นาฬิกา Kodo จาก GRAND SEIKO เป็นนาฬิกาที่เปิดตัวในงาน Watches and Wonders 2022ที่ผู้คนทั่วทั้งโลกให้ความสนใจกันเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะด้วยชุดกลไกที่มีแนวคิดและการออกแบบที่ซับซ้อน รวมไปถึงการผนวกระบบแสดงเวลา ที่ให้ผลได้ดีมากที่สุดสองชุดเข้าไว้ด้วยกัน ล้วนแล้วแต่ทำให้นาฬิการุ่น Kodo กลายเป็นที่จับตามองท่ามกลางแบรนด์นาฬิกาน้อยใหญ่ในงานได้ในทันที และในวันนี้ที่ iamwatch.net มีโอกาสเข้าร่วมสัมภาษณ์ทางออนไลน์กับ Mr. Kawauchiya ผู้ออกแบบชุดกลไกนี้
Q: อย่างแรกเลย เรารู้กันดีว่านาฬิการุ่น Kodo ได้สร้างหลักการใหม่ให้กับประวัติศาสตร์ของแบรนด์อายุ 62 ปีชื่อ GRAND SEIKO ในฐานะนักออกแบบชุดกลไก คุณรู้สึกตื่นเต้นกับการที่คุณและทีมของคุณประสบความสำเร็จอยู่นี้หรือไม่ และคุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับความสำเร็จอันยิ่งใหญ่นี้?
Mr. Kawauchiya: ใช่ ผมตื่นเต้นและภูมิใจมากในการเปิดตัวนาฬิกากลไกรุ่นนี้ เพราะเมื่อมองย้อนกลับไปผมรู้สึกว่าผมจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกในทีม ซึ่งเวลาก็มีความสำคัญเช่นกัน บางทีเมื่อสองสามปีก่อน เรื่องนี้อาจจะเร็วเกินไปสำหรับการเปิดตัว และผมรู้สึกโชคดีอย่างเหลือเชื่อที่มีสมาชิกในทีม ที่ยอดเยี่ยมและทำงานร่วมกันในช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเปิดตัวครั้งนี้
Q: เหตุใด GRAND SEIKO จึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนากลไกแบบตูร์บิยองคอนแสตนท์-ฟอร์ซนี้?
Mr. Kawauchiya: แนวคิดของชุดกลไกตูร์บิยองแบบแรงคงที่นี้ เกิดจากความพยายามในการผลิตนาฬิกาที่มีความแม่นยำสูงสุด โดยไม่มีข้อจำกัดด้านความสามารถในการผลิต อย่างที่รู้กัน ปัจจัยหลายประการจะส่งผลต่อความแม่นยำของนาฬิกากลไก หนึ่งคือความไม่แน่นอนของตำแหน่งในการใช้งาน และอีกเรื่องคือแรงบิดที่จะลดลงทีละน้อยๆ ดังนั้นเพื่อเป็นการชดเชย ผมจึงคิดติดตั้งกลไกการทำงานแบบตูร์บิยอง พร้อมๆ ไปกับคอนแสตนท์-ฟอร์ซ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาด้านความเที่ยงตรงให้ได้เป็นหนึ่งเดียว และแนวคิดของผมก็คือการรวม ทั้งสองสิ่งไว้ในแกนเดียวกันเพื่อให้ทำงานร่วมกันเป็นหน่วยเดียว
Q: ในการพัฒนา Kodo ทาง GRAND SEIKO ให้ความสำคัญกับด้านใดมากกว่า ด้านความสวยงามหรือด้านเทคโนโลยี และจะสร้างสมดุลได้อย่างไรจากทั้งสองด้าน?
