ZENITH MANUFACTURE – HISTORICAL ARCHITECTURE MEETS THE AVANT-GARDE
ในบรรดาโรงงานนาฬิกาอันเก่าแก่ของโลกที่ยังคงใช้เป็นที่เดินสายการผลิตอยู่ในปัจจุบันนั้น จะว่าไปแล้วก็มีเหลืออยู่ไม่มาก โรงงานของแบรนด์ ZENITH แบรนด์นาฬิกาเก่าแก่ที่มีอายุเกือบ 150 ปี ซึ่งตั้งอยู่ที่เลอ ลอคล์ ในเนอชาแตล สวิตเซอร์แลนด์ ก็เป็นหนึ่งในนั้น และสถาปัตยกรรมทางอุตสาหกรรมของอาคารโรงงานเก่าแก่แห่งนี้ก็ได้รับการบรรจุให้เป็นหนึ่งในมรดกโลกของยูเนสโกด้วย
อาคารกลางของโรงงานในปัจจุบันที่บูรณะและปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2011 เป็นต้นมา ZENITH ได้ทำการซ่อมบำรุงและปรับปรุงอาคารกลางของโรงงานนาฬิกาแห่งนี้ซึ่งเป็นอาคาร 3 ชั้นที่เปิดใช้มาตั้งแต่ปี 1905 งานบูรณะและปรับปรุงได้แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยเมื่อไม่นานมานี้โดยยังคงสถาปัตยกรรมหลักอันทรงคุณค่าเอาไว้ให้อยู่คู่โลกนาฬิกาต่อไปตราบนานเท่านาน ด้านหน้าของอาคารยังคงตกแต่งด้วยอิฐก่อสีแดงอันเป็นเอกลักษณ์ของอาคารเอาไว้ เช่นเดียวกับกระจกหน้าต่างโบราณถึง 400 บานผนึกกับกรอบโลหะอันเป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นของยุคอุตสาหกรรมที่ได้รับการซ่อมและปรับปรุงสภาพเสียใหม่ ช่องกลางของแต่ละบล็อกตึกจะติดตั้งตัวอักษรย่อสีแดง G.F.J. ซึ่งย่อมาจาก Georges Favre-Jacot อันเป็นชื่อของชายผู้ก่อตั้งบริษัทขึ้นในเมืองเลอ ลอคล์ ณ สถานที่แห่งนี้ตั้งแต่ ค.ศ.1865 เอาไว้ โดยสลับบล็อกกับชื่อแบรนด์ ZENITH สำหรับส่วนงานวัสดุและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ได้รับการเพิ่มเติมเข้าไปก็คือ วัสดุที่เป็นฉนวนความร้อน เครื่องปรับอากาศ และระบบควบคุมความชื้น รวมถึงงานออกแบบภายในที่เป็นการปรับปรุงใหม่ทั้งหมดโดยจัดแบ่งออกเป็นห้องปฏิบัติการการผลิตในขั้นตอนและแผนกต่างๆ หลายห้องด้วยกัน ทั้งส่วนงานที่ใช้เครื่องจักร งานตอกหรือเจาะโลหะ งานขัดแต่ง-ตกแต่ง งานทดสอบ งานประกอบเครื่อง งานปรับตั้ง จนถึงงานประกอบเข้ากับตัวเรือน รวมทั้งงานผลิตนาฬิการะดับสูงรุ่นพิเศษด้วย
สิ่งที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ก็คือ แนวคิดแบบก้าวหน้าในกระบวนการผลิตนาฬิกาภายในโรงงานของ Georges Favre-Jacot เพราะมันไม่ใช่โรงงานแบบที่เหมือนกับการผลิตนาฬิกาในสถานที่ขนาดใหญ่เท่านั้น แต่เขายังปฏิรูปการทำงานในแต่ละส่วนอย่างเป็นระบบ โดยมีเหล่าผู้เชี่ยวชาญการผลิตนาฬิกาในหลายแขนงมาทำงานอยู่ในสถานที่เดียวกัน มีการนำเครื่องจักรมาใช้แทนกำลังคน และการผลิตชิ้นส่วนที่สามารถ ใช้ร่วมกันในจุดต่างๆ และชิ้นงานที่ต่างกันได้ ทั้งยังมีการผลิตกลไกของตัวเองด้วย