Full gold of BREGUET Marine Chronograph
ทองคำเป็นวัสดุที่ทรงคุณค่าตลอดมา ที่แม้จะมีกระแสความสนใจในโทนสีเงินของช่วงมิลเลเนียมที่ผ่านมา หรือความยอดนิยมของสตีลที่ใช้งานง่าย แต่คุณค่าที่คงอยู่เสมอของทองคำ และมูลค่าของตัววัสดุเอง ที่ทำให้วัสดุอย่างทองคำมีเหนือชั้นกว่าวัสดุอื่นๆ ที่มีอยู่มากมาย แม้กระทั่งวัสดุยอดนิยมที่สูงค่ากว่าก็ตาม
และอีกส่วนสำคัญของตลาดนาฬิกาทั่วโลกในปัจจุบัน ก็คือตลาดของนาฬิกาสปอร์ต ที่ซึ่งมีผู้คนทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเอเชีย ที่มีความต้องการนาฬิกาประเภทที่ใช้งานง่ายในชีวิตประจำวัน ผนวกกับการขจัดข้อเสียของนาฬิกาแบบสายหนัง ที่เมื่อต้องพบเจอกับเหงื่อจากผิวหนังมากๆ มักจะมีปัญหาเรื่องกลิ่นขึ้น
ซึ่งหนึ่งในนาฬิกาไลน์สปอร์ตของ BREGUET ก็คือ Marine ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนของนาฬิกาแบบสปอร์ตในแบบฉบับของยุคปัจจุบัน โดยไม่ละทิ้งรูปแบบและความเป็นตัวตนของ BREGUET ในแบบฉบับที่เริ่มต้นขึ้นจาก Abraham-Louis Breguet บิดาแห่งวงการนาฬิกาโลก ผู้วางรากฐานให้กับนาฬิการะดับสูงในปัจจุบัน
โดย Abraham-Louis Breguet ถือเป็นบุคคลแรกผู้คิดค้นกลไกแบบโครโนกราฟในโลกนี้อย่างแท้จริง จากแนวคิดของกลไกที่สร้างขึ้นในปี 1820 จนเป็นที่มาให้เกิดการต่อยอดของ Fatton ศิษย์เอกคนหนึ่งของเขาในยุคต่อมา และส่งทอดให้กับ Louis-Clémont Breguet ผู้สร้างนาฬิกาโครโนกราฟที่แสดงผลด้วยน้ำหมึก
จากการต่อยอดของ Louis-Clémont Breguet ผู้เป็นหลานชายของ Abraham-Louis Breguet นี้ เขาพัฒนาและปรับปรุงกลไกโครโนกราฟจากปู่ของเขาเพื่อให้สามารถจับเวลา และแสดงผลได้บนหน้าปัดจากการหยดด้วยหมึก ซึ่งต่อมาเขาได้แจ้งต่อสถาบันแห่งวิทยาศาสตร์ในปี 1850 สำหรับเรื่องราวของผลงานชิ้นนี้
ว่าแนวคิดของนาฬิกาโครโนกราฟ เกิดขึ้นจาก Abraham-Louis Breguet ปู่ของเขา ในขณะที่ช่างนาฬิกาชาวฝรั่งเศส Rieussec ก็นำเสนอนาฬิกาโครโนกราฟที่แสดงผลจากการหยดด้วยน้ำหมึกเช่นกันในปี 1821 โดยอาศัยแนวคิดจากกลไกโครโนกราฟของ Abraham-Louis Breguet มาต่อยอด
ซึ่งไม่ว่าจะเหตุการณ์จริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่แนวคิดของกลไกโครโนกราฟพื้นฐาน กลับเป็นสิ่งที่ผู้คนในยุคปัจจุบันให้ความสนใจกันมากกว่าการแสดงผล เพราะการใช้กลไกการทำงานเพื่อการจับเวลาในยุคนั้น ถือเป็นการกำหนดจุดเป็นจุดตายให้กับสถานการณ์หลายต่อหลายอย่างได้เลยทีเดียว
