Classique Double Tourbillon "Quai de l'Horloge"
BREGUET เผยโฉมเรือนเวลาระดับมาสเตอร์พีซ ที่ผสมผสานสุดยอดงานศิลป์และเทคนิค อันแสนประณีตที่สุดซับซ้อนเข้าไว้ด้วยกัน ในเรือนเวลากลไกดับเบิลตูร์บิยองรุ่นใหม่ ที่เผยโฉมในนิยามใหม่อันเป็นการยกย่องศาสตร์และศิลป์แห่งแบรนด์ หรือสถานที่ที่รังสรรค์ซึ่งนวัตกรรมเรือนเวลาของ BREGUET ในตัวเรือนโรสโกลด์ขนาด 46 มิลลิเมตรและหนา 16.8 มิลลิเมตรที่แสดงความซับซ้อนของกลไกคาลิเบอร์ 588N2 ที่มีชิ้นส่วนกว่า 740 ชิ้นที่เผยให้เห็นสุดยอดของความเชี่ยวชาญ
ในการรังสรรค์กลไกชุดพิเศษนี้ขึ้นมา โดยสามารถยลโฉมชุดตูร์บิยองคู่ได้บนหน้าปัด ซึ่งตูร์บิยองอันเป็นส่วนสำคัญของกลไกแสดงเวลานั้น ขับเคลื่อนควบคู่กันไปราวกับกำลังเริงระบำ โดยบาร์ของชุดตูร์บิยองทั้งสองชุดจะยึดอยู่กับเมนเพลทหลัก ซึ่งจะหมุนครบรอบในทุกๆ 12 ชั่วโมงด้วยการทำงานของกลไกเฉพาะที่มีความซับซ้อนขั้นสูง ซึ่งผู้ออกแบบได้สร้างสรรค์ให้บาร์ชุดนี้ ทำหน้าที่เป็นเข็มแสดงเวลาชั่วโมงไปด้วย ในรูปลักษณ์เข็มนาฬิกาตามแบบฉบับของนาฬิกา BREGUET
ซึ่งสำหรับกลไกตูร์บิยองทั้งสอง จะประกอบไปด้วยชุดอุปกรณ์และบาร์เรล แบบแยกกันเฉพาะในแต่ละชุด ซึ่งต่างก็หมุนครบรอบในทุกหนึ่งนาที โดยกลไกทั้งสองจะทำงานเชื่อมโยงกันด้วยระบบความถี่ศูนย์กลางที่เป็นตัวกำหนดความถี่ของกลไก และยังมีชุดอุปกรณ์ที่สามที่เป็นตัวขับเคลื่อน การทำงานของกลไกทั้งหมดอีกด้วย โดยหน้าปัดกระจกแซฟไฟร์ใสก็น่าประทับใจไม่แพ้กัน จากการแสดงค่าด้วยตัวเลขแบบโรมัน และสลักหลักแสดงค่านาทีเคลือบสีน้ำเงินขัดเงา
ทำให้ดูราวกับว่าขอบหน้าปัดนาฬิกาด้านใน กำลังลอยล่องอยู่เหนือชุดกลไก โดยขอบข้างด้านในตัวเรือนจะสลักเซาะร่องแนวตั้ง พร้อมหลักชั่วโมงแสดงด้วยตัวเลขแบบโรมัน 12 ตัว ซึ่งมีการเคลือบขัดเงาอีกครั้งด้วยสีดำ ให้ตัวเลขเกิดความเงาและดูมีมิติ โดยเรือนเวลารุ่นนี้จะมาพร้อม สายยางสีมิดไนท์บลูประทับตรา BREGUET และเพื่อยกย่องงานหัตถศิลป์ในสุดยอดเรือนเวลา ก็คืองานศิลปะที่สามารถอวดโฉมอยู่บนข้อมือ ผสมผสานงานฝีมือหลากหลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน
ตั้งแต่ศิลปะการขัดลวดลายกิโยเช่ ที่ช่างศิลป์ของ BREGUET ผู้ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในศิลปะแขนงนี้โดยตรง จะได้รังสรรค์ลวดลายขึ้นใหม่สำหรับเรือนเวลานี้โดยเฉพาะ นั่นก็คือลายเรเดียนท์แฟลงเก้ (Radiant Flinqué) หรือลายคลื่นเสียง ซึ่งมีการตกแต่งลวดลายนี้บนเมนเพลทโรสโกลด์แบบหมุน รวมถึงบริดจ์ทองคำเคลือบโรเดียมที่อยู่ข้างใต้ พร้อมเทคนิคการสลักลายกิโยเช่ซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของ BREGUET ที่เป็นศิลปะที่ต้องอาศัยเครื่องกลึงถึงเกือบ30 เครื่อง ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเวิร์คช็อปที่ดีที่สุดของสวิส
