1858 CHRONOGRAPH TACHYMETER LIMITED EDITION รุ่นเด่นสุดเก๋าสไตล์วินเทจจากนาฬิกา MONTBLANC
เริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับนาฬิกาจาก MONTBLANC (มงต์บลองค์) ผู้ผลิตปากการายเก่าแก่อายุกว่าร้อยปี ที่ขยับขยายเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตเครื่องเขียน เครื่องประดับแอคเซสซอรีส์ เครื่องหนัง และนาฬิกา ด้วยความมุ่งมั่นจนประสบความสำเร็จในทุกๆ ด้านดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สำหรับนาฬิกานั้น หลังจากที่ได้ซื้อกิจการโรงงานนาฬิกาเก่าแก่นาม Minerva (มิเนอร์ว่า) ในเขต Villeret (วิเยอเรต์) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มาดำเนินการแล้ว ก็ได้ทำการจัดการการบริหารเสียใหม่ และเริ่มทำการผลิตนาฬิกากลไกระดับสูงภายใต้แบรนด์ MONTBLANC ออกมาสู่ตลาด และนาฬิกาโครโนกราฟแบบโมโนพุชเชอร์ (ปุ่มกดเดี่ยว ที่กดเริ่มจับเวลา หยุดจับเวลา และรีเซ็ต ด้วยปุ่มเดียวกัน) จากคอลเลคชั่น 1858 รุ่น 1858 Chronograph Tachymeter Limited Edition ที่เปิดตัวในช่วงปลายปี 2015 ด้วยรุ่นตัวเรือนเร้ดโกลด์ หน้าปัดสีดำ ผลิตจำนวน 100 เรือน ตามติดด้วยรุ่นตัวเรือนสตีล หน้าปัดสีน้ำเงิน ผลิตจำนวน 100 เรือน ที่เปิดตัวในงาน SIHH ปี 2016 ซึ่งเป็นรุ่นที่เพิ่งคว้ารางวัลสาขา Chronograph Watch จาก GPHG ประจำปี 2016 มาครองหมาดๆ ก็เป็นนาฬิการุ่นเด่นอีกรุ่นหนึ่งของกลุ่มนาฬิการะดับสูงของ MONTBLANC ล่าสุดในช่วงปลายปี 2016 ทาง MONTBLANC ก็ได้เผยโฉมรุ่นตัวเรือนวัสดุบรอนซ์ ผลิตจำนวนจำกัด 100 เรือน ออกมาให้ชมกันก่อนจะเปิดตัวให้เห็นเรือนจริงในงาน SIHH 2017 ที่จะจัดขึ้นที่กรุงเจนีวาในเดือนมกราคม 2017
1858 Chronograph Tachymeter Limited Edition
แบบตัวเรือนเร้ดโกลด์ หน้าปัดสีดำ ผลิตจำนวนจำกัด 100 เรือน
1858 Chronograph Tachymeter Limited Edition
แบบตัวเรือนสตีล หน้าปัดสีน้ำเงิน ผลิตจำนวนจำกัด 100 เรือน ได้รับรางวัล GPHG 2016 ในสาขา Chronograph Watch (นาฬิกาโครโนกราฟ)
ชื่อคอลเลคชั่น 1858 นั้น เป็นการให้เกียรติแก่โรงงาน Minerva ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1858 โดยนอกจากจะนำปีก่อตั้งของ Minerva มาตั้งเป็นชื่อคอลเลคชั่นแล้ว ยังนำรูปแบบของนาฬิกา Minerva จากยุคทศวรรษที่ 1930 มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบลักษณะของตัวเรือนแบบนาฬิกานักบิน รายละเอียดบนหน้าปัด เข็มทรงคะเธดรัล และเม็ดมะยมขนาดใหญ่ด้วย ยิ่งกับรุ่น 1858 Chronograph Tachymeter Limited Editionด้วยแล้ว เรียกว่าแทบจะถอดแบบจากนาฬิกาโครโนกราฟโมโนพุชเชอร์ดีไซน์สไตล์นาฬิกานักบินของ Minerva ในยุคนั้นมากันเลย โดยเพิ่มเติมรายละเอียดบางอย่างเข้าไป อันได้แก่ สเกลทาคีมิเตอร์ และใช้เข็มวินาทีกับเข็มจับเวลาคนละทรงกัน ส่วนเม็ดมะยมขนาดใหญ่พร้อมปุ่มกดบนเม็ดมะยมก็ได้รับการออกแบบให้ดูละเมียดละไมยิ่งขึ้นแต่ยังคงใช้รูปทรงลักษณะเดิม และที่คลาสสิกมากๆ ก็คือ การนำเอาโลโก้ MONTBLANC สมัยยุคทศวรรษที่ 1930 มาใช้บนหน้าปัด
