ว่าถึงความรู้สึกที่มีต่อนาฬิกา Laureato ของ Girard-Perregaux ท่ามกลางหมู่สหายร่วมยุคเซเว่นตี้ส์
ที่งานแสดงนาฬิกา SIHH ณ กรุงเจนีวา ประจำปี 2017 ผู้ผลิตนาฬิการายเก่าแก่ Girard-Perregaux (จีราร์ด-แพร์โกซ์) ได้นำรุ่น Laureato (ลอเรียโต) กลับมาเปิดตัวแบบเต็มคอลเลคชั่น หลังจากที่ได้นำร่องเปิดตัวรุ่น ลิมิเต็ด เอดิชั่น สองเวอร์ชั่น ผลิตจำนวนจำกัดเพียงแค่เวอร์ชั่นละ 225 เรือน ออกมาเมื่อปีที่แล้ว ในฐานะรุ่นพิเศษเพื่อเป็นเกียรติแก่วาระครบปีที่ 225 แห่งการถือกำเนิดของผู้ผลิตนาฬิกาแห่งนี้ซึ่งถือเป็นหนึ่งผู้บุกเบิกในการสร้างสรรค์นาฬิกาสปอร์ตหรูเปี่ยมสมรรถนะ ที่เป็นได้ทั้งนาฬิกาสปอร์ตและนาฬิกาเดรสหรูในขณะเดียวกัน
การกลับมาใหม่ของ Laureato (ลอเรียโต) ในปี 2017 นี้ ถือเป็นความพยายามแบบเดียวกับบางแบรนด์อย่างเช่น Piaget (เพียเจต์) ที่กำลังปั้น Polo S ซึ่งเป็นนาฬิกาสปอร์ตหรูรุ่นใหม่ของตระกูล Polo สถานการณ์เช่นนี้ก็ละม้ายคล้ายกับเหตุการณ์ในขณะที่นาฬิกา Laureato ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อช่วงกลางยุคทศวรรษที่ 1970 อันเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่อีกหลายแบรนด์เริ่มส่งนาฬิกาสไตล์สปอร์ตหรูลักษณะเดียวกันออกสู่ตลาด ซึ่งแบรนด์เหล่านั้นล้วนถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกของนาฬิกาประเภทนี้เช่นกัน
Audemars Piguet Royal Oak รุ่นแรก (Ref. 5402) เปิดตัวเมื่อปี 1972
เป็นเรื่องที่ถูกเล่าขานกันอยู่เสมอๆ ว่า นาฬิกาในกลุ่มสปอร์ตหรูเปี่ยมสมรรถนะเช่นนี้ เป็นการริเริ่มสร้างสรรค์โดย Mr. Gérald Genta (เจอรัลด์ เจนต้า) ผู้ออกแบบนาฬิกา Royal Oak (รอยัล โอ้ค) ให้กับแบรนด์ Audemars Piguet (โอเดอมาร์ ปิเกต์) ในปี 1972 ซึ่งก่อนที่ทางแบรนด์จะนำเสนอนาฬิกา Royal Oak สู่สาธารณชนที่งาน บาเซิล วอตช์ แฟร์ นั้น นาฬิกาส่วนใหญ่ในยุคนั้นต่างมีลักษณะตรงข้ามกับที่ Royal Oak เป็น เพราะนาฬิกาเหล่านั้นมักมีขนาดที่เล็กและเพรียวบางในลักษณะนาฬิกาแบบเดรสวอตช์ หรือไม่ก็ถูกออกแบบมาด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเป็นอุปกรณ์สำหรับใช้งานเฉพาะด้านในลักษณะของนาฬิกาแบบทูลวอตช์ ซึ่งจะมีความหนาเทอะทะที่เรียกว่าห่างไกลจากความโก้หรู
Royal Oak ได้ทลายรูปแบบที่ผู้ผลิตนาฬิกาในยุคนั้นยึดถือด้วยนาฬิกาตัวเรือนสตีลดีไซน์สปอร์ตราคาสูงซึ่งไม่ได้มีลักษณะความหรูในแบบเดิมๆ ที่นาฬิกาเดรสวอตช์เป็นกันโดยเปิดตัวครั้งแรกในราคาที่สูงกว่า Rolex Submariner ถึงประมาณ 10 เท่า ซึ่งถ้าคุณพอจะทราบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของวงการนาฬิกา คุณคงทราบอยู่แล้วว่า Mr. Genta ได้ออกแบบนาฬิกาที่มีรูปแบบคล้ายกับ Royal Oak ขึ้นมาอีก 2 แบบ โดยทั้งคู่ต่างเปิดตัวตามออกมาในปี 1976 นั่นก็คือ Ingenieur SL (อินจีเนียร์ เอสแอล) ของแบรนด์ IWC (ไอ ดับเบิ้ลยู ซี) และ Nautilus (นอติลุส) ของแบรนด์ Patek Philippe (ปาเต็ก ฟิลิปป์) ซึ่งหากพิเคราะห์ในรายละเอียดจะเห็นได้ว่า