วินเทจวันละนิด วันนี้เสนอตอน Mido Multi-Center Chrono
By: Rittidej Mohprasit
ยุค 40s-50s นี่เป็นยุคทองของนาฬิกาโครโนกราฟโดยแท้ แบรนด์ต่อหลายแบรนด์ ต่างก็สรรค์สร้างงานระดับมาสเตอร์พีซไว้เยอะแยะไปหมด และ Mido ก็เช่นกัน แม้ว่าแบรนด์นี้ในปัจจุบันอาจไม่ถือว่าเป็นแบรนด์ระดับสูงมาก แต่ก็มีอดีตที่น่าสนใจมากทีเดียว วันนี้ผมเลยขอเจาะไปที่เรือนที่มีความโดดเด่นเรือนหนึ่งเลยทีเดียว อย่างเช่น Multi-Center Chrono เรือนนี้ครับ
ปกตินาฬิกาโครโนกราฟจะมีหน้าตาที่เราคุ้นเคยกัน คือมีวงโครโนกราฟเพิ่มขึ้นมาอย่างน้อยหนึ่งวง (และส่วนใหญ่จะมีอย่างน้อยสองวง) ทำให้นาฬิกาฟังก์ชั่นนี้หน้าตาดูหล่อและสปอร์ต แต่ผลอีกด้านหนึ่งก็กลายเป็นทำให้หน้าตาค่อนข้างดูยุ่งๆ และวุ่นวาย อ่านค่ายากไปพร้อมกันด้วย
ด้วยเหตุนี้เอง Mido จึงสร้าง Multi-Center Chrono ขึ้นมา โดยจัดวางเข็มโครโนกราฟวินาที (Sweep Second) และเข็มโครโนกราฟนาที (Minute Counter) ไว้ทับซ้อนกันตรงกลางหน้าปัด โดยเมื่อกดปุ่มโครโนกราฟ เข็มทั้งสองจะแยกตัวออกจากกัน (เพราะเข็มกลางมีหลายเข็ม เลยใช้ชื่อ Multi Center) การใช้กลไกโครโนกราฟแบบนี้ ทำให้ Multi-Center Chrono มีหน้าปัดที่อ่านง่ายและดูเรียบร้อยขึ้น แต่ยังคงความสามารถด้านการจับเวลาได้เหมือนปกติ แถมเวลากดจับเวลาแล้วถ่ายรูปออกมา ยังมองดูคล้ายนาฬิกาแบบไฮคอมพลิเคชั่นอย่างสปลิท-เซคคั่นโครโนกราฟอีกต่างหาก (แต่ค่าตัวถูกกว่ามาก)
(ภาพจาก www.ssongwatches.com)
กลไกที่ว่านี้ก็คือ Mido Calibre 1300 ซึ่งเป็นการนำกลไก Valjoux VZ มาปรับแต่งตำแหน่งของเข็ม ตัว Valjoux VZ นี้ก็ไม่ใช่เครื่องใหม่อะไร เพราะมีมาตั้งแต่ยุค 30s แล้ว และถูกใช้อย่างแพร่หลายในหลายแบรนด์อย่างเช่น Patek Philippe และ Audemars Piguet อีกด้วย
(เปรียบเทียบระหว่าง Valjoux VZ และ Mido Caliber 1300 ภาพจาก A la Clinique Horlogere)
แต่ที่น่าสนใจมากๆ อีกอย่างก็คือ รูปร่างของตัวเรือนที่ผลิตโดย Freres Borgel FB (ซึ่งต่อมาก็คือ Taubert & Fils) ซึ่งก็เป็นผู้ผลิตตัวเรือนให้กับนาฬิกาโครโนกราฟในตำนานอย่าง Patek Philippe Ref. 1463 (ที่มีชื่อเล่นว่า Tasti Tondi = Rounded Pushers = เจ้าปุ่มกลม) ดังนั้นรูปร่างตัวเรือนของ Mido Multi-Center Chrono จึงเหมือนกับ Patek Tasti Tondi เป็นอย่างมาก แม้กระทั่งปุ่มโครโนกราฟกลมๆ ที่มีรูปใบพัด (Turbine Pushers) ก็ยังเหมือนกันอีกด้วย
(Patek Philippe Ref. 1463 “Tasti Tondi” ภาพจาก www.onlyvintage.com)
นี่เป็นเหตุหนึ่งที่ผมมักบอกเสมอว่านาฬิกาดีๆ ที่น่าสนใจ ยังมีให้เราค้นหา (และเสียตังค์) อีกเยอะเลย ดังนั้นขอให้ทุกๆ ท่านสนุกสนานกับการสะสมนาฬิกาเรือนที่ตั้งใจกันไว้นะครับ