HISTORY OF JUNGHANS เล่าขานถึงหนึ่งในตำนานนาฬิกาเยอรมัน (ตอนที่ 1)
เยอรมนีเป็นประเทศเก่าแก่อีกประเทศหนึ่งซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของนาฬิกาแบรนด์ดังสุดเก่าแก่มากมาย หลายแบรนด์ก็เป็นที่คุ้นหูคนไทย เช่น A.Lange & Sohne แบรนด์ที่เป็นหนึ่งในความสุดยอดของกลไกและการขัดแต่ง หรือ Glashutte Original กับเอกลักษณ์การแสดงผลอันโดดเด่น เป็นต้น และแบรนด์เยอรมันอีกแบรนด์ที่ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นเวลากว่า 150 ปีแล้วก็คือ แบรนด์ที่มีชื่อว่า JUNGHANS (ยุงค์ฮันส์) ซึ่งเป็นแบรนด์ที่บทความนี้จะมาเล่าให้ฟังถึงประวัติความเป็นมาให้ทราบกันครับ
ครอบครัว JUNGHANS ในทศวรรษที่ 1860 คู่กลางคือ Erhard Junghans ผู้ก่อตั้งบริษัทและภรรยา Luise ส่วนเด็กๆ คือ ลูกๆ ได้แก่ (จากซ้าย) Arthur, Frieda, Luise, Anna, Mina และ Erhard ซึ่งหลายคนเมื่อโตขึ้นก็เข้ามามีบทบาทในบริษัท
JUNGHANS ก่อตั้งโดยชายชื่อ Erhard Junghans ในปี ค.ศ.1861 โดยเป็นโรงงานผลิตส่วนประกอบนาฬิกาคล็อก ภายใต้ชื่อ Zeller & Junghans มีที่ตั้งอยู่ในบริเวณหุบเขา Lauterbach ในแถบที่เรียกว่า Black Forest อันเป็นแหล่งผลิตนาฬิกาคล็อกชั้นดีของเยอรมนีในสมัยโบราณ ชิ้นส่วนที่เริ่มผลิตก็คือพวกตู้ไม้ เพลทบรอนซ์ มือจับ ประตูกระจก ลวดตะขอ บานพับ และตุ้มนาฬิกา สำหรับนาฬิกาตั้งและนาฬิกาแขวน ปีถัดมาก็เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Gebrüder Junghans และขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น จนในปี 1866 Erhard ก็ได้นำเสนอนาฬิกาที่ทางบริษัทผลิตขึ้นเองถึง 3 แบบด้วยกัน คือ นาฬิกาตั้งโต๊ะแบบเพนดูลัม (ตุ้มเหวี่ยง) นาฬิกาเรกูเลเตอร์แบบมีเสียง ขับเคลื่อนด้วยสปริง และนาฬิกาแขวนผนังที่ใช้ระบบบาลานซ์แทนตุ้มเหวี่ยง ในปีถัดมาเมื่อนาฬิกาเหล่านี้ออกขายก็ได้ทำให้นาฬิกาคล็อกระดับมาตรฐานของอเมริกันที่ครองตลาดในยุโรปอยู่ต้องสะดุ้งสะเทือนไปเลยทีเดียว นาฬิกาคล็อกสไตล์อเมริกันที่ JUNGHANS ผลิตขึ้นด้วยกรรมวิธีแบบโรงงานสมัยใหม่ที่ศึกษาระบบมาจากอเมริกานั้นได้รับความนิยมอย่างสูงในเวลาอันรวดเร็วจนมีกำลังการผลิตถึงปีละ 16,000 เรือนในปี 1869 เขาเสียชีวิตในปี 1870 ด้วยวัยเพียง 47 ปีด้วยอาการเจ็บป่วยด้านลำคอ ในขณะที่บริษัทของเขาซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรม Schramberg มีพนักงานกว่าร้อยคนและผลิตนาฬิกาคล็อกได้ถึงวันละ 80-100 เรือน ได้กลายเป็นผู้นำแห่งการผลิตนาฬิกาคล็อกสมัยใหม่ในเยอรมนีและเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญยิ่งของเขต Schramberg
(ซ้าย) โรงงาน JUNGHANS ในยุคเริ่มก่อตั้งเมื่อทศวรรษที่ 1870 (ขวา) ภายในโรงงานยุคแรกในสมัยศตวรรษที่ 19
แคตตาล็อกนาฬิกาชุดแรกของ JUNGHANS จากปี 1867
