มารู้จักกับ URWERK แบรนด์อินดี้ฝีมือดีและผลงานรุ่นล่าสุด UR-210

 

นับถึงปีนี้ก็เป็นเวลา 15 ปีแล้วที่นาฬิกาสุดแนวภายใต้ชื่อ URWERK มีบทบาทในการเขย่าหัวใจและกระเป๋าของนักสะสมนาฬิกาทั่วโลก ปัจจัยที่ทำให้ URWERK เป็นที่ยอมรับของเหล่านักสะสมชั้นเซียนก็คือ ความสามารถของนักประดิษฐ์นาฬิกาผู้มีความคิดสร้างสรรค์ Felix Baumgartner และ Martin Frei ศิลปินนักออกแบบมากฝีมือ ที่เป็นผู้คิดค้นและสร้างผลงานแปลกใหม่ให้กับนาฬิกา URWERK แต่ละรุ่น

 

 

biographyS

 

 

ชื่อแบรนด์ URWERK มาจากการรวมกันของคำ 2 คำ คือ UR ซึ่งเป็นชื่อเมืองเก่าแก่ในดินแดนเมโสโปเตเมียอันเป็นที่ซึ่งชาวสุเมเรียนในอดีตกาลสมัยกว่า 6,000 ปีก่อนได้คิดค้นเกณฑ์การวัดเวลาขึ้นเป็นครั้งแรกโดยใช้นาฬิกาแดดขนาดยักษ์เป็นเครื่องบอกเวลา กับ WERK ที่มาจากคำว่า work หรืองานนั่นเอง อีกทั้งยังอาจใช้แทนคำว่า Uhrwerk ซึ่งหมายถึงเครื่องนาฬิกาในภาษาเยอรมัน ก่อตั้งขึ้นโดย Felix กับ Thomas สองพี่น้องนักประดิษฐ์นาฬิกาตระกูล Baumgartner และ Martin Frei ในกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ ค.ศ.1995

 

ความคิดสร้างสรรค์ของ Felix ตกตะกอนมาจากการศึกษาศาสตร์ด้านนาฬิกาอย่างลึกซึ้งที่เขาได้ร่ำเรียนมาจากสถาบันผลิตช่างนาฬิกา Schaffhausen ผนวกเข้ากับศาสตร์แห่งกลไกนาฬิกาสุดซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็น มินิทรีพีทเตอร์ ตูร์บิยอง หรือเพอร์เพทชวลคาเลนดาร์ ที่เขาสืบทอดมาจากบิดาของเขาซึ่งก็เป็นช่างนาฬิกาด้วย ส่วนฝีมือและดีไซน์อันเฉียบคมของ Martin นั้นได้มาจากการร่ำเรียนทางด้านศิลปะหลากแขนงทั้งงานเพนท์ งานประติมากรรม และงานศิลปะด้านอื่นๆ จากวิทยาลัยศิลปะและการออกแบบแห่ง Lucerne ซึ่งเมื่อเขาตกลงที่จะผลิตนาฬิการ่วมกันแล้ว ก็ได้ก่อให้เกิดนวัตกรรมเรือนเวลาที่ประกอบงานจักรกลสุดสร้างสรรค์ชั้นยอดเข้ากับงานดีไซน์ชั้นเยี่ยมขึ้นมาบนโลกใบนี้ หลักการสำคัญของพวกเขาก็คือ นาฬิกาของพวกเขาจะไม่ยึดติดอยู่กับรูปแบบของงานนาฬิกาใดๆ อย่างเช่นการเป็นนาฬิกาจักรกลที่ไม่ใช้เข็มในการแสดงค่าเวลาเหมือนนาฬิกาปกติทั่วไป ซึ่งเป็นความหมายแห่งคำว่าอิสระเสรีหรืออินดิเพนเด้นท์อย่างแท้จริง

 

 

UR101 1

 

URWERK UR-101 ตัวเรือนเยลโลว์โกลด์ เปิดตัวในปี 1997 บอกเวลาเป็นชั่วโมงบนจานดิสก์ซึ่งจะโคจรตามแนวตะวันออก-ตะวันตก (ตัวเรือนของเรือนต้นแบบเมื่อครั้งเปิดตัวถูกทำขึ้นจากทองเหลือง) 

 

 