นาฬิกา 2 รุ่นนี้มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันอยู่ทั้งในส่วนของโครงสร้างตัวเรือนและสาย จากนั้นก็มีนาฬิกาประเภทนี้จากแบรนด์อื่นๆ ตามออกมาอีกหลายแบรนด์ อย่างเช่น Ref. 222 (เรเฟอเรนซ์ 222) ของแบรนด์ Vacheron Constantin (วาเชอรอง คองสตองแตง) ที่เปิดตัวในปี 1977 ซึ่งก็เป็นผลงานการออกแบบของ Mr. Genta เช่นกัน โดยเป็นรุ่นที่ถูกวิวัฒนาการมาเป็นรุ่น Overseas (โอเวอร์ซีส์) ในเวลาต่อมา และก็รวมถึงรุ่น Classic (คลาสสิก) ที่แบรนด์ Hublot (อูโบลท์) สร้างสรรค์ขึ้นมาในปี 1980 ด้วย
Ref. 3700/1 รุ่นแรกของ Patek Philippe Nautilus (ภาพจาก Christie’s)
Vacheron Constantin Ref. 222 (ภาพจาก Phillips)
หากถามว่าทำไมแบรนด์นาฬิกาเหล่านี้ถึงพร้อมใจกันพัฒนานาฬิกาประเภทนี้ขึ้นมาในช่วงเวลานั้น สาเหตุก็น่าจะเป็นเพราะว่า ในยุคทศวรรษที่ 1970 นั้น นอกจากจะเป็นช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตการณ์ควอตซ์ขึ้นในวงการนาฬิกาแล้ว ยังเป็นยุคสมัยแห่งการปฏิวัติด้วย ซึ่งก็ทำให้แนวความคิดเกี่ยวกับความโก้หรูของคนในยุคนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยไม่ใช่แค่ในมุมมองของผู้ผลิตนาฬิกาเท่านั้น แต่เป็นในมุมมองของลูกค้าด้วยเช่นกัน ผู้คนในยุคนั้นเริ่มต้องการนาฬิกาแบบอเนกประสงค์ที่ให้ความสวยงามได้กับทุกสไตล์การแต่งตัว และจะต้องเสริมสร้างเกียรติศักดิ์ศรีและความโก้หรูให้กับพวกเขาได้ด้วย แต่การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสจึงต้องค่อยๆ ก้าวผ่านช่วงเวลานั้นอย่างใจเย็น ด้วยเหตุนี้ทำให้กว่าที่ Patek Philippe กับ IWC จะสร้างสรรค์นาฬิกาหรูรูปแบบใหม่ของตนเองออกมาสู่ตลาด ก็ต้องใช้เวลาถึงราว 4 ปี ตามหลังนาฬิกา Royal Oak ที่เปิดตัวออกมาตั้งแต่ปี 1972
แล้ว Laureato ล่ะ มาตอนไหน? บันทึกในหน้าประวัติศาสตร์นาฬิกาปรากฎว่า Laureato นั้น เป็นอีกรุ่นที่ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงแรกแห่งการกำเนิดของนาฬิกาประเภทนี้ โดยดำรงตนเป็นทางเลือกของคนในยุคนั้น ซึ่งหากต้องการนาฬิกาประเภทนี้แล้วไม่เลือก Royal Oak ก็ต้องเป็น Laureato นี่ล่ะ ด้วยความที่ Laureato เปิดตัวออกสู่ตลาดในปี 1975 ซึ่งเป็นปีก่อนหน้าที่ทาง IWC กับ Patek Philippe จะเปิดตัวนาฬิกาประเภทนี้ออกมา ถึงแม้ว่ารูปลักษณ์ของ Laureato กับ Royal Oak จะเป็นไปในแนวทางเดียวกัน แต่ Laureato มิได้เกิดจากการออกแบบของ Mr. Genta หากแต่มันเกิดขึ้นจากการริเริ่มของทาง Girard-Perregaux เอง โดยเป็นผลงานการออกแบบของนักออกแบบท่านหนึ่งที่เมืองมิลาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางแบรนด์ Girard-Perregaux ในปัจจุบันไม่ค่อยจะสื่อสารให้รับรู้กัน เป้าหมายของนักออกแบบท่านนี้ก็คือ การสร้างสรรค์นาฬิกาที่สามารถสวมใส่เข้ากับทุกลักษณะการแต่งกายได้เป็นอย่างดีโดยมีทั้งความสปอร์ตและความงามสง่าอยู่ในขณะเดียวกัน บุคลิกเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากลักษณะดีไซน์ของขอบตัวเรือนและความแนบเนียนต่อเนื่องของตัวเรือนกับสายนาฬิกา
