OMEGA กับภารกิจที่ต้องใช้เวลา 14 วินาทีเพื่อชี้เป็นชี้ตาย
นักบินอวกาศมากประสบการณ์ James Lovell พร้อมลูกเรือ ได้รับมอบหมายภารกิจให้เดินทางไปยังดวงจันทร์ ซึ่งนับเป็นภารกิจนำมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ครั้งที่สาม และเป็นผลงานความสำเร็จชิ้นถัดไปของโครงการ Apollo โดยนอกจาก Lovell แล้ว ทั้ง Jack Swigert นักบินประจำยานควบคุม และ Fred Haise นักบินประจำยานสำรวจดวงจันทร์ ต่างก็สวมนาฬิกา OMEGA Speedmaster Professional หนึ่งในอุปกรณ์อย่างเป็นทางการของ NASA สำหรับทุกภารกิจอวกาศที่มีมนุษย์ใช้งานนับตั้งแต่ปี 1965 ด้วยเช่นกัน
เครื่องบอกเวลายังคงเป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์สำหรับภารกิจ อย่างที่ James Ragan วิศวกรของ NASA ที่เป็นผู้ทดสอบและรับรองมาตรฐานของนาฬิกา OMEGA Speedmaster กล่าวไว้เมื่อปี 1964 ว่า “นาฬิกาถือเป็นอุปกรณ์สำรองที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะหากนักบินอวกาศไม่สามารถติดต่อสถานีภาคพื้นได้ หรือเครื่องบอกเวลาดิจิตอลมีปัญหา อุปกรณ์ชิ้นเดียวที่จะสามารถฝากชีวิตไว้ได้ ก็คือนาฬิกาที่สวมอยู่บนข้อมือ ซึ่งนับเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญที่ขาดไม่ได้”
วิกฤตของยาน Apollo 13 เริ่มขึ้นในสองวันหลังการปล่อยตัว โดยเกิดจากการที่ถังออกซิเจนระเบิด และแรงระเบิดพังส่วนยานบริการจนสิ้นสภาพ และชีวิตของเหล่านักบินอวกาศ ต้องตกอยู่ในสถานการณ์คอขาดบาดตาย ซึ่งภารกิจไปยังดวงจันทร์ต้องถูกยกเลิก และเรื่องสำคัญที่สุดคือการนำพาลูกเรือกลับเข้าสู่โลกอย่างปลอดภัย
ทาง Houston ซึ่งเป็นหน่วยภาคพื้นของ NASA ต่างก็สับสนวุ่นวาย จนกระทั่งสามารถหาวิธีประยุกต์เบื้องต้นไปก่อน ด้วยการย้ายนักบินอวกาศเข้าไปยังยานสำรวจดวงจันทร์ แต่อย่างไรก็ตามยานสำรวจนี้ไม่ได้ถูกออกแบบ มาเพื่อสามารถรองรับลูกเรือหลายคนได้ในระยะเวลานาน ดังนั้นลูกเรือจึงต้องปิดอุปกรณ์เกือบทุกระบบเพื่อการประหยัดพลังงาน และเมื่อหน้าจอแสดงเวลาดิจิตอลดับลง ก็จะกลายเป็นภาวะที่ทิ้งให้นักบินอวกาศทั้งสาม ลอยเคว้งอยู่กลางอวกาศและอุณหภูมิที่ลดต่ำจนติดลบ
ยาน Apollo 13 ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างมากในอีกตลอดหลายวัน ซึ่งทางด้าน NASA ก็ต้องทำงานชนิดไม่มีพัก เพื่อแก้อุปสรรคที่ทวีความอันตรายมากยิ่งขึ้นในทุกขณะ แต่วิกฤตนี้เองที่ทำให้เรือนเวลา OMEGA Speedmaster ได้ฉายบทบาทด้านความเที่ยงตรงตามที่ได้ถูกรังสรรค์มาอย่างโดดเด่น เนื่องจากยานหลุดออกจากเส้นทางเดิมไปราว 60 ถึง 80 ไมล์ทะเล และหมายความว่ายานจะไม่ได้ตรงเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก แต่จะพุ่งไปสู่ทิศทางอื่นโดยไร้ทางแก้ไข
ลูกเรือจึงต้องตั้งค่าด้วยสองมือของตัวเอง พวกเขาต้องเปิดการทำงานเครื่องยนต์เป็นระยะเวลา 14 วินาที ไม่ขาดไม่เกิน ห้ามผิดพลาด เนื่องจากไม่มีนาฬิกาดิจิตอลให้พึ่งพา Swigert ต้องใช้นาฬิกา OMEGA Speedmaster เพื่อจับเวลาในการจุดเชื้อเพลิง ส่วนทาง Lovell ใช้เส้นขอบฟ้าเป็นเครื่องนำทาง James Lovell ผู้ควบคุมภารกิจให้การภายหลังว่า “พวกเราใช้นาฬิกา OMEGA ที่อยู่บนข้อมือของ Jack ส่วนผมต้องคอยบังคับยาน Jack นับถอยหลังเวลาเปิดการทำงานเครื่องยนต์ เพื่อปรับเส้นทางเพื่อให้เรากลับบ้านได้อย่างสวัสดิภาพ”
การปรับวิถียานผ่านพ้นไปได้ด้วยดี จนท้ายที่สุด วันที่ 17 เมษายน รวมเวลาทั้งสิ้น 142 ชั่วโมงกับอีก 54 นาทีหลังจากปล่อยตัว ยาน Apollo 13 ก็สามารถลงจอดบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ได้อย่างปลอดภัย โดยนาฬิกา OMEGA Speedmaster ได้แสดงบทบาทและทำหน้าที่ตามที่ได้รับการออกแบบมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ
วันที่ 5 ตุลาคมปี 1970 OMEGA ได้รับรางวัล “Silver Snoopy Award” จาก NASA เพื่อแสดงถึงการขอบคุณต่อการมีส่วน ในการนำพามนุษยชาติไปสำรวจพรมแดนอวกาศ จนประสบผลสำเร็จในตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา และการที่ตัวละคร Snoopy ได้รับการคัดเลือกให้เป็นมาสคอตอย่างไม่เป็นทางการของ NASA ก็เพราะอุปนิสัยขี้เล่นที่ช่วยบรรเทาความตึงเครียด เมื่อเจอกับความกดดันได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสื่อถึงความสำเร็จและเป็น “วอชด็อก” ประจำภารกิจอีกด้วย
ในทุกวันนี้เข็มกลัดสูทเงินสเตอร์ลิง ยังคงเป็นเหมือนรางวัลชวนให้ระลึกถึงประวัติศาสตร์ในการสำรวจอวกาศของ OMEGA โดยเฉพาะบทบาทสำคัญในครั้งที่ “ความล้มเหลวกลายเป็นการประสบความสำเร็จ” ของยาน Apollo 13 ในครั้งนั้น
ภาพถ่ายทุกภาพ (ยกเว้นภาพนาฬิกา) เป็นลิขสิทธิ์ของ NASA ที่มา nasaimages.org