DAYTONA LEGEND: ตำนานแห่งเดย์โทน่า
แฟนๆ โรเล็กซ์ และผู้ที่สนใจเรื่องนาฬิกาคงจะทราบดีอยู่แล้วว่า ปี 2013 นี้ เป็นวาระครบรอบ 50 ปีของนาฬิกาโครโนกราฟที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นนาฬิกาแนวสปอร์ตซึ่งเป็นที่นิยมที่สุดของโลกรุ่นหนึ่ง เชื่อว่าทุกท่านคงได้เห็นนาฬิการุ่นนี้ในเวอร์ชั่นตัวเรือนแพลตินั่มที่ทำออกมาในปีสำคัญนี้กันแล้ว เรามารำลึกถึงเรื่องราวของนาฬิการุ่นนี้กันดีมั้ยครับ แล้วจะได้คำตอบว่าทำไม Daytona ถึงยังคงอยู่ยืนยงคู่ข้อมือของชายทุกวัยและปัจจุบันก็ได้ลามไปถึงผู้หญิงแล้วด้วย
เปิดปูมเดย์โทน่า
Daytona เป็นชื่อของเมืองๆ หนึ่งในฟลอริด้า สหรัฐอเมริกา อันเป็นสถานที่ซึ่งใช้สร้างสถิติโลกทางด้านความเร็วภาคพื้นดินมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1903 โดยในสมัยแรกนั้น เส้นทางที่ใช้วิ่งทำความเร็วสร้างสถิตินั้นก็คือบนชายหาดที่ทอดระยะทางยาวเป็นไมล์ ซึ่งถือว่าเป็นสเน่ห์เฉพาะตัวของดินแดนแห่งนี้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าในปี ค.ศ.1935 นั้น มีรถที่สามารถทำความเร็วได้ถึง 445 กม./ชม. บนชายหาดแห่งนี้เลยทีเดียว
การแข่งขันความเร็วบนหาดเดย์โทน่าในยุคเริ่มต้น
รถที่สร้างสถิติโลกที่ความเร็ว 445 กม./ชม. บนหาดเดย์โทน่า เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1935 นั้นมีชื่อว่า Bluebird ขับโดยเศรษฐีชาวอังกฤษชื่อ Sir Malcolm Campbell และสถิตินี้ก็เป็นสถิติสุดท้ายที่ถูกสร้างขึ้นบนชายหาดเดย์โทน่าแห่งนี้ ทายสิครับว่านาย Campbell คนนี้ใส่นาฬิกาอะไรบนข้อมือขณะที่เขาสร้างสถิติโลก ใช่ครับมีข้อมูลยืนยันว่าท่านเซอร์ท่านนี้ใส่นาฬิกา Rolex Oyster ติดข้อมามาตั้งแต่ปี 1930 แล้ว เพราะประทับใจในความทนทานต่อการกระเทือนและแรงสั่นสะเทือนของนาฬิการุ่นนี้ ดังนั้นจึงถือว่านาฬิกา Rolex เรือนแรกที่ไปเกี่ยวข้องกับวงการมอเตอร์สปอร์ตนั้นมีความเกี่ยวเนื่องอย่างใกล้ชิดกับหาดเดย์โทน่าแห่งนี้
รถ Bluebird ของ Sir Malcolm Campbell ขณะสร้างสถิติความเร็วบนหาดเดย์โทน่าในปี 1935
Sir Malcolm Campbell ผู้สร้างสถิติความเร็วภาคพื้นดินของโลกที่ 445 กม./ชม. บนหาดเดย์โทน่าเมื่อปี 1935
หลังจากนั้น Campbell ก็ย้ายไปสร้างสถิติโลกบนสถานที่ใหม่ในยูท่าห์ซึ่งก็กลายเป็นสถานที่แห่งใหม่ที่ใช้สร้างสถิติโลกทางภาคพื้นดินกันไป แต่ผืนทรายบนชายหาดเดย์โทน่าก็ไม่จางหายจากกลิ่นน้ำมันเพราะในปี 1936 ก็ได้มีการจัดการแข่งขันรถยนต์ขึ้นที่นั่น โดยเป็นส่วนหนึ่งของแทร็กต่อเนื่องกับแทร็กถนนซึ่งวางเส้นทางเป็นรูปไข่วนขนานกับชายหาด ตามรูปแบบสนามแข่งรูปไข่ที่นิยมกันในสมัยนั้น และก็ทำให้ชายหาดเดย์โทน่าแห่งนี้กลายเป็นตำนานแห่งสนามแข่งรถยนต์ที่ไม่เหมือนที่ใดในโลก และ NASCAR การแข่งขันรถสต็อกคาร์รายการยิ่งใหญ่ของอเมริกาก็ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกที่สนามแห่งนี้ในปี 1948 และก็ได้มีการจัดสัปดาห์แห่งความเร็ว (Speed Weeks) ขึ้นบนหาดเดย์โทน่าอีกครั้ง โดยมีการจัดให้ผู้คนมาขับรถทดสอบความเร็วกันบนชายหาดคล้ายกับที่เคยเป็นมาในอดีตแต่เป็นไปในลักษณะของกิจกรรมมากกว่า ไม่ได้เป็นการสร้างสถิติโลกเหมือนเมื่อก่อนแต่อย่างใด และก็กลายเป็นเวทีที่ทั้งเหล่าบริษัทรถยนต์อเมริกันและผู้ผลิตรถสปอร์ตจากยุโรปนิยมใช้เป็นสถานที่ในการโปรโมทรถยนต์ของตน
หาดเดย์โทน่าในปี 1955 เป็นส่วนหนึ่งของสนามแข่งรูปไข่โดยมีการตัดถนนเป็นเส้นทางวนขนานกับชายหาด
การแข่งขันรถสต็อกคาร์ที่หาดเดย์โทน่าเริ่มขึ้นในปี 1948
กิจกรรม Speed Weeks บนหาดเดย์โทน่าเปิดโอกาสให้ผู้คนนำรถส่วนตัวมาขับทดสอบความเร็วกันบนชายหาดด้วย
แน่นอนว่าสนามแข่งบนผืนทรายนั้นไม่ใช่อะไรที่ยั่งยืน ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1950 William France Sr. ผู้ก่อตั้งและประธานของการแข่งขัน NASCAR ก็ได้เริ่มโปรเจ็คต์ในการสร้างสนามแข่งรถอย่างจริงจังขึ้นมาในเมืองเดย์โทน่าให้ชื่อว่าสนาม Daytona International Speedway ซึ่งเปิดใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1959 และได้กลายเป็นสนามแข่งรถยนต์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของอเมริกามาจนถึงปัจจุบัน โดยยังคงใช้เป็นสถานที่แข่งขันรถยนต์รายการดังอย่าง NASCAR และ GRAND-AM
สนามแข่ง Daytona International Speedway ขณะทำการก่อสร้างในปี 1958
สนามแข่ง Daytona International Speedway ในปัจจุบัน
Daytona International Speedway เป็นสนามแข่งรถขนาดใหญ่ที่วางเส้นทางแบบ ไทร-โอวัล โดยวางองศาเอียงของถนนบริเวณโค้งไว้ที่ 31 องศาซึ่งก็ทำให้จุดบนสุดของโค้งนั้นมีระดับความสูงถึง 10 เมตรเลยทีเดียว นอกจากจะทำให้รถสามารถทำความเร็วในการเข้าโค้งได้สูงแล้วยังทำให้ผู้ชมบนสแตนด์สามารถมองเห็นรถแข่งได้แบบชัดๆ อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการสร้างสนามแข่งรถพื้นเรียบอยู่บริเวณพื้นที่ว่างตรงกลางของสนามทรงไทร-โอวัลขนาดใหญ่แห่งนี้เพื่อใช้สำหรับจัดการแข่งขันรถสปอร์ตหรือมอเตอร์ไซค์อีกด้วย ทำให้สนามแข่งแห่งนี้ มี 2 รูปแบบสนามอยู่บนพื้นที่เดียวกัน ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการมอเตอร์สปอร์ต ต่อมาในปี 1962 สนามแข่งขันพื้นเรียบบริเวณกลางสนามแห่งนี้ก็ได้กลายเป็นสถานที่ที่ใช้จัดการแข่งขันรถยนต์รายการสำคัญอีกรายการหนึ่ง นั่นก็คือ Daytona Continental การแข่งขันรถยนต์เอนดูรานซ์ 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการแข่งขันรถยนต์ระดับนานาชาติรายการสำคัญของโลกที่เทียบได้กับรายการการแข่งขันเลอมังส์ 24 ชั่วโมงอันโด่งดังเลยทีเดียว ในช่วงนั้นเองที่ Rolex ได้ก้าวเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนสนาม Daytona International Speedway แห่งนี้ โดยมีฐานะเป็นแบรนด์นาฬิกาประจำสนามอย่างเป็นทางการ และก็เป็นหนึ่งในรางวัลที่ผู้ชนะเลิศการแข่งขัน Daytona Continental จะได้รับ
ปีถัดมา ซึ่งก็คือปี 1963 ทาง Rolex ก็ได้ออกนาฬิกาที่ถูกออกแบบมาสำหรับนักแข่งรถโดยเฉพาะมาสู่ตลาดโดยใช้ชื่อว่า Cosmograph และก็ใช้นาฬิการุ่นนี้เป็นรางวัลสำหรับผู้ชนะการแข่งขันในรายการนี้ หลังจากนั้นไม่นานทาง Rolex จึงตัดสินใจเพิ่มคำว่า Daytona ต่อท้ายเข้าไป เพื่อตอกย้ำความสัมพันธ์ของแบรนด์กับสนามแข่งรถยนต์อันโด่งดังของอเมริกาแห่งนี้ และนี่ก็คือที่มาของ Cosmograph Daytona นาฬิกามอเตอร์สปอร์ตรุ่นอมตะของ Rolex
ภาพจากการแข่งขันเมื่อปี 2012 อันเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของสนาม Daytona International Speedway
30 ปีให้หลัง นับจากการแข่งขัน Daytona Continental ครั้งแรก ในปี 1992 Rolex ก็ได้กลายเป็นผู้สนับสนุนหลักของการแข่งขันรถยนต์ 24 ชั่วโมงที่เดย์โทน่า โดยเปลี่ยนมาใช้ชื่อการแข่งขันรายการนี้ว่า Rolex 24 At Daytona มาจนถึงทุกวันนี้ แน่นอนว่าผู้ชนะการแข่งขันก็ยังคงได้รับนาฬิกา Daytona เป็นส่วนหนึ่งของรางวัลเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต
รางวัลสำหรับผู้ชนะในการแข่งขันเมื่อปี 2012 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 50 ปีของสนาม Daytona International Speedway
สู่เรือนเวลาเรืองนาม
ชื่อเต็มๆ อย่างเป็นทางการของนาฬิการุ่นนี้ในปัจจุบันคือ Oyster Perpetual Cosmograph Daytona เป็นที่รู้จักกันในฐานะนาฬิกาโครโนกราฟเดินด้วยกลไกขึ้นลานอัตโนมัติของ Rolex ที่มีความทนทาน เชื่อถือได้ กันน้ำได้ สวมใส่สบาย ภูมิฐาน มีค่า และอยู่เหนือกาลเวลา ซึ่งมีข้อพิสูจน์จากความสำเร็จและชื่อเสียงที่ร่ำลือต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนาน เป็นตัวอย่างของนาฬิกาที่มีรูปแบบและฟังก์ชั่นที่เข้ากันได้อย่างสมบูรณ์แบบ คุณสมบัติทั้งหมดนี้ถูกอธิบายผ่านอักษรที่ปรากฏอยู่บนหน้าปัดนาฬิกา Daytona ในปัจจุบัน (Oyster = ตัวเรือนกันน้ำของ Rolex, Perpetual = กลไกอัตโนมัติ, Superlative Chronometer Officially Certified = ผ่านการรับรองความเที่ยงตรงสูงระดับโครโนมิเตอร์)
Cosmograph Daytona รุ่นแรก เริ่มผลิตออกจำหน่ายในปี 1963
นาฬิกา Daytona แบบแรก ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1963 ภายใต้ชื่อเริ่มแรกว่า Cosmograph จากนั้นไม่นานก็มีการเติมชื่อ Daytona ต่อท้ายเพิ่มเข้ามาโดยในช่วงแรกจะมีข้อความว่า Daytona สีแดงวางเรียงโค้งอยู่เหนือเคาน์เตอร์ 6 นาฬิกาบนหน้าปัดเฉพาะในนาฬิกา Cosmograph ที่ส่งไปขายในตลาดอเมริกันเท่านั้น เพื่อที่จะสื่อถึงการที่ Rolex เข้าไปเป็นแบรนด์นาฬิกาอย่างเป็นทางการประจำสนามแข่ง Daytona International Speedway ในฟลอริด้าอย่างที่เล่าไปแล้วซึ่งต่อมาก็ได้กลายเป็นชื่อประจำตัวของนาฬิกาและถูกพิมพ์อยู่บนหน้าปัดของ Cosmograph ทุกเรือนในที่สุด นาฬิการุ่นนี้มากับตัวเรือนที่สามารถกันน้ำได้ด้วยฝาหลังและเม็ดมะยมแบบขันเกลียวซึ่งทาง Rolex เรียกว่าตัวเรือนออยสเตอร์ สวมคู่กับสายโลหะตัน ทำงานด้วยกลไกไขลานโครโนกราฟความเที่ยงตรงสูงที่สามารถแสดงค่าต่างๆ ได้อย่างชัดเจนด้วยการใช้พื้นเคาน์เตอร์ย่อยทรงกลม 3 วงที่มีสีแตกต่างจากพื้นหน้าปัดหลักโดยมี 2 แบบ คือ แบบที่ใช้พื้นเคาน์เตอร์สีดำบนพื้นหน้าปัดหลักสีอ่อน กับแบบที่ใช้พื้นเคาน์เตอร์สีอ่อนบนพื้นหน้าปัดหลักสีดำ โดยอีกสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนและมีประโยชน์มากก็คือการมีสเกลทาคีมิเตอร์ซึ่งอ่านค่าได้แบบชัดๆ บนขอบตัวเรือนสำหรับใช้ในการหาค่าความเร็วเฉลี่ยในระยะทางที่กำหนดโดยใช้เข็มวินาทีจับเวลา นาฬิการุ่นนี้เป็นนาฬิกาอีกแบบหนึ่งที่ทาง Rolex ได้ออกแบบมาสำหรับการใช้งานเฉพาะด้านโดยถูกออกแบบมาสำหรับนักขับรถแข่งโดยเฉพาะ เพิ่มเติมจากรุ่น Explorer ที่ออกแบบมาเพื่อนักสำรวจและนักปีนเขา และ Submariner ที่ออกแบบมาเพื่อนักดำน้ำ ซึ่งได้ออกสู่ตลาดมาก่อนหน้า
แต่ Cosmograph หรือ Cosmograph Daytona นี้ก็ไม่ได้เป็นนาฬิกาโครโนกราฟแบบแรกของ Rolex นะครับ เพราะที่จริงแล้ว Rolex เคยออกนาฬิกาโครโนกราฟมาตั้งแต่ ค.ศ. 1933 แล้ว และก็เคยออกนาฬิกาโครโนกราฟในตัวเรือนออยสเตอร์กันน้ำมาแล้วเมื่อปี 1939
