Future of Fine Watchmaking
By Viracharn Termpipatpong
นับจากเปิดตัวนาฬิกาแบบแรก ณ วันนี้ Urwerk เติบใหญ่ขึ้นอย่างมั่นคงโดยจัดว่าเป็นหนึ่งในแบรนด์นาฬิกาแนวอินดิเพนเดนซ์ระดับแถวหน้าของวงการ โดยพวกเขายังคงเดินหน้าคิดค้น พัฒนา และสร้างเรือนเวลาแบบใหม่ๆ ออกมาให้โลกได้ตื่นเต้นกันทุกปี ซึ่งมีทั้งการคิดค้นระบบกลไกใหม่ๆ รูปแบบการทำงาน รวมถึงการแสดงผลในรูปแบบดีไซน์ที่น่าทึ่ง ร่วมด้วยการออกเวอร์ชั่นใหม่ๆ ให้กับนาฬิการุ่นต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยลักษณะการสร้างงานซึ่งทั้งหมดจะอยู่ภายในเวิร์คช็อปของตัวเอง นาฬิกา Urwerk ที่ผลิตขึ้นในแต่ละปีนั้นจึงมีจำนวนเพียงไม่มาก โดยแต่ละแบบก็มักจะเป็นการผลิตแบบลิมิเต็ดโปรดักชั่น ซึ่งก็ยิ่งทำให้นาฬิกาแต่ละเรือนของพวกเขาต่างเป็นที่ปรารถนาของเหล่าผู้พิสมัยเรือนเวลาจักรกลแนวใหม่ทั่วโลก
Martin Frei และ Felix Baumgartner
ซึ่งถ้ากล่าวถึง Urwerk แล้ว ความโดดเด่นที่สุดของรูปแบบกลไกก็คงต้องยกให้เป็นระบบแซทเทิลไลท์ (อย่างเช่นรุ่น UR-210 Clou de Paris ตามภาพด้านบน) ที่เรียกได้ว่าทั้งฉีกแนวและปฏิวัติวงการในยุคบุกเบิกของแบรนด์ได้พร้อมๆ กันเลยทีเดียว ในขณะที่การพัฒนาการและรูปแบบการฉีกแนวของการบอกและอ่านค่าเวลาสำหรับ Urwerk ยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และนั่นจึงเป็นที่มาของนาฬิกาในซีรี่ส์ EMC
เพราะ EMC ถือเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของส่วนงานที่ Urwerk เรียกว่า แผนก ยู-รีเสิร์ช ซึ่งเป็นฝ่ายปฏิบัติการทดลอง อันเป็นการสนับสนุนแนวคิดใหม่ๆ ในการสร้างนวัตกรรมเรือนเวลาแบบที่ยังไม่เคยปรากฎขึ้นมาก่อนในโลกใบนี้ EMC เป็นอักษรที่ย่อมาจาก อิเล็คโทร เม็คคานิคัล คอนโทรล กลุ่มคำที่ใช้จำกัดความหมายของนาฬิกาสุดพิเศษรุ่นนี้
EMC Black คมเข้มด้วยงานดีแอลซีดำที่เคลือบบนตัวเรือนวัสดุไทเทเนี่ยมร่วมกับสตีล เสริมความเด่นด้วยตัวเลขสีเขียวเหลืองเฉดประจำของแบรนด์บนหน้าปัด และแต้มสีแดงบนลูกศรบอกทิศทางการหมุนเครื่องกำเนิดพลังงาน
โดยกลไกนาฬิกาทั่วไปนั้นจะมีความคลาดเคลื่อนในการทำงานอยู่ระดับหนึ่งต่อวันในอัตราที่ถูกกำหนดให้ยอมรับกันได้ อย่างเช่นความแม่นยำของกลไก ณ ตำแหน่งต่างๆ 5 ตำแหน่ง จะมีอัตราความคลาดเคลื่อนอยู่ที่ -4 และ +6 วินาที ต่อวัน ซึ่งกลไกของผู้ผลิตแต่ละรายก็อาจมีความแม่นยำสูงหรือต่ำกว่านี้ ซึ่ง Urwerk เชื่อว่าค่าการทดสอบเหล่านี้มาจากในห้องปฏิบัติการณ์ ไม่ใช่การใช้งานจริง เพราะการเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งนาฬิกา อุณหภูมิ และแรงสะเทือนในการใช้งานจริงของแต่ละบุคคลนั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อความแม่นยำของชุดควบคุมการบอกเวลาทั้งสิ้น ทีมงานของ Urwerk จึงคิดค้นและพัฒนากลไกนาฬิกาที่ผนวกเอาระบบซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถวัดค่าอัตราความแม่นยำในการทำงานได้ในทุกเวลาที่ต้องการ และยังใช้ข้อมูลที่ได้มาปรับตั้งค่าอัตราความแม่นยำเพื่อให้เหมาะกับลักษณะการใช้งานของแต่ละคนได้ ด้วยการนำเอาความแม่นยำของเทคโนโลยีระบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาผสานเป็นหนึ่งเดียวกับกลไกจักรกลโดยไม่ต้องพึ่งพาแบตเตอรี่เพราะเป็นการใช้ไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่สร้างพลังงานขึ้นมาจากการหมุนปั่นด้วยมือ ซึ่งผลลัพธ์นี้ก็คือ EMC นาฬิกาจักรกลแบบแรกของโลกที่ผู้ใช้งานสามารถวัดและปรับตั้งค่าอัตราความแม่นยำในการทำงานของกลไกให้เหมาะกับการใช้งานของตัวเองได้อย่างง่ายดาย