ผลงานชิ้นแรกของ URWERK ปรากฎต่อสายตาชาวโลกใน ค.ศ.1997 ด้วยรุ่นที่ใช้ชื่อว่า 101 และ 102 (101 เป็นตัวเรือนเยลโลว์โกลด์ ส่วน 102 เป็นเรือนสตีล) โดยได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์มาจากนาฬิกาคล็อกจากยุคศตวรรษที่ 17 ซึ่งสร้างโดย Campanus brothers เป็นการแสดงค่าชั่วโมงบนจานดิสก์ซึ่งจะแสดงเลขชั่วโมงผ่านช่องหน้าปัดแนวโค้งตะวันออกจรดตะวันตกเฉกเช่นดวงอาทิตย์ขึ้นและตกซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นของรูปแบบการแสดงค่านาทีเป็นแนวโค้งที่ตกทอดมาถึงรุ่นต่างๆ ที่ตามออกมาในภายหลังด้วย 

 

 

Urwerk103a  Urwerk103b

Urwerk103c   Urwerk103d

 

URWERK UR-103 เปิดตัวออกมาเมื่อปี 2003 ในตัวเรือนเยลโลว์โกลด์ 18k กับไวท์โกลด์ 18k เด่นเตะตาด้วยเม็ดมะยมที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา มีจุดเด่นอยู่ที่การคิดค้นรูปแบบการโคจรให้กับจานหมุน 4 จานเพื่อนำมาใช้ในการแสดงค่าชั่วโมงจากตัวเลขที่ระบุบนจาน ซึ่งจะทำหน้าที่ชี้บอกนาทีในแบบอนาล็อกบนมาตรที่วางเป็นแนวโค้งไปด้วยในตัว กลไกที่ใช้เป็นแบบไขลาน มีกำลังสำรอง 42 ชั่วโมง บนฝาหลังจะมีมาตรแสดงวินาที มาตรแสดงนาทีแบบรอบละ 15 นาที และมาตรกำลังสำรอง ให้มาด้วย ตัวเรือนมีขนาด 36 x 50 มม.

 

 

UR10303 1UR103BLACKBIRD 1UR10305 1

  

(ซ้าย) UR-103.03 เวอร์ชั่นต่อมาของ 103 ออกมาในปี 2005 ซึ่งมีการออกแบบกระจกหน้าปัดขึ้นใหม่ให้เป็นแบบทาร์ก้าเปิดให้เห็นการโคจรของจานดิสก์ดาวเทียมทั้งสี่อย่างชัดแจ้ง โดยเส้นสายบนตัวเรือนก็ได้รับการออกแบบใหม่ด้วยเช่นกัน 

(กลาง) UR-103 Blackbird ออกมาในปี 2006 ในแบบลิมิเต็ดเอดิชั่นผลิต 10 เรือน ตัวเรือนทำจากวัสดุแพลตินั่มที่นำไปเคลือบดำด้วยกรรมวิธี PE-CVD (Plasma Enhanced-Chemical Vapor Deposition) ที่สามารถทนทานต่อรอยขีดข่วนได้มากกว่าการเคลือบพีวีดีซึ่งถือเป็นบริษัทนาฬิการายแรกๆ ของโลกที่นำเทคนิคนี้มาใช้
(ขวา) UR-103.05 ออกมาในปี 2006 ในแบบลิมิเต็ดเอดิชั่น 50 เรือน โดยมีการเปิดช่องหน้าต่างเพิ่มที่ด้านข้างของตัวเรือนทั้ง 2 ข้างด้วย โดยวัสดุที่ใช้ทำตัวเรือนนั้นเป็นแพลตินั่ม

  

 

UR103 Red Gold currentUR103 4 

 

(ซ้าย) UR-103 รุ่นปัจจุบันในตัวเรือนเร้ดโกลด์ มีลวดลายบนตัวเรือนที่ต่างจาก UR-103.03 เล็กน้อย 

(ขวา) ฝาหลังของ UR-103 ในปัจจุบันจะทำจากไทเทเนียมเกรด 5 ซึ่งทำหน้าที่เป็นแผงควบคุมโดยมีหน้าปัดแสดงนาทีแบบรอบละ 15 นาทีและหน้าปัดแสดงวินาทีติดตั้งอยู่พร้อมทั้งมาตรแสดงกำลังสำรอง 43 ชั่วโมงด้วย โดยรูปแบบการจัดวางนี้นำมาจากสไตล์ของนาฬิกาโครโนมิเตอร์ที่ใช้บนเรือเดินสมุทรในสมัยก่อน

 

 

UR103T 2UR103T 2 2

 