หลังจาก Erhard เสียชีวิต ผู้รับหน้าที่ดูแลบริษัทต่อก็คือ Luise Junghans-Tobler ภรรยาของเขา ก่อนที่จะมอบหน้าที่นี้ให้กับ Paul Landenberger ผู้ที่เข้าร่วมงานกับ Erhard มาตั้งแต่ปี 1869 เมื่อได้แต่งงานกับลูกสาวของเธอ Frieda Junghans ในปี 1872 ต่อมาในปี 1874 เขาก็สละตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ Junghans และไปร่วมก่อตั้งโรงงานนาฬิกาชื่อ Landenberger & Lang ณ แถบหุบเขา Göttelbach ในปี 1875 และกลายมาเป็นคู่แข่งสำคัญของ JUNGHANS แทน ส่วนผู้ที่มาบริหารงานของ JUNGHANS ต่อก็คือ Erhard และ Arthur Junghans ผู้เป็นลูกชายของ Erhard ผู้พ่อนั่นเอง Arthur นั้นร่ำเรียนมาทางวิศวกรรม เขาจึงรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคด้วยโดยได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ และมีการจดสิทธิบัตรทั้งผลิตภัณฑ์และเครื่องจักรที่เขาคิดขึ้นมากว่า 200 สิทธิบัตรด้วยกัน และก็เป็นการเริ่มต้นของสิทธิบัตรจำนวนมหาศาลของ JUNGHANS ซึ่งรวมจนถึงปัจจุบันมีมากกว่า 3,000 สิทธิบัตรแล้ว และในทศวรรษที 1880 นั้นเอง JUNGHANS ก็ได้กลายเป็นผู้ผลิตนาฬิกาคล็อกที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนีด้วยจำนวนพนักงาน 1,000 ชีวิตที่ผลิตนาฬิกาได้ถึงหนึ่งล้านเรือนต่อปีโดยมีผลิตภัณฑ์ที่สำคัญคือ นาฬิกาเรกูเลเตอร์ขับเคลื่อนด้วยสปริงและนาฬิกาปลุก
Arthur Junghans ลูกชายของ Erhard เครื่องนาฬิกาคล็อก No.10
ต่อมาปี 1876 นาฬิกาอินเฮ้าส์แบบแรกที่ JUNGHANS คิดค้นและผลิตขึ้นด้วยตัวเองก็ได้ถือกำเนิดขึ้นโดยเป็นนาฬิกาปลุกซึ่งสร้างตามหลักการของอเมริกัน เครื่องอินเฮ้าส์นี้เรียกขานว่าเครื่อง No.10 ซึ่งก็ได้ผลิตจำหน่ายอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทศวรรษที่ 1930 ส่วนนาฬิกาพกเรือนแรกของ JUNGHANS นั้นถูกผลิตขึ้นในปี 1886 หลังจากที่ใช้เวลาในการพัฒนาถึง 3 ปีด้วยกัน แต่นาฬิกาพกที่สร้างชื่อเสียงให้กับ JUNGHANS เป็นอย่างมากนั้นออกจำหน่ายในปี 1910 โดยเป็นนาฬิกาพกที่มีการใช้แร่เรเดียมแต้มลงบนหลักชั่วโมงและเข็มเพื่อให้เรืองแสงในที่มืด เดินด้วยเครื่อง Calibre J9 ต่อด้วยนาฬิกาพกแบบปลุกได้ในปี 1911 ซึ่งใช้เครื่อง Calibre J10 ด้วยการผลิตนาฬิกาพกนี้เองที่ทำให้ JUNGHANS ขยายกำลังการผลิตไปถึง 4.2 ล้านเรือนต่อปี จาก 9 โรงงาน โดยพนักงาน 4,575 คน ยิ่งใหญ่ไม่ใช่เล่นเลยใช่มั้ยครับ
นาฬิกาพกจากปี 1910 รุ่นที่มีการแต้มสารเรเดียมเรืองแสงลงบนหลักชั่วโมงและเข็ม
