EPOS "TRADITIONAL SWISS WATCH AT AFFORDABLE PRICE"
หากลองตั้งโจทย์ว่านาฬิกาที่คุณต้องการจะต้องมีคุณสมบัติพึงปรารถนาดังต่อไปนี้ครบทุกข้อ ได้แก่ หนึ่ง.เป็นนาฬิกาสวิสแท้ๆ สอง.เป็นนาฬิกาเครื่องจักรกล สาม.มีฟังก์ชั่นน่าสนใจมากมายให้เลือก สี่.หน้าตาต้องดีทั้งภายนอกและภายใน ห้า.มีคุณภาพการผลิตที่ดี และหก.ต้องมีราคาสมเหตุสมผล เอื้อมถึงได้โดยง่าย คุณว่าจะมีนาฬิกาที่มีคุณสมบัติครบตามโจทย์นี้อยู่บนโลกใบนี้ไหม? หลายคนที่รู้จักกับนาฬิกาพอสมควร คงจะตอบได้ว่ามีนาฬิกาแบรนด์ที่พร้อมด้วยคุณสมบัติเหล่านี้อยู่เหมือนกัน แต่อาจจะไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่คนทั่วไปนัก เพราะแบรนด์ที่ตั้งใจผลิตนาฬิกาให้มีคุณสมบัติอย่างที่กล่าวไปข้างต้นทุกข้อเค้าคงไม่มีงบประมาณมากมายในการลงโฆษณาโปรโมทนาฬิกาของเขาตามสื่อต่างๆ มากมายนัก และหลายคนก็คงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า EPOS ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มแบรนด์ที่ว่านั้นครับ
ประวัติความเป็นมาของ EPOS จริงๆ แล้วก็ไม่ได้น้อยหน้าใคร สามารถนำมาอวดกับเขาได้เลยล่ะ หากจะย้อนไปถึงแหล่งที่มาของนาฬิกา EPOS ในทุกวันนี้ก็คงจะต้องย้อนไปถึงชายที่ชื่อ James Aubert ซึ่งเป็นนักประดิษฐ์นาฬิกาผู้เชี่ยวชาญในด้านเครื่องโครโนกราฟและมินิทรีพีทเตอร์เป็นพิเศษ และเคยทำงานให้กับ Valjoux และ Landeron มาก่อน เขาได้ก่อตั้งบริษัท James Aubert SA ขึ้นเมื่อปี 1925 ในแถบ วัลเล่ย์ เดอ ชูซ์ ซึ่งเป็นถิ่นฐานแห่งการประดิษฐ์นาฬิกาของสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อที่จะผลิตนาฬิกาของตนเองขึ้น ความรู้ของเขาถูกถ่ายทอดต่อมายัง Jean Aubert หลานของเขา และ Jean Fillon ลูกเขยของเขา โดย Jean Fillon คนนี้นี่ล่ะที่เป็นหัวหน้าวิศวกรของ EPOS ในปัจจุบัน โดยในเวิร์คช็อป James Aubert SA. ของเขายังคงสืบสานความตั้งใจของ James ด้วยการพัฒนากลไกต่างๆ โดยเฉพาะแบบที่มีความซับซ้อนกว่ากลไกปกติภายในเวิร์คช็อปของตนเอง อาทิ กลไกจั๊มปิ้งอาวร์ กลไกบอกกำลังสำรอง กลไกที่มีบิ๊กเดท กลไกบอกเวลาแบบเรกูเลเตอร์ และกลไกบอกเวลาแบบเรกูเลเตอร์ที่มีมูนเฟส เป็นต้น โดยพัฒนาจากเครื่องเบสของ Unitas หรือเครื่องเก่าของ Peseux เพื่อนำมาประจำการในนาฬิการุ่นต่างๆ ของ EPOS อย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้
