ปลดปล่อยแนวคิด เพื่ออิสรภาพ และความต้องการที่แท้จริง ตอนที่ 3.2
ต่อเนื่องเรื่องรูปลักษณ์ของนาฬิกาในยุคบุกเบิกของว็อชเมกเกอร์ นาฬิกาทรงตอนโนพร้อมมาร์กเกอร์อารบิค ที่ถูกจัดวางให้มีตำแหน่งวางเรียงกันเต็มหน้าปัดในตระกูล Curvex จาก Franck Muller หรือหน้าปัดนาฬิกาลุคกลไกจาก F.P. Journe ก็เรียกว่าได้รับแรงบันดาลใจจากนาฬิกาในอดีต ที่ว็อชเมกเกอร์เหล่านี้มีประสบการณ์ร่วมกันมานานเป็นสิบปี กลไกนาฬิกาอย่างเช่นเซ็นทรัลตูร์บิยองของ Omega ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งจากแนวคิดนี้ผ่าน Mr. George Daniels ผู้ล่วงลับ ในขณะที่ Michel Parmigiani ยังคงนำเสนอนาฬิกาคล็อกรูปแบบต่างๆ ตามแนวทางดั้งเดิมออกสู่ตลาดทุกปีในงาน SIHH ที่เจนีวา
นาฬิกา Franck Muller Cintrée Curvex Chronograph Perpetual Calendar ตัวเรือนเร้ดโกลด์ กลไกอัตโนมัติโครโนกราฟ พร้อมฟังก์ชั่นเพอร์เพทชวลคาเลนดาร์ แสดงวันกับวันที่ด้วยเข็มเรโทรเกรด แสดงเดือนด้วยเข็มบนหน้าปัดย่อย แสดงลีพเยียร์ด้วยตัวเลขผ่านช่องหน้าต่าง และแสดงมูนเฟส
นาฬิกาตั้งโต๊ะ Parmigiani Clock 15 Days ผลิตขึ้น 3 แบบ ต่างกันที่สีของกระจก สีขาว สีน้ำเงินเข้ม และสีแดง ผลิตแบบละ 5 เรือนต่อปี (ปี 2013-2015) เป็นเวลา 3 ปี รวมสีละ 15 เรือนเท่านั้น
กลไกนาฬิกาต่างๆ ที่จัดว่าอยู่ในระดับสลับซับซ้อนจาก Franck Muller อย่างเช่นเพอเพทชวลคาเลนดาร์โครโนกราฟ ถูกสร้างสรรค์และได้รับการยอมรับอย่างสูงในตลาดเมื่อช่วงปี 1995-2005 ในขณะที่กลไกมินิทรีพีทเตอร์จาก Parmigiani ถูกพัฒนาและนำเสนอสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องทุกปีพร้อมๆ กับคุณภาพของเสียงที่จัดว่าอยู่ในระดับที่สูงมากไม่แพ้แบรนด์เก่าแก่หลายๆ แบรนด์ในตลาดเช่นกัน ซึ่งนอกจากเรื่องกลไกต่างๆ แล้ว วัฒนธรรมการผลิตอันเก่าแก่ทั้งหลาย ยังถูกถ่ายทอดและนำมาปรับใช้อย่างเหมาะสม และมีรูปแบบตามวัฒนธรรมดั้งเดิมได้อย่างครบถ้วนและลงตัว ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการลงยาแบบอีนาเมล การขัดแต่งชิ้นส่วน หรือการแกะสลักอย่างวิจิตรทั้งในตัวเรือนและแท่นกลไก ดังที่เห็นได้จากนาฬิกาของ Bovet, Ulysse Nardin, Patek Philippe, Vacheron Constantin และแบรนด์อื่นๆ อีกหลายแบรนด์
นาฬิกา Parmigiani รุ่น Toric Résonance 3 ตัวเรือนไวท์โกลด์ กลไกไขลานมินิทรีพีทเตอร์คาลิเบอร์ PF359 แสดงวันที่แบบบิ๊กเดท
ลวดลายอันละเอียดงดงามของงานแกะสลัก บนแท่นกลไกไขลานฉลุสเกเลตันคาลิเบอร์ 14BM02AI ที่มีชุดแสดงเวลาอยู่บนกลไกทั้ง 2 ด้าน ของนาฬิกา Bovet รุ่น Amadeo Fleurier Skeleton 7-Day Tourbillon with Reversed Hand-Fitting
