วินเทจวันละนิด วันนี้เสนอตอน “กำเนิดกลไกเวริลด์ไทม์”
By: Rittidej Mohprasit
ต้องขอบคุณ Mr. Louis Cottier ที่สร้างสรรค์กลไกเวริลด์ไทม์ขึ้นมา จนปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในโมเดลที่เป็นลายเซ็นต์ของ PATEK PHILIPPE แต่จริงๆ เรื่องราวของกลไกเวริลด์ไทม์ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ฟังก์ชันที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้สวมใส่ ให้ทราบและปรับเวลาท้องถิ่นได้ตามต้องการ แต่ผลงานของอัจฉริยะ Cottier ยังช่วยให้มนุษยชาติ ได้จินตนาการความรู้สำนึกด้านการผจญภัย การท่องเที่ยว แถมยังได้สร้างเครื่องบันทึกประวัติศาสตร์โลกไปพร้อมๆ กันอีกด้วย
โฉมหน้าคุณ Louis Cottier และแบบร่างกลไก World Time
Mr. Cottier ออกแบบและสร้างกลไกเวริลด์ไทม์ ขึ้นมาครั้งแรกในปี 1885 เพราะถ้ามองย้อนกลับไปในยุคก่อนหน้านั้น การเดินทางระหว่างประเทศยังถือว่าไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้อย่างแพร่หลาย และมนุษย์ก็ยังไม่มีทั้งเหตุผล รวมถึงเครื่องมือที่จะเดินทางข้ามโลกกันเลย ยังถูกจำกัดด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้การก้าวข้ามเขตเวลาต่างๆ เป็นเรื่องที่ทำได้ยากลำบากพอสมควร แถมจริงๆ ยุคนั้นแนวความคิดเรื่องเวลาของสถานที่ต่างๆ ที่ไม่เท่ากัน ยังเป็นความคิดที่ค่อนข้างล้ำสมัยเกินไปด้วยซ้ำ แต่คอนเซ็ปท์นี้กำลังจะเปลี่ยนไป เพราะอุบัติเหตุที่ทำให้ Mr. Sandford Fleming ผู้อำนวยการด้านวิศวกรรมของการรถไฟแคนาดา ต้องตกรถในปี 1876
Mr. Sandford Fleming ผู้เสนอให้กำหนดเขตเวลา
เรื่องนี้เหมือนจะเป็นเรื่องตลก เพราะ Mr. Fleming ต้องติดแหง็กอยู่ที่สถานีรถไฟ และรถม้าหลายๆ แห่งด้วยเหตุที่ว่าเขาเดินทางไปยังเมืองต่างๆ แล้วลืมตรวจสอบเวลาท้องถิ่นในแต่ละที่ (ซึ่งแต่ละเมืองในยุคนั้น ก็ตั้งเวลาตามใจตัวเอง) ด้วยความที่เวลาแตกต่างกัน ทำให้เขาไปไม่ทันตารางการเดินรถ จนต้องตกทั้งรถเทียมม้า และรถไฟหลายต่อหลายครั้ง ความหงุดหงิดของเขาเป็นเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิดการจัดทำข้อเสนอเรื่องการกำหนดเวลากลาง และเวลาท้องถิ่นของทุกเมืองในโลก แบบมาตรฐาน 24 ชั่วโมง ที่อ้างอิงเวลากลาง ณ เมืองกรีนนิช (Greenwich) ประเทศอังกฤษ ต่อที่ประชุมระหว่างประเทศชั้นนำ มาถึงจุดนี้แล้ว ลองคิดๆ ดูแล้ว ถ้าเกิด Mr. Fleming ไม่ลืมเช็คเวลาท้องถิ่นและไม่ตกรถไฟ กลไกเวริลด์ไทม์ของ Mr. Cottier ก็อาจไม่เกิด หรือเกิดช้ากว่านี้ในรูปแบบอื่นก็เป็นได้
Mr. Fleming ถือเป็นบุคคลสำคัญจนได้รับเกียรติขึ้นไปอยู่ในแสตมป์ประเทศแคนาดา