กลไกที่ใช้กับนาฬิการุ่นนี้ เป็นกลไกไขลานรหัส MB.M 16.29 ซึ่งเป็นกลไกโครโนกราฟจับเวลา 30 นาที พร้อมระบบคอลัมน์วีลแบบสั่งการทำงานด้วยปุ่มกดเดียว ของ Minerva ที่เคยใช้กับนาฬิกา MONTBLANC มาตั้งแต่รุ่น Villeret Vintage Chronograph ที่เปิดตัวเมื่อปี 2010 กลไกรุ่นนี้ถือได้ว่าเป็นกลไกอินเฮ้าส์ของ MONTBLANC เพราะปัจจุบันโรงงาน Minerva ก็คือ หนึ่งในโรงงานของ MONTBLANC นั่นเอง
กลไก MB.M 16.29 เป็นกลไกโครงสร้างแบบสามมิติจัดวางชิ้นส่วนแบบเล่นระดับ ที่ถูกผลิตขึ้นตามแบบกลไกรหัส 17.29 ที่ Minerva สร้างขึ้นสำหรับนาฬิกาพกในสมัยปี 1929 และถูกนำมาใช้กับนาฬิกาข้อมือกลไกโครโนกราฟของ Minerva ในสมัยนั้นด้วย ซึ่งก็คือกลไกที่ใช้ในนาฬิกา Minerva ที่เป็นต้นแบบของรุ่น 1858 Chronograph Tachymeter Limited Edition นั่นเอง และด้วยความที่กลไกดั้งเดิมนั้นถือกำเนิดมาเพื่อใช้กับนาฬิกาพก ตัวกลไกจึงมีขนาดใหญ่ถึง 38 มม. เมื่อนำมาใช้กับนาฬิกาข้อมือก็ทำให้ตัวเรือนของนาฬิกามีขนาดใหญ่โตตามไปด้วย
กลไกไขลานโครโนกราฟจับเวลา 30 นาที พร้อมระบบคอลัมน์วีลและฮอริซอนทัล ดิสก์ คลัตช์ สั่งการจับเวลาด้วยปุ่มกดปุ่มเดียวที่ติดตั้งอยู่ร่วมกับเม็ดมะยม ทำงานที่ความถี่ 18,000 ครั้งต่อชั่วโมง ให้กำลังสำรองได้ 50 ชั่วโมง รหัสคาลิเบอร์ MB M16.29 เป็นกลไกที่ผลิตแบบอินเฮ้าส์โดยโรงงาน MONTBLANC ที่วิเยอเรต์ (โรงงาน Minerva เดิม)
ตัวเรือนของ 1858 Chronograph Tachymeter Limited Edition มีขนาดใหญ่ถึง 44 มม. โดยกรุด้านหลังด้วยกระจกแซฟไฟร์บานใหญ่เพื่อให้มองเห็นความสวยงามของชิ้นส่วนรูปทรงสละสลวยตามแบบฉบับของ Minerva โดยเฉพาะบริดจ์ของชุดกลไกโครโนกราฟที่เป็นรูปทรงตัว “V” อันเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมพร้อมสลักข้อความ “MINERVA Villeret” ให้เห็นกันชัดๆ และชิ้นส่วนเลเวอร์รูปทรงลูกศรอันอ่อนช้อยคล้ายกับหางของปีศาจ ชิ้นบริดจ์ถูกตกแต่งเป็นลายโค้ตเดอเชอแนฟอย่างสวยงาม อีกทั้งชิ้นส่วนต่างๆ ยังได้รับการขัดลบเหลี่ยมอย่างประณีตน่าชื่นชม
สำหรับตัวเรือนของลิมิเต็ด เอดิชั่น รุ่นล่าสุดที่เป็นตัวเรือนบรอนซ์นี้ ยังคงมีขนาดเท่ากับรุ่นตัวเรือนเร้ดโกลด์และรุ่นตัวเรือนสตีลที่ออกมาก่อนหน้า วัสดุบรอนซ์ที่ใช้นั้นมีส่วนผสมของอลูมิเนียมอยู่ด้วยเพื่อให้มีน้ำหนักไม่มาก มีสีนวลอ่อนผุดผ่อง และรักษาสภาพสีผิวไว้ได้นานเพื่อมิให้เกิดเป็นคราบด่างเขียว ซึ่งก็น่าจะคล้ายกับวัสดุที่ใช้ทำตัวเรือนรุ่น Black Bay Bronze ของ TUDOR นั่นเอง โดย MONTBLANC เลือกจับมาแมตช์กับหน้าปัดสีแชมเปญขัดลายซันเรย์ เพื่อส่งเสริมความคลาสสิกให้บังเกิดอย่างเต็มที่ ในด้านกลไกนั้นแม้จะเป็นรหัส MB M16.29 เช่นเดียวกับรุ่นเรือนเร้ดโกลด์กับรุ่นเรือนสตีล แต่ก็ได้ปรับให้เข้ากับตัวเรือนสีบรอนซ์โดยใช้เบสเพลทและบริดจ์ที่เคลือบด้วยโรสโกลด์
1858 Chronograph Tachymeter Limited Edition รุ่นตัวเรือนบรอนซ์ ใช้หน้าปัดสีแชมเปญขัดลายซันเรย์ พิมพ์สเกลต่างๆ ด้วยสีทอง เคลือบสารเรืองแสงบนหลักชั่วโมงเลขอารบิก ร่วมด้วยการใช้เข็มสีเร้ดโกลด์ ผลิตจำนวนจำกัด 100 เรือน
