SIHH 2012 - The new Pilot's Watches from IWC

 

บางท่านคงได้เห็น IWC PILOT’S WATCHES รุ่นล่าสุดปี 2012 ผ่านตากันไปบ้างแล้ว โดยทางเราก็เคยนำเสนอเรียกน้ำย่อยไปหนหนึ่งแล้ว และหลังจากที่เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ไปในงาน SIHH ที่เจนีวาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2012 IAMWATCH ก็ไม่รอช้าที่จะนำมาให้ชมกันแบบครบทุกรุ่นทั้งไลน์ซึ่งก็มีทั้งรุ่นใหม่ถอดด้ามและรุ่นเดิมปรับโฉม มาดูรายละเอียดคร่าวๆ กันทีละรุ่นเลยนะครับ

 

Unknown 1Big Pilot's Watch TOP GUN Miramar

Unknown  Pilot's Watch Chronograph TOP GUN Miramar

 Unknown 2Big Pilot's Watch TOP GUN

Unknown 3Pilot's Watch Chronograph TOP GUN

ในปี 2012 ที่ IWC เรียกว่าเป็น The Year of the High-Flyers นี้ทาง IWC ได้เปิดตัวนาฬิการุ่นใหม่ในตระกูล Pilot’s Watch ของตนหลายรุ่นด้วยกัน นำโดย TOP GUN Miramar คอลเลคชั่นใหม่ซึ่งมีทั้ง Big Pilot’s Watch TOP GUN Miramar ตัวเรือนขนาด 48 มิลลิเมตร และ Pilot’s Watch Chronograph TOP GUN Miramar ตัวเรือนขนาด 46 มิลลิเมตร โดยเพิ่มเติมขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งรุ่นย่อยของตระกูล Pilot’s Watch คำว่า Miramar มีที่มาจากสถานที่ตั้งของสถาบันฝึกสอนการบินในคาลิฟอร์เนียที่ให้กำเนิดสุดยอดนักบินมากมาย นาฬิการุ่นนี้ออกแบบโดยยึดตามรูปแบบของนาฬิกา Pilot’s Watch ที่ผลิตในชาฟเฮ้าส์เซ่นในยุคทศวรรษ 1940 ที่เรียกว่า B Watches ซึ่งเป็นที่นิยมของนักบินในสมัยนั้น เห็นได้จากรูปแบบของหน้าปัดที่มี hour circle และ chapter ring แยกออกจากกัน และเมื่อย้อนประวัติศาสตร์กันทั้งที IWC ก็ใส่มาสุดๆ ด้วยการทำให้นาฬิกา TOP GUN Miramar นี้เป็นนาฬิกาไลน์แรกของแบรนด์ที่มีดีไซน์แบบนาฬิกาทหารเสียเลย นาฬิกาคอลเล็คชั่นนี้จึงมาในตัวเรือนเซรามิกสีเทาเมทัลลิกขัดเงา ใช้หน้าปัดสีแอนทราไซท์ด้าน เข็มกับ chapter ring สีเบจ สวมใส่คู่กับสายผ้าสีเขียว โดยยังคงใช้เซรามิกเซอร์โคเนียมออกไซด์เป็นวัสดุทำตัวเรือน และใช้ไทเทเนียมเป็นวัสดุทำฝาหลังและปุ่มคอนโทรลต่างๆ อันเป็นคุณสมบัติประจำตัวของนาฬิกา TOP GUN ซึ่งออกมาเป็นรุ่นย่อยในตระกูล Pilot’s Watch ตั้งแต่ปี 2007 นาฬิกาใหม่ทั้ง 2 แบบนี้ใช้เครื่องเหมือนกับรุ่น Big Pilot’s Watch TOP GUN (ตัวเรือนเซรามิกขนาด 48 มิลลิเมตร) และ Pilot’s Watch Chronograph TOP GUN (ตัวเรือนเซรามิกขนาด 46 มิลลิเมตร) ซึ่งก็คือเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติอินเฮ้าส์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของ IWC กำลังสำรอง 168 ชั่วโมง (7 วัน) Calibre 51111 และเครื่องโครโนกราฟอินเฮ้าส์ Calibre 89365 พร้อมฟังก์ชั่นฟลายแบ็ค ตามลำดับ โดยบนเข็มวินาทีของรุ่น Big Pilot's Watch TOP GUN และ Pilot's Watch Chronograph TOP GUN ในคราวนี้ยังมาพร้อมกับสัญลักษณ์รูปเครื่องบินสีแดงบนเข็มวินาทีสร้างเสน่ห์ชวนมองให้กับหน้าปัดยิ่งขึ้นด้วย