ในช่วงแรกๆ ของ Daytona ก็ได้มีการออกหน้าปัดที่มีลักษณะการตกแต่งรายละเอียดที่แตกต่างกันเพิ่มเติมจาก 2 แบบแรกมาด้วย ซึ่งแบบที่โด่งดังมากก็คือแบบที่เรียกว่าหน้าปัด Paul Newman ซึ่งมีที่มาจากการที่นักแสดงชาวอเมริกันชื่อดัง Paul Newman ที่เป็นนักแข่งรถด้วยผู้นี้มักจะใส่นาฬิกา Daytona หน้าปัดแบบนี้อยู่เสมอนั่นเอง ด้วยความเป็นดาราระดับไอคอนของชายหนุ่มทุกวัยของ Paul จึงทำให้หน้าปัด Daytona แบบพื้นสีขาวล้อมรอบด้วยวงขอบหน้าปัดพื้นสีดำสเกลวินาทีแดงพื้นเคาน์เตอร์ย่อยสีดำที่มีปลายของหลักเป็นสี่เหลี่ยมเพื่อให้อ่านค่าได้ชัดยิ่งขึ้นนี้ถูกเรียกขานตามชื่อของเขา
Paul Newman กับ Daytona เรือนที่เขาใส่ประจำ จนกลายเป็นชื่อเรียกขาน Daytona หน้าปัดแบบนี้ว่า Paul Newman
Daytona หน้าปัด Paul Newman
ต่อมาในปี 1965 ก็ได้ออก Daytona เวอร์ชั่นใหม่ที่ใช้ปุ่มกดโครโนกราฟที่เป็นแบบขันเกลียวล็อกได้แทนปุ่มกดแบบธรรมดา ซึ่งสามารถป้องกันการกดปุ่มโดยไม่ตั้งใจและสามารถป้องกันน้ำเข้าได้ดียิ่งขึ้น และบนหน้าปัดก็ได้รับการบรรจุคำว่า Oyster เพิ่มเข้าไปด้วย เพื่อบ่งบอกสถานะการเป็นนาฬิกากันน้ำ และยังมาพร้อมกับแผ่นวงเปล็กซิกลาสสีดำบนขอบตัวเรือนโดยใช้สเกลทาคีมิเตอร์เป็นสีขาวซึ่งทำให้อ่านค่าได้ชัดยิ่งขึ้นด้วย และก็มีรุ่นที่ใช้ตัวเรือนเยลโลว์โกลด์ 18 k ออกมาเป็นทางเลือกด้วย ซึ่งนอกจากจะใช้ตัวเรือนวัสดุมีค่าแล้ว ยังมีข้อความ “Superlative Chronometer Officially Certified” เพิ่มเข้ามาบนหน้าปัด บ่งบอกว่าใช้กลไกที่ได้รับการรับรองความเที่ยงตรงระดับโครโนมิเตอร์ซึ่งจัดว่าไม่ธรรมดาเลยสำหรับกลไกโครโนกราฟในสมัยนั้น
Cosmograph Daytona ปี 1965 มากับขอบหน้าปัดสีดำ และปุ่มกดที่มีระบบขันเกลียวล็อก
หลังจากยืนหยัดการผลิตนาฬิกาจักรกลผ่านช่วงบูมของกลไกควอตซ์ในยุคทศวรรษที่ 70 มาอย่างน่าชื่นชม ทาง Rolex ก็ได้ออกรุ่นใหม่ให้กับ Daytona อีกครั้งในปี 1988 โดยคราวนี้ทาง Rolex เลือกใช้กลไกอัตโนมัติโครโนกราฟที่ถือว่ามีคุณภาพสูงที่สุดในท้องตลาด ซึ่งก็คือกลไกอัตโนมัติโครโนกราฟของ Zenith นั่นเอง Rolex นำกลไกนี้มาโมดิฟายด์ปรับแต่งเพิ่มเติมให้เป็นไปตามที่ Rolex ต้องการ โดยมีการนำชิ้นส่วนต่างๆ ที่ออกแบบขึ้นมาใหม่มาเปลี่ยนแทนชิ้นส่วนกลไกของ Zenith ถึงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ซึ่งก็รวมถึงระบบโมดูลขึ้นลานอัตโนมัติและเพอร์เพทชวลโรเตอร์ของ Rolex เองด้วย กลไกนี้ทาง Rolex เรียกว่า Calibre 4030 โดยทุกเครื่องที่นำมาใช้งานจะต้องผ่านการทดสอบความเที่ยงตรงโครโนมิเตอร์เป็นที่เรียบร้อยแล้วเท่านั้น ดังนั้นบนหน้าปัดของ Daytona เวอร์ชั่นนี้ทุกเรือนจึงมีข้อความ “Superlative Chronometer Officially Certified” บ่งบอกอยู่บนหน้าปัด ร่วมกับข้อความว่า “Oyster Perpetual Cosmograph Daytona” บ่งบอกความเป็นนาฬิกากลไกอัตโนมัติโครโนกราฟในตัวเรือนกันน้ำ