(ซ้าย) Girard-Perregaux Laureato รุ่นแรก จากปี 1975; (ขวา) Laureato Equation จากปี 1984
(ซ้าย) Laureato EVO3 จากปี 2003; (ขวา) Heritage Laureato Ref. 81000 เวอร์ชั่นหน้าปัดสีเงิน ผลิตจำนวนจำกัด 225 เรือน จากปี 2016
Girard-Perregaux Laureato 42 mm Ref. 81010 กลไกอัตโนมัติ หนึ่งในเจเนอเรชั่นล่าสุดของ Laureato ที่เพิ่งเปิดตัวในปี 2017
จุดเด่นสำคัญของ Laureato ก็คือเหลี่ยมมุมทั้งแปดบนขอบตัวเรือน ซึ่งเป็นรูปทรงที่ย้อนแย้งกับหน้าปัดทรงกลม และก็เป็นลักษณะดีไซน์ที่เปรียบเทียบได้กับ Royal Oak โดยตรง หากแต่มีที่มาต่างกัน เพราะ Royal Oak นั้นได้แรงบันดาลใจมาจากรูปลักษณ์ของหมวกดำน้ำ จึงปรากฎชิ้นสกรูว์อย่างชัดเจนดังที่เห็น ส่วน Laureato นั้นได้แรงบันดาลใจมาจากลักษณะของสถาปัตยกรรม จึงมีเหลี่ยมสันที่เกลี้ยงเกลา ความแตกต่างสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องของกลไก เพราะ Laureato นั้นถูกติดตั้งด้วยกลไกควอตซ์เครื่องบาง อันเป็นเทคโนโลยีที่ Girard-Perregaux เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 1960 และเริ่มนำมาใช้กับนาฬิกาของตนตั้งแต่ปี 1971 ซึ่งมีความเลอเลิศกว่ากลไกควอตซ์ขนาดใหญ่โตของผู้ผลิตรายอื่นๆ ในสมัยนั้น และก็ถือว่าเป็นกลไกควอตซ์สวิสเมด แบบแรกด้วย ขณะที่ Royal Oak ยังคงขับเคลื่อนด้วยกลไกแบบจักรกล
เมื่อมองย้อนกลับไปจะเห็นได้ว่า เส้นทางการข้ามผ่านเวลาของนาฬิกาเหล่านี้มีความแตกต่างกันมากอยู่เหมือนกัน อย่าง Royal Oak ก็กลายเป็นคอลเลคชั่นหลักของ Audermars Piguet มาจนถึงปัจจุบัน ส่วน Nautilus ก็ได้ฝังตัวเป็นหนึ่งในคอลเลคชั่นสำคัญของ Patek Philippe แล้วก็มีญาติผู้น้องอย่าง Aquanaut ตามออกมาสมทบในปี 1997 ด้วย แต่สำหรับ Girard-Perregaux นั้น การกลับมาของ Laureato ถือเป็นการยืนยันถึงความยอดเยี่ยมของตนในฐานะผู้ผลิตนาฬิกาชั้นเลิศ ด้วยความที่ทั้งดีไซน์และเทคนิคการสร้างของ Laureato นั้น ถูกกระทำขึ้นในยุคทศวรรษ 1970 ที่วงการนาฬิกาสวิสเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย เรื่องราวของนาฬิการุ่นนี้จึงช่วยเสริมความสมบูรณ์ให้กับตำนานของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี
ความน่าสนใจของนาฬิกาเหล่านี้ก็คือ ทุกรุ่นยังคงรักษารูปแบบดั้งเดิมของตนเอาไว้ได้ ซึ่งก็ทำให้นาฬิกาเหล่านี้เป็นที่จดจำและกลายเป็นหนึ่งในนาฬิกาประเภทสำคัญของวงการด้วยตัวของพวกมันเอง และด้วยความที่ แนวคิด ผู้ออกแบบ และโรงงาน ที่ร่วมกันสร้างนาฬิกาเหล่านี้ ไม่ได้ขลุกอยู่แต่ในโลกของตนเอง จึงมีเรื่องชวนสงสัยเกี่ยวกับลักษณะดีไซน์ของนาฬิกาเหล่านี้ เพราะเหมือนกับว่ามันได้รับแรงบันดาลใจและมีการผสมผสานรูปแบบซึ่งกันและกันมาโดยตลอด และในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกของนาฬิกาประเภทนี้ การกลับมาครั้งใหม่ของ Laureato จึงเป็นสิ่งพิเศษสำหรับวงการโดยแท้จริง
เรียบเรียงโดย: Viracharn T.