Casquette 2.0 Titanium and Gold, Part I
GIRARD-PERREGAUX กับความพยายามในการสร้างความพึงพอใจ ให้กับคนรักนาฬิกามาโดยตลอด พร้อมการสร้างสรรค์นาฬิกาเพื่อมอบความสุขให้กับทุกคน จากในปี 2022 ที่ทางแบรนด์ได้รับคำขอซื้อจำนวนมากเพิ่มเติมกว่าจำนวนการผลิต ทางแบรนด์จึงได้เปิดตัวนาฬิการุ่น Casquette 2.0 อีกครั้งกับนาฬิการุ่นที่เป็นการคืนชีพ นาฬิกาที่นักสะสมชื่นชอบจากยุค 70s ซึ่งก่อนหน้านี้จะมากับวัสดุเซรามิคสีดำและไทเทเนียม และ Casquette 2.0 รุ่นใหม่ล่าสุดในขณะนี้ กับวัสดุไทเทเนียมที่มีโลโก้ GP ผนวกเข้าเยลโลว์โกลด์ของปุ่มกดที่เข้ากัน เพื่อให้ผู้เป็น 'เจ้าของนาฬิกา GP' มีสิทธิ์พิเศษในการเข้าถึงนาฬิการุ่นล่าสุดนี้ได้
โดย GIRARD-PERREGAUX ฉลองจิตวิญญาณแห่งการสร้างสรรค์ ด้วยการตีความในดีไซน์ของนาฬิการุ่น Casquette ใหม่ที่เป็นการตอกย้ำประเพณีของการเล่น กับรูปทรงอันเป็นเอกลักษณ์ที่มีมายาวนาน นาฬิกาเรือนนี้สร้างขึ้นเพื่อยกย่องการออกแบบ ที่ทั้งล้ำสมัยและโดดเด่นซึ่งกำหนดนิยาม ของการผลิตมานานหลายทศวรรษ เช่นเดียวกันกับกลไกแบบทรีบริจด์ในตำนานหรือนาฬิการุ่น Laureato อันเป็นเอกลักษณ์ รวมไปถึง Deep Diver ที่มีรูปทรงหลากหลายซึ่ง GIRARD-PERREGAUX ยังคงแสดงให้เห็นถึงการกำหนดอนาคตของงานออกแบบ ในขณะเดียวกันก็เป็นการมอบความสุข ให้กับนักสะสมและผู้ที่ชื่นชอบไปด้วยพร้อมกัน
จากในปี 1971 ที่ GIRARD-PERREGAUX ได้เปิดตัวนาฬิกากลไกควอทซ์ที่ผลิตขึ้นเอง เป็นเรือนแรกของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมการทำงานที่ความถี่ 32,768 เฮริท์ซที่ถูกกำหนดขึ้นโดย GIRARD-PERREGAUX จนกระทั่งต่อมาได้ถูกใช้เป็นมาตรฐานสากล สำหรับความถี่ในการทำงานของกลไกควอท์ซ โดยแบตเตอรี่ภายในจะส่งกระแสไฟฟ้า ผ่านผลึกควอท์ซที่มีขนาดเล็ก และทำให้เกิดการสั่นสะเทือนพร้อมช่วย ให้กลายเป็นการควบคุมการแสดงค่าเวลาได้ ซึ่ง ณ เวลานั้น กลไกควอท์ซได้รับการพิจารณาอย่างกว้างขวาง ถึงการเป็นอนาคตของวงการนาฬิกาโลก เนื่องจากความแม่นยำในการแสดงค่าเวลาอันโดดเด่น
จนกระทั่งในอีกหนึ่งหรือสองปีต่อมา จอแสดงผลแบบแอลอีดีก็ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยทั้งแบรนด์คอมพิวเตอร์และแบรนด์นาฬิกา ต่างยอมรับว่าเป็นเทคโนโลยีล้ำสมัยในขณะนั้น ซึ่งเข็มแสดงค่าเวลาชั่วโมงและนาทีที่มักจะพบ ในนาฬิกาแบบจักรกลดั้งเดิมถูกแทนที่ ด้วยตัวเลขอารบิคสีแดงสด ซึ่งมักจะมีชีวิตขึ้นมาได้ด้วยการกดปุ่มลงไป โดยสิ่งที่น่าสนใจก็คือจอแสดงผลแอลอีดีในยุคแรกๆ มักจะอยู่ในนาฬิกาที่มีตัวเรือนทรงกลม ซึ่งเป็นรูปทรงตามแบบฉบับทั่วไป ทำให้สามารถแสดงผลค่าต่างๆ ได้ลดน้อยลง ซึ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไปในปี 1976 เมื่อ GIRARD-PERREGAUX มีการเปิดตัวนาฬิการุ่นใหม่ที่โดดเด่นและน่าสนใจ
ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันในชื่อเรียก Casquette จากการเปิดตัวในช่วงเวลา ที่โลกกำลังหมกมุ่นอยู่กับภาพยนตร์ไซไฟเรื่องดัง พร้อมรูปลักษณ์อันล้ำสมัยและการออกแบบที่เฉียบคมสอดคล้องกับความสนใจของสาธารณชน ในเรื่องของยานอวกาศและการเดินทางข้ามเวลากับจอแสดงผลทรงท่ออันร่วมสมัย ที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกควอท์ซอินเฮ้าส์ของ GIRARD-PERREGAUX และตัวเรือนที่มีรูปทรงเพรียวบางอันโดดเด่น พร้อมลุคที่แสนแปลกตาที่ทำให้กลายเป็นงานปฏิวัติวงการ และเช่นเดียวกันกับ Laureato ที่ชื่อ Casquette มาจากชุมชนนักสะสมนาฬิกาที่เรียกขานกัน และได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากแบรนด์ในเวลาต่อมา
ที่นับตั้งแต่การก่อตั้ง GIRARD-PERREGAUX ก็มีส่วนร่วมกันกับนักสะสมนาฬิกามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในบางครั้งการผลิตนาฬิกา ในแบบสั่งทำพิเศษเพื่อตอบสนองความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นส่วนบุคคลหรือส่วนองค์กร แนวทางนี้เองที่หยั่งรากลึกไปในปรัชญาของแบรนด์ กับภารกิจในการมอบความสุขผ่านนาฬิกา และให้ลูกค้าเป็นจุดสนใจของทุกสิ่งที่ฝ่ายผลิตต้องทำ โดยแบรนด์มักจะพบปะกับนักสะสมด้วยตนเอง ระหว่างกิจกรรมหรือการเยี่ยมชมโรงงาน พร้อมทั้งมีส่วนร่วมกับชุมชนคนรักนาฬิกา อย่างแข็งขันผ่านทั้งช่องทางโซเชียลมีเดียหรือในกิจกรรมต่างๆ ของ GIRARD-PERREGAUX ที่มีอยู่ทั่วโลกเป็นระยะๆ ตลอดมา
กรุณาติดตามตอนต่อในครั้งต่อไป