REVEALS THE ‘MADE IN MONACO’ TOURBILLON TIMEPIECE, ATELIERS DE MONACO
IAMWATCH ได้เคยนำเสนอเรื่องราวความเป็นมาและนาฬิกากลไกอัตโนมัติฟังก์ชั่นเพอร์เพทชวลคาเลนดาร์ที่มากับกลไกการปรับตั้งรูปแบบใหม่ที่ทาง ATELIERS DEMONACO (อติลิเยร์ เดอโมนาโก) คิดค้นขึ้นมาให้สามารถปรับตั้งได้ง่ายดายยิ่งขึ้นกันไปแล้ว มาคราวนี้เราจะนำเสนอนาฬิกาจักรกลตูร์บิยองอันเป็นศาสตร์เก่าแก่แห่งการประดิษฐ์นาฬิกากันบ้าง ซึ่งก็ไม่ได้เป็นนาฬิกาตูร์บิยองแบบพื้นๆ เหมือนที่เห็นกันทั่วไป แต่ยังถูกเสริมสร้างด้วยคุณค่าแห่งความพิเศษทั้งในด้านวัสดุสุดพิเศษและงานสลักขัดแต่งสุดประณีตตามแนวทางเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใครอยู่บนชิ้นส่วนแต่ละชิ้นตั้งเพื่อให้เป็นเรือนเวลาที่งดงามในบุคลิกเฉพาะตัวสมศักดิ์ศรีแห่งการเป็นนาฬิกาที่ผลิตจากราชอาณาจักรโมนาโกโดยแท้จริง
Grand Tourbillon XP1
นาฬิกาตูร์บิยองของ ATELIERS DEMONACO ถูกผลิตขึ้นมาใน 2 รูปแบบตัวเรือน คือ ตัวเรือนทรงกลมขนาด 43 มิลลิเมตร ที่เรียกว่า Tourbillon Ronde d’Or กับตัวเรือนทรงเหลี่ยมขนาด 44.3 x 48 มิลลิเมตร ที่เรียกว่า Tourbillon Carre d’Or ตัวเรือนของทั้งคู่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นด้วยรูปแบบเฉพาะตัวที่ถือเป็นดีเอ็นเอแห่งการออกแบบนาฬิกาของแบรนด์ อันเป็นเส้นสายและทรวดทรงที่ผสานเส้นเรียบตรงเข้ากับเส้นโค้งนูนของสัดส่วนต่างๆ โดยนำแรงบันดาลใจมาจากลักษณะสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอันแสนงดงามและสถาปัตยกรรมอันงามสง่าแห่งดินแดนโมนาโก ตัวเรือนนี้ถูกประกอบขึ้นด้วยมืออย่างพิถีพิถันจากชิ้นส่วนต่างๆ หลายสิบชิ้น ซึ่งชิ้นตัวเรือนส่วนนอกจะเป็นทองคำไวท์โกลด์หรือโรสโกลด์ 18k ที่นำมาประกอบยึดเข้ากับแกนตัวเรือนส่วนกลางที่ทำจากวัสดุไทเทเนี่ยม ชิ้นส่วนตัวเรือนแต่ละชิ้นจะถูกสร้างและขัดแต่งด้วยงานขัดด้านสลับกับขัดเงาอย่างประณีตทีละชิ้นรวมถึงผ่านการตรวจสอบคุณภาพอย่างละเอียดด้วย ส่วนฝาหลังนั้นจะติดตั้งด้วยกระจกแซฟไฟร์เพื่อเผยให้เห็นงานสลักขัดแต่งอันงดงามของกลไก โดยงานออกแบบตัวเรือนนี้เป็นผลงานของนักออกแบบของแบรนด์ร่วมกับ Mr. Ourny ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตตัวเรือนแห่ง Haut-de-Gamme ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งก็คือสามารถกันน้ำได้ถึงระดับ 30 เมตร
ลักษณะของหน้าปัดนาฬิการุ่นนี้เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีดีไซน์ในรูปแบบเฉพาะตัวของแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงของเส้นวงหน้าปัดทรงตอนโนบริเวณกลางหน้าปัดอันเป็นความจงใจที่จะทำให้ดูแตกต่างจากรูปทรงของตัวเรือนดุจดั่งเส้นสายสีน้ำเงินอมม่วงของท้องทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ตัดกับผายักษ์สีน้ำตาลที่ตระหง่านอยู่ริมชายฝั่งของโมนาโก