BREGUET Classique Double Tourbillon Ref. 5345 Quai de l’horloge
นาฬิการุ่นใหม่ล่าสุดจาก BREGUET เรือนนี้มีการผสมผสานความสามารถเชิงจักรกล เข้ากับความเชี่ยวชาญด้านสุนทรียศาสตร์ โดยแสดงให้เห็นการเคลื่อนไหวของกลไกตูร์บิยองทั้งสองชุด ผ่านดิฟเฟอเรนเชียลกลาง ซึ่งส่วนประกอบแต่ละชิ้นของนาฬิกาเรือนนี้จะผลิตขึ้นด้วยมือ ตรงกันกับข้อความด้านหลังตัวเรือนที่สลักไว้ว่า “House on the Quai” ซึ่งหมายถึงอาคารสไตล์ปารีสที่ Abraham-Louis Breguet เติมเต็มชีวิตการทำงานของเขาในอดีต
BREGUET รุ่น Classique Double Tourbillon Quai de l’Horloge รุ่นใหม่นี้มีกลไกที่ขนาดใหญ่ พร้อมขนาดตัวเรือนที่ไม่ต่างจากชุดกลไกมากนัก ซึ่งทำให้พื้นที่ในการทำงานมีจำกัดมาก รวมไปถึงชุดกลไกนี้ที่ BREGUET สร้างความซับซ้อนพร้อมความกลมกลืน ซึ่งดูเหมือนจะท้าทายกฎของฟิสิกส์ เช่นเดียวกับการแกะสลักอย่างประณีต บนชุดกลไกที่มองให้เห็นได้ทั้งหมดเป็นครั้งแรก โดยกลไกจะหมุนรอบแกนด้วยอัตราการหมุนเต็มรอบในทุก 12 ชั่วโมง
เพื่อทำการขับเคลื่อนชุดกลไกตูร์บิยองอิสระสองชุด ซึ่งแต่ละชุดจะหมุนเต็มรอบต่อนาที โดยมี เข็มชั่วโมงที่เป็นเอกลักษณ์ แสดงในแกนของกรงตูร์บิยองข้างหนึ่ง เหนือชิ้นส่วนกลไกจำนวนมากมาย ซึ่งมีส่วนประกอบที่ผลิตขึ้นจากทองคำ อันเป็นหนึ่งในรูปแบบการผลิตที่เป็นประเพณี ซึ่งในปัจจุบันได้สูญหายไปมากแล้ว และ BREGUET พยายามดำรงไว้ โดยจะเห็นได้จากข้อความการแกะสลักที่ด้านหลัง ที่แสดงให้เห็นถึงสถานที่ๆ Abraham-Louis Breguet เริ่มต้นผลิตนาฬิกาขึ้นในปารีส
ผลงานที่เป็นที่จดจำมาตลอดในหลายศตวรรษ คือการคิดค้นกลไกที่จะหนีปัญหาของความไม่เที่ยงตรงอันเกิดจากแรงโน้มถ่วง ในช่วงเวลานั้นที่นาฬิกาพกจะถูกเก็บไว้ในแนวตั้งในกระเป๋าเสื้อที่ Abraham-Louis Breguet ออกแบบโดยการรวมชุดบาลานซ์วีลและสายใย ในแคร่ที่เคลื่อนที่และหมุนด้วยตัวเอง ซึ่งโดยหลักการแล้ว ความเป็นอัจฉริยะและความน่าหลงใหลในผลงานการประดิษฐ์ของเขา ก็ยังคงทำให้ BREGUET เป็นหนึ่งในนาฬิกาเรือนเอกของโลกมาโดยตลอดอย่างแท้จริง
Classique Double Tourbillon ใน Ref. 5345 นี้ ก็มีความคล้ายคลึงกันในทางเทคนิคกับงานสร้างดั้งเดิม โดยสายใยจะประกอบไปด้วยช่วงโค้งแบบเทอร์มินัล ที่มีลักษณะเฉพาะและจะทำให้แก้ปัญหาในการคลายและคืนตัวของสายใยในชื่อของ บริเกต์โอเวอร์คอยล์ ซึ่งสปริงบาลานซ์ในชุดกลไกนี้ ก็ยังคงขึ้นรูปด้วยมือ ในขณะที่การปรับแต่งต่างๆ นั้นก็ยังคงทำได้ด้วยมือเช่นการปรับสมดุลของกรงตูร์บิยองเป็นต้น ซึ่งจุดเหล่านี้ก็เป็นอีกหนึ่งในการคงประเพณีการผลิตแบบดั้งเดิมของโลกเอาไว้
ชุดกลไกตูร์บิยองทั้งสองจะทำงานอย่างเป็นอิสระจากกัน โดยแต่ละชุดจะขับเคลื่อนด้วยชุดทดของตัวเอง และมีดิฟเฟอเรนเชียลกลางทำหน้าที่ทดเพื่อให้เกิดค่าชดเชยขึ้นจากทั้งสองกรง ส่วนชุดเข็มนาทีจะเป็นแบบคลาสสิคที่ขยับตัวอยู่ในตำแหน่งกลางหน้าปัด ในขณะที่สปริงลานในตลับ จะมีการคลายตัวอย่างช้าๆ ในช่วงเวลาเท่าๆ กันด้วยชุดกลไกที่จะช่วยลดการเสียดทาน และสุดท้ายคือชุดเม็ดมะยม ที่ใช้ระบบเซฟตี้แบบไดนาโมเมตริค ป้องกันไม่ให้มีการขึ้นลานสปริงมากจนเกินไป
ตัวเรือนผลิตจากแพลทตินัมในขนาด 46 มิลลิเมตร หนา 16.8 มิลลิเมตร กรุกระจกแซฟไฟร์ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง กลไกไขลานอินเฮ้าส์คาลิเบอร์ 588N ให้พลังสำรองลานนานถึง 50 ชั่วโมง บาลานซ์-วีลแบบถ่วงด้วยสกรูว์ และบริเกต์บาลานซ์-สปริง ใช้งานคู่กันกับสายหนัง/ยางสีเทา ตัดขอบและหลังสายสีน้ำเงิน และโพลดิ้งส์แคล็ปแบบสามท่อนเพื่อการใช้งานที่สะดวกสูงสุด โดยมีชิ้นส่วนกลไกทั้งหมดจำนวน 738 ชิ้นให้ประกอบเข้าด้วยกันเป็นนาฬิกาอันงดงามเรือนนี้
จากการเปิดตัวกลไกชุดนี้เป็นครั้งแรกในปี 2006 ขณะนี้ Double Tourbillon ก็ได้มีโอกาสเปิดเผยตัวเอง และอวดสวยตาผู้คนทั่วโลกเป็นครั้งแรกในแบบสเกเลตัน โดยมีการขัดแต่งและแกะสลักอย่างพิถีพิถันในทุกรายละเอียดด้วยมือ ซึ่งมีทั้งการแกะลายกิโยเช่ และอื่นๆ ในหลากหลายรูปแบบ ตามแบบฉบับที่ Abraham-Louis Breguet ผลิตขึ้นตั้งแต่ปี 1775 ที่ 39 Quai de l’Horloge ในปารีส ที่ไม่เพียงเป็นความทรงจำอันล้ำค่า แต่ยังคงเป็นประวัติศาสตร์ที่โลกและวงการนาฬิกาต้องจารึกไว้ตลอดกาล