เรียกว่าเป็นโรงงานที่มีกระบวนการผลิตนาฬิกาแบบครบวงจรมาเป็นเวลานานแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น ในเวลาต่อมา Georges Favre-Jocot ยังก้าวไปสู่การสร้างร้านแฟล็กชิพ และการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำของผู้คน ทั้งยังมีการสร้างเอกลักษณ์ของตนเองอย่างจริงจัง จนทำให้ ZENITH เป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับอย่างท่วมท้นตั้งแต่ยุคอดีตต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
Georges Favre-Jacot (1843-1917) ผู้ก่อตั้ง ZENITH
นาฬิกาพกที่ ZENITH ผลิตขึ้นในช่วงราวปี 1900-1910
สิ่งที่ทำให้ ZENITH มีความแตกต่างจากนาฬิกาของบริษัทอื่นๆ ก็คือ การที่ Georges ได้ร่วมงานกับสถาปนิกคนดังแห่งยุค Alphonse Laverrière อย่างใกล้ชิด และความร่วมมือของเขาทั้งสองก็มีแนวคิดที่เชื่อมโยงกับสมาคมนักเคลื่อนไหวระดับสากลที่เรียกกันว่า Werkbund ซึ่งเป็นกลุ่มที่เชื่อมั่นในการหลอมรวมงานศิลปะเข้ากับผลิตผลอุตสาหกรรมและต้องการรังสรรค์ผลผลิตทางอุตสาหกรรมที่เปี่ยมไปด้วยมิติแห่งศิลป์อันงดงาม แนวคิดนี้นำมาซึ่งวิสัยทัศน์แห่งการผลิตนาฬิกาของ ZENITH นั่นคือ จะต้องมีความสมบูรณ์แบบด้วยส่วนผสมอันกลมกลืนของงานศิลป์ในงานจักรกลที่พวกเขาสร้างขึ้น เอกลักษณ์อันโดดเด่นนี้ทำให้ ZENITH แข็งแกร่งขึ้นอย่างรวดเร็วจนได้รับการยกย่องว่าเป็นหัวหอกสำคัญของการปฏิรูปแบบอย่างแห่งงานศิลป์ในภูมิภาคท้องถิ่นภาษาฝรั่งเศสของประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ช่วงนี้เองที่งานตกแต่งและงานขัดแต่งนาฬิกา ZENITH ได้รับการพัฒนาขึ้นมาอย่างมากจากการผลักดันของ Alphonse Laverrière รวมไปถึงการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ จำนวนมาก ทั้งนาฬิกาแขวน นาฬิกาตั้งโต๊ะ และนาฬิกาข้อมือ ตลอดจนกระดาษสำหรับบรรจุภัณฑ์ และกล่องบรรจุ ไปจนถึงรูปแบบการจัดวางในการนำเสนอคอลเลคชั่นผลงาน ตู้จัดแสดง ซึ่งถือว่าเป็นการกำเนิดสื่อโฆษณา ณ จุดจำหน่ายเป็นครั้งแรกของวงการนาฬิกา และ Alphonse ก็เป็นผู้ออกแบบด้านหน้าของร้านกับเฟอร์นิเจอร์ภายในร้านอีกด้วย ทั้งยังร่วมกับ Georges ออกแบบก่อสร้างอาคารต่างๆ ของโรงงาน ZENITH ณ เมืองเลอ ลอคล์ แห่งนี้ ซึ่งก็แน่นอนว่าจะต้องมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มาจากส่วนผสมอันลงตัวของงานศิลปะกับความเป็นอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับวิสัยทัศน์ของพวกเขา และโรงงานแห่งนี้ก็ได้ยืนหยัดผ่านเหตุการณ์มากมายทศวรรษแล้วทศวรรษเล่าจนมาถึงปัจจุบัน เป็นแหล่งกำเนิดของสิทธิบัตรกว่า 300 ฉบับ และเครื่องนาฬิกากว่า 600 แบบ อีกทั้ง 2,333 รางวัลในสาขาความเที่ยงตรงระดับโครโนมิเตอร์อันทรงเกียรติ ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ถึงความยิ่งใหญ่และเป็นประจักษ์พยานแห่งการสร้างสรรค์ผลงานนาฬิกาชั้นยอดตลอดมา และตัวโรงงานเองยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหนึ่งในมรดกโลกของยูเนสโกด้วย