ด้วยคอนเซ็ปท์เรื่องเขตเวลาอ้างอิงแบบ 24 ชั่วโมง เป็นแรงบันดาลใจที่จุดประกายให้ Mr. Cottier เริ่มคิดที่จะออกแบบพัฒนากลไกนาฬิกาเวริลด์ไทม์ขึ้นมาในปี 1931 ซึ่ง Mr. Cottier เองในตอนนั้น ยังเป็นช่างนาฬิการุ่นใหม่ที่มีฝีไม้ลายมือพอตัว โดยที่ก่อนหน้านี้ ก็เป็นนักเรียนฝึกหัดของ PATEK PHILIPPE อยู่ แถมเมื่อเรียนจบก็ได้ไปทำงานกับ JAEGER-LeCoultre ที่เจนีวา ก่อนที่ต่อมาจะออกมาเปิดร้านนาฬิกาเล็กๆ จนได้คิดค้นกลไกเวริลด์ไทม์ที่นี่นั่นเอง
ความยากของกลไกเวริลด์ไทม์จริงๆ คงไม่ใช่แค่เรื่องกลไกที่ใช้กดเปลี่ยนเขตเวลาได้ 24 ชั่วโมง (ซึ่งนั่นก็ยากพออยู่แล้ว) แต่ยังต้องออกแบบหน้าปัดขนาดเล็ก ให้สามารถแสดงชื่อเมือง และเขตเวลาของเมืองต่างๆ อย่างน้อยให้ได้ 24 เมือง โดยจำเป็นที่จะต้องอ่านได้อย่างง่ายดายด้วย Mr. Cottier แก้ปัญหานี้ในรวดเดียว โดยการสร้างหน้าปัดที่มีเป็นจานสามวงซ้อนกัน และให้สามารถหมุนเป็นอิสระจากกันได้ (แต่วงในสุดจะไม่เคลื่อนที่) แล้วเชื่อมเข็มชั่วโมงไว้กับจานหมุนชุดกลาง ให้สามารถหมุนได้ 12 ชั่วโมง พร้อมบอกเวลาแบบกลางวันกลางคืน (AM/PM) ส่วนจานวงนอกมีชื่อเมือง และเขตเวลาทั้ง 24 ไว้ และออกแบบกลไกให้จานนอกหมุนได้แบบ 24 ชั่วโมงในทิศทวนเข็มนาฬิกา ดังนั้นเมื่อกดปุ่มฟังก์ชั่นเวริลด์ไทม์ เข็มชั่วโมงและจานกลางจะกระโดดไปข้างหน้า (เวลาเร็วขึ้น) 1 ชั่วโมง ในขณะที่จานนอกสุดซึ่งหมุดได้ 24 ชั่วโมง จะกระโดดกลับหลังไป 1 ครั้ง ผลก็คือ ผู้ใช้งานแค่ต้องกดตั้งเวลาท้องถิ่นโดยใช้ปุ่มเวริลด์ไทม์ เพื่อตั้งขอบวงนอกให้เมืองท้องถิ่นที่เราอยู่ ไปตรงกับ 12 นาฬิกา เข็มชั่วโมงก็จะขยับไปอยู่ที่เวลาของเมืองนั้น เพื่อแสดงว่าเป็นเวลากี่โมงแล้ว แถมวงกลางยังจะบอกได้ด้วยอีกว่าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน (AM/PM) ฟังก์ชันทั้งหมดจะแสดงร่วมกันบนหน้าปัดเดียว และโดยการกดปุ่มเพียงปุ่มเดียวเท่านั้น โดยที่ไม่ต้องไปตั้งเวลาผ่านเม็ดมะยมเที่ยบกับนาฬิกาท้องถิ่น ซึ่งนับว่าสะดวกเป็นอย่างยิ่ง
โครงสร้างฝั่งหน้าปัดที่น่าสนใจของกลไกเวริลด์ไทม์ ที่จำหน่ายโดย PATEK PHILIPPE
ความยอดเยี่ยมในการออกแบบกลไกชุดนี้ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการนาฬิกาสวิส ซึ่งแบรนด์ระดับโลกอย่าง VACHERON CONSTANTIN, PATEK PHILIPPE และ ROLEX ต่างก็สนใจขอซื้อกลไกนี้ไปใช้กับนาฬิกาของตัวเอง และทำให้ Mr. Cottier ได้กลายเป็นผู้ผลิตกลไกสำเร็จรูป จัดส่งให้กับแบรนด์เหล่านั้น โดยหลังจากเปิดตัวกลไกเวริลด์ไทม์ได้ไม่นาน ในปี 1832 VACHERON CONSTANTIN ก็เป็นผู้ผลิตนาฬิการายใหญ่รายแรก ที่สั่งซื้อเอากลไกนี้ไปใช้ในนาฬิกา Ref. 3372 ของแบรนด์ (และนำเสนอนาฬิการุ่นนี้อีกสองรุ่นในปี 1936 คือ Ref. 3650 และ 3638)
นาฬิกาพกกลไกเวริลด์ไทม์ของ VACHERON CONSTANTIN ซึ่งถ้าลองสังเกตุดีๆ จะมีจุดที่น่าสนใจว่าชื่อเมืองต่างๆ ยังสะกดแบบตามที่เรียกกันง่ายๆ ในยุคนั้นอย่างเช่น สิงคโปร์ (Singapour) และโตเกียว (Tokio)