เฉกเช่นเดียวกับการที่มีแผ่นหน้าปัดเพียงค่อนแผ่นโดยเปิดส่วนล่างไว้เผยความงดงามของงานตกแต่งอย่างงดงามบนโรเตอร์ที่ถูกสลักขัดแต่งอย่างประณีตทั้ง 2 ด้าน และที่กรงตูร์บิยอง ซึ่งเมื่อมองตรงจุดนี้แล้วนอกจากจะเห็นความงามของการสลักลายและชื่อแบรนด์รวมถึงงานขัดแต่งแล้ว ยังจะได้เห็นบริดจ์สุดพิเศษที่สร้างขึ้นจากแซฟไฟร์ซึ่งทำหน้าที่ยึดกรงตูร์บิยองเอาไว้อีกด้วย การใช้บริดจ์ที่ผลิตจากแซฟไฟร์นี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างแน่นอน แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถของเทคโนโลยีปัจจุบัน ซึ่งกว่าจะผลิตขึ้นใช้งานได้จริงก็ต้องผ่านการทดลองมามากมายเพื่อให้ได้คุณสมบัติและรูปทรงรวมถึงกรรมวิธีการผลิตที่เหมาะสมที่สุด กระจกแซฟไฟร์ที่ใช้ทำบริดจ์นี้จะถูกตัดเพื่อให้ได้รูปทรงที่ต้องการอย่างแม่นยำด้วยเลเซอร์ก่อนที่จะนำไปเคลือบสารกันแสงสะท้อนแบบหลายชั้นทั้ง 2 ด้าน เพื่อลดการสะท้อนของแสงให้มากที่สุดอันเป็นที่มาของสัมผัสแห่งความโปร่งใสสวยงามอย่างที่เห็น บริดจ์แซฟไฟร์นี้เป็นการพัฒนาร่วมกับ Sebastien Sangsue แห่ง Sebal SA. ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตกระจกแซฟไฟร์และกระจกมิเนอรัลในประเทศสวิตเซอร์แลนด์
นอกจากตัวกลไกและชิ้นส่วนต่างๆ จะงดงามด้วยงานสลักขัดแต่งและลบเหลี่ยมอย่างพิถีพิถันด้วยมือตามประเพณีดั้งเดิมแห่งการประดิษฐ์นาฬิกาซึ่งอุทิศเวลากระทำกว่า 120 ชั่วโมง โดยช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญชาวสวิสที่มีนามว่า Bernard Ditzoff พร้อมเหล่าสกรูว์สีน้ำเงินสวยแล้ว ตัวพื้นฐานกลไกเองก็มีความไม่ธรรมดาซ่อนอยู่ด้วย โดยเป็นกลไกขึ้นลานอัตโนมัติพร้อมจักรกลตูร์บิยองที่มากับเทคโนโลยีซึ่งทางแบรนด์เรียกว่า Xtreme Precision ซึ่งหมายถึงความเที่ยงตรงในระดับสูงสุด อันได้มาจากการทำงานร่วมกันของเอสเคปเม้นท์และเลเวอร์วัสดุซิลิเซี่ยมอันเป็นวัสดุน้ำหนักเบา แข็งแกร่ง ทนทาน ทนต่อการสึกกร่อนสูง ไม่เป็นแม่เหล็ก และมีแรงเสียดทานต่ำจนไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมันหล่อลื่น จึงปลอดจากการรบกวนใดๆ ที่จะทำให้การทำงานมีความคลาดเคลื่อนได้ กับกรงบาลานซ์ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อให้สามารถปรับสมดุลย์ของน้ำหนักในกรงตูร์บิยองได้ด้วยการเพิ่มและลดตุ้มถ่วงโลหะชิ้นเล็กๆ ได้ด้วยมือ บนด้านที่ตรงข้ามกับเอสเคปเม้นท์ ซึ่งจะทำให้ปรับตั้งให้จุดโน้มถ่วงของชิ้นส่วนประกอบทั้ง 80 ชิ้น มาอยู่ ณ จุดศูนย์กลางของกรง เพื่อให้มีความสมดุลย์โดยสมบูรณ์ ทั้งหมดนี้จะทำงานที่ความถี่สูงระดับ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง ผลลัพธ์ที่ได้คือค่าความคลาดเคลื่อนที่อยู่ในระดับที่น้อยมาก คือ เพียง 0-2 วินาทีต่อวันเท่านั้น สำหรับวัสดุซิลิเซียมนั้นจะถูกผลิตโดย Sigatec