Cosmograph Daytona ปี 1988 ใช้กลไกอัตโนมัติโครโนกราฟความเที่ยงตรงระดับโครโนมิเตอร์ที่นำกลไกของ Zenith มาโมดิฟายด์ โดยเรียกว่า Calibre 4030
ด้านขนาดตัวเรือนก็ถูกขยายจาก 36 มิลลิเมตรในอดีต เป็น 40 มิลลิเมตร เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย โดยออกแบบให้มีบ่าปกป้องเม็ดมะยมเพิ่มขึ้นมาด้วย และก็กลับมาใช้ขอบตัวเรือนแบบที่สลักสเกลทาคีมิเตอร์ลงบนพื้นโลหะอีกครั้ง ขณะที่พื้นที่ของขอบตัวเรือนก็มากขึ้นกว่ารุ่นเดิมด้วย หลักชั่วโมงและเข็มก็ถูกออกแบบใหม่ให้ร่วมสมัยขึ้น ส่วนเคาน์เตอร์ 3 วงนั้นมากับรูปแบบใหม่ที่ออกแบบให้มีแถบวงแหวนล้อมรอบเพื่อเป็นที่อยู่ของตัวเลขกับสเกลต่างๆ ซึ่งก็ดูสวยงามลงตัวเป็นยิ่งนัก และก็กลายเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายโดยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงวงการมอเตอร์สปอร์ตเหมือนเมื่อก่อน อาจด้วยกระแสความนิยมนาฬิกาจักรกลที่กลับมาบูมอีกครั้งในช่วงต้นยุค 90 ร่วมกับความเป็นสังคมแห่งการสื่อสารในโลกสมัยใหม่ที่ทำให้ผู้คนสามารถรับสื่อต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น และแน่นอนว่าชื่อเสียงที่สั่งสมมาของ Rolex และ Daytona เองก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้นาฬิการุ่นนี้กลับมาโด่งดังอีกครั้งแถมยังดังกว่าเดิมอีกต่างหาก
10 กว่าปีต่อมา ในปี ค.ศ. 2000 ทาง Rolex ก็เปิดตัวรุ่นใหม่ของ Daytona อีกครั้ง โดยคราวนี้มีการปรับเปลี่ยนเครื่องมาใช้กลไกอัตโนมัติโครโนกราฟความเที่ยงตรงระดับโครโนมิเตอร์ Calibre 4130 ที่ Rolex ออกแบบและผลิตขึ้นเองแบบอินเฮ้าส์ โดยมีการนำกลไกเวอร์ติคัลคลัตช์มาใช้กับระบบโครโนกราฟแทนกลไกเลเทอรัลคลัตช์แบบเดิม ซึ่งทำให้การกดจับเวลาและการกดหยุดมีความแม่นยำยิ่งขึ้น และยังส่งผลให้เข็มวินาทีจับเวลาเดินเรียบละมุนกว่าเดิมอีกด้วย ชิ้นส่วนของกลไกในฟังก์ชั่นโครโนกราฟของกลไกใหม่นี้จะมีจำนวนน้อยกว่ากลไกเดิมถึง 60 เปอร์เซ็นต์ อันเป็นผลมาจากการคิดค้นในการบูรณาการชิ้นส่วนหลายๆ ชิ้นมารวมเข้าด้วยกันซึ่งก็ส่งผลให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นจึงสามารถใช้เมนสปริงที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้ และก็เป็นที่มาของกำลังสำรองของกลไกเครื่องนี้ซึ่งมากถึง 72 ชั่วโมง มากกว่ากลไกโครโนกราฟทั่วไปในท้องตลาดและมากกว่ากลไกเดิมที่ใช้เกือบ 1 วันเลยทีเดียว (กลไก Calibre 4030 เดิม มีกำลังสำรอง 50 ชั่วโมง) อีกอย่างหนึ่งที่ต้องถือเป็นครั้งแรกของ Rolex แต่เจ้าของคงไม่สามารถมองเห็นได้ก็คือ มีการสลักชื่อรุ่นนาฬิกาอยู่บนโรเตอร์ของกลไกด้วย โดยจะสลักคำว่า Daytona สีแดงเรียงเป็นแนวโค้งในลักษณะเดียวกับข้อความบนหน้าปัด
Cosmograph Daytona รุ่นปี 2000 เปลี่ยนกลไกใหม่เป็นกลไกอินเฮ้าส์ Calibre 4130 แทนกลไก Calibre 4030 เดิม ซึ่งส่งผลให้มีการปรับตำแหน่งของเคาน์เตอร์และรายละเอียดบนหน้าปัดด้วย
กลไก Calibre 4130 ซึ่งเป็นกลไกที่ Rolex พัฒนาและผลิตขึ้นเองแบบอินเฮ้าส์ ที่นำมาใช้แทนกลไกเบสของ Zenith
หากมองจากภายนอกโดยผิวเผินแล้ว รุ่นใหม่นี้อาจดูไม่แตกต่างจากรุ่นก่อนหน้าสักเท่าไหร่ จุดสังเกตุหลักๆ จากภายนอกนั้นจะมีอยู่ 2 จุดด้วยกันครับ จุดแรกคือ ระดับของเคาน์เตอร์ย่อย 2 วงบน จากเดิมที่วางระดับอยู่กลางหน้าปัด ณ ตำแหน่ง 3 กับ 9 นาฬิกาพอดี ในรุ่นใหม่นี้จะเขยิบอยู่สูงขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ส่วนจุดที่สองก็คือ วงเคาน์เตอร์แสดงวินาทีจะย้ายตำแหน่งจากรุ่นเดิมที่เคยอยู่ในตำแหน่ง 9 นาฬิกา ลงมาอยู่ที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกาแทน โดยเป็นการสลับตำแหน่งกันกับเคาน์เตอร์ชั่วโมงจับเวลา ส่วนอีกจุดที่พอจะเห็นได้ชัดก็คือ แท่งหลักชั่วโมงที่จะอ้วนขึ้นและสั้นลงกว่าเดิม
ระยะเวลาจากปี 2000 เป็นต้นมา การเปลี่ยนแปลงของ Daytona จะเป็นไปในลักษณะของการออกเวอร์ชั่นต่างๆ ที่มีความแตกต่างกันในส่วนของสีหน้าปัดและการตกแต่ง โดยแต่ละวัสดุตัวเรือนก็จะมีทางเลือกเป็นของตัวเองโดยเฉพาะ อย่างในตัวเรือนสตีลก็จะใช้หน้าปัดสีขาวหรือหน้าปัดสีดำเป็นหลักเหมือนที่เคยเป็นมา แต่ในตัวเรือนวัสดุอื่นๆ ซึ่งก็มีทั้งแบบทูโทน สตีล-เยลโลว์โกลด์, ตัวเรือนเยลโลว์โกลด์ และตัวเรือนไวท์โกลด์ อย่างที่เคยมีมาแล้วในรุ่นก่อน หรือตัวเรือนเอฟโรสโกลด์ที่ตามออกมาทีหลัง ก็จะมีหน้าปัดสีอื่นๆ ที่ต่างออกไปเพิ่มเติมมาให้เลือก รวมถึงมีหลักชั่วโมงแบบเลขอารบิก แบบเลขโรมัน หรือแบบประดับเพชรให้เลือกด้วย แต่สำหรับในรุ่นตัวเรือนเอฟโรสโกลด์นั้นจะมีแบบขอบตัวเรือนเซราโครมสีดำมาเป็นทางเลือกอีกแบบหนึ่งด้วย อีกทั้งในแบบตัวเรือนทองคำทั้งหลายนี้ยังมีเวอร์ชั่นที่มาพร้อมกับสายหนังให้สวมใส่กันแบบเรียบหรูอีกต่างหาก