UR-103T หรือที่เรียกว่า Tarantula ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุดของตระกูล 103 นี้ จะมากับงานปรับดีไซน์ที่ใช้กระจกหน้าปัดเป็นแบบเต็มบานให้มองเห็นคานสี่แฉกซึ่งยึดจานดิสก์ทั้งสี่เอาไว้ชัดๆ โดยคานสี่แฉกนี้จากที่เคยใช้วัสดุไทเทเนียมก็เปลี่ยนมาใช้เป็นวัสดุ ARCAP ซึ่งเป็นทองแดงผสมนิคเกิ้ลโดยออกแบบใหม่ให้มีกรอบปิดเพื่อบังตัวเลขที่ไม่ได้ใช้ไม่ให้มองแล้วลายตาเกินไป ในภาพเป็นรุ่น Mexican Fireleg ซึ่งมากับการใช้สีส้มตกแต่งรายละเอียดบนด้านหน้าปัด โดยตัวเรือนจะเป็นสเตนเลสสตีลเคลือบ AlTiN (อลูมินัม ไทเทเนียม ไนไตรด์) ซึ่งมีความทนทานสูงถึง 3,800 วิคเกอร์ส สามารถป้องกันรอยขีดข่วน แรงกระแทก การอ็อกซิไดซ์ และกรดต่างๆ ได้ดีมาก 

 

 

ในปี 2005 ชื่อของ Felix Baumgartner แห่ง URWERK เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างมากขึ้นจากการที่เป็นผู้รับงานสร้างสรรค์นาฬิกา Opus V ให้กับคอลเลคชั่นมหากาพย์ Opus ของ Harry Winston ที่ร่วมมือกับยอดนักประดิษฐ์นาฬิกาท่านต่างๆ ในนาฬิกา Opus แต่ละโปรเจ็คต์ ซึ่งก็เท่ากับเป็นการประชาสัมพันธ์ฝีมืออันลึกล้ำของ Felix Baumgartner ไปด้วยในตัวสำหรับงานโปรเจ็คต์ที่ 5 นี้ โดยผู้ที่ชักชวนให้ Felix เข้าร่วมพัฒนา Opus V ก็คือ Maximilian Büsser (แห่ง MB&F ในปัจจุบัน) ผู้ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการของ Harry Winston ในส่วนของ Rare Timepieces สืบเนื่องมาจากการที่ Max มีความประทับใจในผลงาน UR-103 ของ URWERK นั่นเอง

 

5Duo

 

Harry Winston Opus V ผลงานมหากาพย์ Opus ที่เปิดตัวในปี 2005 ซึ่งมี Felix Baumgartner ร่วมพัฒนาด้วย มากับความแปลกใหม่ของการแสดงผลชั่วโมงโดยใช้ลูกบาศก์ดาวเทียมหมุนได้ 3 ลูกยึดติดกับแกนหมุนและทำงานร่วมกับเข็มเรโทรเกรดทรงสามเหลี่ยมที่ทำหน้าที่กวาดบอกนาที ผลิตในจำนวนจำกัดในตัวเรือนพิงค์โกลด์และแพลตินั่มแบบละ 45 เรือน อีก 7 เรือนในตัวเรือนแพลตินั่มประดับเพชร และ 3 เรือนในตัวเรือนแพลตินั่มประดับเพชรบาแกตต์

 

 

UR201 Pt Black

 

UR-201 เปิดตัวในปี 2007 มากับการแสดงเวลาโดยใช้ลูกบาศก์หมุนที่มีตัวเลขชั่วโมง 3 ลูกยึดติดกับแกนหมุนในลักษณะคล้ายกับที่นำไปใช้ใน Opus V แต่เพิ่มความซับซ้อนของงานกลไกเข้าไปอีกด้วยการใช้เข็มแบบยืดหดได้ติดตั้งที่ลูกบาศก์แต่ละลูกเพื่อให้ชี้บอกนาทีบนมาตรด้านล่างให้อ่านค่าได้อย่างแม่นยำ ทั้งยังมีเข็มแสดงกำลังสำรองและเข็มแสดงเวลากลางวัน-กลางคืนแบบ 24 ชั่วโมงติดตั้งอยู่ทางด้านหน้าด้วย ในภาพเป็นรุ่น UR-201 Pt Black ที่ผลิตขึ้นในจำนวนจำกัด 10 เรือน โดยไม่ได้ระบุหมายเลขประจำเรือน สิ่งพิเศษก็คือตัวเรือนเคลือบดำด้วยกรรมวิธี PE-CVD 

 

 

UR202 1UR202 4

 

