Audemars Piguet Museum Pieces in Thailand
By: Dr. Pramote Rienjaroensuk
IAMWATCH : น่าจะนานมากแล้วที่ Audemars Piguet ไม่ได้มาจัดงานแสดงพิพิธภัณฑ์นาฬิกาที่ประเทศไทย ช่วยเล่าถึงที่มาของการจัดงานในครั้งนี้ด้วยครับ
Mr. Vivas : คุณอาจได้ยินเรื่องที่เรากำลังจะสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ของ Audemars Piguet ขึ้นเพื่อให้สามารถรองรับผู้คนและเห็นความเป็น AP ได้มากยิ่งขึ้น เราจึงต้องเตรียมการในการเก็บนาฬิกาเรือนพิเศษๆ ออกจากพิพิธภัณฑ์ของเรา และเห็นว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่นาฬิกาเหล่านี้จะได้ตระเวนและนำไปจัดแสดงตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือประเทศไทยในครั้งนี้ และเรื่องของพิพิธภัณฑ์นี้จะเป็นอีกส่วนที่ทำให้เราสามารถเห็นภาพของ AP ได้มากขึ้นในอีกหลายมุมมอง
IAMWATCH : อะไรคือหลายมุมมองที่คุณพูดถึง
Mr. Vivas : คือการเป็นพิพิธภัณฑ์ของเรา ไม่ได้เป็นแค่การเก็บของเก่าแล้วเอามาจัดแสดงเท่านั้น แต่เรายังมองไปถึงการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของช่างนาฬิกา งานประดิษฐ์ชิ้นต่างๆ รวมไปถึงประวัติของนาฬิกาเรือนต่างๆ ในอดีตอีกด้วย จึงเป็นที่มาของการรวบรวมเรื่องราวต่างๆ ไว้ จากการศึกษาเอกสารเก่าที่เราเก็บไว้ รวมไปถึงจากช่างนาฬิการุ่นก่อนๆ ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งทั้งหมดนี้เราใช้ทีมงานกว่า 10 คนและเวลากว่า 4 ปีในการรวบรวมเพื่อเป็นทั้งการอ้างอิงและศึกษาต่อสำหรับงานในอนาคต ซึ่งทำให้เรารู้ได้ว่าตั้งแต่ก่อนปี 1960 จนกระทั่งถึงปี 1978 Audemars Piguet ผลิตนาฬิกาข้อมือแบบคอมพลิเคชั่นออกสู่ตลาดเพียง 550 เรือนเท่านั้น ซึ่งน่าจะนับได้ว่าเป็นจำนวนที่น้อยมากยิ่งเมื่อเทียบกับจำนวนจริงที่ยังคงมีอยู่ในโลกจนถึงวันนี้
IAMWATCH : แล้วระบุได้หรือไม่ว่าคอมพลิเคชั่นแบบไหนมีการผลิตขึ้นกี่เรือน
Mr. Vivas : ชัดเจนมาก อย่างเช่นกลไกแบบมินิทรีพีทเตอร์ตั้งแต่ปี 1882 ถึงปี 1992 มี 35 เรือน หรือเพอเพทชวลคาเลนดาร์ 12 เรือน เป็นต้น
IAMWATCH : ว้าว.. ต้องขอโทษที่ถามซ้ำ คุณหมายถึงใน 100 ปี Audemars Piguet ผลิตนาฬิกาแบบมินิทรีพีทเตอร์ขึ้นแค่ 35 เรือน?
Mr. Vivas : ใช่ แล้วเราก็ประหลาดใจเช่นเดียวกันกับจำนวนเหล่านี้ และเรามีเรือนจริงหนึ่งเรือนให้คุณดูด้วยในงานแสดงครั้งนี้
IAMWATCH : ตัวเรือนค่อนข้างมีขนาดที่เล็ก และรูปทรงคล้ายกับนาฬิกาของแบรนด์อื่น
Mr. Vivas : ใช่ นี่คือมินิทรีพีทเตอร์สำหรับสุภาพบุรุษที่ผลิตขึ้นในปี 1929 และถูกขายไปในปี 1934 ดังนั้นตัวเรือนก็จะยังเล็กหน่อยตามสมัยนิยม แล้วก็อย่างที่คุณว่า เรากลับไปหาเอกสารเก่าและคิดว่ามีลักษณะเหมือนกันกับ Santos มากเลยทีเดียว แต่ยังไงก็ตาม สมัยนั้นนาฬิกาเหล่านี้จะถูกสร้างขึ้นเป็นเรือนพิเศษเพียงเรือนเดียวอยู่แล้ว และเราก็ยังวัดตามขนาดได้เท่ากันในทุกสัดส่วนกับเอกสารที่ทางเราเก็บไว้
IAMWATCH : นี่เป็นเพราะรหัสตัวเรือนและรหัสกลไกยังคงมีอยู่ครบถ้วนทั้งที่ตัวเรือน และเอกสารที่ทาง AP เก็บเอาไว้?
Mr. Vivas : ใช่ ต้องมีทั้งสองส่วนจึงจะสามารถย้อนกลับไปดูในรายละเอียดได้ และเราก็ได้รายละเอียดเยอะทีเดียว อย่างเช่นว่าเรือนนี้เจ้าของชาวอเมริกันซื้อไปจากร้านนาฬิกาดังในสวิสเซอร์แลนด์ และเรือนนี้ก็นับว่าโชคดีที่เราได้มาจากการประมูลในสภาพที่ยังคงดีอยู่มากหลังจากการใช้งาน
IAMWATCH : ดังนั้นในยุคนั้น AP ทำกลไกเองทั้งหมดเลยหรือเปล่า?
Mr. Vivas : เราอยากบอกอย่างนั้น (หัวเราะ) แต่เราคิดว่าเราบอกเรื่องจริงๆ ดีกว่า เพราะแน่นอนว่าในยุคนั้น บางชิ้นส่วนเราก็ต้องใช้ผู้ที่ชำนาญการด้านๆ นั้นๆ มาทำให้ ดังนั้นหลายเรือน บางชิ้นส่วนจึงเป็นการร่วมมือกันกับซัพพลายเออร์ในการผลิตมาให้เรามาทำงานของเราต่อไปได้ อย่างเช่นแท่นเครื่องเป็นต้น
IAMWATCH : นอกจากเรื่องของกลไกแล้ว เรื่องความสวยงามภายนอกยังสามารถนำมาศึกษาและพัฒนาต่อได้หรือไม่
Mr. Vivas : อย่างที่บอกไป คือเราได้ข้อมูลที่จะสามารถนำไปแชร์ได้ในด้านต่างๆ ซึ่งด้านหนึ่งที่สำคัญคือการนำไปพัฒนาต่อ อย่างเช่นนาฬิกาเรือนนี้ที่มีรูปแบบที่แตกต่างไป ทุกอย่างถูกปิดไว้หมด เหลือแค่ตัวเลขแสดงเวลาแค่นั้น และสิ่งที่พิเศษของนาฬิกาเรือนนี้คือความสวยงามของตัวเรือนในส่วนที่ถูกปกปิดไว้อย่างน่าสนใจ เรานำนาฬิกาพวกนี้มาศึกษาและพัฒนาต่อไปสำหรับนาฬิการุ่นต่อๆ ไปของเรา อย่างที่คุณอาจจะได้เห็นในอนาคตอันใกล้ก็เป็นไปได้