ในยุคต้นทศวรรษที่ 80 อันเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมการผลิตนาฬิกาแบบดั้งเดิมของสวิสถูกสั่นคลอนด้วยเทคโนโลยีควอตซ์อย่างหนัก แบรนด์นาฬิกาจักรกลของสวิสเก่าแก่หลายแบรนด์ต้องปิดตัวลง แต่ก็ยังมีบางคนที่เชื่อมั่นในศาสตร์แห่งนาฬิกาจักรกลอยู่และต้องการที่จะสืบมรดกทางวัฒนธรรมนี้ต่อไป ชายที่ชื่อ Peter Hofer ก็เป็นอีกคนที่เชื่อเช่นนั้น Peter เป็นผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งในวงการผู้ผลิตนาฬิกาสวิส เขาและ Erna ภรรยาคู่ชีวิตได้ตัดสินใจก่อตั้งบริษัทผลิตนาฬิกาของตนขึ้นในปี 1983 โดยใช้ชื่อว่า Montres EPOS SA. ซึ่งเกิดขึ้นจากความหลงใหลในนาฬิกาจักรกล ความรู้ในอุตสาหกรรมนี้ที่เขาสั่งสมมา และความใกล้ชิดสนิทสนมโดยส่วนตัวกับเวิร์คช็อปพัฒนาและผลิตกลไกในเขตภูเขาจูรา และวัลเลย์ เดอ ชูซ์ (รวมถึงกับ Jean Fillon ด้วย) ของเขานั่นเอง ตลอดเวลาที่ Peter เป็นผู้นำของ EPOS เขาได้รักษาความตั้งใจแรกเริ่มของเขาซึ่งก็คือการให้ EPOS เป็นแบรนด์นาฬิกาจักรกลอย่างแท้จริงเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น พร้อมๆ กับทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Jean เพื่อพัฒนาคอมพลิเคชั่นใหม่ๆ มาใช้กับนาฬิกา EPOS อย่างต่อเนื่อง และในปี 2002 Ursula Forster ผู้มาจากครอบครัวนักประดิษฐ์นาฬิกา กับ Tamdi ผู้มีประสบการณ์สูงในอุตสาหกรรมนาฬิกาสวิส สามีของเธอ ก็ได้เข้ามาร่วมทุนกับ EPOS ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนากิจการของ EPOS ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปในอนาคต
ทุกวันนี้ EPOS ยังคงดำรงตนเป็นหนึ่งในผู้พิทักษ์คุณค่าในประเพณีดั้งเดิมและรักษามาตรฐานระดับสูงของการประดิษฐ์นาฬิกาแบบสวิสแท้ๆ เอาไว้อย่างมั่นคง นาฬิกา EPOS ทุกเรือนจะถูกพัฒนาขึ้นในเวิร์คช็อปแถบภูเขาจูราและวัลเล่ย์ เดอ ชูซ์ และนำมาประกอบที่ Grenchen ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเขตวัฒนธรรมการผลิตนาฬิกาอันเก่าแก่ของสวิสทั้งสิ้น ส่วนเครื่องจักรกลที่ใช้ซึ่งเป็นหัวใจหลักของนาฬิกา EPOS นั้นจะมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน แบบแรกคือ การนำเครื่องเบสของผู้ผลิตเครื่องชั้นนำของสวิสมาเพิ่มฟังก์ชั่นต่างๆ รวมทั้งนำมาขัดแต่ง โดยช่างนาฬิกาของ EPOS เองอีกครั้งก่อนจะนำไปประจำการในนาฬิกา EPOS ส่วนแบบที่สอง จะเป็นเครื่องที่สร้างสรรค์โดย James Aubert SA. ซึ่งเป็นเวิร์คช็อปที่ Jean Fillon เป็นผู้ดูแลอยู่ โดยจะนำเครื่องต่างๆ จาก Unitas หรือเครื่องวินเทจต่างๆ ในอดีตของ Peseux มาพัฒนาและเพิ่มเติมฟังก์ชั่นต่างๆ ที่ซับซ้อนซึ่งพัฒนาขึ้นเองภายในเวิร์คช็อปลงไป อาทิ มาตรกำลังสำรอง บิ๊กเดท และเรกูเลเตอร์พร้อมมูนเฟส เป็นต้น อีกทั้งยังมีการขัดแต่งอย่างประณีตซึ่งบางครั้งก็มีการแกะลายด้วยมือด้วย และด้วยความที่ใช้เครื่องจักรกลล้วนอันน่าภาคภูมิของแบรนด์นี้เองที่ทำให้นาฬิกาแทบทุกรุ่นของ EPOS จะมากับฝาหลังคริสตัลใสเพื่ออวดโฉมความงดงามของเครื่องและการขัดแต่งด้วยฝีมือของช่างนาฬิกาของตน แต่ถึงแม้จะใส่ใจรายละเอียดและคุณสมบัติกันขนาดนี้ EPOS ก็ยังยึดการตั้งราคาที่สมเหตุสมผล ไม่ฉีกกระเป๋าผู้ซื้อจนเกินงาม จนเป็นที่เลื่องลือกันในหมู่ผู้นิยมชมชอบนาฬิกาสวิสแบบดั้งเดิม
(ซ้าย) Oeuvre d'art Ref.3400 GMT Limited Edition
(ขวา) Sportive Ref.3398 Big Pilot's Watch Chronograph
มาดูนาฬิการุ่นเด่นๆ ของ EPOS กันนิดนึงนะครับ ที่เลือกมาให้ชมจะเป็นรุ่นใหม่ๆ ที่ได้ผลิตออกจำหน่ายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาและยังมีของใหม่จำหน่ายอยู่ในทุกวันนี้ อาทิ Ref.3400 GMT Limited Edition จากคอลเลคชั่น Oeuvre d’art ผลิตจำนวนจำกัด 999 เรือน ที่มาในตัวเรือนสตีลทรงรีขนาด 40x47 มิลลิเมตร ฝาหลังใส หน้าปัดลายกิโยเช่สีดำ ที่บรรจุกลไกอัตโนมัติ ETA 2671 เอาไว้ 2 ตัวด้วยกัน เพื่อให้บอกเวลาได้ 2 ไทม์โซนแยกกันอย่างอิสระ ตัวแรกที่บอกเวลาหลักพร้อมวันที่บนวงหน้าปัดเปลือกหอยมุกสีขาวหลักชั่วโมงโรมันด้านซ้ายดูไม่มีอะไรพิเศษ แต่กลไกตัวที่ 2 ที่บอกเวลาที่ 2 พร้อมวันที่ของตนเองบนหน้าปัดทางขวานี่สิที่ดูน่าสนใจ เพราะ EPOS ได้โมดิฟายด์ให้สามารถบอกชั่วโมงและกลางวัน/กลางคืนได้โดยใช้เข็มที่มีปลายข้างหนึ่งแปะพระอาทิตย์อีกข้างหนึ่งแปะพระจันทร์หมุนทวนเข็มนาฬิกาเพียงเข็มเดียว ต่อด้วยนาฬิกานักบิน Big Pilot’s Watch Chronograph Ref.3398 จากคอลเลคชั่น Sportive ตัวเรือนสตีลขนาด 43 มิลลิเมตร ฝาหลังใส กันน้ำได้ 100 เมตร ซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก ด้วยดีไซน์ที่นำมาจากนาฬิกานักบินในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เดินด้วยกลไกอัตโนมัติโครโนกราฟ Valjoux 7750 อีกเรือนเป็นมินิทรีพีทเตอร์จากคอลเลคชั่น Oeuvre d'art Ref.3373 Five Minute Repeater Limited Edition กับจำนวนจำกัด 200 เรือน ซึ่ง EPOS สร้างโมดูลสำหรับมินิทรีพีทเตอร์ที่เรียกว่า DD88 ขึ้นมาติดตั้งบนพื้นฐานของเครื่องอัตโนมัติ ETA 2892-A2 พร้อมโชว์ฝีมือการขัดแต่งเครื่องและโมดูลให้เห็นกันชัดๆ ทางฝั่งหน้าปัดด้วย มาในตัวเรือนสตีลขนาด 42.5 มิลลิเมตร ฝาหลังใส
