MAURICE LACROIX, The Masterpiece, Part I
มีนาฬิกามากมายหลายรุ่นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงเปลี่ยนผ่านของ MAURICE LACROIX เกือบ 50 ปีที่ผ่านมา ที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมายในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่ Desco von Schulthess AG ทำการส่งทอดแบรนด์ต่อให้กับ DKSH ในปี 2014 ในขณะที่วิธีการ รูปแบบ และการจัดหาชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์นั้นยุ่งยากมากขึ้น และเนื่องจาก MAURICE LACROIX เน้นความเป็นนาฬิกากลไกแบบสลับซับซ้อน การใช้องค์ประกอบสำคัญ จากซัพพลายเออร์ที่เปลี่ยนแปลงไปจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่ Swatch Group จำกัดการจำหน่ายชุดกลไกและส่วนประกอบของ ETA เพื่อมุ่งเน้นให้แบรนด์นาฬิกาทั้งหลาย ที่ในยุคนั้นต่างก็ใช้กลไกพื้นฐานจาก ETA สร้างศักยภาพในด้านการผลิตกลไกขึ้นเอง
ซึ่งเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปถึงช่วงปี 1980 ที่ MAURICE LACROIX เชื่อมั่นว่านาฬิกาแบบกลไกยังคงสามารถดำรงอยู่ได้ ในขณะที่แบรนด์นาฬิกาต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่ ต่างมีทางเลือกของกลไกควอท์ซให้กับตัวเองทั้งสิ้น ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะตลาดของนาฬิกากลไกควอท์ซในยุคนั้น ใหญ่โตกว่าตลาดของนาฬิกากลไกหลายสิบเท่าตัว พร้อมกันนั้นแบรนด์นาฬิกาทั้งหลาย ก็ยังคงยึดติดกับวิธีและแนวคิดในการผลิตแบบดั้งเดิม จนทำให้ไม่สามารถมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำได้เช่นนาฬิกากลไกควอท์ซ รวมไปถึงแบรนด์ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายที่ในขณะนั้น ที่ต่างก็ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะเข้าไปช่วยเหลือหรือกอบกู้วิกฤตินี้ได้ดีนัก และทำให้แบรนด์นาฬิกาต่างๆ จะต้องดิ้นรนในการแก้ปัญหาของตัวเองกันไป
CHRONOSWISS ก็เป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่มุ่งเน้นแนวทางลักษณะนี้ เพียงแต่ไม่ได้เน้นไปที่ชุดกลไกหรือปรับเปลี่ยนชุดกลไกมากนัก แต่ก็เลือกใช้ชุดกลไกจากยุคที่ผ่านมา มาปรับใช้กับตัวเรือนของตัวเอง และนำเสนอออกมาในภาพลักษณ์ ของความเป็นนาฬิกาแบบกลไกในราคาที่เหมาะสม โดยเชื่อว่ายังมีผู้ที่หลงใหลความเป็นกลไกและฟังก์ชั่นต่างๆ ของความเป็นแมคคานิคที่จะไม่ได้จากนาฬิกากลไกควอท์ซ แต่ยังต้องมีระดับราคาที่เหมาะสมกับกลุ่มคนไปพร้อมกันด้วย ดังนั้นการเลือกใช้กลไกที่มีอยู่เดิมจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด และจุดเริ่มต้นของการนำกลไกพื้นฐานจาก ETA มาพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโจทย์สำคัญของ MAURICE LACROIX ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