การขัดแต่งชิ้นส่วนและแท่นกลไก ตามรูปแบบการผลิตของ Philippe Dufour หรือ Kari Voutilainen ก็แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ และความมุ่งมั่นในการผลิตผลงาน ที่ต้องรังสรรค์ให้อยู่ในระดับมาสเตอร์พีซเท่านั้น ซึ่งต้องเป็นความรู้ และประสบการณ์ของว็อชเมกเกอร์ระดับมาสเตอร์เท่านั้น จึงจะมีความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งพิเศษเหล่านี้ได้ เพราะความมุ่งมั่นในความงดงามเหล่านี้ เป็นการสร้างสรรค์ให้กับชิ้นส่วนเล็กๆ ที่มีความงดงามสูงสุด ให้สามารถทำงานร่วมกัน และส่งผลให้เกิดความเที่ยงตรงอันเป็นเป้าหมายสูงสุด โดยไม่ละเลยความประณีตและงดงามในระดับสูงสุดไปพร้อมๆ กันในผลงานแต่ละชิ้น
ความสวยงามของการขัดแต่งกลไกระดับสูงที่ทั่วโลกให้การยอมรับ จากนาฬิกา Philippe Dufour รุ่น Duality
กลไกอัตโนมัติโครโนกราฟ พร้อมฟังก์ชั่นแอนนวลคาเลนดาร์คาลิเบอร์ CH 28-520 IRM QA 24H ของนาฬิกา Patek Philippe Ref. 5960
ผลงานระดับมาสเตอร์พีซแต่ละชิ้นนี้ กว่าจะผ่านขั้นตอนแต่ละขั้น ถือเป็นความยากยิ่งในการผลิต แต่ความแน่วแน่ในแนวทางของเหล่าว็อชเมกเกอร์ในช่วงเวลานั้น ก็ยิ่งถือเป็นความยากลำบากในการฟันฝ่าเช่นกัน ว็อชเมกเกอร์อย่าง Mr. Giulio Papi มุ่งมั่นเรียนด้านการผลิตนาฬิกาในสวิตเซอร์แลนด์ ในขณะที่เพื่อนๆ รุ่นเดียวกันหันเหทิศทางสู่งานด้านไฟแนนซ์ ที่กำลังบูมอยู่ในขณะนั้น ส่วน Mr. Felix Baumgartner ที่ทำงานด้านบูรณะซ่อมแซมนาฬิกาโบราณมาโดยตลอด ที่แม้มีความคิดเห็นขัดแย้งกับพ่อผู้เป็นว็อชเมกเกอร์เช่นกัน ในเรื่องการนำเสนอนาฬิกาที่มีทิศทางใหม่อย่าง Urwerk สู่ตลาด แต่ท้ายสุดก็มุ่งมั่นในแนวคิดของตัวเองจนทำให้ Urwerk สามารถเป็นหนึ่งในแบรนด์นาฬิกาแนวอินดี้ ที่มีความยูนีคและเป็นที่ยอมรับมากที่สุดในกลุ่ม ซึ่งแน่นอนว่าหากขาดความมุ่งมั่นของคนกลุ่มนี้ไป อุตสาหกรรมนาฬิกาก็คงไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้แน่
Mr. Giulio Papi
ดังนั้นการปรบมือให้กับว็อชเมกเกอร์เหล่านี้ น่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด และหากคุณยังไม่มีโอกาสได้เห็นงานระดับมาสเตอร์พีซของพวกเขา คุณควรลองมองหาดูซักครั้ง แล้วคุณอาจเข้าใจถึงความมุ่งมั่นของผู้คนเหล่านี้ พร้อมๆ กับสิ้นสงสัยในความสำเร็จจากการยอมรับของคนทั่วโลก ที่คลั่งไคล้หลงใหลและอยากเป็นเจ้าของผลงานนาฬิกาเหล่านี้เป็นที่สุด
Mr. Felix Baumgartner
นาฬิกา Urwerk UR-105M ใช้กลไกไขลานคาลิเบอร์ UR 5.01 ที่แสดงเวลาแบบแซทเทลไลต์ โดยการโคจรของจานดาวเทียมพิมพ์ตัวเลขชั่วโมง 4 จาน ที่จะผลัดเปลี่ยนกันแสดงค่าชั่วโมงพร้อมเคลื่อนชี้ กวาดไปยังสเกลบริเวณด้านล่างของหน้าปัดเพื่อแสดงนาทีไปพร้อมกัน แสดงค่าวินาทีและกำลังสำรอง ด้วยกระบอกหมุนขนาดเล็กผ่านช่องหน้าต่างคู่บริเวณด้านขวาของตัวเรือน ด้านหลังของตัวเรือนมีมาตรแสดงกำลังสำรอง และแสดงระยะเวลาการเข้ารับเซอร์วิส พร้อมติดตั้งสกรูว์ให้สามารถปรับจูนการทำงานของกลไก โดยดูจากมาตรแสดงความสมดุลย์ ผลิตในแบบจำนวนจำกัดเพียงแบบละ 77 เรือน