อินเฮ้าส์ใครว่าต้องแพง
“นาฬิการุ่นนี้ราคาสูงเพราะใช้เครื่องอินเฮ้าส์ครับ” เป็นประโยคที่มักจะได้ยินจากเซลส์ขายนาฬิกา นิตยสาร จนไปถึงจากปากผู้คนที่รู้เรื่องนาฬิกา อยู่เสมอ ซึ่งก็มีส่วนจริงอยู่ไม่น้อย เพราะการที่แบรนด์นาฬิกาต่างๆ จะผลิตเครื่องอินเฮ้าส์ซึ่งหมายถึงเครื่องที่ตนเป็นผู้พัฒนาและผลิตขึ้นมาด้วยตนเองสักแบบนั้นจะต้องผ่านการวิจัยและพัฒนามาเป็นอย่างดี ซึ่งก็ต้องใช้ทั้งระยะเวลา ทรัพยากรวัสดุ ทรัพยากรบุคคลชั้นหัวกะทิ และแน่นอนว่าต้องมีทุนก้อนโตในการหล่อเลี้ยงกระบวนการเหล่านี้ด้วย ทั้งหมดนี้ถูกรวมมาเป็นต้นทุนของนาฬิกาเครื่องอินเฮ้าส์แต่ละเรือนและก็เป็นที่มาว่าทำไมนาฬิกาที่ใช้เครื่องเหล่านี้ถึงต้องมีราคาแพงกว่านาฬิกาที่ใช้เครื่องสำเร็จหรือกึ่งสำเร็จที่ซื้อมาจากผู้ผลิตเครื่องภายนอก ไม่ว่าจะเป็น ETA, Sellita, Soprod หรือใครก็ตามแต่ ความแพงของมันนั้นพอเข้าใจได้ แต่แพงขนาดไหนจึงจะเหมาะสมต่างหากที่เป็นสิ่งที่ผู้ซื้อควรจะคำนึงถึงกัน
สำหรับแบรนด์ชั้นนำที่ก้าวมาถึงการใช้เครื่องอินเฮ้าส์ของตนในนาฬิกาเกือบหรือทั้งหมดที่ผลิตขึ้นเช่น Patek Philippe หรือ Rolex นั้น คงไม่ต้องพูดถึงเรื่องราคาเพราะเขาไปถึงจุดที่ผู้ซื้อเต็มใจยอมรับราคานาฬิกาของพวกเขาแล้ว แต่ยังมีแบรนด์นาฬิกาอีกจำนวนมากที่ผลิตนาฬิกาที่ใช้เครื่องอินเฮ้าส์ของตนออกมาจำหน่ายควบคู่กับนาฬิกาที่ใช้เครื่องที่ซื้อเขามาใส่ด้วย แต่ราคาของนาฬิกาทั้งสองประเภทนี้มักจะแตกต่างกันเสียเหลือเกิน บางแบรนด์ก็ห่างกันถึงสองสามเท่าตัวในกลไกลักษณะเดียวกัน โดยทางแบรนด์ก็พยายามโหมประชาสัมพันธ์ความพิเศษของเครื่องอินเฮ้าส์ของตนอย่างมากมายและกลายเป็นต้นทุนแฝงในราคานาฬิกาเหล่านี้ไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้ บางแบรนด์ก็ประสบความสำเร็จได้รับความนิยมพอควรแต่อีกหลายแบรนด์ก็ไม่สามารถเข้าไปหาพื้นที่ในใจของผู้ซื้อได้อย่างที่ตั้งใจไว้จนกลายเป็นเพียงภาพลักษณ์ความเป็นแมนูแฟคตูร์ของแบรนด์แต่ไม่ประสบความสำเร็จในด้านยอดขาย
แม้แบรนด์จำนวนมากจะดำเนินการตามแนวทางที่กล่าวไปแล้ว แต่มีนาฬิกาอยู่แบรนด์หนึ่งที่ตีความคุณค่าแห่งการใช้เครื่องอินเฮ้าส์ที่แตกต่างออกไป ผมกำลังกล่าวถึง FREDERIQUE CONSTANT (เฟรเดอริค คองสตองท์) แบรนด์ที่ชูแนวทางการดำเนินงานของตนแต่เริ่มแรกตั้งบริษัทในปี ค.ศ.1992 ว่า จะผลิตนาฬิกาลักชัวรี่ในระดับราคาที่เอื้อมถึงได้ และได้นำแนวทางนี้มาเป็นเป้าประสงค์ของการผลิตเครื่องอินเฮ้าส์ของตนเช่นกัน
Calibre FC-910 เครื่องอินเฮ้าส์รุ่นแรกของ FREDERIQUE CONSTANT เป็นเครื่องไขลานที่จัดวางบริดจ์ยึดบาลานซ์วีลเอาไว้ที่ฝั่งด้านหน้าของเครื่องโดยมีวัตถุประสงค์ให้มองเห็นได้ชัดเจนและสวยงามผ่านทางช่องหน้าต่างบนหน้าปัดของนาฬิกาไลน์ Heart Beat ด้วยความเป็นลักษณะโครงสร้างที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ทาง FREDERIQUE CONSTANT จึงได้รับสิทธิบัตรคุ้มครองในเครื่องลักษณะนี้เป็นที่เรียบร้อย เครื่องนี้เริ่มต้นพัฒนาเมื่อ ค.ศ.2001 จนสำเร็จและนำมาใช้งานครั้งแรกในนาฬิการุ่น Heart Beat ในปี ค.ศ.2004