โดยปี 2006 เป็นปีที่ MAURICE LACROIX เริ่มพัฒนาแนวคิดนี้อย่างเต็มกำลังโดยอาศัยกลไกพื้นฐานจาก ETA 6498 หรือที่ผู้คนทั่วไปยังคงรู้จักกันในชื่อ UNITAS ก่อนที่ Swatch Group จะควบรวมกิจการเข้ากันกับ ETA โดยซื้อกลไกพื้นฐานนี้เป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งชิ้นส่วนต่างๆ อย่างเช่นบริจด์ที่จำเป็นต้องใช้ รวมทั้งชุดสปริงสวอนเน็คที่ใช้สำหรับการปรับตั้งชุดบาลานซ์วีล ในขณะที่แบรนด์นาฬิกาโดยมากมักเลือกใช้กลไกจาก ETA แล้วในไปใส่ในตัวเรือน พร้อมตั้งชื่อกลไกคาลิเบอร์เป็นของตัวเอง ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ในยุคนั้นยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้มากนัก เนื่องจากข้อมูลและการสื่อสารเชิงลึก ในเรื่องกลไกและผู้ผลิตยังคงไม่แพร่หลาย รวมทั้งเข้าถึงง่ายมากกว่าอย่างเช่นในปัจจุบัน
ดังนั้นสำหรับ MAURICE LACROIX แล้ว คอลเลคชั่น Cinq Aiguilles ที่เริ่มต้นนำเสนอในปี 1995 จึงถือเป็นนาฬิกาที่บ่งบอกได้ถึงความเป็นนาฬิกาแบบกลไกได้อย่างแท้จริง ท่ามกลางกระแสนาฬิกากลไกควอท์ซที่ยังเป็นที่นิยมมากในยุคนั้น โดยเฉพาะในนาฬิกากลุ่มราคา "เริ่มต้น" ที่ MAURICE LACROIX สามารถนำเสนอนาฬิการุ่นต่างๆ ที่เพียบพร้อมไปด้วยกลไกและรูปแบบความสลับซับซ้อน อย่างที่เห็นได้จากนาฬิกาแบบเรโทรเกรดของแบรนด์ ที่เป็นการใช้กลไกพื้นฐานของ ETA หรือที่ผู้คนยังคงรู้จักกันในชื่อเดิมคือ UNITAS มาปรับปรุงพร้อมกับสร้างโมดูลขึ้นเอง จนกลายเป็นภาพลักษณ์สำคัญของแบรนด์ด้วยราคาค่าตัวที่ผู้คนทั่วไป ที่มีความชื่นชอบนาฬิกาแบบกลไกจับต้องได้
จนถึงการต่อยอดสู่นาฬิการุ่น Double Retrograde ในปี 2005 ที่อยู่ในคอลเลคชั่นเดิมแต่เปลี่ยนชื่อเป็น Les Classique ที่ทำให้เข้าใจคอนเซ็ปท์ได้ง่ายขึ้น พร้อมภาพลักษณ์ของเข็มแสดงฟังก์ชั่นแบบเรโทรเกรดถึงสองชุด โดยยังคงใช้กลไกพื้นฐานของ ETA มาประกอบเข้ากับโมดูลของตัวเอง ซึ่งครั้งนี้มาพร้อมชุดเรโทรเกรดสองชุด ที่ถือเป็นความพิเศษทั้งด้านภาพลักษณ์ที่เห็นได้ในทันที รวมไปถึงชุดกลไกที่ต้องมีการปรับตั้งและปรับเปลี่ยนการถ่ายพลังงานสู่เข็ม เนื่องจากเข็มแบบเรโทรเกรดจะต้องการพลังงาน ในการขับเคลื่อนมากกว่าแบบปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ต้องใช้แรงตีเข็มย้อนกลับสู่ตำแหน่งเดิม ดังนั้นจึงไม่ค่อยเห็นแบรนด์นาฬิกาต่างๆ เลือกพัฒนาเข็มแบบเรโทรเกรดนี้มากนัก
ซึ่งในยุคนั้น นาฬิกาทั้งสองเรือนของ MAURICE LACROIX นี้ถือเป็นภาพลักษณ์สำคัญและยังเป็นนาฬิการุ่นที่มียอดจำหน่ายสูงสุดอีกด้วย ซึ่งต้องเรียกว่าเป็นนาฬิกาที่มีภาพลักษณ์ของความคลาสสิคอยู่อย่างเต็มเปี่ยม และผู้คนที่กำลังมองหาหรืออยากรู้จักกับนาฬิกาแบบกลไกจึงต้องมุ่งสู่ MAURICE LACROIX รวมไปถึงยังเป็นจุดเริ่มต้นให้กับคนที่ชอบนาฬิกาแบบกลไก ได้ศึกษาและเรียนรู้รวมไปถึงต่อยอดสู่นาฬิการะดับสูงต่อไปอีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจว่าหากคนที่เคยเห็นภาพต่างๆ ในด้านกลไกสำหรับ MAURICE LACROIX แล้วอาจไม่คุ้นชินกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ในปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นสู่ความทันสมัยและเข้ากับยุคมากขึ้น รวมทั้งภาพของนาฬิกาแนวสปอร์ตที่ผู้คนยุคนี้ต่างก็ต้องการอีกด้วย