ร่วมฉลองวาระ 25 ปีของ Royal Oak Offshore ด้วยการย้อนรำลึกถึงรุ่นเด่นๆ จากอดีตจวบจนปัจจุบัน

 

ปี 2018 นี้ นับเป็นเวลาถึง 25 ปีแล้วที่ Royal Oak Offshore (รอยัล โอ๊ค ออฟชอร์) ตระกูลนาฬิกาสปอร์ตหรูเรือนโตของ AUDEMARS PIGUET (โอเดอมาร์ ปิเกต์) ได้ออกมาโลดแล่นเป็นคู่ขวัญบนข้อมือของเอกบุรุษ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็มีการผลิตรุ่นเด่นๆ ขึ้นมามากมาย และในโอกาสนี้เราก็ขอนำรุ่นเด่นๆ ที่ยังคงเป็นที่ถวิลหาของนักสะสมทั่วโลก มาย้อนความให้ชมและทำความรู้จักกันอีกครั้ง โดยจะเริ่มตั้งแต่ Royal Oak Offshore รุ่นแรกที่เปิดตัวออกมาในปี 1993 ไล่เรียงไปจนถึงรุ่นใหม่ล่าสุดปี 2018

 

Royal Oak Offshore

Ref. 25721ST.OO.1000.ST.01

 FIRST ROO

FIRST ROYAL OAK OFFSHORE 5

Offshore เรือนสตีลสายสตีล กลไกอัตโนมัติฟังก์ชั่นโครโนกราฟ คาลิเบอร์ 2126/2840 หน้าปัดสีน้ำเงิน รุ่นนี้ คือต้นตระกูลของ Royal Oak Offshore ที่ทาง AP เปิดตัวอย่างเป็นทางการที่งานบาเซิลเวิลด์เมื่อปี 1993 โดยในขณะนั้นก็ถือว่าเป็นความแปลกใหม่ในวงการพอสมควร เพราะตัวเรือนของมันนั้นใหญ่ถึง 42 มม. ซึ่งเรือนโตกว่าตระกูล Royal Oak เฉยๆ อย่างเห็นได้ชัด ที่นอกจากจะเรียกว่ามีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่โตกว่านาฬิกาทั่วไปในสมัยนั้นแล้ว ความหนาบึกบึนของมันก็เป็นอะไรที่คนพูดถึงกันมาก ประมาณว่ามันจะใหญ่โตเกินไปมั้ยเนี่ย แต่หลังจากนั้นนาฬิกาของแบรนด์อื่นๆ ก็เริ่มทำขนาดใหญ่โตขึ้นตามมาเป็นแถว แถมต่อมาก็ยังมีรุ่นที่ขยายใหญ่โตมากขึ้นกว่านั้นทั้ง Offshore และนาฬิกาของแบรนด์อื่นๆ ก่อนที่จะเริ่มลดขนาดกันลงมาอย่างในยุคปัจจุบัน เพราะได้ตระหนักแล้วว่า พวกมันใหญ่เกินไปกว่าที่จะใส่สวยบนข้อมือ

 

 FIRST ROYAL OAK OFFSHORE 4

 

 

Royal Oak Offshore Perpetual Calendar

Ref. 25854ST.OO.1150ST.01

ROYAL OAK OFFSHORE Perpetual Calendar 1

 

ในปี 1997 ทาง AP ได้เปิดตัวนาฬิกา Royal Oak Offshore แบบฟังก์ชั่นโครโนกราฟพร้อมฟังก์ชั่นเพอร์เพทชวลคาเลนดาร์ ออกมาสู่ตลาดโดยเป็นแบบตัวเรือนและสายวัสดุสตีล เพื่อสนองความต้องการของผู้ที่รักนาฬิกาแนวสปอร์ตแต่ชอบให้มีฟังก์ชั่นอะไรที่เหนือธรรมดา นาฬิการุ่นนี้ใช้กลไกอัตโนมัติ คาลิเบอร์ 2226/2839 ซึ่งฟังก์ชั่นมูนเฟสของมันนั้นกว่าที่จะต้องมาปรับตั้งใหม่ก็เมื่อถึงปี 2100 กันเลย (คงต้องให้หลานเป็นผู้นำไปปรับตั้งแล้วล่ะครับ)

 

 

Royal Oak Offshore ‘End of Days’

Ref. 25770SN.O.0001KE.01

ROYAL OAK OFFSHORE End of Days 1

 