มีเรื่องน่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่อาจข้ามไปได้แม้จะไม่เกี่ยวกับนาฬิกาก็ตาม ด้วยเหตุที่ว่าเขตอุตสาหกรรม Schramberg ที่ JUNGHANS ในสมัยนั้นตั้งอยู่ถือว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะแห่งนวัตกรรมของชาวเยอรมัน จึงเป็นแหล่งนัดพบระหว่างวิศวกรรมและนักประดิษฐ์มากมาย และที่นี่เองเป็นที่ที่ Arthur Junghans จุดประกายแนวคิดการจุดระเบิดด้วยไฟฟ้า และการใช้พวงมาลัยแทนการใช้คันโยกสำหรับรถยนต์ ให้กับ Gottlieb Daimler (รถยนต์ Daimler-Benz), Wilhelm Maybach (รถยนต์ Maybach) และ Count Ferdinand von Zeppelin (ผู้สร้างเรือเหาะ) สุดยอดวิศวกรแห่งยุคนำไปปรับใช้ เมื่อช่วงปลายศตวรรษที่ 19
โรงงาน JUNGHANS ในปี 1903 ขณะที่มีสถานะเป็นผู้ผลิตนาฬิกาคล็อกที่ใหญ่ที่สุดในโลก
อีกบุคคลหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อ JUNGHANS ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ก็คือ Oskar Junghans ซึ่งเป็นบุตรชายคนที่สองของ Arthur เขาผู้นี้เป็นทั้งนักฟิสิกส์ วิศวกร และนักประดิษฐ์นาฬิกา โดยเข้ามาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคเมื่อปี 1903 หลังจากเข้าร่วมงานกับบริษัทได้ 1 ปี และปีนั้นเอง JUNGHANS ก็ได้รับการบันทึกว่าเป็นโรงงานนาฬิกาคล็อกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยกำลังการผลิตนาฬิกาคล็อกมากกว่า 3 ล้านเรือนต่อปี ต่อมาในปี 1907 ก็ได้นำเสนอสารเรืองแสงที่ได้จากสารกัมมันตรังสีอันซึ่งเป็นส่วนผสมของซิงค์ ซัลไฟด์ และเรเดียม เพื่อนำมาใช้แต้มบนเข็มและหลักชั่วโมงของนาฬิกาปลุกให้สามารถอ่านค่าได้ยามค่ำคืน และในปี 1908 ก็ได้ออกนาฬิกาคล็อกสำหรับติดตั้งบนรถยนต์มาอีกชนิดหนึ่งโดยปรับปรุงมาจากนาฬิกาคล็อกสำหรับห้องครัวคอลเลคชั่นใหม่ที่ออกมาในช่วงนั้น
(ซ้าย) นาฬิกาปลุกเป็นสินค้ายอดฮิตของ JUNGHANS ในสมัยก่อน เรือนนี้มีชื่อว่า Baby เป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างสูง
(ขวา) นาฬิกาแบบเพนดูลัมของ JUNGHANS จากปี 1939
แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 พนักงานกว่าครึ่งก็ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ส่วนที่เหลือก็ยังทำงานอยู่แต่เปลี่ยนจากการทำนาฬิกามาเป็นการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อย่าง ชนวนระเบิด กระสุนปืนใหญ่ แม็กกาซีนของปืนไรเฟิล และกล่องกระสุนเพื่อสนับสนุนกองทัพแทน ทั้งยังได้ผลิตนาฬิกาพกสำหรับทหารซึ่งแต้มสารเรืองแสงจำนวนมากไว้บนเข็มกับหลักชั่วโมงให้เหล่าทหารมองเห็นอย่างชัดเจนในสภาพแสงน้อยด้วย Arthur จากไปในปี 1920 ด้วยอาการเจ็บป่วยจากการละเลยความใส่ใจในสุขภาพของตนเอง Erwin บุตรชายคนโตและ Oskar บุตรชายคนที่สอง ก็เป็นผู้ร่วมกันทำหน้าที่นำพา JUNGHANS สู่อนาคตต่อไป
ชนวนระเบิด ผลิตภัณฑ์สำคัญอีกประเภทหนึ่งของ JUNGHANS นับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา (ในภาพเป็นชนวนระเบิดที่ผลิตในช่วงทศวรรษที่ 1930)