การวัดอัตราการทำงานของกลไกทำได้โดยการหมุนปั่นก้านของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดจิ๋วที่ผลิตจากบริษัทที่พัฒนามอเตอร์ให้กับรถโรเวอร์ สำหรับภารกิจบนดาวอังคารขององค์การนาซ่า ซึ่งติดตั้งอยู่ที่ด้านบนฝั่งขวาของตัวเรือนในอัตราความเร็วคงที่ อันจะเป็นการแปลงพลังงานให้เป็นกำลังไฟฟ้าเข้าสู่ตัวเก็บประจุประสิทธิภาพสูง ซึ่งถูกสร้างให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานในระดับแสนรอบ เมื่อมีประจุไฟแล้วก็กดปุ่มสั่งการ ณ บริเวณด้านซ้ายของตัวเรือนเพื่อให้ระบบการวัดค่าทำงาน แผงวงจรควบคุมจะสั่งให้เซ็นเซอร์จับแสงขนาดเล็กที่ติดตั้งอยู่บนบาลานซ์วีลซึ่งทำงานร่วมกับตัวส่งสัญญาณและตัวรับสัญญาณที่ติดตั้งอยู่คนละด้านของบาลานซ์ เพื่อจับค่าเฉลี่ยของอัตราการแกว่งซึ่งถูกควบคุมด้วยเรกูเลเตอร์ของกลไก ณ ความถี่ 4 เฮิร์ตซ์ หรือ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมงในช่วงเวลา 3 วินาทีเอาไว้ และส่งข้อมูลอันแม่นยำไปยังแผงวงจรเพื่อประมวลผลนำไปแสดงค่าบนมาตรแสดงอัตราความแม่นยำซึ่งชี้บอกด้วยเข็มเป็นหน่วย บวก/ลบ วินาทีต่อวัน ซึ่งอยู่ในตำแหน่งบนขวาของตัวเรือน นอกจากนี้ บาลานซ์วีลที่ใช้ยังถูกสร้างขึ้นจากวัสดุ ARCAP P40 (ค้อปเปอร์/นิคเกิ้ล อัลลอย) ซึ่งไม่มีสภาพเป็นแม่เหล็ก และทนทานต่อการกัดกร่อน โดยถูกออกแบบขนาดและรูปทรงขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อให้การตรวจจับข้อมูลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ส่วนการปรับตั้งอัตราการทำงานเพื่อให้มีความแม่นยำหรือเหมาะสมกับการใช้งานของแต่ละบุคคลนั้น สามารถกระทำได้ที่สกรูว์ปรับตั้งซึ่งอยู่ด้านหลังของตัวเรือน
หากมองในแง่ของการแสดงเวลาแล้ว EMC นับว่าเป็นนาฬิกาที่แสดงชั่วโมง นาที และวินาที ได้ธรรมดาที่สุด เพราะเป็นการแสดงค่าชั่วโมงกับนาทีด้วยเข็มสั้นกับเข็มยาวในวงหน้าปัดเดียวกัน กับแสดงวินาทีด้วยเข็มบนหน้าปัดแยกไปอีกวงหนึ่งเท่านั้น แม้การจัดวางตำแหน่งจะแปลกตาโดยเน้นให้วงหน้าปัดวินาทีมีขนาดใหญ่กว่าก็ตาม อีกทั้งยังมีการใช้เข็มแสดงกำลังสำรองในรูปแบบทั่วๆ ไปอีกด้วย ขณะที่เม็ดมะยมขนาดใหญ่กลับถูกจัดวางให้อยู่ที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา ซึ่งก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการใช้ขึ้นลานกลไกที่มีกำลังสำรองยาวนานถึง 80 ชั่วโมงแต่อย่างใด
เข็มในหน้าปัดด้านซ้ายบน ทำหน้าที่แสดงค่าอัตราความแม่นยำในการทำงานของกลไกได้ในช่วงระหว่าง -20 จนถึง +20 วินาทีต่อวัน, เข็มในหน้าปัดด้านขวาบน ทำหน้าที่แสดงวินาที, เข็มสั้นและเข็มยาวในหน้าปัดด้านขวาล่าง ทำหน้าที่แสดงชั่วโมงกับนาที และเข็มในหน้าปัดด้านซ้ายล่าง ทำหน้าที่แสดงกำลังสำรอง
ดังนั้นเมื่อมองจากดีไซน์โดยรวมแล้ว จะเห็นถึงรายละเอียดของการออกแบบในแต่ละส่วนอย่างชัดเจน ตั้งแต่การเล่นระดับและรูปทรงของกรอบมาตรแสดงผลต่างขนาดทั้งสี่หน้าปัด เส้นสันคมคายผสานส่วนโค้งของตัวเรือน ตลอดจนก้านของเครื่องกำเนิดพลังงานที่ออกแบบให้มีเส้นสันกลมกลืนไปกับตัวเรือนอย่างลงตัวพร้อมจุดล็อกบริเวณด้านล่างซึ่งผสานแขนกลให้แนบสนิทกับตัวเรือนอย่างงดงามสมกับเป็นนวัตกรรมและผลงานชิ้นเอกอีกหนึ่งชิ้นจากแบรนด์นาฬิกาแนวอินดี้แบรนด์นี้