URWERK EMC TIME HUNTER นาฬิกาจักรกลที่ให้เจ้าของสนุกกับการปรับตั้งความแม่นยำได้อย่างง่ายดายด้วยตนเอง

ระยะหลังมานี้จะเห็นได้ว่าแบรนด์นาฬิกาอินดี้บรรลือโลกอย่าง Urwerk (อูร์เวิร์ค) จากจินตนาการและฝีมือการสร้างสรรค์ของสองผู้ก่อตั้ง Mr. Felix Baumgartner นักประดิษฐ์นาฬิกาเปี่ยมวิสัยทัศน์ และ Mr. Martin Frei ดีไซเนอร์ผู้ไม่ยึดติดกับกรอบใด ได้ก้าวข้ามวิถีจารีตเดิมของตนเองและของวงการผู้ผลิตนาฬิกาอิสระในด้านการนำเสนอผลงาน ด้วยการนำความเป็นเลิศทั้งด้านการออกแบบและเทคนิคกลไกจากจินตนาการและความสามารถอันเปี่ยมล้น มาบูรณาการเข้ากับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คน โดยสร้างบุคลิกภาพนาฬิกาสุดล้ำทรงสมรรถนะของ Urwerk ให้เหมาะกับการดำรงเคียงคู่บนข้อมือในชีวิตประจำวัน และ EMC Time Hunter (อีเอ็มซี ไทม์ ฮันเตอร์) ก็คือหนึ่งในนาฬิกาที่ว่านั้น

 

urwerk emc timehunter x ray crop

 

ความเที่ยงตรงแม่นยำในการทำงานของกลไกนาฬิกาจักรกล คือความท้าทายที่อยู่คู่วงการนาฬิกามาหลายศตวรรษ หรือเรียกว่าตั้งแต่มนุษย์เริ่มคิดค้นกลไกนาฬิกาขึ้นมาก็ว่าได้ ระบบกลไก เทคโนโลยี วัสดุ และชิ้นส่วนต่างๆ ที่ช่วยให้กลไกทำงานได้แม่นยำยิ่งขึ้น ถูกคิดค้นขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่น่าจะมีครั้งไหนที่สามารถปฏิวัติวงการได้เหมือนกับนาฬิกาตระกูล EMC ที่หน่วยงาน ยู-รีเสิร์ช อันเป็นแล็บคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ของ Urwerk ได้สร้างสรรค์ขึ้นมา

 

ระบบกลไกหรือชิ้นส่วนต่างๆ ที่นักประดิษฐ์และช่างนาฬิกาทั้งโลกพากันคิดค้นและสร้างขึ้นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้นจะเน้นเพื่อให้กลไกมีการทำงานที่เที่ยงตรงแม่นยำที่สุดท่ามกลางสภาพการณ์ สิ่งแวดล้อม หรือสถานการณ์ ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ไม่ก็เน้นคิดค้นวิธีให้สามารถปรับอัตราการทำงานของกลไกได้อย่างละเอียดที่สุดเพื่อให้ช่างสามารถปรับตั้งการทำงานให้มีความแม่นยำได้มากที่สุด แต่หน่วยงาน ยู-รีเสิร์ช ของ Urwerk ผู้พัฒนานาฬิกาตระกูล EMC ได้ก้าวออกจากกรอบความคิดนี้ โดยพวกเขาทำการคิดค้นพัฒนาระบบที่ให้เจ้าของนาฬิกาสามารถวัดและปรับตั้งอัตราการทำงานได้อย่างง่ายดายด้วยตนเองอยู่เสมอ อันเป็นการล้มล้างธรรมเนียมเดิมที่จะต้องส่งไปให้ช่างนาฬิกาปรับตั้งให้ เพราะในความเป็นจริงแล้วคงไม่มีใครอยากส่งนาฬิกาไปหาช่างกันบ่อยๆ เป็นแน่

 

EMC TimeHunter X Ray back zoom1

 

