Commemorate to Mr. Nicolas George Hayek, Part II
By: Pramote R.
ความเดิมจากบทความครั้งที่แล้ว http://iamwatch.net/2017-11-27-00-43-23/2017-11-30-03-41-31/1724-commemorate-to-mr-nicolas-george-hayek
Mr. Hayek เห็นว่านาฬิกากลไกควอท์ซในช่วงเวลานั้น ถือเป็นคำตอบที่ดีที่สุดของการแก้ปัญหา แต่โปรเจ็คท์นาฬิกา SWATCH ก็ยังมีปัญหาในการนำเสนอกับทางธนาคาร เนื่องจากทางธนาคารยังคงกลัวปัญหาด้านการผลิต และความสำเร็จที่อาจเกิดขึ้นช้ากว่าการคาดการณ์ ซึ่งจะทำให้ปัญหาต่างๆ ที่มีนอกจากจะไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว ยังผนวกกับปัญหาอื่นๆ เพิ่มเข้าไปอีก
ดังนั้นจึงมีแนวคิดต่างๆ เกิดขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดในการผลิตนาฬิกาที่ต่างประเทศ เช่น ที่สิงคโปร์หรือฮ่องกง รวมไปถึงชิ้นส่วนต่างๆ ที่อาจต้องผลิตที่ต่างประเทศเพื่อการลดต้นทุน ซึ่ง Mr. Hayek ปฏิเสธแนวคิดเหล่านั้นทั้งหมด และมุ่งมั่นพร้อมการป่าวประกาศบอกคนในทั้งวงการว่านาฬิกา SWATCH จะต้องผลิตที่สวิตเซอร์แลนด์เท่านั้น
Mr. Hayek เชื่อว่านาฬิกา SWATCH จะต้องผลิตในสวิตเซอร์แลนด์ เพราะหากสวิตเซอร์แลนด์ขาดประสบการณ์และความรู้ในการผลิตสิ่งเหล่านี้ไป อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสก็จะขาดความสามารถในการสร้างความมั่งคั่งในอนาคต และตัดโอกาสในการเติบโตไปตลอดกาล ซึ่งมาถึงปัจจุบันนี้ ผู้คนคงเห็นได้แล้วว่าแนวคิดของ Mr. Hayek นั้นเป็นแนวคิดที่เฉียบขาดและถูกต้องเป็นที่สุด
นอกจากนี้ Mr. Hayek ยังเป็นผู้วางรากฐานของการผลิตนาฬิกากลไกควอท์ซ ในแนวคิดของความเรียบง่าย ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตในด้านแรงงานลดลงเหลือเพียง 10% และเป็นเหตุทำให้นาฬิกา SWATCH สามารถผลิตได้จริง ในประเทศที่มีค่าแรงงานที่สูงที่สุดในโลกอย่างสวิตเซอร์แลนด์ และทำให้มีราคาจำหน่ายที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดนาฬิกาเซกเมนท์เดียวกัน ที่กำลังมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในขณะนั้น
แต่ถึงอย่างนั้น SWATCH ก็ยังเป็นเพียงแค่นาฬิกาที่ผลิตจากพลาสติก ที่ต้องต่อสู้กับนาฬิกาจากญี่ปุ่นที่ผลิตจากสตีลที่ดูสูงค่ากว่าอยู่ดี ดังนั้นอีกแนวคิดหนึ่งของ Mr. Hayek ก็คือรื้อฟื้นภาพลักษณ์ของสวิตเซอร์แลนด์ขึ้นมาใหม่ ด้วยการนำเสนอให้โลกเห็นว่า นอกจากสวิตเซอร์แลนด์จะมีความสามารถในการผลิตนาฬิกาได้ดีที่สุดในโลกแล้ว ยังมีรูปแบบ วัฒนธรรม ประเพณี และแนวคิด ในแบบของตัวเองอีกด้วย