Oeuvre d'art Ref.3373 Five Minute Repeater Limited Edition
เห็นนาฬิกาสวยๆ ที่มากับฟังก์ชั่นใช้งานหลายรูปแบบของ EPOS แล้ว อยากบอกว่าแต่ละรุ่นราคาเบากว่าหน้าตาอยู่มากทีเดียว หากกำลังมองหานาฬิกาที่มีคุณสมบัติครบ 6 ข้อตามย่อหน้าแรกของบทความนี้ EPOS เป็นแบรนด์อันดับต้นๆ ที่อยู่ในลิสต์ของคุณแน่นอนครับ อยู่ที่ว่ามีรุ่นที่หน้าตาถูกใจคุณหรือเปล่าเท่านั้นเอง
Duograph Complete Calendar Ref.3341 จากคอลเลคชั่น Sportive ตัวเรือนสตีลขนาด 42.5 มิลลิเมตร ฝาหลังใส กันน้ำได้ 50 เมตร กระจกหน้าปัดแซฟไฟร์คริสตัล หน้าปัดสีดำ ที่น่าจะเหมาะกับผู้ที่ต้องการหาเรือนเวลาฟังก์ชั่นครบครันมาเป็นเพื่อนคู่กายเป็นอย่างยิ่ง นาฬิกาเรือนนี้มาพร้อมกับกลไกอัตโนมัติโครโนกราฟ Valjoux 7751 จับเวลาได้ 12 ชั่วโมง ชี้บอกวันที่ด้วยเข็มกลาง บอกวันและเดือนด้วยช่องหน้าต่างคู่ในวงนาทีจับเวลา แสดงมูนเฟสในวงชั่วโมงจับเวลา พร้อมสเกลทาคีมิเตอร์บนขอบหน้าปัด สวมใส่คู่กับสายหนังแท้สีดำ
Passion Ref.3368 "รักเมืองไทย" นาฬิกาลิมิเต็ดเอดิชั่นสำหรับประเทศไทยที่ EPOS ทำขึ้นเป็นพิเศษ 300 เรือน จากพื้นฐานของ Ref.3368 ซึ่งถูกอยู่ในคอลเลคชั่น Passion ตัวเรือนสตีลขนาด 42 มิลลิเมตร กระจกหน้าปัดแซฟไฟร์คริสตัล ฝาหลังใส กันน้ำได้ 50 เมตร ใช้กลไกไขลาน Unitas บอกวันที่ด้วยเข็มกลาง บอกวันและเดือนด้วยช่องใต้ตำแหน่ง 12 นาฬิกา มีเข็มวินาทีเล็กที่ตำแหน่ง 9 นาฬิกา และแสดงมูนเฟสภายในหน้าต่างที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา หน้าปัดสีขาวเปิดช่องให้เห็นเครื่องที่ขัดแต่งลายโค๊ตเดอเชอแนฟและสกรูว์บลูด์สตีลโดยมีรูปแผนที่ประเทศไทยพร้อมคำว่า Thailand อยู่บนหน้าปัดทางด้านขวามือ สวมใส่กับสายหนังสีดำ
Jumping Hour นาฬิกาตัวเรือนสตีลทรงเหลี่ยมขอบมนสุดคลาสสิกรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ไม่ได้ผลิตจำหน่ายแล้วในปัจจุบัน นาฬิการุ่นนี้ใช้เครื่องไขลานที่แสดงผลชั่วโมงแบบจั๊มปิ้งอาวร์ในช่องหน้าต่างที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา บอกนาทีด้วยเข็มในหน้าปัดขนาดใหญ่กว่าด้านบน และมีหน้าปัดบอกวินาทีขนาดเล็กกว่าอยู่ด้านล่าง แต่ก็เป็นหน้าปัดวินาทีที่ใหญ่จนเห็นได้ชัดเจนจนได้รับการเรียกขานว่าเป็น Doctor Watch เพราะสามารถอ่านค่าวินาทีได้ชัดจนใช้แพทย์ใช้ในการจับชีพจรได้เลย
By: Viracharn T.