ในปี 1999 นับเป็นปีสำคัญของตระกูล Royal Oak Offshore เพราะเป็นปีที่ AP เปิดตัว End of Days รุ่นนี้ออกมาซึ่งมีสถานะความเป็นครั้งแรกถึง 3 ประการด้วยกัน คือ 1) เป็นนาฬิกาแบบ ลิมิเต็ด เอดิชั่น ผลิตจำนวนจำกัด รุ่นแรกของตระกูล Offshore 2) เป็นนาฬิการุ่นแรกของ AP ที่ใช้ตัวเรือนสตีลเคลือบสีดำ และ 3) เป็นนาฬิการุ่นแรกของตระกูล Offshore ที่ใช้หลักชั่วโมงเป็นตัวเลขอารบิก

 

ROYAL OAK OFFSHORE End of Days 2

 

สำหรับชื่อ End of Days นั้น มีที่มาจากการที่ อาโนลด์ ชวาเซเนกเกอร์ นักแสดงผู้โด่งดังสุดๆ ในยุคนั้น สวมใส่นาฬิการุ่นนี้เข้าฉากในภาพยนตร์เรื่อง End of Days และเขาผู้นี้ก็มีส่วนร่วมในการออกแบบลักษณะการตกแต่งของนาฬิการุ่นนี้ด้วย นาฬิการุ่นนี้ถูกผลิตขึ้นเพียงแค่ 500 เรือน และมีการนำรายได้บางส่วนจากการจำหน่ายนาฬิการุ่นนี้ จำนวนกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปสนับสนุนองค์กรการกุศล After School All Stars ด้วย

 

 

Royal Oak Offshore ‘Arnold Schwarzenegger’

Ref. 26007BA.OO.D088CR.01

ROYAL OAK OFFSHORE Arnold Schwarzenegger 2

ประจวบเหมาะกันพอดีโดยไม่รู้ว่าวางแผนไว้ล่วงหน้ากันเลยหรือเปล่า เพราะในปี 2003 ที่ อาโนลด์ ชวาเซเนกเกอร์ ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ทาง AP ก็ได้ออกนาฬิกา Offshore ตัวเรือนเยลโลว์โกลด์ พร้อมสลักลายเซ็นของ ชวาเซเนกเกอร์ ไว้บนฝาหลัง เอดิชั่นนี้มาสู่ตลาดโดยเป็น ลิมิเต็ด เอดิชั่น ที่ผลิตขึ้นแบบจำนวนจำกัดเพียง 400 เรือน

 

 

Royal Oak Offshore 'T3'

Ref. 25863TI.OO.A001CU.01

ROYAL OAK OFFSHORE T3 1

 

ในปี 2004 ก็เป็นอีกครั้งที่ทาง AP ออกนาฬิกา Offshore ลิมิเต็ด เอดิชั่น ที่เกี่ยวเนื่องกับ ชวาเซเนกเกอร์ โดยคราวนี้เป็นการเปิดตัวพร้อมกับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ Terminator 3: Rise of the Machines หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ คนเหล็ก 3 นั่นเอง นาฬิกาเอดิชั่นนี้ใช้ตัวเรือนวัสดุไทเทเนี่ยม ที่มีขนาดใหญ่โตถึง 48 มม. มาพร้อมการ์ด 3 ชิ้นสำหรับปกป้องเม็ดมะยมและปุ่มกดจากการกระทบกระแทก และมีการสลักโลโก้ T3 ขนาดใหญ่ลงบนฝาหลัง โดยจำกัดจำนวนการผลิตไว้ที่ 1,000 เรือน

 

 

Royal Oak Offshore ‘Rubens Barrichello’

Ref. 26071IK.OO.D002CA.01

 ROO Ruben

นาฬิกาลิมิเต็ด เอดิชั่น รุ่นเด่นของ Offshore ประจำปี 2005 ก็คือ เอดิชั่นที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ รูเบนส์ บาร์ริเคลโล อดีตนักแข่งรถฟอร์มูล่าวันชาวบราซิล โดยผลิตขึ้นในจำนวนจำกัดแค่เพียง 150 เรือนเท่านั้น เอกลักษณ์เด่นของเอดิชั่นนี้ก็คือ สีตกแต่งบนวงเคาน์เตอร์ของหน้าปัดที่ตกแต่งด้วยสีเหลือง สีน้ำเงิน และสีเขียว ซึ่งเป็นสามสีหลักของธงชาติบราซิล ใช้หลักนาทีเลขอารบิกขนาดใหญ่แทนหลักชั่วโมง ใช้ตัวเลขขนาดใหญ่พร้อมสเกลสไตล์มาตรวัดของรถ และใช้ตัวเรือนวัสดุไทเทเนี่ยมที่มีน้ำหนักเบา