ในช่วงต้นของการดำเนินงานอาจยังไม่เห็นประเด็นเหล่านี้ชัดเจนเท่าใดนัก เพราะก็เริ่มด้วยการผลิตนาฬิกาที่ใช้เครื่องที่ซื้อเครื่องจากผู้ผลิตอื่นมาใช้ในนาฬิกาของตน เหมือนกับแบรนด์ธรรมดาทั่วไป และเมื่อนำเครื่องไขลานอินเฮ้าส์ของตนมาใช้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.2004 ต่อด้วยเครื่องอัตโนมัติอินเฮ้าส์ในปี ค.ศ.2006 (ทั้งคู่อยู่ในซีรี่ส์ FC-9xx โดยเป็นเครื่องที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับนาฬิกาคอนเซ็ปต์ Heart Beat โดยเฉพาะซึ่งมีลักษณะพิเศษอยู่ที่การวางตำแหน่งบาลานซ์วีลไว้ที่ด้านหน้าของเครื่องให้สามารถมองเห็นได้ชัดๆ ผ่านช่องหน้าต่างที่เปิดไว้บนหน้าปัด) โดยบรรจุในนาฬิกาไลน์ Heart Beat Manufacture ซึ่งก็มีราคาจำหน่ายที่สูงกว่านาฬิกาไลน์ Heart Beat รุ่นเดิมที่ใช้เครื่องซึ่งพัฒนาร่วมกับผู้ผลิตเครื่องรายอื่นๆ และนาฬิกาไลน์อื่นๆ ที่มีจำหน่ายควบคู่กันซึ่งใช้เครื่องที่ซื้อมาจากผู้ผลิตรายอื่นอยู่มากพอควร ซึ่งดูแล้วก็คล้ายๆ กับแนวทางที่อีกหลายๆ แบรนด์ในตลาดทำกันมา ยิ่งต่อมามีการพัฒนาฟังก์ชั่นต่างๆ ใส่เพิ่มเติมลงไป ไม่ว่าจะเป็นมูนเฟส ดูอัลไทม์ ตลอดจนจักรกลตูร์บิยอง และการใช้เอสเคปเม้นท์วีลที่ทำจากวัสดุล้ำๆ อย่างซิลิเซียมหรือซิลิคอนที่มีน้ำหนักเบาเพียง 1 ใน 5 ของสตีล มีผิวสัมผัสที่เรียบเนียนสุดๆ และไม่ต้องใช้น้ำมันในการหล่อลื่น อันส่งผลดีต่อการทำงานของเครื่องมากมาย อาทิ ใช้กำลังในการขับเคลื่อนน้อย ลดการสึกหรอและลดการบำรุงรักษา ดุจแบรนด์ระดับแถวหน้าของโลก ก็ยิ่งทำให้นาฬิกาที่ใช้เครื่องเหล่านั้นมีราคาที่สูงและห่างไกลจากนาฬิกาไลน์ที่ใช้เครื่องเบสที่ซื้อมาจากผู้ผลิตเครื่องมากขึ้น (แม้เมื่อเทียบกับแบรนด์ดังๆ แล้วจะยังมีราคาต่ำกว่าในฟังก์ชั่นเดียวกันก็ตาม)
(ซ้าย) Calibre FC-980 เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติจักรกลตูร์บิยองในตระกูล FC-9xx เป็นเครื่องแบบแรกที่ทางแบรนด์นำเอสเคปเม้นท์วีลที่ทำจากซิลิเซียมมาใช้ เครื่องนี้ถูกใช้ในนาฬิกาตูร์บิยองในไลน์ Heart Beat Manufacture ซึ่งออกจำหน่ายตั้งแต่ ค.ศ.2008 เป็นต้นมา
(ขวา) Heart Beat Manufacture Tourbillon Grand Feu ตัวเรือนโรสโกลด์ 18k ขนาด 42 มม. หน้าปัดลงอีนาเมลสีขาวด้วยกรรมวิธีแบบกรองด์เฟอ บอกชั่วโมง นาที และกลางวัน-กลางคืน ด้วยเข็มกลาง เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติอินเฮ้าส์ FC-980 พร้อมตูร์บิยองที่มาพร้อมเข็มวินาทีซึ่งสามารถมองเห็นการทำงานได้ผ่านทางช่องหน้าต่างบนหน้าปัด ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา ใช้เอสเคปเม้นท์วีลที่ทำจากซิลิเซียม มี 33 จิวเวล เดินด้วยความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 48 ชั่วโมง สายหนังจระเข้ ผลิตจำนวนจำกัด 188 เรือน
