ช่วงเวลากว่า 200 ปีของประวัติศาสตร์อันยาวนานของ LONGINES, Part III
ในปี 1963 LONGINES ร่วมเป็นสักขีพยานในการทำลายสถิติความเร็วทางบก ด้วยอุปกรณ์จับเวลา Chronocinégines ที่ผลิตขึ้นในปี 1954 ซึ่งในครั้งนั้น Danald Campbell พร้อมรถ Bluebird II วิ่งทะยานตามทะเลสาปแอร์ด้วยความเร็วสูงถึง 648.565 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ปี 1965 จากงานด้านวิจัยทางอีเล็คโทรนิคส์ทำให้ LONGINES สามารถพัฒนากลไกควอท์ซคาลิเบอร์ 800 ได้สำเร็จ และยังสามารถชนะรางวัลด้านความเที่ยงตรง ในการทดสอบที่หอสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ได้อย่างสวยงาม ซึ่งส่งผลให้มีการพัฒนากลไกด้านความเที่ยงในเวลาต่อมาอย่างต่อเนื่อง
ในปี 1967 LONGINES เปิดตัวกลไกอัตโนมัติรุ่นใหม่คาลิเบอร์ L430 เพื่อเป็นทางเลือกนอกเหนือจากกลไกอีเล็คทรอนิคส์ และกลไกควอท์ซที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น โดยมีความเที่ยงตรงสูงด้วยความถี่ 36,000 รอบต่อชั่วโมง กับนาฬิกาในชื่อรุ่น Ultra-Chron
ปี 1969 โปรเจ็คท์ Hourglass ซึ่งเป็นโครงการลับสุดยอดของ LONGINES ซึ่งสร้างขึ้นด้วยกลไกควอท์ซ ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนสามารถนำออกสู่ตลาดได้ กับกลไกควอท์ซคาลิเบอร์ L6512 หรือที่เรียกว่า Ultra-Quartz ซึ่งเป็นกลไกควอท์ซแบบไซเบอร์เนติครุ่นแรกในนาฬิกาข้อมือจาก LONGINES
ในปี 1972 จากความร่วมมือระหว่าง LONGINES, EBAUCHE SA และ TEXAS INSTRUMENTS INCORPORATED จึงทำให้เกิดนาฬิกา LONGINES LCD นาฬิกาแบบดิจิทัลเรือนแรกที่ LONGINES สร้างขึ้นและได้รับรางวัล IR100 จาก Annaul Industrial Research Conference and Awards
ในปีเดียวกัน LONGINES จับมือกับศิลปิน Serge Manzon รังสรรค์นาฬิกาที่ฉีกแนวทางเดิมในการออกแบบ โดยนำรูปลักษณ์ของหัวเข็มขัดมาประยุกต์เข้ากับเรือนเวลา ผลลัพท์ที่ได้คือเครื่องบอกเวลาที่ทั้งนุ่มนวล เรียบง่าย และสามารถปรับให้กระชับเข้ากับข้อมือได้เป็นอย่างดี
ปี 1975 LONGINES ชนะรางวัล Golden Rose of Baden-Baden จากนาฬิการุ่น Cleopatra ที่ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากกำไลทาสจากโลกตะวันออก ซึ่งทำให้ LONGINES ได้รับชื่อเสียงในฐานะของนาฬิกาที่มีดีไซน์อันโดดเด่นในขณะนั้น
ในปี 1977 LONGINES พัฒนากลไกอัตโนมัติคาลิเบอร์ L990 ขึ้น โดยมีความโดดเด่นที่กระปุกลานทั้งสองอยู่ในระนาบเดียวกัน ทำให้กลไกมีความหนาเพียง 2.95 มิลลิเมตร ซึ่งมีความบางที่สุดในขณะนั้น ในขณะที่แบรนด์ต่างๆ พากันใช้กลไกควอท์ซที่สามารถผลิตให้มีความบางได้ง่ายกว่า
ปี 1979 LONGINES เผยโฉมนาฬิกากลไกควอท์ซที่มีความหนาเพียง 1.98 มิลลิเมตร ซึ่งนับเป็นนาฬิกาเรือนแรกของโลกที่มีความหนาน้อยกว่า 2 มิลลิเมตร จากเทคโนโลยีที่ LONGINES ศึกษาและพัฒนามาอย่างยาวนาน ภายใต้ชื่อรุ่นว่า Feuille d’Or หรือ Gold Leaf
ในปี 1982 LONGINES เปิดตัวนาฬิกาคอลเลคชั่น Agassiz ซึ่งมีตัวเรือนที่ผลิตจากเยลโลว์โกลด์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของความคลาสสิคจาก LONGINES ที่นำพาไปสู่การพัฒนาจนกลายเป็นคอลเลคชั่น La Grande Classique ที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วและยาวนานจนถึงปัจจุบัน
ในปีเดียวกัน LONGINES ลงนามในสัญญาพันธมิตรทางเทคนิคกับทีมแข่งขันรถยนต์ฟอร์มูล่าวันของ FERRARI และตามด้วยทีม RENAULT เพื่อรับหน้าที่ในการเป็นผู้จับเวลาในการแข่งขัน อย่างเป็นทางการของทั้งสองทีมเป็นเวลา 10 ปี
ปี 1983 LONGINES เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ SOCIÉTÉ SUISSE DE MICROÉLECTRONIQUE ET D’HORLOGERIE หรือ SMH จนกลายมาเป็น SWATCHGROUP ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเครือแบรนด์นาฬิการะดับโลกที่ก่อตั้งโดย Nicolas G. Hayek ผู้ล่วงลับ
ในปี 1984 LONGINES เผยโฉมกลไกคาลิเบอร์ 276 VHP (Very High Precision) กลไกควอท์ซที่มีความเที่ยงตรงสูง ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่สามารถ ต้านทานปัญหาเรื่องอุณหภูมิในชุดกลไก เพื่อให้เกิดความเที่ยงตรงสูงสุด โดยใช้กับนาฬิกาในคอลเลคชั่น Conquest เป็นรุ่นแรก
ปี 1985 LONGINES ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จับเวลา อย่างเป็นทางการในการแข่งขันยิมนาสติกสากล รวมไปถึงยิมนาสติกลีลาทั้งหมด ที่สหพันธ์ยิมนาสติกนานาชาติ (IFG) เป็นผู้จัดขึ้น และทำให้ LONGINES เข้าสู่การเป็นผู้จับเวลาในการแข่งขันกีฬาประเภทอื่นๆ ต่อมา