 

Unknown 4Unknown 5

 Big Pilot's Watch Perpetual Calendar TOP GUN

 

ต่อกันด้วย Big Pilot’s Watch Perpetual Calendar TOP GUN ตัวเรือนเซรามิกขนาด 48 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นนาฬิกานักบินกลไกอัตโนมัติอินเฮ้าส์ Calibre 51614 กำลังสำรอง 7 วัน ที่มาพร้อมกับฟังก์ชั่นเพอร์เพทชวลคาเลนดาร์และมีดิสเพลย์แสดงเลขปี 4 หลัก พร้อมหน้าต่างแสดงมูนเฟส โดยมีรูปแบบหน้าปัดที่อ่านค่าได้ชัดเจนเหมือนกับหน้าตาของอุปกรณ์ในยุค 1940 และมีปลายเข็มรูปลูกศรสีแดงทำหน้าทีชี้บอกวัน วันที่ และเดือน ตัดกับสีดำและขาวบนหน้าปัดเป็นจุดมาร์คสายตาในการอ่านปฏิทินได้อย่างยอดเยี่ยม

 

Unknown 6Unknown 7

Spitfire Perpetual Calendar Digital Date-Month

 

รุ่นต่อมาก็คือคอลเลคชั่นใหม่ของ Spitfire รุ่นย่อยอีกรุ่นหนึ่งในตระกูล Pilot’s Watch ของ IWC ที่ออกมาครั้งแรกตั้งแต่ปี 2003 กับบุคลิกอันสง่างามดูเทคนิคอลซึ่งสะท้อนภาพของเครื่องบินใบพัดเดี่ยว Spitfire ในตำนานอันเป็นที่มาของชื่อรุ่นได้อย่างดี Spitfire รุ่นใหม่นี้ได้ถูกยกเครื่องใหม่หมด ด้วยดีไซน์แบบสตรีมไลน์ที่ดูไหลลื่นพร้อมกับมอบคุณลักษณ์พิเศษเพิ่มเติมลงไป อาทิ ตัวเรือนที่ถูกกลึงขึ้นมาอย่างพิถีพิถันด้วยมือทั้งในวัสดุสตีลและทอง และหน้าปัดเมทัลลิกขัดเงาแบบซันแพทเทิร์นอย่างงาม เป็นต้น รุ่นที่เด่นที่สุดของ Spitfire คอลเลคชั่นใหม่คงต้องยกให้กับ Spitfire Perpetual Calendar Digital Date-Month ในตัวเรือนเร้ดโกลด์ขนาด 46 มิลลิเมตร กลไกอัตโนมัติฟลายแบ็คโครโนกราฟ ซึ่งถือเป็นนาฬิกา IWC Pilot’s Watch รุ่นแรกที่แสดงวันที่ด้วยเลขขนาดใหญ่ 2 หลักและแสดงเดือนอีก 2 หลักเช่นนี้ ให้อารมณ์เหมือนกับเป็นอุปกรณ์การบินได้อย่างยอดเยี่ยม ต่อกันกับ Spitfire Chronograph ที่ใช้เครื่องโครโนกราฟอินเฮ้าส์พร้อมฟังก์ชั่นฟลายแบ็ค Calibre 89365 กำลังสำรอง 68 ชั่วโมง ตัวเรือนขนาด 43 มิลลิเมตร ซึ่งมีให้เลือกในวัสดุเร้ดโกลด์หรือสตีล โดยมีสายสตีลแบบใหม่ให้เลือกด้วย

 

Unknown 8   Spitfire Chronograph

 

Unknown 10  Big Pilot's Watch

 Unknown 9Pilot's Watch Double Chronograph

 Unknown 11Pilot's Watch Chronograph

 ส่วน Pilot’s Watch ตัวเรือนสตีลรุ่นคลาสสิกซึ่ง IWC ผลิตมาตั้งแต่ยุค 1930 และ 1940 ที่ยังคงทำขายอยู่จนถึงทุกวันนี้ ก็ได้รับการปรับปรุงใหม่ในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน โดยความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนก็คือ ช่องหน้าต่างวันที่ที่ได้รับการขยายออกในแนวดิ่งซึ่งเป็นอารมณ์เดียวกับมาตรอัลติมิเตอร์ในค็อกพิทของนักบินอันเป็นดีไซน์แบบเดียวกับที่ใช้ในนาฬิกา TOP GUN, Spitfire, Mark XVII และ Worldtimer รุ่นใหม่ที่ออกมาพร้อมกันในครั้งนี้ ในรุ่น Pilot’s Watch Double Chronograph กลไกอัตโนมัติโครโนกราฟนั้นมากับขนาดตัวเรือนที่ใหญ่ขึ้นเป็น 46 มิลลิเมตร พร้อมกับสีแดงที่ถูกแต่งแต้มบนหน้าปัดให้ดูเตะตายิ่งขึ้น ส่วนรุ่น Pilot’s Watch Chronograph กลไกอัตโนมัติ Calibre 79320 ก็ได้รับการขยายตัวเรือนเพิ่มอีก 1 มิลลิเมตร เป็น 43 มิลลิเมตร และมีสายสตีลแบบใหม่ให้เลือกด้วย เว้นแต่ Big Pilot’s Watch ซึ่งมากับเครื่องอัตโนมัติอินเฮ้าส์ Calibre 51111 เพียงรุ่นเดียวที่ยังคงมีหน้าตาเหมือนเดิมในขนาดตัวเรือน 46 มิลลิเมตรไม่เปลี่ยนแปลง

 

Unknown 12  Pilot's Watch Mark XVII

 

Unknown 13  Pilot's Watch Worldtimer

 

 

เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับกองทัพนักบินจาก IWC ที่ปี 2012 นี้เขาจัดเต็มมาให้เลือกกันแบบหลากหลายจริงๆ เชื่อว่าต้องมีแบบที่ตรงใจคุณอย่างแน่นอน เก็บเงินรอกันเลยดีไหมครับ

 

เกี่ยวกับ IWC Pilot’s Watch: ย้อนกลับไปเมื่อ 76 ปีก่อน ผู้ผลิตนาฬิกาแห่งชาฟเฮ้าส์เซ่นในนาม IWC ได้เริ่มทำการผลิตนาฬิกาสำหรับนักบินและผู้โดยสารบนเครื่องบินตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1930 โดยเปิดตัวครั้งแรกในปี 1936 ด้วยหน้าปัดสีดำ ใช้เข็มและตัวเลขขนาดใหญ่เรืองแสง ต่อมาในปี 1940 ก็ออกรุ่น Big Pilot’s Watch 52 T.S.C. ซึ่งมีขนาดตัวเรือนถึง 55 มิลลิเมตร ใหญ่ที่สุดเท่าที่ IWC เคยผลิตขึ้น สามารถแฮ็คเข็มวินาทีได้เพื่อให้นักบินและผู้นำทางสามารถตั้งนาฬิกาให้ตรงกันได้ถึงระดับวินาที มาพร้อมสายหนังสุดยาวให้สามารถใส่ทับบนแขนของชุดนักบินได้เลย และไม่ว่าจะเป็นนาฬิกา Pilot’s Watch รุ่นคลาสสิกรุ่นใด ก็จะมีรูปแบบเฉพาะของสไตล์หน้าปัดที่สืบสานต่อเนื่องกันมา นั่นก็คือ ไม่เยอะแต่ชัดเจน Pilot’s Watch รุ่นที่คนรู้จักกันมากที่สุดได้แก่ Mark 11 ที่มีเกราะอ่อนอยู่ภายในตัวเรือนเพื่อปกป้องการทำงานของเครื่องไขลาน Calibre 89 จากผลกระทบของสนามแม่เหล็ก ซึ่งเริ่มผลิตเพื่อกองทัพอากาศมาตั้งแต่ปี 1948 และได้รับความไว้วางใจให้เข้าประจำการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี

 

 

By: Viracharn T.