(ซ้าย) Heart Beat Manufacture ตัวเรือนสตีลขนาด 41 มม. หน้าปัดสีเงินแกะกิโยเช่เปิดช่องให้เห็นบาลานซ์วีลอย่างชัดเจน ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา บอกชั่วโมงกับนาที เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติอินเฮ้าส์ FC-930 มี 26 จิวเวล เดินด้วยความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 42 ชั่วโมง สายหนังจระเข้ ผลิตจำนวนจำกัด 1,888 เรือน
(ขวา) Heart Beat Manufacture Moonphase Date ตัวเรือนสตีลขนาด 42 มม. หน้าปัดสีเงินแกะกิโยเช่เปิดช่องให้เห็นบาลานซ์วีลอย่างชัดเจน ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา บอกชั่วโมง นาที ด้วยเข็มกลาง แสดงมูนเฟสในช่องหน้าต่างพร้อมบอกวันที่ด้วยเข็มเล็ก ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติอินเฮ้าส์ FC-935 มี 26 จิวเวล เดินด้วยความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 42 ชั่วโมง สายหนังจระเข้ ผลิตจำนวนจำกัด 1,888 เรือน
Heart Beat Manufacture Dual Time ในตัวเรือนสตีลขนาด 42 มม. ซึ่งมีให้เลือก 2 แบบ คือ แบบพื้นหน้าปัดสีเงินแกะกิโยเช่ กับแบบมีเพียงสเกลที่บริเวณขอบแต่ไร้หน้าปัดโดยจะใช้พื้นเพลทสตีลขัดแต่งลายโค้ตเดอเชอแนฟทำหน้าที่แทนหน้าปัด ทั้ง 2 แบบจะเปิดช่องให้เห็นบาลานซ์วีลอย่างชัดเจน ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา บอกชั่วโมง นาที ด้วยเข็มกลาง แสดงเวลาไทม์โซนที่สองด้วยเข็มชั่วโมงกับนาทีบนหน้าปัดเล็ก ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา พร้อมช่องแสดงกลางวัน-กลางคืน เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติอินเฮ้าส์ FC-938 มี 26 จิวเวล เดินด้วยความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 42 ชั่วโมง สายหนังจระเข้ ผลิตจำนวนจำกัด 1,888 เรือน
เครื่องอินเฮ้าส์ซีรี่ส์แรกของ FREDERIQUE CONSTANT ได้รับคำชมเชยอย่างมากมายในวงการ ซึ่งถือเป็นการพิสูจน์ถึงฝีมือในการวิจัยและพัฒนาของแบรนด์ได้เป็นอย่างดีและก็ทำให้นาฬิกาของ FREDERIQUE CONSTANT ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นจากตลาดนาฬิกาทั่วโลก แต่ทางแบรนด์ก็มิได้หยุดนิ่งและพึงพอใจแต่เพียงเท่านั้น จึงได้ดำเนินการพัฒนาเครื่องอินเฮ้าส์ซีรี่ส์ที่สองของตนขึ้นมาอีกเพื่อใช้ในนาฬิการูปแบบปกติที่ไม่ต้องเปิดช่องหน้าต่างแบบ Heart Beat ให้เห็นบาลานซ์วีลจากทางด้านหน้า โดยตั้งโจทย์ไว้ว่าจะต้องเป็นเครื่องคุณภาพสูงที่มีต้นทุนการผลิตต่ำจากการผลิตแบบจำนวนมากๆ โดยใช้ทรัพยากรทุกด้านภายในโรงงานของตนที่เจนีวาอย่างคุ้มค่า สำเร็จออกมาเป็นเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติอินเฮ้าส์ซีรี่ส์ FC-7xx โดยนำมาประจำการครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.2009 ในไลน์ Maxime Manufacture และนำมาเพิ่มฟังก์ชั่นเพื่อใช้ในนาฬิการุ่นพิเศษบางรุ่น เช่น Runabout Power Reserve เป็นต้น แต่แนวทางในการทำตลาดก็ยังดูไม่ต่างจากอีกหลายๆ แบรนด์มากนัก เพราะก็ยังมีราคาขายที่สูงกว่านาฬิกาไลน์อื่นๆ ของแบรนด์ที่ไม่ได้ใช้เครื่องอินเฮ้าส์ซึ่งมีจำหน่ายควบคู่กันไปอยู่พอสมควร ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าไลน์นาฬิกาแรกๆ ที่เอาเครื่องนี้มาวางนั้นถูกวางตำแหน่งให้เป็นไลน์นาฬิการะดับบนหรือไม่ก็เป็นนาฬิการุ่นพิเศษของแบรนด์
(ซ้าย) Maxime Manufacture Automatic ตัวเรือนสตีลขนาด 42 มม. หน้าปัดสีเงินแกะกิโยเช่ บอกชั่วโมงกับนาทีด้วยเข็มกลาง มีหน้าปัดเล็กบอกวันที่ด้วยเข็ม ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา ใช้เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติอินเฮ้าส์ FC-700 สายหนังจระเข้สีดำ
(กลาง) ฝาหลังกรุกระจกใสของ Maxime Manufacture Automatic สามารถมองเห็นโรเตอร์สีทองและเครื่องอัตโนมัติอินเฮ้าส์ 26 จิวเวล Calibre FC-700 เดินด้วยความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 42 ชั่วโมง ที่ขัดแต่งอย่างสวยงามได้อย่างเต็มตา
(ขวา) Runabout Power Reserve ตัวเรือนสตีลขนาด 43 มม. หน้าปัดสีเงินแกะกิโยเช่ บอกชั่วโมงกับนาทีด้วยเข็มกลาง มีหน้าปัดเล็กบอกวันที่ด้วยเข็ม ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา และมาตรแสดงกำลังสำรอง ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา ใช้เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติอินเฮ้าส์ FC-720 มี 25 จิวเวล ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 42 ชั่วโมง สายหนังลูกวัวลายจระเข้สีดำ ผลิตจำนวนจำกัด 1,888 เรือน
ความมุ่งมั่นในแนวทางที่จะเป็นนาฬิกาลักชัวรี่ที่เอื้อมถึงได้นั้นฉายภาพชัดเจนขึ้นในปี 2012 นี้ เมื่อ FREDERIQUE CONSTANT เปิดตัวนาฬิกาไลน์ใหม่ในชื่อ Classic Manufacture มาสู่ตลาด โดยนำเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติอินเฮ้าส์ในซีรี่ส์ FC-700 ซึ่งเป็นเครื่องเบสรุ่นที่สองมาประจำการ ซึ่งเจ้าเครื่องซีรี่ส์นี้ล่ะที่ถูกวางแผนการผลิตไว้ตั้งแต่เริ่มพัฒนาว่าจะต้องมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงจากการผลิตแบบจำนวนมากๆ ภายในโรงงานของตนเองที่กรุงเจนีวา และก็เป็นผลให้นาฬิกาทรงคลาสสิกร่วมสมัยไลน์ใหม่นี้สามารถทำราคาได้ต่ำลง โดยราคาในประเทศไทยเองก็เปิดตัวในระดับที่ไม่ถึง 100,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นนาฬิกาเครื่องอัตโนมัติอินเฮ้าส์ที่มีราคาน่าสนใจมากโดยสูงกว่านาฬิกาไลน์อื่นๆ ของตนที่ใช้เครื่องเบสที่ซื้อมาใส่ไม่มากนัก ทั้งยังทำออกมาแบบหมดจดดูดีมีรายละเอียดทุกอณูโดยมิได้ทำให้รู้สึกว่าเป็นไลน์นาฬิการาคาต่ำที่ใช้เครื่องอินเฮ้าส์แต่อย่างใด