SA. แห่งสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนการสร้างชิ้นส่วนวัสดุต่างๆ นั้น จะกระทำด้วยกระบวนการผลิตแบบ Deep Reactive Ion Etching (DRIE) และ LIGA ที่มีความแม่นยำสูงกว่าเครื่องจักรโดยทั่วไปถึง 10 เท่า เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่มีขนาดและสัดส่วนที่ถูกต้องที่สุด ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่คิดค้นขึ้นโดย Mimotec SA. ในสวิตเซอร์แลนด์
ชิ้นส่วนกลไกอีกชิ้นหนึ่งของนาฬิกากลไกอัตโนมัติจาก ATELIERS DEMONACO ที่มีความสวยงามโดดเด่นจนต้องแยกออกมากล่าวถึงต่างหากก็คือ โรเตอร์ทองคำ 18k ที่มีรูปแบบเฉพาะตัว ซึ่งได้จากการฉลุและสลักลวดลายในรูปแบบเฉพาะตัวร่วมกับการแกะแบบกิโยเช่พร้อมการขัดแต่งอย่างละเอียดประณีตด้วยมือทั้งบนด้านหน้าและด้านหลังของโรเตอร์โดยช่างชั้นเอกที่ชื่อ Mr. Jochen Benzinger โรเตอร์รูปแบบนี้ถูกเรียกขานว่า ATELIERS DEMONACO Shield ซึ่งก็หมายถึงตราประจำตัวของ ATELIERS DEMONACO นั่นเอง นอกจากนี้ชิ้นส่วนเล็กๆ อย่างตูร์บิยอง และบริดจ์วัสดุสตีลก็ยังถูกบรรจงขัดด้วยรูปแบบให้ขึ้นเป็นมุมตามประเพณีดั้งเดิมของการผลิตนาฬิกาชั้นสูง โดยฝีมือของ Madame Oukdim ซึ่งเป็นผู้เดียวกับที่รับหน้าที่ในการขัดแต่งลักษณะนี้ให้กับแบรนด์นาฬิการะดับสูงมากมาย นอกจากนี้ยังถูกนำมาผสานรวมกับการตัดเกลาด้วยเครื่องจักรหัวเจาะเพชรเพื่อให้เกิดความโค้งทำให้สะท้อนแสงได้ดีในทุกมุมอีกด้วย อีกทั้งในส่วนพื้นผิวของบริดจ์วัสดุสตีลนั้นยังถูกขัดเงาด้วยมือโดยการขัดด้วยผงเพชรบนแผ่นกระจกในการสร้างให้เกิดความแวววาวดุจกระจกเงาและมีความเรียบแบบ 100 เปอร์เซ็นต์
หน้าปัดของนาฬิกาตูร์บิยองรุ่นนี้จะมีให้เลือกด้วยกัน 3 แบบ คือ แบบที่ใช้โครงหลักชั่วโมงเลขโรมันวางลงบนแผ่นหน้าปัดสีไทเทเนี่ยมสลักลายซันเรย์, แบบที่ใช้หลักชั่วโมงเลขอารบิกติดตั้งลงบนแผ่นหน้าปัดสีไทเทเนี่ยม และแบบที่ใช้พื้นหน้าปัดเป็นหินออนิกซ์ดำโดยมีส่วนกลางหน้าปัดเป็นแผ่นเปลือกหอยมุก โดยจะมากับหลักชั่วโมงเลขอารบิกในตัวเรือนทรงกลม และหลักชั่วโมงทรงแท่งในตัวเรือนทรงเหลี่ยม ทุกแบบจะถูกผลิตขึ้นเท่ากันในจำนวนแบบละ 18 เรือน ซึ่งเร็วๆ นี้เราก็จะได้พบตัวจริงของนาฬิการุ่นนี้กันในประเทศไทยแล้ว
H.S.H. Prince Albert II เป็นนาฬิกา Grand Tourbillon XP1 Ronde d’Or ในตัวเรือนไวท์โกลด์ พร้อมรูปแบบหน้าปัดที่ใช้โครงหลักชั่วโมงแกะสเกเลตันเป็นเลขโรมันวางบนหน้าปัดสีไทเทเนี่ยมสลักลายซันเรย์ ที่มีข้อความสลักบ่งบอกความเป็นยูนีกพีซพร้อมพระนามของเจ้าชายอัลแบร์ที่ 2 แห่งโมนาโกบนขอบฝาหลัง โดยเรือนนี้ได้นำขึ้นถวายเจ้าชายฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
Robert van Pappelendam (กลาง), Pim Koeslag (ขวา) ผู้ร่วมก่อตั้ง Ateliers deMonaco เมื่อครั้งเข้าเฝ้าฯ ถวายนาฬิกา H.R.H. Prince Albert II แด่เจ้าชายอัลแบร์ที่ 2 แห่งโมนาโก (ซ้าย)
By: Viracharn T.