นาฬิกาข้อมือแบบแรกๆ ของ JUNGHANS ในปี 1927 ใช้เครื่อง Calibre J53
ปี 1924 JUNGHANS เปิดตัวนาฬิกาจับเวลาแบบพกพาขนาดเล็กเครื่องแรกของโลกและก็เป็นปีที่ Oskar ได้รับดีกรีด็อกเตอร์กิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเทคนิคในสตุ้ทการ์ท สาขาวิศวกรรมและฟิสิกส์ด้วย และในปี 1925 ด้วยสถิติการผลิตนาฬิกาพกถึง 2,000 เรือนต่อวันทำให้นาฬิกาพกกลายเป็นหนึ่งในสินค้าหลักของ JUNGHANS ในขณะที่โรงงานอื่นยังคงต้องพึ่งยอดขายจากนาฬิกาปลุกเป็นหลัก Oskar เสียชีวิตลงในปี 1927 ขณะกำลังเดินทางไปมิลานเพื่อติดต่อธุรกิจ ซึ่งก็เป็นปีเดียวกับที่ JUNGHANS เปิดตัวนาฬิกาข้อมือแบบแรกของตน นาฬิกาข้อมือแบบแรกนี้ถูกผลิตขึ้นในจำนวนจำกัดเพียง 500 เรือน เดินด้วยเครื่อง Calibre J53 ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง JUNGHANS ก็สามารถย่อส่วนเครื่องอินเฮ้าส์ของตนเองได้สำเร็จและสามารถนำไปใส่ไว้ในนาฬิกาข้อมือเพื่อนำออกขายได้ในปี 1930 ซึ่งถือเป็นนาฬิกาข้อมือเครื่องอินเฮ้าส์แบบแรกของตน เครื่องไขลาน 15 จิวเวลนี้ถูกให้ชื่อว่า Calibre J59 และก็มีขนาดสำหรับผู้หญิงที่เรือนเล็กกว่าออกมาด้วยโดยจะใช้เครื่องที่ย่อขนาดให้เล็กลงมาอีกซึ่งใช้ชื่อว่า Calibre J58 แต่ JUNGHANS ก็ยังเป็นที่รู้จักและนิยมอยู่ในประเทศของตนเท่านั้นไม่ได้มีการส่งออกไปขายยังต่างประเทศอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมากนัก ขณะที่นาฬิกาสวิสได้มีการส่งออกนาฬิกาทั้งนาฬิกาข้อมือและนาฬิกาพกไปขายยังประเทศต่างๆ อย่างเป็นล่ำเป็นสันแล้ว
(ซ้าย) เครื่องไขลาน J59 ซึ่งเป็นเครื่องอินเฮ้าส์แบบแรกของ JUNGHANS เริ่มผลิตออกจำหน่ายในปี 1930
(ขวา) Calibre J86 เครื่องนาฬิกาทรงตอนโนเครื่องแรกของ JUNGHANS เปิดตัวในปี 1931 และนำมาใช้ในนาฬิกาทรงตอนโนที่ออกจำหน่ายในปี 1937
ช่วงปี 1928-1930 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ ยอดขายนาฬิกาคล็อกในเยอรมันเองก็หดหายไปถึง 3 เท่าตัว ขณะที่ยอดส่งออกก็หายไปครึ่งหนึ่ง แต่ JUNGHANS ก็ยังแข็งแกร่งอย่างเพียงพอที่จะเข้าครอบครองบริษัทนาฬิกาอื่นๆ อีก 3 แห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นโรงงานผลิตเครื่องนาฬิกาคุณภาพสูงซึ่งมีรากฐานจากเครื่องฝรั่งเศสด้วย และผู้จัดการโรงงานของที่นี่ Anton Ziegler ก็ได้เข้าร่วมงานกับ JUNGHANS ซึ่งเขาคนนี้ล่ะที่จะมาริเริ่มดีไซน์ใหม่ๆ ให้กับนาฬิกา JUNGHANS โดยเข้ามาเป็นดีไซเนอร์และก็เป็นผู้ออกแบบนาฬิกาสวยๆ รุ่นขายดีหลายรุ่นในเวลาต่อมา เช่น รุ่น Meister เป็นต้น จนกระทั่งเกษียณอายุไปในปี 1966 ต่อมาในปี 1931 JUNGHANS ก็ได้นำเครื่อง Calibre J80 เข้ามาประจำการแทน J59 และก็เป็นเครื่องที่ถูกใช้ในนาฬิกา Meister รุ่นแรกด้วย
นาฬิกาที่ใช้เครื่อง J80 เวอร์ชั่นที่สองซึ่งมาพร้อมกับเข็มวินาทีกลาง ออกจำหน่ายในปี 1936