สำหรับปัจจุบัน รูปแบบของนาฬิกาที่ผนวกขาสายเข้ากับตัวเรือน ถือเป็นอีกหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของนาฬิกาแบบสปอร์ต เพื่อความเหมาะสมในการใช้งาน และลุคความเป็นนาฬิกาสปอร์ตอย่างเต็มตัว ในขณะที่ยังคงสไตล์ของนาฬิกาจาก BREGUET ไว้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตัวเรือนด้านข้างแบบฟลุท
ตัวเรือนแบบสามชิ้นประกบเข้าหากัน โดยมีตัวเรือนชิ้นกลางที่สามารถมองเห็นแถบด้านข้างแบบฟลุท ที่เซาะเป็นร่องได้อย่างโดดเด่น ตามแบบของนาฬิกา BREGUET ตั้งแต่อดีต อย่างที่ในปัจจุบันสามารถเห็นรูปแบบเช่นเดียวกันนี้ ได้จากแบรนด์นาฬิกาต่างๆ ที่นำแนวคิดนี้จาก BREGUET นี้มาใช้อย่างแพร่หลาย
ตัวเรือนโรสโกลด์ขนาด 42.3 มิลลิเมตร ความหนา 13.85 มิลลิเมตร กันน้ำได้ระดับ 100 เมตร เม็ดมะยมแบบขันเกลียวล็อคแน่น พร้อมปุ่มกดโครโนกราฟทั้งสอง ที่มีลักษณะยาวเป็นลายคลื่นแปลกตา แต่ออกแบบให้สามารถใช้งานได้อย่างคล่องแคล่วจากความยาว ที่เหมาะสมกับนิ้วมือและแรงการกดปุ่ม
หน้าปัดผลิตจากทองคำสีซิลเวอร์ดโกลด์ พร้อมการแกะสลักลวดลายอย่างงดงามด้วยมือล้วน ในแพทเทริน์หลากหลาย โดยมีความโดดเด่นมากที่สุดกับลายคลื่นในเกือบทั้งหลางหน้าปัด และปล่อยพื้นที่ในการแสดงตัวเลขต่างๆ ในแบบลวดลายริ้วซาติน เพื่อให้สะดวกในการอ่านค่าแสดงเวลาทั้งหมด รวมทั้งชื่อแบรนด์
ด้วยกระจกแซฟไฟร์ด้านหลังตัวเรือน ทำให้สามารถมองเห็นการตกแต่งอันงดงามของกลไกโครโนกราฟอินเฮ้าส์คาลิเบอร์ 582QA ที่มีการขัดแต่งชิ้นบริจด์ด้วยลวดลาย ตามแบบกระดานพื้นบนเรือในยุคอดีต นอกจากนี้ยังมีโรเตอร์ทองคำด้านหลังตัวเรือน ที่ออกแบบตามลักษณะของพวงมาลัยบังคับเรืออีกด้วย
ทำงานด้วยความถี่ระดับ 4 เฮริท์ซ บาลานซ์-วีลแบบบริเกต์ บาลานซ์-สปริงแบบเรียบผลิตจากซิลิคอน โรเตอร์ขึ้นลานผลิตจากทองคำ เพื่อน้ำหนักที่เหมาะสมในการทำงานของชุดกลไก โดยมีชิ้นส่วนทั้งหมดของกลไกชุดนี้จำนวน 346 ชิ้น เพื่อประกอบเข้าด้วยกันให้เป็นชุดกลไกอันสมบูรณ์แบบ
ขอบด้านหลังตัวเรือน หนาแน่นด้วยการยึดด้วยสกรูว์ 6 ชุด อวดกลไกการทำงานอันงดงามผ่านกระจกแซฟไฟร์ชิ้นกลาง และแกะสลัก Ref. ของนาฬิกา ชื่อแบรนด์ BREGUET และข้อความ HORLOGER DE LA MARINE อันหมายถึง BREGUET ผู้สร้างนาฬิกาที่มีความเที่ยงตรงสำหรับราชนาวี ที่ขอบตัวเรือนนี้