ต่อมาในช่วงปี 1836-41 PATEK PHILIPPE จึงเดินตามรอยโดยการสั่งซื้อ และผลิตนาฬิกากลไกเวริลด์ไทม์ขึ้นมาบ้าง ในรูปแบบนาฬิกาพก Ref. 605 HU (“HU” คือ “Heures Universelles” แปลว่าเวริลด์ไทม์ในภาษาฝรั่งเศส) และในนาฬิกาข้อมือคอลเลคชัน Calatrava Ref. 96 HU ซึ่งต่อมาก็นำเสนอเป็นตัวเรือนทรงกลมใน Ref. 1415/1 HU และตัวเรือนทรงสี่เหลี่ยมใน Ref. 515 HU แต่สำหรับ Ref. 515HU นั้นเป็นที่เข้าใจกันว่า เป็นเพียงการผลิตแบบต้นแบบ จึงยังคงมีออกมาให้เห็นในปัจจุบันเพียง 4 รุ่นเท่านั้น แถมด้วยความที่เป็นตัวเรือนทรงสี่เหลี่ยม วงนอกที่ระบุเมืองจึงหมุนไม่ได้ และปรับได้แค่วงกลางเท่านั้น ไม่หมือนกับกรณีของรุ่นอื่นๆ ซึ่งฟังก์ชั่นได้ปกติ ตามแบบกลไกของ Mr. Cottier
นาฬิกาพก PATEK PHILIPPE Ref. 605 HU เป็นที่น่าสังเกตุอีกแล้วว่า เวลาปารีสและลอนดอนในยุคนั้นยังเป็นเขตเวลาเดียวกัน
เหล่านาฬิกา PATEK PHILIPPE ฟังก์ชันเวริลด์ไทม์ในยุคแรก
ส่วน ROLEX ก็ไม่น้อยหน้า มีการนำเสนอนาฬิกาฟังก์ชันเวริลด์ไทม์ออกมาเช่นกัน แต่ผลิตในจำนวนน้อยมากๆ เท่าที่ทราบในปัจจุบันมีอยู่ 12 รุ่น (จากข้อมูลของ Mr. Cottier เองเนื่องจากทาง ROLEX ไม่เคยแจ้งตัวเลขการผลิต) โดยแบ่งเป็น 2 ล๊อท ล๊อทแรก 6 รุ่นในชื่อ "Prince Imperial" Ref. 4262 ในปี 1943 และอีก 6 รุ่นในปี 1947 ซึ่งทั้งหมดเป็นนาฬิกาพก และมีเกร็ดตลกๆ คือถ้าสังเกตุในภาพ ล๊อทแรกชื่อเมืองอิสตันบูล จะพิมพ์เป็นอิสตัมบูล “Istambul” ซึ่งผู้ผลิตหน้าปัดให้ทาง ROLEX ก็คือ Stern Frères ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตหน้าปัดให้กับ PATEK PHILIPPE และต่อมาก็เป็นเจ้าของแบรนด์เองเลยด้วย แต่โดยสำหรับ ROLEX แล้ว ฟังก์ชันเวริลด์ไทม์นี้ หลายคนถือว่าเป็นแรงบันดาลใจ ให้ต่อมาทาง ROLEX มีการพัฒนากลไกจีเอ็มทีของตัวเองขึ้นมา
ด้านหน้าของ ROLEX Ref. 4262
กลไกของ ROLEX Ref. 4262
เกร็ดสุดท้ายที่น่าสนใจเกี่ยวกับกลไกเวริลด์ไทม์ ก็คือหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1945 ชาวเจนีวาได้ลงขันกันว่าจ้างแบรนด์ LONGINES (ในนาม Agassiz ซึ่งเป็นชื่อในขณะนั้น) นำกลไกเวริลด์ไทม์ มาผลิตเป็นนาฬิกา เพื่อฉลองวันแห่งชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรในยุโรป (หรือที่เรียกว่า VE Day : Victory in Europe Day) โดยจัดทำเป็นนาฬิกาพกหน้าปัดเอนาเมล (Cloisonné Enamel เพื่อมอบให้เป็นของขวัญกับผู้นำของฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งสี่คนได้แก่ Charles de Gaulle (ฝรั่งเศส), Harry S. Truman (สหรัฐอเมริกา), Joseph Stalin (สหภาพโซเวียต) และ Winston Churchill (เครือจักรภพอังกฤษ)
ด้านหน้าของ AGASSIZ (LONGINES) VE Day สำหรับ Winston Churchill
ด้านหลังของ AGASSIZ (LONGINES) VE Day สำหรับ Winston Churchill