(ซ้าย) UR-202 แสดงเวลาโดยการใช้ลูกบาศก์หมุนที่มีตัวเลขชั่วโมง 3 ลูกยึดติดกับแกนหมุนพร้อมเข็มชี้บอกนาทีแบบยืดหดได้ติดตั้งที่ลูกบาศก์แต่ละลูกเช่นเดียวกับ UR-201 แต่ UR-202 จะมาพร้อมดิสก์แสดงมูนเฟสกับดิสก์แสดงกลางวัน-กลางคืน และมีนวัตกรรมสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งถือเป็นครั้งแรกของโลกก็คือระบบขึ้นลานที่นำเทอร์ไบน์คู่ขนาดเล็กมาควบคุมแรงอัดอากาศภายในตัวเรือนซึ่งจะมีผลต่อการแกว่งของโรเตอร์ของระบบขึ้นลานอัตโนมัติซึ่งนำหลักการมาจากนักประดิษฐ์นาฬิกาในศตวรรษที่ 18 ซึ่งใช้แรงเสียดทานของอากาศในการควบคุมอัตราความเร็วในการตีของกลไกการตีบอกเวลาซึ่งพัฒนามาใช้ควบคุมอัตราการตีบอกเวลาของกลไกมินิทรีพีทเตอร์ในเวลาต่อมา ในภาพเป็นตัวเรือนไวท์โกลด์ ตัวเรือนมีขนาด 46.6x43.5 มม. 
(ขวา) ฝาหลังไทเทเนียมของ UR-202 จะมีช่องหน้าต่างที่มองเห็นใบพัดเทอร์ไบน์คู่ที่ทำงานร่วมกับโรเตอร์ขึ้นลานของเครื่องอัตโนมัติที่ใช้โดยทำหน้าที่ซึมซับแรงสะเทือนของโรเตอร์ขณะเคลื่อนไหวและควบคุมอัตราการขึ้นลานของโรเตอร์ การทำงานของเทอร์ไบน์สามารถควบคุมได้ด้วยสวิทช์ที่มีตำแหน่งในการทำงาน 3 ตำแหน่ง เพื่อปรับแรงอัดอากาศที่หมุนเวียนอยู่ภายในตัวเรือนให้มีระดับต่างกันได้ตามสภาวะที่ต้องการ การจำกัดการไหลเวียนของอากาศนี้จะทำให้เกิดแรงดันอากาศเพิ่มขึ้นทำให้เทอร์ไบน์และโรเตอร์เคลื่อนไหวช้าลงโดยสามารถมองเห็นระดับของแรงดันได้จากสีแดงที่แสดงอยู่ในช่องกลมเล็กๆ 

 

 

UR203 1UR110 1

 

(ซ้าย) UR-203 ตัวเรือนแพลตินั่มเคลือบดำผลิตในจำนวนจำกัด 20 เรือน เปิดตัวในปี 2010 มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับ UR-202 แต่แทนที่ดิสเพลย์แสดงมูนเฟสด้วยจานดิสก์แสดงเตือนการเปลี่ยนถ่ายน้ำมัน 

(ขวา) UR-110 แสดงผลชั่วโมงด้วยวิธีการอันซับซ้อนโดยเป็นการใช้แท่งลูกบาศก์หมุนที่มีตัวเลขชั่วโมง 3 ลูกติดตั้งบนขาทั้งสามที่ยึดกับแกนหมุนซึ่งมีความเสถียรและสมดุลย์เพื่อให้ปลายศรชี้บอกที่มาตรนาทีทางด้านขวา โดยมีดิสก์แสดงเตือนการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเพื่อแจ้งเตือนการส่งนาฬิกาเข้าเซอร์วิส และดิสก์แสดงกลางวัน/กลางคืนมาให้ด้วย ในภาพเป็นตัวเรือนไทเทเนียมเกรด 5 ที่มีขอบตัวเรือนด้านบนเป็นเร้ดโกลด์ ใช้เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติที่มีใบพัดเทอร์ไบน์คู่ทำหน้าที่ซึมซับแรงสะเทือนจากการเคลื่อนไหวของโรเตอร์ขึ้นลานทิศทางเดียวและลดการสึกหรอยามที่โรเตอร์เคลื่อนไปยังทิศทางที่ไม่ได้เป็นการขึ้นลาน ตัวเรือนมีขนาด 47x51 มม.