 

 

Royal Oak Offshore ‘Safari’

Ref. 26170ST.OO.D091CR.01

ROYAL OAK OFFSHORE Safari

 

เอดิชั่น Safari เปิดตัวออกมาในปี 2007 โดยถือเป็นครั้งแรกที่นาฬิกา Offshore ถูกจับคู่มากับสายหนังจระเข้ ตัวเรือนของเอดิชั่นนี้เป็นวัสดุสตีล ขนาด 42 มม. ส่วนสายหนังที่ใช้นั้นเป็นสีน้ำตาลและเป็นส่วนของฮอร์นแบ็คซึ่งมีสันตรงกลางอันโดดเด่นเป็นจุดนำสายตา มอบความคลาสสิกแบบธรรมชาติที่สอดคล้องกับชื่อ Safari เป็นอย่างดี

 

 

Royal Oak Offshore ‘Volcano’

Ref. 26170ST.OO.D101CR.01

ROYAL OAK OFFSHORE Volcano

 

มาถึงปี 2008 AP ก็นำสายหนังจระเข้ส่วนฮอร์นแบ็คมาใช้กับเอดิชั่นใหม่ของ Offshore อีก โดยคราวนี้ใช้เป็นสีดำและเย็บตะเข็บด้วยด้ายสีส้ม เพื่อให้เข้ากับพื้นหน้าปัดสีดำซึ่งมีสีส้มอยู่บนวงขอบหน้าปัด เลขหลักชั่วโมง และเข็ม การใช้สีส้มร่วมกับสีดำนี้ ทาง AP บอกว่าเป็นแรงบันดาลใจในการตกแต่งที่ได้มาจากการปะทุของภูเขาไฟ และเป็นที่มาของชื่อ Volcano นั่นเอง

 

 

Royal Oak Offshore ‘Singapore Race’

Ref. 26190OS.OO.D003CU.01

ROYAL OAK OFFSHORE Singapore Race

 

Offshore เอดิชั่นนี้เปิดตัวออกมาในปี 2008 เพื่อเป็นเกียรติแก่การแข่งขันรถฟอร์มูล่าวัน ณ ประเทศสิงคโปร์ ดีไซน์โทนสีแดง ดำ เงิน อันเป็นสีที่สื่อถึงมอเตอร์สปอร์ตจึงถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ ทั้งยังใช้ตัวเรือนวัสดุคาร์บอนที่เป็นวัสดุชนิดเดียวกับชิ้นส่วนของรถแข่ง และใช้สายหนังสีดำฉลุรูพรุนพร้อมเย็บตะเข็บคู่ด้วยด้ายสีแดงอันเป็นสไตล์เดียวกับถุงมือของนักแข่งด้วย

 

 

Royal Oak Offshore ‘Bumblebee’

Ref. 26176FO.OO.D101CR.01

ROO Bumblebee 

มาถึงปี 2009 AP ก็เปิดตัว Offshore เอดิชั่นที่เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ บัมเบิลบี ออกมา โดยเป็นชื่อที่คนรักนาฬิกาตั้งให้เพราะสีเหลืองที่ใช้ในการตกแต่งบนหน้าปัดและสายสีดำทะมึนมันช่างชวนให้นึกถึงคาแรกเตอร์ของ บัมเบิลบี หุ่นยนต์ตัวเอกจากภาพยนตร์เรื่อง ทรานส์ฟอร์เมอร์ ที่โด่งดังสุดๆ ณ ขณะนั้นเสียเหลือเกิน นาฬิกาเอดิชั่นนี้มาในโทนสีดำด้วยตัวเรือนวัสดุคาร์บอน ขอบตัวเรือนวัสดุเซรามิก และสายหนังจระเข้ส่วนฮอร์นแบ็ค

 

 

Royal Oak Offshore ‘Ginza’

Ref. 26205AU.OO.D002CR.01

ROO Ginza 

นาฬิกา ลิมิเต็ด เอดิชั่น ผลิตจำนวนจำกัดแค่ 200 เรือนเอดิชั่นนี้ถูกสร้างขึ้นในปี 2011 โดยเป็นการนำแรงบันดาลใจในการรังสรรค์การตกแต่งมาจากย่านกินซ่า อันเป็นที่ตั้งของบูติก AP ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จุดเด่นอยู่ที่การประดับเพชรลงบนหลักชั่วโมงเลข 7 ซึ่งดูโดดเด่นบนโทนสีดำของนาฬิกา ตัวเรือนของเอดิชั่นนี้เป็นวัสดุคาร์บอน และใช้ขอบตัวเรือนเป็นเซรามิก สวมคู่มากับสายหนังจระเข้สีดำสไตล์เรียบหรู

