วินเทจวันละนิด วันนี้เสนอตอน ดำดิ่งไปกับ Blancpain “Fifty Fathoms”

 

By: Rittidej Mohprasit

  

ในโลกนี้มีผู้ผลิตนาฬิกากลไกอยู่ไม่กี่แบรนด์หรอกครับ ที่จะกล้าประกาศกร้าวว่า ‘ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมา พวกเราไม่เคยทำนาฬิกาควอท์ซเลย’ อย่างเช่นที่ Blancpain บอก แต่นอกจากความภาคภูมิใจในเรื่องนี้แล้ว สิ่งที่ Blancpain ควรได้รับเครดิตมากๆ อีกอย่างก็คือ การวางรากฐานด้านการออกแบบ ที่กลายเป็นบรรทัดฐานของนาฬิกาดำน้ำยุคใหม่ให้กับทั้งอุตสาหกรรมของโลกนาฬิกา

  

1. Blancpain 1989 printed ad

 ประโยคโฆษณานี้ที่น่าสนใจมาก เพราะ Jean-Claude Biver จงใจใช้ในยุคที่อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสอยู่ท่ามกลางวิกฤติควอทซ์ จึงถือเป็นกรณีศึกษาในชั้นเรียนบริหารธุรกิจของสถาบันชื่อดังระดับโลกหลายแห่ง อาทิ Harvard Business School, EU Business School และ INSEAD ไว้มาเล่าให้ฟังอีกทีครับ

  

กิจกรรมการดำน้ำในสมัยก่อน ไม่เหมือนอย่างในปัจจุบันที่ใครๆ ก็สามารถดำน้ำเล่นได้ การดำน้ำในยุค 1950’s ทำกันอยู่อย่างจำกัดเฉพาะในแวดวงทหารครับ และพลทหารนักประดาน้ำในยุคนั้น ก็จะมีชื่อเล่นกันว่ามนุษย์กบ (Frogman) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการทหารที่มีประสิทธิภาพมาก เพราะสามารถแอบแทรกซึมเข้าไป เพื่อยึดหรือทำลายยุทโธปกรณ์และเรือรบได้โดยไม่ถูกตรวจพบ วีรกรรมของเหล่าทหารนักประดาน้ำ มีจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่สองมากมาย โดยเฉพาะในฝ่ายอักษะ อาทิ นักประดาน้ำกองกำลังดำน้ำเยอร์มัน (Kampfschwimmer) หรือของกองทัพเรืออิตาลี (Decima Flottiglia MAS) ซึ่งเลือกใช้นาฬิกาดำน้ำยุคต้นแบบอย่าง Panerai

 

2. Panerai Reference 6152 1 47mm

Panerai Ref.6152-1 47 mm.

 

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพเรือฝรั่งเศส และหน่วยจารกรรมแห่งสหราชอาณาจักร (Secret Services) เห็นความสำคัญของสมรภูมิรบโดยอาศัยทหารนักประดาน้ำ มีการตั้งกองทหารนักประดาน้ำคอมมานโดร่วมกันขึ้นมาในนาม Commando Hubert โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งเพียงสองคนคือ Captain Robert “Bob” Maloubier เป็นตัวแทนจากฝั่งสหราชอาณาจักร และ Lt. Claude Riffaud ตัวแทนจากฝั่งกองทัพเรือฝรั่งเศส แน่นอนว่าเมื่อการตั้งกองกำลังขึ้นมาอย่างเป็นทางการ ทั้งสองจึงได้รับมอบหมายให้จัดหายุทโธปกรณ์ต่างๆ ซึ่งรวมทั้งนาฬิกามาใช้ เพื่อปฏิบัติการทางการทหารของหน่วยคอมมานโดนี้อย่างเร่งด่วน แต่ไม่มีผู้ผลิตนาฬิการายใดสามารถตอบสนองความต้องการของ Commando Hubert ได้เลย

 

3. Commando Hubert Founder คุณ Bob Maloubier และคุณ Claude Riffaud ผู้ก่อตั้ง Commando Hubert และผู้ร่วมออกแบบ Blancpain Fifty Fathoms

  