 

 

UR-210 – Partly human

 

 

นาฬิการุ่นใหม่ล่าสุดของ URWERK ที่เพิ่งเปิดตัวในปี 2012 นี้ มีรหัสเรียกขานว่า UR-210 Partly human ซึ่งเป็นนาฬิกาที่ Martin Frei อธิบายกรอบคอนเซ็ปต์ในการออกแบบของเขาไว้ว่าจะเป็นนาฬิกาข้อมือแบบแรกที่จะแสดงถึงการเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์กับนาฬิกาจักรกลที่สวมใส่อยู่บนข้อมือ การแสดงผลของนาฬิการุ่นนี้ยังคงมากับการชี้กวาดบอกนาทีตามสเกลแนวโค้งอันเป็นเอกลักษณ์แสนแน่นเหนียวของ URWERK เช่นเคย แต่นาฬิการุ่นนี้จะมีความเชื่อมโยงกับผู้สวมใส่อย่างไรนั้น มาหาคำตอบกันเลยดีกว่าครับ 

 

 

UR210 1

 

 

เมื่อมองไปด้านบนของหน้าปัดคุณจะเห็นเข็มและมาตรแสดงกำลังสำรองลักษณะเดียวกับที่ใช้ในนาฬิกาทั่วไปอยู่ที่ตำแหน่ง 1 นาฬิกาซึ่งจะอยู่ที่มุมบนขวาพอดี ส่วนที่ตำแหน่ง 11 นาฬิกาที่ก็คือมุมบนซ้ายด้านตรงข้ามกันนั้นจะมีเข็มและมาตรขนาดเท่ากันอยู่อีกชุดหนึ่ง ซึ่งเข็มนี้ก็คือ เข็มที่จะชี้บอกประสิทธิภาพของการขึ้นลานในช่วง 2 ชั่วโมงล่าสุดให้ผู้สวมใส่ได้รับรู้ ซึ่งยังไม่เคยมีนาฬิกาแบบใดในโลกที่มีฟังก์ชั่นแสดงค่าในลักษณะนี้มาก่อน

 

 

UR210 2

 

 

อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือ หากว่าคุณใส่ UR-210 บนข้อมือแล้วนั่งหรือนอนเอนกายนิ่งๆ บนโซฟาตัวโปรดเป็นเวลานานๆ เข็มจะชี้ไปที่โซนสีแดงบนมาตรซึ่งจะเป็นการบอกว่าขณะนี้โรเตอร์ของเครื่องอัตโนมัติไม่ได้รับกำลังเพียงพอที่จะขึ้นลาน หมายความว่าเครื่องกำลังเดินด้วยพลังงานที่เก็บสะสมอยู่ แต่หากคุณลุกขึ้นขยับตัวไปมารอบๆ เข็มก็จะชี้ไปที่โซนสีเขียวซึ่งก็หมายถึงคุณกำลังเพิ่มพลังงานใหม่ให้กับเครื่อง ซึ่งกลไกการวัดค่าที่นำมาแสดงผ่านเข็มชุดนี้ ไม่ได้ถูกวัดจากทอร์กหรือแรงของเมนสปริง แต่จะถูกคำนวณมาจากความแตกต่างระหว่างพลังงานที่ใช้ไปกับพลังงานที่ถูกผลิตขึ้นของเมนสปริง ซึ่งหากคุณทราบทั้งค่าของประสิทธิภาพในการขึ้นลานและกำลังสำรองที่เหลืออยู่แล้ว คุณก็จะรู้ว่าเมื่อใดที่จะต้องทำการสร้างแรงเคลื่อนไหวให้โรเตอร์ขึ้นลานเพิ่มซึ่งในกรณีนี้คุณสามารถหมุนตัวเลือกที่อยู่ด้านหลังนาฬิกาไปที่ “FULL” อันเป็นตำแหน่งที่ทุกการเคลื่อนไหวของโรเตอร์จะถูกแปลงไปเก็บเป็นกำลังสำรองทั้งหมดโดยปราศจากการแทรกแซงใดๆ จากระบบใบพัดเทอร์ไบน์ที่ต่อเชื่อมอยู่กับโรเตอร์ แต่เมื่อตัวของคุณเองอยู่ในโหมดแอคทีฟที่มีการเคลื่อนไหวข้อมืออย่างต่อเนื่องซึ่งตามปกติแล้วมักจะสร้างกำลังป้อนกลับให้เครื่องได้เกินกว่าความต้องการ ก็ควรที่จะหมุนตัวเลือกให้มาอยู่ที่ตำแหน่ง “REDUCED” เพื่อเปิดการทำงานของระบบเครื่องอัดอากาศเทอร์ไบน์ให้ช่วยซับพลังงานซึ่งใบพัดเทอร์ไบน์จะหมุนเพื่อสร้างแรงต้านทานภายในให้เกิดแรงเสียดทานเพียงพอที่จะทำให้โรเตอร์ขึ้นลานทำงานช้าลง ส่วนในโหมด “STOP” นั้น ระบบขึ้นลานอัตโนมัติจะไม่ทำงาน นาฬิกาจะใช้แต่กำลังสำรองที่มีอยู่ซึ่งหากต้องการพลังงานเพิ่มเมื่ออยู่ในโหมดนี้ก็จะต้องขึ้นลานเพิ่มด้วยมือ