Oskar Junghans Helmut Junghans
หลังจาก Oskar เสียชีวิตลง บุคคลสำคัญอีกคนที่เข้ามามีบทบาทใน JUNGHANS ในด้านเทคนิคก็คือ น้องชายของเขา Helmut ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคและหัวหน้าฝ่ายผลิต เขาให้ความสนใจกับการพัฒนานาฬิกาคล็อกไฟฟ้าและการก่อตั้งสถาบันวิจัยสำหรับอุตสาหกรรมนาฬิกาซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังเริ่มเข้ามาในวงการนาฬิกา และในช่วงทศวรรษที่ 1930 นั้นเอง JUNGHANS ก็เริ่มผลิตนาฬิกาคล็อกระบบอิเล็คโทร-เม็คคานิคัลออกมาจำหน่ายแต่ก็มีจำนวนไม่มากนัก จากนั้นก็เริ่มเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งทางโรงงานก็ได้รับคำสั่งให้ผลิตชนวนระเบิดให้กับกองทัพนาซีรวมถึงนาฬิกาข้อมือจำนวนมากสำหรับการทหารเช่นเดียวกับโรงงานนาฬิกาต่างๆ ในช่วงนั้น นอกจากนี้ JUNGHANS ยังผลิตนาฬิกาและเครื่องจับเวลาสำหรับเรือและอากาศยานอย่างเครื่อง Ju 52 ด้วย น่าแปลกใจที่โรงงานไม่ได้ถูกทิ้งระเบิดทำลายจากกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร และในปี 1942 Erwin ในวัย 66 ก็เกษียณตัวเองออกจากกรรมการบริษัทและให้ลูกชายที่ชื่อ Arthur เข้ามาเป็นกรรมการแทน 2 ปีถัดมา Erwin ก็เสียชีวิตลงซึ่งเป็นปีเดียวกับที่บริษัท JUNGHANS มีขนาดใหญ่ที่สุดด้วยจำนวนพนักงานถึง 10,000 คน จากผลพวงแห่งออเดอร์จากสงคราม แน่นอนว่าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงเพราะผู้ชายไปเป็นทหารเสียเกือบหมด
นาฬิกาข้อมือโครโนกราฟแบบแรกๆ ของ JUNGHANS ผลิตในช่วงราวปี 1950 ใช้เครื่อง Calibre J88
นาฬิกาโครโนกราฟเครื่อง Calibre J88 ที่ผลิตให้กับกองทัพเยอรมันใช้ในปี 1955
ในปี 1945 หลังสิ้นสงคราม JUNGHANS ถูกขึ้นบัญชีว่าเป็นซัพพลายเออร์รายสำคัญทางการทหาร ดังนั้น JUNGHANS จึงถูกกองทหารฝรั่งเศสเข้ามาควบคุม โดยบางส่วนก็ถูกรื้อ บางส่วนก็ถูกยึด พวกบริษัทลูกต่างๆ ก็ต้องปิดไปโดยปริยาย ถึงกระนั้นก็ตาม JUNGHANS ก็ยังคงเดินหน้าเปิดตัวนาฬิกาที่ใช้เครื่องโครโนกราฟอินเฮ้าส์ 19 จิวเวล ที่ใช้แฮร์สปริงเบรเกต์ Calbre J88 ซึ่งเป็นเครื่องรุ่นสำคัญของตนได้สำเร็จในปี 1949 ซึ่งในปีเดียวกันนั้นเองก็ยังได้รับสิทธิบัตรสำหรับเครื่องนาฬิกาข้อมือ 20 จิวเวลที่ตั้งปลุกได้ Calibre J89 โดยเครื่องนี้ถูกนำมาใช้กับนาฬิการุ่น Minivox ที่เริ่มออกจำหน่ายในปี 1951 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เริ่มผลิตนาฬิกาเครื่องไขลานอินเฮ้าส์ J82 ที่มีความเที่ยงตรงระดับโครโนมิเตอร์ และในปี 1955 ก็ออกนาฬิกาโครโนกราฟที่ใช้เครื่อง J88 มาให้ทหารแห่งกองทัพเยอรมันตะวันตกใช้กัน 2 รุ่นซึ่งมีจำหน่ายให้คนทั่วไปด้วย โดยใช้ชื่อว่า Bw-Type 110 กับ Bw-Type 111 แต่ภาวะฝืดเคืองหลังสงครามก็ทำให้ JUNGHANS ต้องขายหุ้นหลักให้กับกลุ่มทุนภายนอกในที่สุด โดยมี Diehl Group ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจโลหะ และผลิตวงจรกับเครื่องจักรต่างๆ สำหรับเครื่องบินและยานอวกาศเข้ามาถือหุ้นในปี 1956 โดยมี Karl Diehl เข้ามาเป็นผู้บริหาร โดยเขาได้แยกฝ่ายผลิตอุปกรณ์ทางการทหารออกจากฝ่ายผลิตนาฬิกาอย่างเด็ดขาด