 

 

Royal Oak Offshore ‘Pride of Siam’

Ref. 26172SO.OO.D202CR.01

 ROO Pride of Siam

นาฬิกา ลิมิเต็ด เอดิชั่น ซึ่งผลิตจำนวนจำกัดแค่ 100 เรือนเอดิชั่นนี้ สร้างสรรค์ขึ้นมาเมื่อปี 2013 โดยเลือกใช้สีขาวเป็นโทนหลักทั้งขอบตัวเรือนเซรามิก สายหนังจระเข้ส่วนฮอร์นแบ็ค ปุ่มกด และเม็ดมะยม ซึ่งเป็นสื่อถึงช้างเผือก อันเป็นพาหนะที่พระมหากษัตริย์สยามในสมัยอดีตทรงในการทำศึก โดยมีการสลักนูนบนฝาหลังเป็นภาพช้างเผือกที่นำรูปแบบมาจากภาพช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนพื้นแดง ซึ่งอยู่บนธงราชการของประเทศไทยในอดีต ร่วมด้วยข้อความ PRIDE OF SIAM บ่งบอกถึงความเป็นสยามประเทศ

 

 

Royal Oak Offshore ‘Pride of Indonesia’

Ref. 26179IR.OO.A005CR.01

 

ROO Pride of Indonesia 

 

นาฬิกา ลิมิเต็ด เอดิชั่น เอดิชั่นนี้ผลิตขึ้นในจำนวนจำกัดแค่ 100 เรือน เมื่อปี 2015 เพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกับ Pride of Siam นั่นเอง โดยสำหรับเอดิชั่นนี้จะใช้ตัวเรือนไทเทเนี่ยม ตกแต่งหน้าปัดด้วยสีทอง และมีฝาหลังที่ถูกสลักเป็นตราประจำแผ่นดินของอินโดนีเซีย

 

 

Royal Oak Offshore รุ่นใหม่ปี 2018

 

มาถึงปี 2018 อันเป็นวาระครบรอบ 25 ปีแห่งการถือกำเนิดนาฬิกา Royal Oak Offshore ทาง AP จึงได้สร้างสรรค์นาฬิกา Offshore ขึ้นมาอีก 2 รุ่น คือ Royal Oak Offshore Tourbillon Chronograph กับ Royal Oak Offshore Selfwinding Chronograph ซึ่ง 2 รุ่นนี้มีความแตกต่างกันคนละขั้วระหว่างความสมัยใหม่สุดๆ ดั่งทายาทคนล่าสุด กับความดั้งเดิมดุจบรรพบุรุษต้นตระกูล

 

Royal Oak Offshore Tourbillon Chronograph

Ref. 26421OR.OO.A002CA.01, Ref. 26421ST.OO.A002CA.01

 

ROO Tourbillon Chronograph PG ST

 

Offshore รุ่นนี้ เป็นนาฬิกา ลิมิเต็ด เอดิชั่น ที่ผลิตขึ้นเพื่อนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ที่อาจเป็นการบอกถึงอนาคตของตระกูล โดยนอกจากจะใช้เครื่องอินเฮ้าส์ระดับสูงที่ออกแบบขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นกลไกไขลานโครโนกราฟจับเวลา 30 นาที คาลิเบอร์ 2947 ความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง ที่แม่นยำด้วยการควบคุมของตูร์บิยอง และมีกำลังสำรองที่ยาวนานถึง 173 ชั่วโมง หรือเท่ากับกว่า 7 วันแล้ว ยังออกแบบให้โครงสร้างเป็นแบบสเกเลตันซึ่งออกแบบท่อนบริดจ์มาเป็นแนวสถาปัตย์ทรงแท่งกระจายตัวอย่างสมดุลย์ เพื่อให้เข้ากับดีไซน์ของขอบตัวเรือนที่มีความหนาลดลงจากลักษณะเดิมของ Offshore ร่วมด้วยโครงหน้าปัดวงแหวนสีดำแบบลอยตัว ทั้งหมดนี้สร้างอารมณ์การเป็นนาฬิกาจักรกลสไตล์โมเดิร์นได้อย่างมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร โดยคอนเซ็ปต์ก็คือ การออกแบบลักษณะดีไซน์ของกลไกให้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญทางด้านดีไซน์ของนาฬิกาไปในตัว

