Review of MIDO Baroncelli Chronometer Silicon
By Dr. Attawoot Papangkorn
เพราะบางครั้งนาฬิกาหน้าตาแสนธรรมดา ก็อาจมีความพิเศษซ่อนอยู่ภายในจนคาดไม่ถึงเลยก็ได้ ดังนั้นความพิเศษที่ผู้ซื้อส่วนใหญ่ หรือแม้แต่แบรนด์นาฬิกาบางแบรนด์ อาจจะหลงลืมความสำคัญข้อนี้ไปแล้วว่า แท้ที่จริงนาฬิกาถูกผลิตมาเพื่ออะไร และหน้าที่สำคัญที่สุดคืออะไร อย่างเช่นนาฬิกาที่สุดแสนจะธรรมดาแต่ไม่ธรรมดาจาก MIDO ในคอลเลคชั่น Baroncelli Chronometer Silicon ที่จะกล่าวถึงนี้
เพราะความเที่ยงตรงคือหัวใจ MIDO แบรนด์นาฬิกาสวิสที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปี นับตั้งแต่ Georges Schaeren เริ่มก่อตั้งบริษัท Mido G.Schaeren & Co. AG ขึ้นที่เมืองโซโลธูร์น ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ตั้งแต่ปี 1934 ภายใต้แนวคิดของการสร้างสรรค์เรือนเวลา ให้อยู่เหนือกาลเวลาด้วยการออกแบบที่ร่วมสมัย คัดเลือกวัสดุที่มีความทนทาน คงไว้ซึ่งฟังก์ชั่นการใช้งานที่ครบถ้วน และต้องมีความเที่ยงตรงสูง ซึ่ง MIDO Baroncelli Chronometer Silicon ได้รับการรับรองจาก Contrôle Official Suisse des Chronomètres (Official Swiss Chronometer Testing Institute) หรือ COSC ที่เป็นสถาบันการทดสอบความเที่ยงตรงของกลไก ที่แบรนด์นาฬิกาใช้อ้างอิงเพื่อรับรองความเที่ยงตรง โดยเฉพาะแบรนด์พรีเมียมอย่าง ROLEX และ OMEGA ซึ่งในแต่ละปีก็จะมีนาฬิกาจากสวิสจำนวนน้อยมาก ที่จะผ่านการทดสอบอันแสนทรหดเป็นเวลานานถึง 14 วัน ใน 5 สถานที่ และ 3 ระดับอุณหภูมิที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ในการที่จะได้ชื่อว่าเป็นนาฬิกาที่มีความเที่ยงตรงของกลไก ในระดับโครโนมิเตอร์อย่างแท้จริง
MIDO กับสถาปัตยกรรมแห่งเรือนเวลาในคอลเลคชั่น Baroncelli Chronometer Silicon ได้รับแรงบันดาลใจจากอิทธิพลยุคบาโรค สไตล์นีโอคลาสสิค กับแนวทางการออกแบบ ที่มีจุดเริ่มต้นจากความประณีตผนวกการเลือกใช้รูปทรงเลขาคณิตทรงกลม โดยมีตัวเรือนขนาด 40 มิลลิเมตรที่ผลิตจากสตีลขัดเงา และเพรียวบางเข้ากับสายหนังวัวแท้ปั๊มลายสีน้ำตาล กับหน้าปัดสีเทาแอนทราไซต์ ที่มีแพทเทิร์นของลวดลายขัดแต่งอย่างสวยงามมีมิติ พร้อมด้วยการเคลือบพีวีดีสีโรสโกลด์บนหลักชั่วโมงและเข็มชั่วโมง-นาที เพื่อเพิ่มความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น โดยเข็มชั่วโมงและเข็มนาทีจะถูกขัดแต่งในแบบสองด้าน ซึ่งด้านหนึ่งจะเป็นแบบขัดด้านและอีกด้านจะเป็นแบบไดมอนด์คัทที่เน้นความเงางาม ส่วนตำแหน่ง 3 นาฬิกาบนหน้าปัดจะมีช่องแสดงวันที่ กรุด้วยกระจกแซฟไฟร์ที่เคลือบสารกันแสงสะท้อนทั้ง 2 ด้าน