Minivox นาฬิกาข้อมือแบบปลุกได้ ใช้เครื่อง Calibre J89 วางจำหน่ายในช่วงปี 1951 ถึง 1958
นาฬิกาข้อมือจากปี 1951 ที่ใช้ความเที่ยงตรงสูงระดับโครโนมิเตอร์ Calibre J82
นาฬิกาเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติ Calbre J80/12 ที่มาพร้อมมาตรแสดงกำลังสำรอง ออกจำหน่ายในปี 1952
Karl Diehl ประธานบริหารของ Diehl Group เข้าถือครองหุ้นหลักของ JUNGHANS ในปี 1956 โดย Karl ได้ขึ้นเป็นประธานของ JUNGHANS ด้วย
Karl กำหนดทิศทางให้ JUNGHANS เดินหน้าขยายการผลิตนาฬิกาข้อมือโครโนมิเตอร์อย่างมุ่งมั่นจนกลายเป็นผู้ผลิตนาฬิกาโครโนมิเตอร์อันดับสามของโลก ด้วยยอดจำหน่ายถึง 10,000 เรือนในปี 1956 นั้นเอง โดยมีอันดับที่ 1 และ 2 คือ Rolex และ Omega แห่งสวิตเซอร์แลนด์ และในปี 1957 ก็ได้เปิดตัวเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติของตนเอง 2 แบบ คือ Calibre J83 แบบ 3 เข็ม และ Calibre J83/1 ที่มาพร้อมฟังก์ชั่นแสดงวันที่ โดยได้เดินสายพานการผลิตในอีกปีถัดมา ณ โรงงานอันทันสมัยที่สร้างขึ้นใหม่
นาฬิกาเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติความเที่ยงตรงระดับโครโนมิเตอร์แบบแรกของแบรนด์ซึ่งใช้เครื่อง Calibre J83 ที่เริ่มผลิตในปี 1957 เป็นนาฬิกา JUNGHANS ที่นักสะสมนาฬิกานิยมกันมากที่สุด
ในช่วงเดียวกันนั้นเองก็ได้มอบหมายให้สถาปนิกชาวสวิสซึ่งเป็นทั้งประติมากร จิตรกร และนักออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่ชื่อ Max Bill ทำการออกแบบหน้าปัดนาฬิกาสำหรับนาฬิกาแขวนผนังที่ใช้ในครัวรุ่นใหม่ในคอนเซ็ปต์เรียบง่ายแต่ใช้งานสะดวกในชีวิตประจำวันตามวิถีปรัชญาแบบ Bauhaus จนได้หน้าปัดนาฬิกาที่สะอาดตาอ่านค่าง่ายและมีความสมดุลย์ในทุกมุมมอง ด้วยเงินทุนมหาศาลและความรู้ความสามารถของทุกฝ่ายทำให้ JUNGHANS ซึ่งมีอายุครบ 100 ปีในปี 1961 มีพนักงานถึง 6,000 คน และเครื่องจักรอีก 10,000 เครื่องอยู่ในโรงงานที่ต้องเรียกว่าเป็นเมืองโรงงานเพราะมีถึง 104 อาคารด้วยกัน โดยมีสถานะเป็นโรงงานผลิตนาฬิกาที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ผลิตนาฬิกาทั้งนาฬิกาข้อมือ นาฬิกาปลุก และนาฬิกาแขวนสำหรับห้องครัวและห้องนั่งเล่น ส่งออกไปจำหน่ายยังกว่า 100 ประเทศทั่วโลก อีกทั้งยังมีสถานะเป็นผู้ผลิตอิสระที่โดดเด่นเพราะแม้แต่ชิ้นส่วนต่างๆ อย่างจิวเวลและเมนสปริงก็ยังถูกผลิตขึ้นโดยบริษัทลูกของตนเอง
