GENEVA WATCH DAYS, Part I
GENEVA WATCH DAYS เป็นงานนาฬิกาที่เริ่มต้นจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนกันยายนปี 2020 ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจัดงานบนพื้นฐานปรัชญยุคใหม่ ที่แหวกแนวและเน้นความร่วมมือกันขององค์กรต่างๆ พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงความซับซ้อน และถือเป็นการจัดงานแบบอิสระ ของแบรนด์นาฬิกาซึ่งสามารถจัดการงานในส่วนของตัวเอง มีความเป็นกันเอง สบายๆ ยืดหยุ่น และคล่องตัวสูง
และปี 2023 นี้ก็ถือเป็นปีที่ 3 แล้วที่ iamwatch.net ได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน GENEVA WATCH DAYS อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด พร้อมการเก็บข้อมูลและภาพสดๆ มานำเสนอในทันทีเช่นเคย โดยในปีนี้มีแบรนด์นาฬิกาที่มีโอกาสได้เข้าเยี่ยมชมตั้งแต่ BIANCHET, ULYSSE NARDIN, PERRELET, GIRARD-PERREGAUX, CHARLES ZUBER และ CORUM
BIANCHET แบรนด์นาฬิกาที่เน้นรูปแบบความเป็นนาฬิกาสปอร์ตเต็มตัว พร้อมกลไกอินเฮ้าส์ตูร์บิยองสเกเลตัน ที่ทำให้เห็นโครงสร้างการทำงานภายในอย่างโดดเด่น โดยปีนี้นำเสนอนาฬิการุ่น Flying Tourbillion Grand Date B1.618 ที่เป็นการนำเสนอทดแทนนาฬิการุ่นเดิมที่จำหน่ายหมด และยุติการผลิตไปเรียบร้อยแล้ว พร้อมการปรับแต่งชุดกลไกในนาฬิการุ่นใหม่มากขึ้นกว่าเดิม ผนวกการปรับโครงสร้างการทำงานภายใน รวมทั้งชุดกรงตูร์บิยองแบบดั้งเดิมที่ปรับเปลี่ยนเป็นชุดกรงแบบฟลายอิ้งตูร์บิยองแทน พร้อมสีสันหลากหลายที่ยังคงนำเสนอในรูปแบบเดิม กับนาฬิการุ่นใหม่ล่าสุดนี้ได้อย่างงดงาม
ULYSSE NARDIN นำเสนอนาฬิการุ่น Blast Free Wheel Marquetry พร้อมความแปลกใหม่ในหลากหลายแง่มุม ตั้งแต่สิ่งที่สามารถมองเห็นได้บนหน้าปัดในทันที นั่นก็คือแผ่นชิ้นงานที่ผลิตขึ้นจากเซลิเซียม และนำมาประกอบกันเป็นลวดลายด้วยเทคนิคมาเควทรี่ ที่ให้เหลือบสีที่ต่างกันในแต่ละชิ้นอย่างงดงาม ในขณะที่ชุดกลไกจะถูกซ่อนอยู่ใต้หน้าปัดเกือบทั้งหมด และสร้างให้มีชิ้นส่วนกลไกบางชุดลอยโดดเด่นอยู่บนหน้าปัด กับกระจกแซฟไฟร์ทรงโดมที่ครอบหน้าปัดทั้งหมด โดยมีตัวเรือนที่ล็อคด้านบนกับด้านล่างของชุดกลไกนี้เอาไว้ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เห็นได้ถึงความสำเร็จ ด้านการออกแบบของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี
PERRELET ยังคงนำเสนอและต่อยอดนาฬิการุ่นยอดนิยมของแบรนด์นั่นคือ Turbine ในขนาดใหม่ที่ 41 มิลลิเมตรซึ่งเป็นขนาดที่กำลังพอเหมาะกับข้อมือของคนเอเชีย โดยมีตัวเรือนที่ผลิตจากไทเทเนียม พร้อมสายที่ผลิตจากวัสดุชนิดเดียวกัน หรือจะเป็นทางเลือกกับตัวเรือนไทเทเนียมดีแอลซี ใช้งานเข้าคู่กันกับสายยางสีสัน ตามสีใต้กังหันเทอร์ไบน์บนหน้าปัด รวมทั้งหมดใน 10 Ref. พร้อมการทำงานจากกลไก SOPROD อัตโนมัติคาลิเบอร์ P-331-MH ที่ทำงานในความถี่ 28,800 รอบต่อชั่วโมง โดยผ่านการรับรองมาตรฐานความเที่ยงตรงระดับ COSC และ CHRONOFIABLE
GIRARD-PERREGAUX ในงานปีนี้นำเสนอนาฬิการุ่น Laureato Absolute 8Tech ที่ต่อยอดมาจากนาฬิการุ่น Laureato Absolute เดิมโดยเลือกใช้วัสดุตัวเรือนที่ผลิตขึ้นจากคาร์บอน ที่มีน้ำหนักที่เบากว่าสตีลถึง 5 เท่า และให้ลวดลายที่แตกต่างกันไปในแต่ละเรือนตามธรรมชาติ โดยมีความพิเศษกับหน้าปัดในแบบแซนวิช เพื่อให้เกิดมุมมองในมิติต่างๆ มากขึ้ จากแผ่นหน้าปัดด้านบนที่เจาะรูไว้ทั้งมาร์กเกอร์ 8 ตำแหน่ง และช่องแสดงเวลาโครโนกราฟ รวมทั้งช่องแสดงเวลากลางวัน/กลางคืน ในตัวเรือนขนาด 44 มิลลิเมตร และทำงานด้วยกลไกอัตโนมัติโครโนกราฟคาลิเบอร์ GP03300-1058
CHARLES ZUBER กับนาฬิการุ่น Perfos ที่ผ่านการออกแบบโดย Eric Giroud นักออกแบบนาฬิกาชื่อดังชาวสวิส ที่มีการต่อยอดสำหรับงานนี้นั่นคือ Perfos Karl ที่เป็นงานการประดับแซฟไฟร์สีส้มบาแก็ตคัทจำนวน 84 เม็ด (น้ำหนักประมาณ 2.42 กะรัต) บนขอบหน้าปัด พร้อมกับแซฟไฟร์บริลเลียนคัทอีก 39 เม็ดบนด้านหลังของโรเตอร์ นอกจากนี้ยังมีการสร้างชุดกลไกอัตโนมัติอินเฮ้าส์เดิมให้เป็นแบบกึ่งสเกเลตันโดย Cédric Joaner ช่างนาฬิกาชาวสวิส พร้อมกันนี้ก็มีการนำเสนอนาฬิการุ่น Perfos 36 Diamonds ที่เป็นการประดับเพชรบริลเลียนคัทจำนวน 60 เม็ด (น้ำหนักประมาณ 1.23 กะรัต) บนขอบหน้าปัดไปพร้อมกันด้วย
CORUM กับคอนเซ็ปท์ว็อชที่มีรูปทรงพิเศษ พร้อมกับวัสดุตัวเรือนที่ผลิตจากไทเทเนียมเกรด 5 รีไซเคิล กับกลไกการทำงานแบบฟลายอิ้งตูร์บิยอง และชุดเกียร์ที่สามารถมองเห็นได้อย่างละเอียดบนหน้าปัด และยังให้พลังสำรองลานได้นานถึง 90 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังนำเสนอนาฬิการุ่น Admiral Splash ตัวเรือนเซรามิคสีขาวที่เพิ่มสีสัน ความสนุกให้เห็นได้อย่างเด่นชัดบนหน้าปัด พร้อมกันกับกับ Admiral Ceramic พร้อมขอบตัวเรือนพิ๊งโกลด์ ในทั้งตัวเรือนแบบเซรามิคสีขาวและสีดำ นอกจากนี้ยังมีนาฬิการุ่น Golden Bridge พร้อมมังกรทั้งตัวพันชุดกลไกในหน้าปัด ที่ถือเป็นเทคนิคการทำงานศิลปะที่งดงามมาก
ติดตามบทความ GENEVA WATCH DAYS 2023 ได้ในครั้งต่อไป