วินเทจวันละนิด วันนี้เสนอตอน ตำนานนาฬิกา Breguet No. 160 “Marie-Antoinette”
By: Rittidej Mohprasit
เรื่องราวของนาฬิกาบางรุ่น ก็เป็นดั่งเทพนิยายวอล์ทดิสนี่ ที่มีจุดเริ่มอย่างยิ่งใหญ่ แต่เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นจนกลายเป็นดราม่าช่วงกลางเรื่อง แล้วจึงคลี่คลายไปสู่ตอนจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งที่น่าประทับใจ เช่นเดียวกันกับเรื่องของนาฬิกา Breguet No. 160 Marie-Antoinette
Abraham-Louis Breguet
เรื่องมีอยู่ว่าในปี 1775 (ยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 16) Abraham-Louis Breguet ขณะนั้นอายุ 36 ปี มีร้านนาฬิกาอยู่ใจกลางกรุงปารีส เหล่าลูกค้าก็เป็นพวกขุนนางไฮโซรวมทั้งราชวงศ์ทั้งหลาย จนมีชื่อเสียงกระฉ่อนไปทั่วแล้ว วันหนึ่งแกได้รับคำสั่งผลิตนาฬิกาจากผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ว่าต้องการให้สร้างสุดยอดนาฬิกาพกเรือนพิเศษเพื่อถวายแก่พระราชินี Marie-Antoinette ผู้เลอโฉม โดยมีเงื่อนไขว่านาฬิกาเรือนนี้จะต้องมีกลไกคอมพลิเคชั่นทุกฟังชั่นทั้งหมดที่สามารถจะมีได้ในขณะนั้น และต้องใช้ทองคำในการผลิตทุกชิ้นส่วนหรือให้ได้มากที่สุดแม้กระทั่งส่วนของกลไกชิ้นเล็กๆ และที่สำคัญ ไม่มีข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้นทั้งด้านงบประมาณและระยะเวลาในการผลิต ดังนั้นนาฬิกาเรือนนี้จึงมีรหัสตามเอกสารหอจดหมายเหตุของ Breguet ว่า “No. 160”
ภาพถ่ายหอจดหมายเหตุ No. 160
บุคคลลึกลับผู้สั่งผลิตนาฬิกา No. 160 นี้คือใครยังไม่มีใครรู้และยังมีหลายทฤษฎีอีกด้วย บางคนเห็นว่าจริงๆ พระราชินีเองเป็นคนสั่งผ่านทหารรักษาพระองค์ (เพราะพระนาง Marie-Antoinette เองก็เป็นลูกค้าของ Breguet) แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่าน่าจะเป็นของขวัญจากชู้รักอย่างท่านเค้าท์ Hans Axel von Fersen แห่งราชอาณาจักรสวีเดน แต่ไม่ว่าผู้สั่งซื้อจะเป็นใคร เพียง 5 ปีหลังจากสั่ง (งานยังไปไม่ถึงไหนเลย) พระนาง Marie-Antoinette ก็ต้องมีอันเป็นไปด้วยเครื่องประหารกิโยตินในการปฏิวัติฝรั่งเศสอันแสนโดงดัง แต่ถึงกระนั้น Breguet ก็ยังคงตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาและสร้างนาฬิกา No. 160 ต่อไป
Count Hans Axel von Fersen และ Queen Marie-Antoinette
จากวันที่เริ่มสั่งผลิต พวกเราต้องนั่งไทม์แมชชีนล่วงหน้ามาอีกถึง 44 ปีคือในปี 1827 ที่นาฬิกา No. 160 สร้างเสร็จสมบูรณ์ ขณะนั้นพระนาง Marie-Antoinette ก็สวรรคตไปแล้วถึง 34 ปี ท่านเค้าท์ von Fersen ชู้รักก็เสียชีวิตไปแล้วถึง 17 ปี แม้กระทั่ง Abraham-Louis Breguet เองก็เสียชีวิตไปแล้วกว่า 4 ปี ผลงานเพิ่งไปเสร็จเอาในยุคของ Louis-Antoine Breguet (ลูกของ Abraham-Louis Breguet) ดังนั้นถ้าไม่นับช่วงเวลา 7 ปีที่ Abraham-Louis ต้องลี้ภัยทางการเมืองหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส นาฬิกา Breguet