ภาพโรงงาน ZENITH เมื่อครั้งอดีต
หลังจากที่อาคารกลางของโรงงานได้รับการบูรณะและปรับปรุงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทาง ZENITH ก็จะทำการปรับปรุงอาคารอื่นๆ อีกทั้ง 18 แห่งภายในบริเวณโรงงานแห่งนี้ด้วยซึ่งจะเป็นการบูรณะปรับปรุงอาคารเดิมทั้งหมดและจะไม่มีการทุบแล้วสร้างอาคารใหม่ขึ้นแต่อย่างใด ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเคารพต่อประวัติศาสตร์ของตนและอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเดิมเอาไว้ให้อยู่คู่กับเมืองเลอ ลอคล์ ซึ่งยังเป็นลักษณะการดำเนินงานที่สืบสานตามเจตนารมณ์ดั้งเดิมของผู้ก่อตั้งนั่นคือการคงความงามแห่งงานศิลป์ควบคู่กับความเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ให้ดำรงอยู่คู่กับแบรนด์ต่อไป โดยจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2015 ซึ่งจะเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 150 ปีแห่งการก่อตั้ง ZENITH ที่ LVMH (Moët Hennessy – Louis Vuitton S.A.) บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกในธุรกิจสินค้าหรูซึ่งเข้าถือครอง ZENITH มาตั้งแต่ปี 1999 จะต้องจัดงานฉลองขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ไปทั่วโลกเป็นแน่
(ซ้าย) นาฬิกา ZENITH เครื่องอัตโนมัติโครโนกราฟ El Primero เวอร์ชั่นแรกจากปี 1970
(ขวา) นาฬิกา ZENITH El Primero Striking 10th รุ่นปัจจุบัน
ณ วันนี้หากคุณเลือกเป็นเจ้าของนาฬิกา ZENITH รุ่นใดก็ตาม นั่นหมายถึงว่าคุณได้ครอบครองนาฬิกาที่ผลิตขึ้นแบบอินเฮ้าส์ภายในโรงงาน ณ เมืองเลอ ลอคล์แห่งนี้อย่างแท้จริง ซึ่งหมายรวมถึงเครื่องนาฬิกาด้วย ทั้งยังถูกสร้างขึ้น ณ สถานที่ที่เป็นจุดเดียวกับเวิร์คช็อปแห่งแรกของบริษัทอีกต่างหาก แต่หากจะถามว่านาฬิกาอะไรของเขาที่เด่นที่สุด คำตอบก็คงจะหนีไม่พ้นนาฬิกา ZENITH ที่ใช้เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติโครโนกราฟแบบคอลัมน์วีล El Primero หนึ่งในเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติโครโนกราฟแบบแรกของโลกอันโด่งดังระดับตำนานซึ่ง ZENITH พัฒนาขึ้นและถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี 1969 ด้วยคุณสมบัติเด่นของการทำงานด้วยความถี่สูงถึง 36,000 ครั้งต่อชั่วโมง ที่ทำให้สามารถจับเวลาในช่วงสั้นได้อย่างแม่นยำถึงระดับ 1/10 ของวินาที นั่นเอง
By: Viracharn T.