จึงเกิดเป็นเรื่องราวอันหลากหลายในนาฬิกา SWATCH ทั้งบนตัวเรือนลวดลายแปลกใหม่ บนสายในรูปแบบพิเศษต่างๆ ตลอดจนรูปแบบกล่องที่แปลกและแตกต่างจากที่เคยเห็น พร้อมกับราคาที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของภาพลักษณ์เหล่านี้ได้ง่ายๆ ซึ่งแนวคิดนี้อยู่ในบริบทที่ว่า SWATCH ไม่ได้นำเสนอเพียงนาฬิกา แต่นำเสนอรูปแบบวัฒนธรรมที่ผู้คนพึงพอใจไปด้วยพร้อมๆ กัน ซึ่งจะหาได้จาก SWATCH เท่านั้น
นอกจากนี้ Mr. Hayek ยังต้องเข้าช่วยแก้ไขปัญหาในกิจการของ ASUAG และ SSIH ตั้งแต่ปี 1983 จนกระทั่งเป็นผู้ทำให้เกิดการควบรวมกิจการ รวมกันเป็นบริษัทใหม่ในปี 1985 และเปลี่ยนไปใช้ชื่อว่า SMH (Swiss Corporation for Microelectronics and Watchmaking) เมื่อปี 1986 แล้วจึงเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น Swatch Group ในปี 1998 อย่างที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบันนี้
นอกจากนาฬิกา SWATCH ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงแล้ว Mr. Hayek ยังสามารถแก้ไขสถานการณ์ของนาฬิกา OMEGA ได้อีกด้วย ด้วยการจัดทัพนาฬิกา OMEGA ใหม่ทั้งหมด แม้ต้องมีฝ่ายบริหารจำนวนมากที่ต้องออกจากบริษัทและ Mr. Hayek ก็ดูกลายเป็นเหมือนคนใจร้าย ที่ผลักดันให้ผู้คนเหล่านั้นต้องออกไป แม้จะร่วมทำงานมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่ง Mr. Hayek เชื่อว่าปัญหาใหญ่ระดับนี้ก็จะต้องใช้ยาแรงเท่านั้น
นาฬิกา OMEGA ค่อยๆ ลดจำนวนแบบต่างๆ จาก 2,000 เหลือ 1,000 และจนกระทั่งเหลือ 130 แบบในที่สุด นอกจากนี้ยังยกเลิกการผลิตตัวเรือนระดับล่าง อย่างเช่นแบบโกลด์เพลทและแบบอื่นๆ อีกมากออกไป รวมถึงยกเลิกการผลิตนาฬิกา OMEGA จากซัพพลายเออร์ พร้อมกับการค่อยๆ เปลี่ยนภาพลักษณ์ของนาฬิกา OMEGA สู่นาฬิการะดับลักซ์ชัวรี่อย่างเต็มตัว
ในขณะที่ภาพของนาฬิกา OMEGA สำหรับนักบินอวกาศเริ่มกลับมา พร้อมกับการให้ความสำคัญกับนาฬิกา OMEGA สำหรับการดำน้ำแบบพิเศษมากขึ้น รวมทั้งการผลิตกลไกชั้นเลิศอย่างเช่น ETA ที่จะผลิตให้เพียง OMEGA ก็เริ่มมีการปรับปรุงให้เหมาะสม ทั้งด้านการวิจัยและพัฒนา รวมไปถึงแนวคิดการสร้างกลไกแบบพิเศษอื่นๆ ให้กับ OMEGA อย่างหลากหลายอีกด้วย
Mr. Nicolas G. Hayek จากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2010 ที่สำนักงานใหญ่ของ Swatch Group ในเมืองเบียน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมกับตำแหน่งซีอีโอและตำแหน่งบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกลำดับที่ 232 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินส่วนตัวประมาณ 3.9 พันล้าน ยูเอสดอลล่าร์ จากการตัดสินใจลงทุนตั้งบริษัท SMH ด้วยเงินราว 1.1 พันล้าน สวิสฟรังค์ เมื่อปี 1985