No. 160 หรือที่มีชื่อเล่นว่า “Marie-Antoinette” เรือนนี้ก็ต้องนับว่าใช้เวลาผลิตทั้งหมดถึง 37 ปีเต็ม! No. 160 หรือที่เรียกกันว่า Marie-Antoinette มีขนาดตัวเรือน 63 มิลลิเมตร ผลิตด้วยทองคำเกือบทั้งหมด มีกลไกคอมพลิเคชั่นทุกอย่างที่มีได้ในยุคนั้น ตั้งแต่เพอร์เพทชวลคาเลนดาร์ อีเควชั่นออฟไทม์ มินิทรีพีทเตอร์ จัมปิ้งอาว์เออร์ มีแม้กระทั่งกลไกวัดอุณหภูมิ แถมยังใช้กลไกอัตโนมัติ ตุ้มเหวี่ยง (โรเตอร์) ผลิตจากแพลทตินั่ม ซับซ้อนจนได้รับเกียรติว่าเป็นนาฬิกาที่ซับซ้อนที่สุดในโลกอยู่ถึงกว่าร้อยปี (ต่อมาถูกทำลายสถิติโดย Patek Philippe Henry Graves Jr. Super Complication)
ด้านหน้าของ No. 160
ด้านหน้าและด้านหลังของ No. 160
จากข้อมูลที่ปรากฏตามหอจดหมายเหตุของ Breguet เฉพาะในส่วนต้นทุนการสร้างนาฬิกาพกเรือนนี้ รวมทั้งหมดแล้วสูงถึง 17,070 ฟรังส์ซึ่งถือว่ามหาศาล ถ้าปรับมูลค่าตามอัตราเงินเฟ้อเทียบเป็นเงินปัจจุบันก็คือประมาณ 4 – 5 แสนเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว ซึ่งนี่เป็นแค่ต้นทุนเท่านั้น
ภาพถ่ายหอจดหมายเหตุ No. 160”
หลังจากนาฬิกา Breguet No. 160 เสร็จสมบูรณ์แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เสียชีวิตไปหมดแล้ว นาฬิกาเรือนนี้จึงถูกขายออกไป แต่ไม่ทราบว่าผู้ซื้อคนแรกคือใคร ทราบแต่ว่าในปี 1938 มีคนนำนาฬิกานี้มาเซอร์วิสครั้งแรกโดยใช้ชื่อ Marquis de la Groye of Provins (ชื่อนี้ไม่มีข้อมูลในประวัติศาสตร์ จึงคาดว่าศูนย์บริการสะกดชื่อผิด) ต่อมาก็ถูกขายต่อให้กับผู้มั่งคั่งในกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษอีกหลายทอด จนไปถึงท่านเซอร์ David Lionel Goldsmid-Stern-Salomons นักสะสม ผู้เชี่ยวชาญและแฟนพันธุ์แท้นาฬิกา Abraham-Louis Breguet (และเป็นผู้เขียนหนังสือประวัติของ Breguet ด้วย)
ท่านเซอร์ David Salomons
เมื่อท่านเซอร์ Salomons เสียชีวิตลง ก็ได้มอบนาฬิกาฝีมือ Abraham-Louis Breguet กว่า 50 เรือนรวมถึง No. 160 ให้แก่ Vera Bryce บุตรสาว (อีกส่วนหนึ่งมอบให้ภรรยา) ต่อมาคุณ Vera ก็บริจาคนาฬิการวมทั้งนาฬิกา Marie-Antoinette ให้กับพิพิธภัณฑ์ The L.A. Mayer Institute for Islamic Art ประเทศอิสราเอล ซึ่งที่นี่เองก็เป็นสถานที่ที่ Dr. George Daniels ผู้เชี่ยวชาญและแฟนพันธุ์แท้นาฬิกา Abraham-Louis Breguet อีกท่านหนึ่ง ได้มาเรียนรู้และศึกษางานของ Abraham-Louis Breguet โดยละเอียด
The L.A. Mayer Institute for Islamic Art
ดราม่ากลางเรื่องเริ่มขึ้นในปี 1983 ที่โจรชื่อ Na'aman Diller ล่วงรู้ว่าระบบสัญญาณเตือนภัยของพิพิธภัณฑ์เสียอยู่ จึงวางแผนและทำการโจรกรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกนาฬิกา โดยงัดหน้าต่างเข้าไปโกยนาฬิกาล้ำค่ากว่า 100 ชิ้น รวมทั้ง No. 160 หนีไป โดยเอาไปซ่อนไว้ในตู้เซฟหลายแห่งทั้งในฝั่งยุโรปและอเมริกา คงเพราะรู้ว่าของหลายชิ้นมีชื่อเสียงโด่งดังเกินกว่าที่จะเอาออกมาขายแบบเปิดเผย แล้ว Diller ก็อันตรธาน และย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ Los Angeles ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาพสถานที่เกิดเหตุ