Classic Manufacture
Classic Manufacture เปิดตัวมาในรูปแบบนาฬิกาคลาสสิกร่วมสมัยที่มีตัวเรือนให้เลือก 2 แบบ คือ สเตนเลสสตีลคู่กับสายหนังลูกวัวลายจระเข้สีดำ กับสเตนเลสสตีลเคลือบโรสโกลด์คู่กับสายหนังลูกวัวลายจระเข้สีน้ำตาล ตัวเรือนมีขนาดยอดนิยมที่ 42 มิลลิเมตร กันน้ำได้ 50 เมตร เม็ดมะยมทรงหัวหอมขนาดเหมาะมือเป็นแบบขันเกลียว กระจกหน้าปัดเป็นแซฟไฟร์คริสตัล ฝาหลังกรุกระจกโชว์โรเตอร์สีทองและเครื่องที่มีการขัดแต่งอย่างสมฐานะความเป็นอินเฮ้าส์ หน้าปัดสีเงินที่ใช้ก็สะท้อนถึงความตั้งใจของแบรนด์ในการผลิตนาฬิการุ่นนี้โดยเป็นแบบแกะกิโยเช่อย่างละเอียดในบริเวณส่วนกลางของทั้งหน้าปัดหลักและหน้าปัดเล็ก โดยหน้าปัดเล็กที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกานั้นจะใช้แสดงวันที่ด้วยเข็มซึ่งเป็นรูปแบบพื้นฐานของเครื่องอินเฮ้าส์ซีรี่ส์ FC-700 อย่างที่เคยเห็นใน Maxime Manufacture มาก่อนหน้านี้ แต่สำหรับเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติอินเฮ้าส์ FC-710 ที่ใช้ใน Classic Manufacture นี้ยังมีเข็มวินาทีกลางเพิ่มมาให้อีกเข็มหนึ่งด้วย เครื่องนี้มี 26 จิวเวล เดินด้วยความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง และมีกำลังสำรอง 42 ชั่วโมง และเพื่อให้เข้ากับลายของพื้นหน้าปัด หลักชั่วโมงเลขโรมันกับเข็มชั่วโมงกับนาทีทรงเบรเกต์จึงถูกนำมาใช้เพิ่มความงามคลาสสิกสไตล์สวิสแท้ๆ ให้กับนาฬิการุ่นนี้ด้วย
Classic Manufacture
เจ้า Classic Manufacture นี้น่าจะเป็นนาฬิการุ่นหนึ่งที่เปิดศักราชใหม่ให้กับตลาดนาฬิกาเครื่องอินเฮ้าส์ที่ไม่ต้องมากับราคาที่สูงลิบเหมือนในอดีตหรือเหมือนกับแบรนด์อื่นๆ ซึ่งในระดับราคาต่ำแสนนี้จะมีสักกี่แบรนด์กันที่ทำออกมาจำหน่าย ก็ขอปรบมือให้กับความตั้งใจของ FREDERIQUE CONSTANT ด้วยครับ หากกำลังมองนาฬิกาแนวนี้อยู่แนะนำว่าลองไปชม Classic Manufacture กันดูก่อนนะครับ ส่วนการตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ก็อยู่ที่คุณๆ แล้วล่ะครับ ว่าเม็ดเงินเท่ากันกับนาฬิการุ่นนี้หรืออาจจะมากกว่าของคุณนั้นจะจ่ายให้กับคุณค่าแห่งความพยายามผลิตเครื่องด้วยตนเองซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หรือจะจ่ายให้กับนาฬิกาหน้าตาต่างๆ จากหลากหลายแบรนด์ที่ใช้เครื่องเหมือนๆ กันไปหมด นี่ว่ากันเฉพาะลักษณะและฟังก์ชั่นคล้ายๆ กันเท่านั้นนะครับ ไม่รวมถึงพวกนาฬิกาที่มีจุดเด่นเฉพาะตัวที่แบรนด์อื่นไม่มีซึ่งอันนั้นก็คงต้องยอมให้เค้าล่ะครับ
By: Viracharn T.