(ซ้าย) นาฬิกา JUNGHANS แบบแรกที่ออกแบบโดย Max Bill เป็นนาฬิกาสำหรับห้องครัวที่มาพร้อมฟังก์ชั่นตั้งเวลา ออกจำหน่ายในปี 1956
(ขวา) อีกแบบของนาฬิกาสำหรับห้องครัวที่ออกแบบโดย Max Bill ที่ออกจำหน่ายในปี 1956
ภาพถ่ายของ Max Bill ในปี 1967
ปีสำคัญอีกปีที่ต้องจารึกเอาไว้ก็คือ ค.ศ.1961 เพราะเป็นปีที่ Max Bill นาฬิกาข้อมือรุ่นอมตะที่ออกแบบโดย Max Bill ถือกำเนิดขึ้นมา ซึ่งก็ต้องบอกตามความจริงว่าในตอนนั้นก็ขายไม่ง่ายนักเพราะดีไซน์ลักษณะนี้ถือว่าสมัยใหม่เกินไปสำหรับผู้คนยุคนั้น จึงกลายเป็นนาฬิกาเฉพาะกลุ่มไปซึ่งก็กลายเป็นข้อดีที่ส่งเสริมให้นาฬิการุ่นนี้มีความขลังและความอมตะมาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยความอมตะแห่งดีไซน์นี้เอง นาฬิการุ่นนี้จึงถูกนำกลับมาผลิตและจำหน่ายมาจนถึงทุกวันนี้ด้วยรูปลักษณ์ที่แทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงความยอดเยี่ยมที่ Max Bill ได้ออกแบบเอาไว้เลย จนถือเป็นนาฬิกาไลน์สำคัญของแบรนด์และกลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของ JUNGHANS ไปแล้ว
ภาพสเก็ตช์นาฬิกาข้อมือโดย Max Bill
นาฬิกาความเที่ยงตรงสูงระดับโครโนมิเตอร์จากช่วงปี 1961 ถึง 1967 ใช้เครื่อง Calibre J85 ซึ่งเป็นเครื่องโครโนมิเตอร์รุ่นสุดท้ายที่ JUNGHANS ผลิตขึ้น
ในช่วงต้นทศวรรษที่ 60 JUNGHANS ได้สร้างศูนย์การผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบนาฬิกาอันทันสมัยขึ้นมา และในปี 1963 ก็ได้ส่งเครื่องอินเฮ้าส์ของตนเองไปให้กับ ETA ผู้ผลิตเครื่องนาฬิการายใหญ่ของสวิส เพื่อดำเนินการผลิตแบบจำนวนมาก จากนั้นก็ได้ออกนาฬิกาข้อมือรูปทรงใหม่ๆ มาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องโดยบุคลากรรุ่นใหม่ๆ มากฝีมือที่เข้ามาร่วมงาน ถัดมาอีกปี Helmut Junghans ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของ JUNGHANS ก็ได้เสียชีวิตลงในวัย 73 ปี เมื่อสิ้นจาก Helmut แล้วก็ไม่เหลือบุคคลจากตระกูล Junghans ร่วมงานอยู่ในบริษัทอีกต่อไป
ความยิ่งใหญ่และโรงงานของ JUNGHANS ในปี 1963
(ซ้าย) นาฬิการุ่น Meister จากยุคทศวรรษที่ 1950
(ขวา) นาฬิกา Meister คอลเลคชั่นปัจจุบัน (ในภาพเป็นรุ่นเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติโครโนมิเตอร์)
นาฬิกาคอลเลคชั่น Max Bill แบบ 3 เข็มในปัจจุบัน
มาติดตามภาคต่อแห่งประวัติศาสตร์ของ JUNGHANS ในบทความตอนต่อไปนะครับ ยังมีอะไรน่าสนใจอีกเยอะเลยทีเดียวสำหรับแบรนด์นาฬิกาจากเยอรมันแบรนด์นี้ โดยตอนต่อไปเราจะมาว่ากันถึงเรื่องราวการนำพา JUNGHANS เดินหน้าเข้าสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ภายใต้การบริหารของ Diehl Group ไล่เรียงจนกลายมาเป็น JUNGHANS ในปัจจุบันครับ
By: Viracharn T.