คอนเซ็ปต์การสร้างนาฬิกา EMC (Electro Mechanical Control) คือการผนวกกลไกนาฬิกาจักรกลความแม่นยำสูง เข้ากับชุดโมดูลอิเล็กทรอนิกสำหรับสังเกตการณ์อัตราความคลาดเคลื่อนของการทำงาน โดยมุ่งเน้นความสะดวกง่ายดายในการใช้งานโดยตัวเจ้าของนาฬิกาเองเป็นหลัก ผลงานการออกแบบ พัฒนา และผลิต โดยบุคลากรในเวิร์คช็อปของ Urwerk ภายใต้คอนเซ็ปต์นี้ถูกเปิดตัวออกสู่ตลาดครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 2013 ด้วยรุ่นที่ใช้ชื่อว่า EMC ตามด้วยรุ่น EMC Black ตัวเรือนเคลือบดำในปี 2014 ซึ่งก็เป็นปีที่ EMC ได้รับรางวัลสาขานาฬิกาจักรกลรุ่นเด่น และสาขานาฬิกาแห่งนวัตกรรม จาก GPHG (Grand Prix d’Horlogerie de Genève) ประจำปี 2014 ไปครอง แต่ถึงผลตอบรับจะดีเยี่ยมเพียงนี้ ทางทีมงานของ Urwerk ก็ยังคงดำเนินการพัฒนาคอนเซ็ปต์นี้อย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นผลงานรุ่นต่อมาในชื่อ EMC Time Hunter ที่เปิดตัวออกมาในช่วงต้นปี 2016 ด้วยรุ่น EMC Time Hunter และรุ่น EMC Time Hunter Ceramic ตามมาด้วยรุ่น EMC Time Hunter X-Ray ในเดือนกันยายน ซึ่งทั้ง 3 รุ่นล้วนเป็นการผลิตแบบจำนวนจำกัดเพียงรุ่นละ 15 เรือนเท่านั้น

 

คุณลักษณะที่นาฬิกา EMC Time Hunter พัฒนาเพิ่มเติมจาก EMC รุ่นแรกก็คือ การเพิ่มความสามารถในการแสดงช่วงระยะการทำงานของบาลานซ์ ทั้งยังออกแบบหน้าปัดแสดงเวลาให้มีขนาดใหญ่เพื่อการอ่านค่าเวลาที่สะดวกชัดเจนยิ่งขึ้น ขณะที่การแสดงวินาทีเปลี่ยนจากเข็มอย่าง EMC รุ่นแรกมาใช้เป็นจานดิสก์แสดงผ่านช่องหน้าต่างแทน

 

EMC TimeHunter X Ray aviation

 

urwerk time hunter x ray face

 

EMC TIME HUNTER X-RAY เป็นเวอร์ชั่นที่ตั้งใจเปิดเผยให้มองเห็นถึงกลไก

วีล-เทรน และวงจรอิเล็คทรอนิก ได้อย่างชัดเจนด้วยการใช้โครงหน้าปัดสีดำแบบฉลุโปร่ง

ร่วมด้วยมาตรแสดงอัตราการทำงานสีแดงฉลุโปร่ง และเพลทกลไกแบบฉลุโปร่ง

ตัวเรือนทำจากไทเทเนี่ยม เกรด 5 ร่วมกับสตีล เคลือบด้วยพีวีดีสีดำ

 

Urwerk EMC TimeHunter X Ray Zoom

 

นาฬิกา EMC Time Hunter ถูกออกแบบให้สามารถอ่านค่าเวลาได้อย่างชัดเจนด้วยเข็มชั่วโมงกับนาทีบนหน้าปัดขนาดใหญ่ ร่วมด้วยจานดิสก์วินาทีที่แสดงค่าผ่านช่องบริเวณตำแหน่ง 1 นาฬิกา โดยตั้งใจออกแบบการจัดวางให้สมดุลย์กับเข็มแสดงกำลังสำรองซึ่งอยู่ที่ตำแหน่ง 7 นาฬิกา ส่วนเข็มบนมาตรวัด ณ ตำแหน่ง 10 นาฬิกาจะใช้ในการอ่านค่าอัตราความคลาดเคลื่อนในการทำงานของกลไก โดยแสดงในระยะหน่วยระหว่าง +15 ถึง -15 วินาทีต่อวัน ต่อด้วยการแสดงช่วงระยะการทำงานของบาลานซ์ให้ทราบ ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบว่ากลไกมีอัตราการทำงานที่คลาดเคลื่อน เจ้าของนาฬิกาก็สามารถปรับตั้งอัตราการทำงานได้ด้วยตนเองอย่างง่ายดายโดยไขสกรูว์ซึ่งอยู่ที่บริเวณด้านบนทางด้านหลังของตัวเรือน พร้อมกันนี้ยังเปิดเผยให้เห็นกลไกจักรกลและชุดวงจรอิเล็คทรอนิกได้อย่างชัดเจนด้วยการกรุกระจกแซฟไฟร์คริสตัลบานใหญ่บนฝาหลัง

 

Urwerk EMC TimeHunter X Ray Back

 

By Viracharn T.