The Masterpiece of MAURICE LACROIX, Part I
"Masterpiece" ถือเป็นหนึ่งคำที่มักถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการผลิตนาฬิกา และสำหรับ MAURICE LACROIX แล้ว คำนี้ไม่ใช่เป็นเพียงคำที่ถูกนำมาใช้ แต่หมายถึงความพิเศษที่แบรนด์ตั้งใจสร้างสรรขึ้นมาจริงๆจากในช่วงที่ประวัติศาสตร์ของวงการนาฬิกาสวิส อาจต้องยุติบทบาทลงในยุคควอท์ซไครซิส การสร้างนาฬิกาคอลเลคชั่น "Masterpiece" ขึ้นจึงถือเป็นอีกหนึ่งในความศรัทธาอันแรงกล้าของแบรนด์
ที่รวมถึงความมั่นใจในอนาคตของนาฬิกาแบบจักรกล ที่ต้องใช้เวลาต่อสู้มาอย่างยาวนาน จนมาถึงวันนี้ที่โลกยอมรับนาฬิกาแบบจักรกล และถือเป็นหนึ่งในศิลปะชั้นสูง รวมทั้งมูลค่าที่สูงลิบลิ่วตามมา ซึ่งสำหรับนาฬิกาในคอลเลคชั่น Masterpiece แล้ว สิ่งนี้ถือเป็นหนึ่งในรากเหง้าสำคัญและเป็นที่มาของแบรนด์ในปัจจุบัน แม้ว่าในทุกวันนี้ความเป็น MAURICE LACROIX อาจมองเห็นได้จากคอลเลคชั่น AIKON เป็นหลัก
โดย MAURICE LACROIX ยังคงปักหลัก ณ แหล่งการผลิตในเมืองเซนจ์เนอเลอจีเอร์เดิม อันเป็นโรงงานที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1975 โดย DESCO VON SCHULTHESSAG เพื่อสร้างชุดกลไกแบบพิเศษในราคาที่เหมาะสม สำหรับส่งป้อนตลาดนาฬิกาในยุคนั้น จนกลายเป็นแนวคิดในการเริ่มต้นสร้างแบรนด์ในชื่อตัวเอง พร้อมทั้งนำแนวคิดของการผลิตนาฬิกาแบบจักรกล ในราคาที่เหมาะสมออกสู่ตลาดในหลายคอลเลคชั่น
ซึ่งสำหรับคนนาฬิกามือใหม่ที่ยังไม่ได้มีประสบการณ์มากนัก นาฬิกาที่มีองค์ประกอบอันครบถ้วน ตามแบบนาฬิกาสวิสชั้นสูง ที่มีทั้งกลไกที่แสดงฟังก์ชั่นต่างๆ มากมาย รวมไปถึงมีภาพลักษณ์ของนาฬิกาแบบจักรกลอย่างชัดเจน ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะนาฬิกาในรูปแบบสเกเลตันที่ถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของแบรนด์ ที่ให้ได้ทั้งความพึงพอใจ ความหรูหรา และความน่าหลงใหลด้วย
นาฬิกา MAURICE LACROIX ในคอลเลคชั่น Les Mécaniques เดิมหรือคอลเลคชั่น Masterpiece ในปัจจุบัน ถือเป็นคอลเลคชั่นเดียวของแบรนด์ ที่จะประกอบไปด้วยนาฬิกาแบบจักรกลเท่านั้น ซึ่งอาจมีนาฬิกาบางรุ่นจากคอลเลคชั่นอื่นมารวมเอาไว้ด้วย อย่างเช่นนาฬิการุ่น AIKON Grand Date ที่ใช้กลไกระดับสูงของแบรนด์ มานำเสนอในภาพลักษณ์ของนาฬิกาแบบคนเมืองรุ่น AIKON ที่ถือเป็นกลุ่มนาฬิกาแบบสูงสุด
จากเดิมที่แบรนด์จะเลือกใช้กลไกจากผู้ผลิตชั้นนำต่างๆ ทั้ง PERSEUX, VENUS, ETA, UNITAS (ETA) หรือในยุคหลังๆ อย่าง SELITA มาเลือกใช้โดยในหลายครั้งจะเลือกใช้วิธีการ ผสมผสานชุดกลไกเข้ากับโมดูลพิเศษที่แบรนด์พัฒนาขึ้น เพื่อให้เกิดเป็นฟังก์ชั่นการทำงานที่ซับซ้อน เช่น การแสดงค่าแบบเรโทรเกรด, การแสดงค่าพลังสำรองลาน หรือแม้กระทั่งชุดแสดงค่าแบบเพอเพทชวลคาเลนดาร์
ที่ทำให้เห็นว่ายังคงมีผู้คนมากที่ยังชื่นชอบ กลไกที่สวยงามพร้อมคุณค่าในสนนราคาที่เหมาะสม จนทำให้ MAURICE LACROIX ตัดสินใจต่อยอดนาฬิกาในคอลเลคชั่น Masterpiece ไปอีกระดับโดยมีเงื่อนไขสำคัญทางด้านราคาเป็นหลัก เนื่องจากชุดกลไกแบบซับซ้อนเดิม ต่างยุติการผลิตไปแล้วและหายากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่กลไกพื้นฐานก็อาจไม่เพียงพอต่อการโมดิฟายได้อีกต่อไป
ฉะนั้นความเป็นไปได้ในแง่ของความสมดุล ระหว่างความเป็นกลไกแบบซับซ้อนและราคาที่เหมาะสม จึงถือเป็นเงื่อนไขสำคัญของแบรนด์ที่ต้องคำนึง เพราะหากพัฒนาชุดกลไกหนึ่งชุดไปแล้ว มูลค่าในการสร้างกลไกในแต่ละชุดอาจทำให้ระดับราคา ไม่ได้เป็นไปตามโครงสร้างแต่เดิมที่ตั้งใจเอาไว้ ดังเช่นในปี 2006 ที่แบรนด์ได้สร้างกลไกที่พัฒนาเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก นั่นคือกลไกอินเฮ้าส์โครโนกราฟคาลิเบอร์ ML106
รวมทั้งกลไกแบบซับซ้อนอีกมากมายตามมา โดยพยายามทำให้โครงสร้างราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสม แม้จะไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่อย่างที่ตั้งใจ แต่ก็สามารถสร้างคอลเลคชั่นให้แข็งแกร่งได้ และยังคงความเป็น Masterpiece ไว้ตลอดมา ในขณะเดียวกันกับที่โลกแห่งนาฬิกา มีการพัฒนาไปในทิศทางมากมาย รวมถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่มากมาย ที่ทำให้การพัฒนาเพียงชุดกลไกไม่ได้เป็นโจทย์สำคัญโจทย์เดียวอีกต่อไป