จากทางเลือกที่หลากหลายเหล่านี้ก็ยิ่งทำให้ Daytona กลายเป็นที่นิยมของคนทุกเพศทุกวัยหลายระดับฐานะไม่ว่าจะรวยมากหรือรวยน้อย รวมไปถึงเหล่าคุณผู้หญิงที่หันมาสวมใส่นาฬิกาที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จนขนาด 40 มิลลิเมตรของตัวเรือน Daytona นี้ไม่ได้ใหญ่เกินไปสำหรับพวกเธออีกต่อไป
Cosmograph Daytona รุ่นปัจจุบันในตัวเรือนไวท์โกลด์เรือนนี้ มากับหน้าปัดสีดำเข็มจับเวลากับเข็มวินาทีสีแดงพร้อมสเกลสีแดง และใช้หลักชั่วโมงเป็นเลขอารบิก
ที่สุดแห่ง Daytona ในตัวเรือนแพลตินั่ม ฉลองวาระครบ 50 ปีของตระกูล
ก่อนที่จะเปิดตัว Daytona Reference 116506 ในตัวเรือนแพลตินั่มให้เห็นกันที่งาน Baselworld 2013 ก็มีการคาดการณ์กันว่าทาง Rolex น่าจะออก Daytona รุ่นใหม่มาเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ในปี 2013 นี้ เพราะก็ไม่ได้ออกรุ่นใหม่จริงๆ ให้กับ Daytona มานานเป็นสิบปีแล้ว แต่ทาง Rolex กลับเลือกที่จะฉลองวาระสำคัญนี้ด้วยการออก Daytona ในตัวเรือนแพลตินั่มมาแทนซึ่งก็ทำให้หลายคนฝันค้างอยู่เหมือนกัน ไม่ใช่ไม่สวยนะครับ แต่ด้วยวัสดุล้ำค่าอย่างแพลตินั่มก็ทำให้ราคาของ Daytona รุ่นนี้พุ่งขึ้นไปในระดับที่คนธรรมดาทั่วไปไม่สามารถซื้อหามาครอบครองได้ ที่จริงแล้วก็ต้องถือว่ามีความพิเศษอย่างอื่นอยู่ด้วยเหมือนกัน เพราะถือเป็นนาฬิกาแบบเฉพาะทาง (ที่ Rolex เรียกว่านาฬิกาออยสเตอร์โปรเฟสชั่นแนล) รุ่นแรกที่ใช้วัสดุตัวเรือนเป็นแพลตินั่ม และก็มาคู่กับหน้าปัดสีไอซ์บลูที่ทาง Rolex สงวนสีนี้ไว้ใช้เฉพาะคู่กับนาฬิกาตัวเรือนแพลตินั่มเท่านั้น ส่วนขอบหน้าปัดของรุ่นนี้จะใช้วัสดุเซราโครมสีน้ำตาลเชสต์นัท โดยขอบวงเคาน์เตอร์ย่อยภายในหน้าปัดก็จะลงแล็กเกอร์เป็นสีน้ำตาลเชสต์นัทเช่นกัน มาคู่กับสายแพลตินั่ม
Cosmograph Daytona ตัวเรือนแพลตินั่ม ที่ออกมาในวาระฉลอง 50 ปีของตระกูล เปิดตัวที่งาน Baselworld 2013 เมื่อเดือนเมษายน
ทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวอันเป็นตำนานตลอดระยะเวลา 50 ปีของ Daytona ที่ทำให้นาฬิการุ่นนี้กลายเป็นดาวค้างฟ้าและเป็นนาฬิกาสปอร์ตที่ขึ้นแท่นความเป็นพระเอกตลอดกาลมาจนถึงทุกวันนี้
By: Viracharn T.
ภาพโดย: Rolex/Stephan Cooper, Getty Images, Rolex/Jean-Daniel Meyer, Corbis, Rolex/Fred Merz, Rolex S.A./Tom O'Neal, Rolex/Cedric Roulet, Kirkland/Corbis, Rolex/Jad Sherif, Rolex/Fred Merz, Rolex/Fadil Berisha