นต่างถูกขัดแต่งอย่างประณีตพิถีพิถัน ขณะที่ตัวเพลทกลไกนั้นเคลือบด้วยสีดำดูกลมกลืนกับพื้นสีดำของวงขอบตัวเรือนวงในกับวงขอบหน้าปัดเพื่อขับเน้นความโดดเด่นของชิ้นส่วนต่างๆ
นาฬิการุ่น Maestro เปิดตัวออกมาพร้อมกัน 2 เวอร์ชั่น คือ เวอร์ชั่นตัวเรือนไทเทเนี่ยม เกรด 5 ที่ใช้สีน้ำเงินกับชิ้นส่วนต่างๆ อย่างเช่น แถบอลูมิเนียมอโนไดซ์สีน้ำเงินบนเข็มสีเทาแอนทราไซต์ บาลานซ์วีล สกรูว์ และขีดสีน้ำเงินบนหลักชั่วโมง ตัวเลข ตัวอักษร และแถบขีดสีน้ำเงินบอกวันที่ ตลอดจนชิ้นแซฟไฟร์บนส่วนปลายของกรวยทั้งสองและบนชุดบาลานซ์ และเวอร์ชั่นตัวเรือนพิ้งค์โกลด์ ที่ใช้สีแดงกับชิ้นส่วนต่างๆ อย่างเช่น แถบอลูมิเนียมอโนไดซ์สีแดงบนเข็มสีเทาแอนทราไซต์ ขีดสีแดงบนหลักชั่วโมง สีแดงของบาลานซ์วีล ทับทิมจิวเวล และทับทิมบนปลายกรวยและชุดบาลานซ์ ขณะที่กรวยทั้งสองและหลักชั่วโมงจะใช้เป็นสีพิ้งค์โกลด์ ทั้ง 2 แบบสวมคู่มากับสายหนังจระเข้สีดำ โดยเป็นการผลิตแบบจำนวนจำกัดเพียงเวอร์ชั่นละ 88 เรือนเท่านั้นเอง
By: Viracharn T.