กลไก MB M16.29 ของรุ่นตัวเรือนบรอนซ์ ใช้เบสเพลทและบริดจ์เคลือบโรสโกลด์
ก่อนหน้านี้มักมีแต่ผู้ผลิตนาฬิการายย่อยที่ผลิตนาฬิกาในตัวเรือนวัสดุบรอนซ์ออกมาจำหน่าย แต่เมื่อผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง TUDOR (ที่ใหญ่เพราะอยู่ในเครือองค์กรเดียวกับ ROLEX) เปิดตัวนาฬิกาดำน้ำ Black Bay Bronze และผู้ผลิตรายไม่ใหญ่แต่เป็นที่รู้จักกันดีอย่าง ORIS เปิดตัวนาฬิกาดำน้ำลิมิเต็ดเอดิชั่นรุ่น Carl Brashear ออกมาในปี 2016 ก็ดูจะมีนัยสำคัญบางอย่างอยู่ เพราะเมื่อนาฬิกาที่ขายดีที่สุดนั้นเป็นวัสดุสตีล ด้วยเหตุผลด้านราคาที่ถูกกว่าตัวเรือนทองคำ แทนที่จะแข่งกันทำนาฬิกาเรือนสตีลออกมาจำหน่าย สู้ทำทางเลือกออกมาเป็นตัวเรือนสีทองจากวัสดุบรอนซ์เป็นทางเลือกให้กับลูกค้าจะไม่ดีกว่าหรือ เพราะต้นทุนราคาก็ไม่ได้แตกต่างจากวัสดุสตีล สามารถจำหน่ายในราคาใกล้เคียงกันได้ และก็น่าจะเข้าท่ากว่าตัวเรือนสตีลเคลือบทองอย่างที่แบรนด์จำนวนมากผลิตจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน เพราะก็มีลูกค้าจำนวนมากที่อยากได้ความแตกต่างในด้านวัสดุจริงๆ ไม่ใช่การนำสตีลไปเคลือบสีอื่นๆ มารอดูกันดีกว่าครับว่าตัวเรือนวัสดุบรอนซ์จะกลายเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายหรือไม่ และการที่ MONTBLANC เลือกที่จะทำนาฬิกาโครโนกราฟดีไซน์นักบินสไตล์วินเทจออกมาในตัวเรือนชนิดนี้ ก็ถือเป็นอะไรที่แปลกใหม่อยู่พอสมควร เพราะก่อนหน้านี้ตัวเรือนบรอนซ์มักจะใช้กับนาฬิกาแบบดำน้ำซะเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมีความเกี่ยวเนื่องกันในแง่ที่เคยใช้ทำอุปกรณ์สำหรับการดำน้ำและอุปกรณ์บนเรือในสมัยอดีต
ยิ่งไปกว่านี้ทาง MONTBLANC ยังได้ตัดสินใจลองทำอะไรที่แตกต่างออกไปอีกนิด ด้วยการเปิดตัวนาฬิกาคอลเลคชั่น 1858 รุ่นอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้เครื่องอินเฮ้าส์ของตัวเอง อย่างรุ่น 1858 Automatic Dual Time และรุ่น 1858 Automatic ที่ใช้ตัวเรือนวัสดุสตีลขนาด 44 มม. ร่วมกับขอบตัวเรือนและเม็ดมะยมที่ทำจากบรอนซ์ จับคู่กับหน้าปัดสีดำและใช้หลักชั่วโมงเลขอารบิกกับเข็มที่เคลือบด้วยสารเรืองแสงซูเปอร์-ลูมิโนว่า สีครีมน้ำตาล และสวมคู่มากับสายหนังวัวสีน้ำตาลที่ตัดเย็บสไตล์วินเทจอีกด้วย ซึ่งก็ทำให้ทั้งสองรุ่นนี้เป็นนาฬิกาอารมณ์วินเทจที่ดูแปลกตาและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
1858 Automatic Dual Time นาฬิกาฟังก์ชั่นดูอัลไทม์
แสดงเวลาที่สองด้วยเข็มกลางฉลุโปร่งแบบหมุนรอบละ 12 ชั่วโมง อ่านค่าร่วมกับสัญลักษณ์สีแสดงกลางวัน/กลางคืน ภายในช่องหน้าต่างทรงกลม เสริมความคลาสสิกด้วยเข็มวินาทีขนาดเล็ก ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา และมีช่องหน้าต่างทรงเหลี่ยมสำหรับแสดงวันที่ภายในวงวินาที
1858 Automatic ทำงานด้วยกลไกแสดงเวลาแบบสองเข็ม
By Viracharn T.