เป็นเหตุบังเอิญมากๆ ที่ขณะนั้นคุณ Jean-Jacques Fiechter ซึ่งเป็นซีอีโอของ Blancpain และกำลังพัฒนานาฬิกาดำน้ำอยู่พอดี และคุณ Fiechter เองส่วนตัว ก็หลงใหลกิจกรรมดำน้ำอยู่แล้วด้วย แถมช่วงนั้นแกก็สร้างนวัตกรรม และได้รับสิทธิบัตรเกี่ยวกับการกันน้ำของนาฬิกามาจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเม็ดมะยมที่มีซีลกันน้ำสองชั้น ขอบหมุนได้ที่มีหมายเลขเวลากำกับ การบรรจุวงแหวนยางกันน้ำ (O ring) ลงไประหว่างตัวเรือน และฝาหลังแบบขันเกลียว แล้วเอาวงโลหะไปทับอีกชั้นเพื่อกดให้วงแหวนยางไม่เคลื่อนที่ไปไหน ก็ล้วนแล้วแต่เป็นนวัตกรรมของแกทั้งสิ้น

 

 

4. Blancpain Patent Ads

Blancpain Patent Ads

  

เมื่อคุณ Maloubier และคุณ Riffaud ทราบถึงการทดลองของคุณ Fiechter จึงติดต่อทาง Blancpain เพื่อขอหารือ ปรากฏว่าทั้งสามคนคุยกันอย่างถูกคอ และได้ร่วมกันกำหนดสเป็คของนาฬิกาดำน้ำไว้ว่าจะต้องมี 1. หน้าปัดสีดำ 2. หมายเลขและเครื่องหมายต่างๆ ทั้งบนตัวเรือนและขอบจะต้องมีขนาดใหญ่ ส่องสว่าง และเห็นได้ชัดในที่มีแสงน้อย และ 3. มีขอบหมุนได้ทางเดียวที่สามารถใช้อ่านค่าระยะเวลาดำน้ำ และระยะเวลาที่เหลืออยู่ของถังออกซิเจน นอกจากนี้ทาง Blancpain ยังเห็นความสำคัญของการใช้งาน จึงเสนอว่าควรใช้กลไกออโตเมติค เพื่อความสะดวกในการใช้งาน เนื่องจากจะได้ลดความเสี่ยงที่จะต้องปลดล๊อคเม็ดมะยมเพื่อขึ้นลาน และหลังจากนั้นทาง Blancpain จึงผลิตนาฬิกาต้นแบบออกมา 20 เรือนให้ทาง Commando Hubert ทดสอบ และนาฬิกาเหล่านั้นก็ผ่านการทดสอบแบบสบายๆ โดยสเป็คนาฬิกาดำน้ำที่ทั้งสามคนตกลงร่วมกันนี้ กลับกลายมาเป็นสเป็คมาตรฐานที่ถูกกล่าวถึงในมาตรฐาน ISO 6425 ที่กองทัพเรือประเทศต่างๆ เดินตาม อาทิ อิสราเอล สหรัฐอเมริกา สเปน เยอร์มัน กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย และปากีสถาน ซึ่งนี่ก็คือจุดที่ทำให้นาฬิกาดำน้ำในนาม Blancpain “Fifty Fathoms” ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นบิดาแห่งเหล่านาฬิกาดำน้ำยุคใหม่อย่างแท้จริง

 

5. Vintage Blancpain

 Vintage Blancpain

 

6. Maloubier with Fifty Fathoms

 คุณ Bob Maloubier และ Blancpain Fifty Fathoms ของเขา

  

ชื่อเสียงของ Blancpain “Fifty Fathoms” ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในแวดวงการดำน้ำทางการทหารเท่านั้น แต่กระทั่งนักประดาน้ำภาคเอกชนชื่อดังอย่าง Jacques-Yves Cousteau ก็ยังเลือกใช้นาฬิกาดำน้ำรุ่นนี้ ดังที่ปรากฎในหนังสารคดีเรื่อง “The Silent World” ที่ได้รับทั้งรางวัลออสการ์ และรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานน์ในปี 1956

  

7. Blancpain in Silent World

ฉากหนึ่งใน The Silent World 

 

ส่วนที่มาของชื่อ Fifty Fathoms นั้นก็น่าจะมาจากที่คุณ Maloubier ตัวแทนจากสหราชอาณาจักร ร่วมทำการคิดค้นด้วย โดยคำว่า “Fathoms” เป็นหน่วยวัดความลึกแบบมาตรฐานอังกฤษ ซึ่ง Fifty Fathoms ก็จะมีค่าระยะทางเท่ากับ 91 เมตรหรือประมาณ 300 ฟุต ซึ่งก็เท่ากับระดับการกันน้ำของนาฬิกาดำน้ำบรรลือโลกอย่าง Rolex Submariner ในยุคแรกนั่นเอง

 

Rittidej