โดยสำหรับเครื่องกิโยเช่ใหม่นี้ทาง BREGUET ได้รังสรรค์ขึ้นเอง ส่วนเครื่องรุ่นดั้งเดิมนั้นบางเครื่องมีอายุเก่าแก่ ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 18 ซึ่งทางแบรนด์ได้ทำการซื้อคืนมาจากเจ้าของที่เป็นบุคคล และจากบริษัทต่างๆทั่วโลก ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเครื่องมือนี้แล้ว จากนั้นได้นำกลับมาซ่อมแชมโดยผู้เชี่ยวชาญ แล้วจึงนำกลับมาใช้ในเวิร์คช็อปในปัจจุบัน โดยเครื่องกิลโยเช่แต่ละเครื่องจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน และสามารถสร้างสรรค์ลวดลายได้แตกต่างกันออกไป
ทั้งเครื่องทำลวดลายตรง เครื่องทำลวดลายทรงกลม ที่ต่างก็ต้องดูแลโดยที่ช่างกิโยเช่ที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์ลวดลายรูปทรงเรขาคณิตได้หลากหลาย โดยนาฬิกา BREGUET ในแทบจะทุกเรือนจะตกแต่งด้วยเทคนิคกิโยเช่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นที่หน้าปัด ตัวเรือน โรเตอร์ เมนเพลท หรือบริดจ์ นอกจากนี้ยังสามารถยลโฉมเทคนิคการตกแต่งแบบอื่นๆ ได้บนหน้าปัดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการขัดเงาของกรงตูร์บิยอง หน้าปัดย่อยแสดงนาทีที่ขัดลวดลายซันเบิร์ส
และบริดจ์ในลวดลายก้นหอย หรือเฟืองและบาร์เรลที่ขัดลายซาตินด้วยเทคนิคแบบปัดวน รวมถึงการตกแต่งแบบเนื้อทราย หรือเซอร์กูล่าเกรนนิ่งที่แนวข้างของเมนเพลท นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการแกะสลักลวดลาย ที่ด้านหลังกลไกต้องใช้เวลานานกว่าร้อยชั่วโมง โดยรายละเอียดงานแกะสลักที่ชวนให้นึกถึงสถานที่ ที่เป็นจุดกำเนิดของแบรนด์ BREGUET โดยเหล่าช่างฝีมือของแบรนด์ที่สลักรูปแบบต่างๆ ด้วยมือในรูปเวิร์คชอปของ Abraham-Louis Breguet ซึ่งตั้งอยู่ที่ 39 คเวเดอออค์ลอจ์ที่มองจากมุมสูง
โดยใช้หลากหลายเทคนิคในการสร้างสรรค์ บนแผ่นทองคำเพื่อให้เกิดเป็นภาพที่มีมิติ ที่เด่นชัดคือการสลักแกะลายแบบนูนสูงที่ต้องดุน เนื้อทองให้นูนขึ้นจนด้านในโหว่ ส่วนพื้นผิวของถนนจะเกิดจากการใช้อุปกรณ์ปลายแหลม มาแกะลายเส้นขนาดเล็กที่มีความละเอียด และส่วนสีเทาจะเกิดจากการใช้โรเดียมสีดำและเทา ซึ่งสีเทาเฉดนี้นำมาใช้กับบริดจ์ ที่ใช้เทคนิคการเคลือบแบบกัลป์วานิคอีกด้วย จากการที่บรรดาช่างฝีมือของ BREGUET ได้ฝึกฝนความสามารถอันเยี่ยมยอดเหล่านี้ เพื่อสืบสานสุนทรียศาสตร์ของแบรนด์