ไม่ใช่ว่าทางตำรวจจะไม่สงสัย Diller แต่เพราะไม่มีหลักฐานอะไรจะไปจับกุมได้ ทั้งที่ตำรวจพยายามตามตามหานาฬิกาล้ำค่าเหล่านี้อย่างสุดความสามารถ โดยขอความช่วยเหลือจากทางตำรวจสากลก็แล้ว ไล่ตามเบาะแสกับนักสะสมและบริษัทประมูลอยู่หลายปีก็แล้ว แต่ก็ไม่มีอะไรโผล่ออกมาอีกเลย เวลากว่ายี่สิบปีผ่านไป ทุกคนแม้กระทั่ง Mr. Nicolas Hayek ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ Breguet เองก็คิดว่านาฬิกา Marie-Antoinette ซึ่งถือเป็นชิ้นงานที่ดีที่สุดและล้ำค่าที่สุดของ Breguet คงสูญหายไปตลอดกาลเป็นแน่ โดยทางแบรนด์ Breguet เองถึงกับมีโครงการสร้างนาฬิกา No. 160 ขึ้นมาใหม่ในปี ค.ศ. 2004 และใช้ชื่อว่า No. 1160 เพื่อทำการทดแทนนาฬิกา No. 160 ที่สูญหายไป
แต่แล้วในปี ค.ศ. 2006 (ในขณะที่นาฬิกา No. 1160 ก็ยังสร้างไม่เสร็จ) ปรากฏว่าอยู่ๆ ทางพิพิธภัณฑ์ก็ได้รับการติดต่อจากทนายความคนหนึ่งว่าลูกความของเขา ซึ่งเป็นมะเร็งและได้เสียชีวิตไปแล้วได้สารภาพกับทนายว่าเมื่อกว่า 20 ปีก่อนได้ขโมยของจากพิพิธภัณฑ์ไป คุณผู้หญิงซึ่งเกี่ยวพันธ์กับลูกความอย่างไรก็ไม่รู้แต่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาก็ได้แสดงความประสงค์จะคืนสิ่งของเหล่านี้ให้กับเจ้าของที่ชอบธรรม โดยมีเงื่อนไขว่าเขาขอปิดบังตัวตนและขอค่าสินน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ในการคืนของด้วย (ทั้งนี้อาจเพราะทราบว่ามีการตั้งรางวัลนำจับไว้สูงถึง 2 ล้านเหรียญ)
เกือบปีที่ทั้งสองฝ่ายเปิดเจรจากันผ่านทนายความ จนในที่สุดก็สามารถตกลงค่าสินน้ำใจกันได้ที่ 35,000 เหรียญสหรัฐ นับเป็นเวลานานถึง 23 ปีหลังจากที่นาฬิกาถูกขโมยไป นาฬิกาจำนวน 53 ชิ้นจากทั้งหมด 100 กว่าชิ้นก็ถูกส่งคืนให้กับพิพิธภัณฑ์ในปี 2007 โดยนาฬิกาเหล่านี้ถูกคืนในสภาพที่ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์แล้วบรรจุลงในโถ นาฬิกาบางเรือนได้รับความเสียหายมากน้อยต่างกันไป แต่ที่สำคัญ ผู้อำนวยการด้านงานศิลป์ของพิพิธภัณฑ์ถึงกับหลั่งน้ำตา เมื่อคุ้ยโถไปและพบว่ามี No. 160 Marie-Antoinette อยู่ด้วยในสภาพที่มีร่องรอยความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เจอแล้วววว!
เรื่องมีต่ออีกนิดหน่อย ตรงที่เมื่อพิพิธภัณฑ์ได้ของคืนก็ไม่ยอมแถลงข่าวอยู่หลายเดือน (ส่วนหนึ่งเพราะได้รับเงินประกันจากบริษัทประกันภัยไปแล้ว) คงต้องมานั่งคิดว่าต้องทำอย่างไรต่อดี ระหว่างนั้นตำรวจได้เบาะแสจากข่าวที่เริ่มรั่วออกมาเพิ่มเติม จนสามารถติดตามตัวคุณผู้หญิงที่ต้องการขอคืนนาฬิกาเหล่านี้จนพบปรากฏว่าคนๆ นั้นคือนาง Nili Shamrat ภรรยาของ Na'aman Diller ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วนั่นเอง และสุดท้ายก็สามารถตามเอานาฬิกาอีก 43 ชิ้นที่ถูกซ่อนอยู่ในเซฟที่ประเทศฝรั่งเศสกลับคืนมาได้ในปี 2008 ก็ถือว่าแฮปปี้เอนดิ้งกันไป แต่ก็ยังน่าเสียดายที่มีนาฬิกาอีก 10 ชิ้นที่ยังคงหายสาบสูญไป
ปัจจุบัน นาฬิกา Marie-Antoinette จึงได้กลับบ้านที่ประเทศอิสราเอลอย่างปลอดภัย โดยปัจจุบันมีมูลค่าประเมินราวๆ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนพิพิธภัณฑ์ก็ได้ลงทุนอัพเกรดระบบรักษาความปลอดภัยและห้องนิรภัยขนานใหญ่เลยทีเดียว และหลังจากนั้นไม่นาน ในปี 2008 Mr. Hayek และแบรนด์ Breguet ถึงได้เปิดตัวผลงานนาฬิกา No. 1160 ในงาน Baselworld ขึ้นในปี 2008 ก็ถือว่าช้าไปเพียงนิดเดียว ไม่อย่างนั้นคงไม่มี No. 160 เรือนจริงมาเทียบกับ No. 1160 กันได้อย่างชัดๆ ในทุกวันนี้
Breguet No. 1160