 

ROO Tourbillon Chronograph Steel 2

 

ROO Tourbillon Chronograph Steel 3

 

ตัวเรือนของรุ่นนี้เป็นขนาด 45 มม. ผนึกด้านหน้าและด้านหลังด้วยกระจกแซฟไฟร์เคลือบสารป้องกันแสงสะท้อน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ Offshore ใช้ตัวเรือนไซส์นี้ ทั้งยังกันน้ำได้ถึงระดับ 100 เมตร และใช้เม็ดมะยมกับปุ่มกดวัสดุเซรามิกสีดำ ทาง AP ผลิตนาฬิการุ่นนี้ขึ้นมา 2 เอดิชั่นคือ ตัวเรือนพิ้งค์โกลด์ กับตัวเรือนสตีลพร้อมการ์ดไทเทเนี่ยมสำหรับป้องกันปุ่มกด โดยมีเข็มและท่อนบริดจ์เป็นโทนเดียวกับตัวเรือน ทั้งคู่มาพร้อมสายยางสีดำ ผลิตขึ้นในจำนวนจำกัดแบบละ 50 เรือน

 

ROO Tourbillon Chronograph PG 3

 

ROO Tourbillon Chronograph PG 2

 

 ROO Tourbillon Chronograph PG ST 2

 

Royal Oak Offshore Selfwinding Chronograph

Ref. 26237ST.OO.1000ST.01

ROO selfwinding chronograph 2018

 

เพื่อเป็นการแสดงถึงความรำลึกต่อต้นตระกูล Offshore รุ่นนี้จึงถูกผลิตขึ้นมาโดยถอดแบบมาจากรุ่นต้นฉบับสมัยปี 1993 ในแทบจะทุกรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของตัวเรือนสตีล ขนาด 42 มม. สายสตีล เม็ดมะยมกับปุ่มกดหุ้มยางสีน้ำเงิน หน้าปัดสีน้ำเงินลาย ‘เปอตีท์ ตาปิสเซอรี่’ พร้อมเคาน์เตอร์สีน้ำเงินสามวง วงขอบหน้าปัดสีน้ำเงินพร้อมสเกลทาคีมิเตอร์ หน้าต่างวันที่ ชิ้นหลักชั่วโมงกับเข็มไวท์โกลด์เคลือบสารเรืองแสง ฝาหลังแบบทึบที่สลักด้วยโลโก้ข้อความ ‘Royal Oak Offshore’ ร่วมด้วยข้อความ ‘AUTOMATIC’ และใช้กลไกอัตโนมัติ ฟังก์ชั่นโครโนกราฟจับเวลา 12 ชั่วโมง พร้อมฟังก์ชั่นวันที่ แต่กลไกที่ใช้กับรุ่นใหม่นี้จะเป็นเครื่องอินเฮ้าส์ คาลิเบอร์ 3126/3840 โรเตอร์ทองคำ 22 เค ความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 50 ชั่วโมง บรรจุในตัวเรือนที่มีความหนา 14.4 มม. ผนึกกระจกหน้าปัดแซฟไฟร์เคลือบสารป้องกันแสงสะท้อน ซึ่งสามารถกันน้ำได้ 100 เมตร โดยเป็นนาฬิกาแบบ ‘บูติก เอ็กซ์คลูซีฟ’ ซึ่งจะมีจำหน่ายเฉพาะที่ โอเดอมาร์ ปิเกต์ บูติก เท่านั้น โดยในประเทศไทยมีเพียงแห่งเดียว ตั้งอยู่ที่ชั้นจี ของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเอ็มบาสซี

 

ROO selfwinding chronograph 2018 2

 

ROO selfwinding chronograph 2018 1

 

ROO selfwinding chronograph 2018 5

เครื่องอินเฮ้าส์ คาลิเบอร์ 3126/3840 โรเตอร์ทองคำ 22 เค

 

ROO Compared

 

เรียกได้ว่าแทบจะเหมือนกันเปี๊ยบเลยทีเดียวสำหรับ Royal Oak Offshore Ref. 25721ST.OO.1000.ST.01 เรือนซ้าย ปี 1993 กับ Ref. 26237ST.OO.1000ST.01 เรือนขวา ปี 2018

 

  

By: Viracharn T.