จาก BRAND ผลิตภัณฑ์หนึ่ง สู่ BRAND ในอีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง
By Dr. Attawoot Papangkorn
CHANEL แบรนด์แฟชั่นระดับสูงที่โด่งดังไปทั่วโลก ได้เปิดตัวนาฬิการุ่นแรกของตัวเองในปี 1987 โดยมีชื่อคอลเลคชั่นว่า Premièr ซึ่งตัวเรือนมีรูปทรงคล้ายฝาของขวดน้ำหอม CHANEL N°5 และ Place Vandôme สถานที่อันโด่งดังที่เป็นหนึ่งในที่มาของแบรนด์ นาฬิกาตระกูลนี้จึงเป็นเครื่องบอกเวลาและเครื่องประดับไปพร้อมๆ กันได้อย่างกลมกลืน อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องย้ำก็คือ นาฬิกาจาก CHANEL ถูกคิดค้น พัฒนา และผลิตโดย CHANEL เอง จึงพูดได้ว่า นาฬิกาทุกเรือนต่างเป็นผลงานจากฝีมือของ CHANEL อย่างแท้จริง ไม่มีการจ้างผู้อื่นผลิตให้เหมือนกับแบรนด์ที่มาจากวงการแฟชั่นหลายๆ แบรนด์ โดยในปี 2000 CHANEL ได้นำเสนอสิ่งแปลกใหม่ในวงการด้วยนาฬิกาตระกูล J12 ซึ่งทั้งตัวเรือนและสายผลิตขึ้นจากวัสดุเซรามิคสีดำ และตามมาด้วยเซรามิกสีขาวในปี 2003 สร้างความสบายยามสวมใส่แตกต่างจากวัสดุโลหะทั่วไป ห้าปีหลังจากนั้น CHANEL ก็สะเทือนวงการนาฬิกาอีกครั้งด้วยนาฬิกา J12 Tourbillon ที่ใช้กลไกตูร์บิยอง และ J12 Mysterious Retrograde ที่แสดงเวลาแบบเรโทรเกรด ที่ทำให้ CHANEL ผันตัวเองเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตนาฬิการะดับสูงอย่างเต็มตัวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
LOUIS VUITTON ได้ก้าวเข้าสู่วงการเครื่องบอกเวลามาตั้งแต่ปี 2002 โดยเริ่มต้นจากรุ่น Tambour Chronograph ที่ขับเคลื่อนด้วยกลไก LV277 ซึ่งเป็นนาฬิกาจับเวลาที่มีความเที่ยงตรงระดับโครโนมิเตอร์ นอกจากจะเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้แก่วงการนาฬิกาในหมู่แฟชั่นระดับสูงแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ LOUIS VUITTON สนใจในการผลิตนาฬิกาอย่างจริงจัง โดยได้ร่วมงานกับโรงงาน La Fabrique du Temps ตั้งแต่ปี 2009 และเริ่มจากการพัฒนากลไก Spin Time ที่โดดเด่น ซึ่งในตอนนั้น La Fabrique du Temps ก็เป็นผู้ผลิตกลไกให้กับแบรนด์นาฬิกาชื่อดังหลายแบรนด์อยู่แล้ว และด้วยความสำเร็จของ Spin Time ที่สร้างชื่อเสียงให้กับ LOUIS VUITTON จึงทำให้ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการของ La Fabrique du Temps ต่อมาในปี 2011 รวมทั้งเข้าซื้อกิจการของผู้ผลิตหน้าปัด Léman Cadrans ในปี 2012 รวมถึงการย้ายฐานการผลิตกลไกและหน้าปัดมารวมกันไว้ภายใต้โรงงานเดียวกัน และรังสรรค์นาฬิกาแฟชั่นระดับสูงภายใต้ชื่อบริษัท La Fabrique du Temps LOUIS VUITTON เรื่อยมา
GUCCI ถือเป็นเจ้าแรกในบรรดาแบรนด์แฟชั่นระดับสูง ที่นำนาฬิกาเข้ามาในสายการผลิตตั้งแต่ช่วงปี 1970 ในระยะแรกนั้น นาฬิกาของ Gucci ถูกผลิตขึ้นภายใต้ใบอนุญาตการใช้ลิขสิทธิ์แบรนด์เป็นระยะ หรือพูดง่ายๆ คือเป็นการจ้างผลิตเป็นเวลานานถึง 23 ปี โดยรูปแบบของนาฬิกา GUCCI ในช่วงนั้นประกอบไปด้วยสัญลักษณ์เด่นๆ ของแบรนด์ เช่นรูปเกือกม้า และแถบสีเขียว-แดง-เขียว สำหรับนาฬิกาดาวเด่นของยุคบุกเบิกนี้คือรุ่น 1500 ซึ่งขายได้มากกว่า 1 ล้านเรือนทั่วโลก และอีกรุ่นหนึ่งที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในช่วงปี 1996-1997 ก็คือรุ่น G Watch ที่ใครได้เห็นก็ต้องรู้ทันทีว่านั่นคือนาฬิกาจาก GUCCI จากนั้นจึงเข้าสู่ยุคที่สองคือระหว่างปี 1990-2000 ภายใต้การดูแลของ ทอม ฟอร์ด ผู้นำวงการแฟชั่นที่โดดเด่นในการผสมผสาน จนทำให้เกิดความหรูหราที่ใช้ได้จริง มาใช้เป็นแนวทางการออกแบบในยุคนี้ ซึ่งจะเห็นได้ถึงก้าวกระโดดอีกขั้นของ GUCCI ทางด้านการออกแบบสัญลักษณ์ให้มีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเน้นไปในด้านภาพลักษณ์และคุณภาพของแบรนด์มากขึ้นอย่างเช่น นาฬิการุ่น 3900, Bamboo และ Horsebit (2004) ซึ่งทั้งสามรุ่น ก็กลายเป็นรุ่นที่ขายดีที่สุดและสามารถจำหน่ายได้เรื่อยๆ มาตลอดจนถึงปัจจุบัน
การแสวงหาความเป็นเลิศและความต้องการอย่างต่อเนื่อง คือแรงผลักดันขีดจำกัดของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเครื่องบอกเวลาเสมอมา แม้แต่ผู้เล่นหน้าใหม่จากวงการแฟชั่นก็ยังให้ความสำคัญในจุดนี้เช่นกัน ซึ่งแม้จะให้ความสำคัญอย่างไร วงการนาฬิกาก็ยังคงมีความแตกต่างจากวงการแฟชั่น ในเรื่องของความอมตะอยู่ดี