Mr. Kawauchiya: แน่นอนว่าทั้งสองด้านมีความสำคัญมากสำหรับ GRAND SEIKO แต่เมื่อต้องสร้างเทคโนโลยีในการผลิตนาฬิกาใหม่ทั้งหมด ผมจึงคิดว่าการบรรลุเป้าหมายทางด้านเทคโนโลยีต้องมาก่อน และจากนั้นจึงเป็นความสวยงาม ซึ่งในกรณีของกลไกคาลิเบอร์ 9ST1 การพิจารณาด้านสุนทรียภาพได้เกิดขึ้นตั้งแต่ระยะแรกๆ ของการพัฒนา ตัวอย่างเช่นเพื่อให้ชุดทวินบาเรลดูสวยงาม การจัดวางที่สมมาตรจึงถูกพิจารณาตั้งแต่ต้น รวมทั้งขนาดของกลไกคาลิเบอร์ 9ST1 ก็เล็กกว่ารุ่นก่อน แต่ไม่ได้ถึงกับบีบทุกสัดส่วนเพื่อให้พอดีกับพื้นที่ที่กำหนดกันไว้ ซึ่งอันที่จริงเลย์เอ๊าต์ของชิ้นส่วนต่างๆ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมและสุนทรียศาสตร์ที่สำคัญของญี่ปุ่น โดยคำนึงถึงการใช้พื้นที่ว่าง (“ma” ในภาษาญี่ปุ่น) ซึ่งนี่คือเหตุผลที่ทุกคนจะเห็นได้ จากการใช้พื้นที่ในชุดกลไก รวมทั้งระหว่างส่วนต่างๆ ของนาฬิกา
Q: คุณผสมผสานของกลไกทั้งสองแบบร่วมกันได้อย่างไร และคุณจะประกอบเข้าด้วยกันอย่างไร? รวมทั้งมีปัญหาใดๆ ระหว่างการพัฒนาชุดกลไกนี้หรือไม่?
Mr. Kawauchiya: ภาพนี้แสดงให้เห็นถึงภาพด้านข้างของกลไกแบบบูรณาการ ส่วนที่ระบุด้วยสีแดงคือกรงตูร์บิยอง ส่วนกลไกแรงคงที่จะแสดงเป็นสีน้ำเงิน โดยถูกรวมเป็นหน่วยเดียวบนแกนร่วม และการสร้างให้ความหนาของชุดกลไกทั้งหมดนี้น้อยที่สุดนั้นค่อนข้างท้าทาย แต่จากการที่เราสามารถลดขนาดชิ้นส่วนไปได้ ก็ช่วยให้ขนาดและความหนาลดลงไปพอสมควร นอกจากนี้เรายังลดช่องว่างแนวตั้งระหว่างชิ้นส่วนต่างๆ ให้เล็กที่สุด โดยช่องว่างระหว่างพื้นที่ที่ใกล้ที่สุดระหว่างชิ้นส่วนมีเพียง 0.07 มิลลิเมตรเท่านั้น ดังนั้นการประกอบชุดกลไกทั้งสองเข้าด้วยกัน จึงนับว่ายากมากจากพื้นที่ในการประกอบที่จำกัด ซึ่งเป็นส่วนที่ท้าทายที่สุดของการประกอบกลไกคาลิเบอร์นี้
Q: นาฬิกาที่ซับซ้อนมากอาจมีทั้งกลไกคอนแสตนท์-ฟอร์ซและตูร์บิยอง แต่จะถูกวางแยกออกจากกัน แล้วเหตุใด GRAND SEIKO จึงคิดรวมเอากลไกทั้งสองรวมเข้าไว้ด้วยกันในแกนเดียว?
Mr. Kawauchiya: โดยการรวมกลไกทั้งสองเข้าด้วยกันบนแกนเดียวกัน จะทำให้ไม่ต้องให้มีวีลหรือส่วนประกอบอื่นระหว่างทั้งกลไกทั้งสอง และจะไม่มีการสูญเสียหรือการเปลี่ยนแปลงในแรงบิด ที่ส่งจากชุดกลไกคอนแสตนท์-ฟอร์ซไปยังบาลานซ์วีล นอกจากนี้การมีกลไกทั้งสองเป็นหน่วยเดียวกัน เรายังสามารถจำกัดระดับเสียงรวมทั้งประหยัดพื้นที่ในชุดกลไกได้มากขึ้นอีก
กรุณาติดตามบทสัมภาษณ์ตอนต่อไปในครั้งหน้า