 

 

reUR 210 frontSS  14

 

 

กลับมาดูรายละเอียดที่อยู่บนด้านหน้ากันต่อที่แน่นอนว่าตามสไตล์ของ URWERK ก็จะมากับระบบการแสดงผลแบบดาวเทียมอันซับซ้อนซึ่งจะโคจรชี้บอกนาทีบนมาตรโค้งเช่นเคย แต่สำหรับคราวนี้มาในลักษณะที่มีเข็มชี้นาทีสามมิติแขนเดี่ยวขนาดใหญ่บิ้กบึ้มโดยเจาะกลวงตรงกลางให้เป็นกรอบแสดงตัวเลขชั่วโมงของลูกบาศก์ดาวเทียมด้วย ซึ่งทำให้อ่านค่าเวลาได้อย่างสะดวก เข็มเล่มโตนี้จะทำงานแบบเรโทรเกรดและเห็นใหญ่ๆ อย่างนี้การตีกลับไปเริ่มต้นที่ 0 ใหม่นั้นจะใช้เวลาไม่ถึง 0.1 ของวินาทีเท่านั้น โดยจะไปสวมเข้ากับลูกบาศก์ดาวเทียมแสดงชั่วโมงถัดไปซึ่งจะเคลื่อนตัวเข้ามาประจำตำแหน่งในเสี้ยววินาทีเดียวกัน ตัวเข็มแขนเดี่ยวนี้แม้ขนาดจะใหญ่แต่มีน้ำหนักเบาเพียง 0.302 กรัมเท่านั้น เพราะทำจากอลูมินัม ตัวเรือนของนาฬิการุ่นนี้ประกอบขึ้นจากวัสดุไทเทเนียมกับสตีล มีขนาด 43.8x53.6x17.8 มม. ตัวเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติที่ใช้มีรหัสว่า UR-7.10 มี 51 จิวเวล เดินที่ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง ให้กำลังสำรอง 39 ชั่วโมง เชื่อมต่อโรเตอร์ขึ้นลานกับระบบเทอร์ไบน์ 

 

 

img 210technical

 

 

นับว่า UR-210 รุ่นนี้ เป็นอีกย่างก้าวใหม่ของ URWERK ที่แสดงถึงแนวคิดนอกกรอบของผู้สร้างได้อย่างยอดเยี่ยม ก่อนหน้านี้จะมีกี่คนกันที่คิดจะสร้างมาตรแสดงผลว่าเครื่องออโต้ที่อยู่ภายในนั้นกำลังขึ้นลานเองตามชื่อของมันอยู่หรือไม่หรือไม่ก็อาจจะคิดแต่ไม่ตกผลึกเพียงพอที่จะสร้างเพราะยังหาคำตอบไม่ได้ว่าจะรู้ไปทำไมเพราะก็มีมาตรแสดงกำลังสำรองอยู่แล้ว แต่ URWERK กลับนำมันมาเป็นลูกเล่นของนาฬิกาได้อย่างสนุกและมีสีสัน ทั้งยังมาพร้อมกับแขนเรโทรเกรดเดี่ยวที่มีดีไซน์กับหน้าที่สอดคล้องลงตัวเป็นที่สุดอีกต่างหาก เรียกว่า UR-210 เป็นสุดยอดแห่งงานพัฒนานาฬิกาซีรี่ส์ 200 ของเขาเลยทีเดียว นึกไม่ออกจริงๆ ว่า ในอนาคต ถ้าเขาจะออกรุ่นใหม่ของซีรี่ส์นี้มาอีก เขาจะใส่คอมพลิเคชั่นแปลกใหม่อะไรลงไปได้มากกว่านี้ ซึ่งนี่ล่ะที่เป็นเสน่ห์ของ URWERK ซึ่งผู้คนทั่วโลกเฝ้าติดตามครับ

 

By: Viracharn T.