และสำหรับนาฬิกาเรือนนี้ อย่าตัดสินกันที่ภายนอกเท่านั้น เพราะว่ากันตามตรงเลยว่า หากดูกันที่รูปร่างหน้าตาอย่างผิวเผิน MIDO Baroncelli Chronometer Silicon เรือนนี้ก็ไม่ใช่นาฬิกาที่คนส่วนใหญ่ (รวมถึงผม) ที่จะเลือกหยิบขึ้นมาดูจากตู้โชว์เป็นเรือนแรกแน่ๆ แต่ถ้าได้เปิดใจแล้วลองพลิกตัวเรือนมาดู ก็จะได้เห็น สิ่งดีๆ ผ่านทางฝาหลังที่สามารถมองเห็นกลไกคาลิเบอร์ 80 ซึ่งเป็นกลไกระดับท็อปของแบรนด์ ที่มีบาลานซ์สปริงที่ผลิตมาจากซิลิคอน ซึ่งความเจ๋งนี้ถ้าจะเอาที่มาที่ไปอย่างละเอียด อาจต้องใช้เวลาในการอธิบายและสร้างความเข้าใจมากสักหน่อย เลยขอรวบรัดให้เข้าใจง่ายๆ ว่าเป็นชิ้นส่วนหนึ่งที่สำคัญของกลไก ที่ติดตั้งอยู่ในนาฬิการะดับไฮเอนด์ (แพงมาก) อย่างเช่น PATEK PHILIPPE, BREGUET หรือแม้แต่ UlYSSE NARDIN ด้วยคุณสมบัติที่ทนทานต่อสนามแม่เหล็กไฟฟ้า แรงกระแทก และรักษาความเที่ยงตรงเมื่อใช้งานในระยะยาว มากกว่าบาลานซ์สปริงทั่วไป นอกจากนี้กลไกคาลิเบอร์ 80 นี้ยังสามารถสะสมพลังงานลานได้นานในระดับสูงสุดถึง 80 ชั่วโมง พร้อมกับคุณสมบัติการกันน้ำที่ระดับ 30 เมตร ซึ่งคุณงามความดีที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เมื่อเทียบกับนาฬิการาคาหลักหมื่นด้วยกันแล้ว ต่อให้พลิกแผ่นดินทั้งโลกก็หานาฬิกาที่มีคุณสมบัติเจ๋งๆ และมีราคาดีๆ เช่นนี้ไม่เจอแน่นอน
ทุกวันนี้เมื่อคิดที่จะดูเวลาสักครั้ง คนส่วนใหญ่คงจะหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาดูเวลามากกว่าพลิกข้อมือดูนาฬิกา ทั้งจากความสะดวกและความเที่ยงตรง ไม่ต้องคอยไขลาน ตั้งเวลา หรือแม้แต่วันที่ แต่แม้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกเข้ามาทดแทนเครื่องบอกเวลาแบบดั้งเดิมมากมาย แต่นาฬิกาแบบกลไกก็ยังไม่ล้มหายตายจากไปจากโลก หนำซ้ำยังกลับมีแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เป็นระยะด้วย จากเหตุผลที่ว่านาฬิกากลไกชั้นดีจะมีคุณค่าในตัวเองเสมอ ซึ่งใช่ว่าทุกคนจะมีโอกาสได้ครอบครอง นาฬิกาเรือนแสนเรือนล้านที่มีกลไกชั้นยอด เพราะหวังว่าจะเป็นรางวัลให้ตนเองหรือมรดกให้ลูกหลาน ดังนั้นหากลองเปิดใจสักนิด คิดสักหน่อย ว่าซื้อนาฬิกาเพราะคุณสมบัติจริงๆ หาใช่เรื่องชื่อเสียงหรือความหรูหราที่สังคมปรุงแต่งขึ้นมาในตอนนี้ ก็ยังจะพอมีนาฬิกาที่อัดแน่นไปด้วยคุณภาพและมีราคาที่คุ้มค่า ให้ได้ภูมิใจว่าของดีไม่จำเป็นต้องเด่นมากไป อย่างเช่น MIDO Baroncelli Chronometer Silicon เรือนนี้