Victoria & Abdul
by Apiphop Phungchanchaikul
…The Sun never sets on our (British) Empire.
Lord Salisbury, Robert Arthur Talbot Gascoyne-Cecil
3 times Prime Minister of UK during 1895 – 1902
ยุคที่เรียกว่า Victorian Age (1837 – 1901) นั้นยาวนานถึงเกือบ 64 ปี ตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิกทอเรีย พระราชินีที่ทรงครองราชยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักรฯในขณะนั้น ในทางการเมืองการปกครอง และการต่างประเทศนั้น ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี 10 คนตลอดรัชสมัยของพระองค์ ซึ่งเป็นยุคที่จักวรรดิอังกฤษ หรือ British Empire มีอำนาจ และมีดินแดนในครอบครองมากที่สุด เกินว่าที่จักรวรรดิใดเคยมีมาในอดีต จนถูกเรียกว่า “ดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน” จากตะวันตกสุด ณ ดินแดนที่ในวันนี้เรารู้จักกันในชื่อว่าแคนนาดา อาณานิคมในทวีปแอฟริกา และอนุทวีปอินเดีย ไปจนตะวันออกสุดที่หมู่เกาะนิวซีแลนด์ จักรวรรดิแผ่แสงยานุภาพอันเกรียงไกรภายใต้เรือธงที่ออกไปประจำการในอาณานิคมต่างๆ ทั้งในเชิงการค้า และการเมือง เป็นที่ประจักษ์ไปทั่ว ตลอดจนถึงความเกี่ยวดองภายในความสัมพันธ์ทางสายเลือด การที่พระองค์ทรงมีพระโอรส และพระธิดาถึง 9 พระองค์ ที่ทรงยกให้ไปเกี่ยวดองกับราชวงศ์ต่างๆในยุโรป จนให้กำเนิดราชนิกูลชั้นหลานอีก 47 พระองค์ โดยหลายพระองค์กลายเป็นกษัตริย์ หรือราชินีของประเทศในยุโรป นั่นทำให้สมเด็จพระราชินีนาถวิกทอเรียนั้นถูกเรียกว่าเป็น “The Grandmother of Europe” ในอีกสมญานามหนึ่ง
เรื่องราวของ Victoria & Abdul สร้างจากหนังสือชื่อเดียวกันกับภาพยนตร์ เริ่มต้นด้วยเหตุการทางการเมืองดังกล่าวข้างต้น เมื่อQueen Victoria (แสดงโดย Judi Dence นักแสดงรางวัลออสการ์) ครองราชครบรอบ 50 ปี ราชสำนัก และรัฐบาลสหราชอาณาจักรจึงกำหนดให้มีการเฉลิมฉลองวโรกาศอันยิ่งใหญ่นี้ โดยดินแดนต่างๆภายใต้การปกครองของจักรวรรดิจะต้องส่งของขวัญมาบรรณาการต่อองค์ราชินี ซึ่งในขณะนั้นอินเดียได้อยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิมาเป็นเวลา 11 ปีแล้วได้ส่งเหรียญกษาปณ์ที่ผลิตขึ้นเพื่อเป็นเงินสำหรับชาวอินเดียที่มีพระบรมสาทิสลักษณ์ขององค์ราชินีในฐานะผู้ปกครองมาถวาย โดยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯในอินเดียมีความคิดที่จะให้ชาวอินเดียเป็นตัวแทนไปถวายถึงพระราชวังในกรุงลอนดอน ด้วยเหตุนี้เอง Abdul Karim (แสดงโดย Ali Fazal) เสมียนหนุ่มจากเมือง อักรา อุตตรประเทศ จึงถูกคัดเลือกให้ทำหน้าที่นี้ ด้วยเหตุผลสั้นๆจากเจ้านายว่า “ตัวสูงดี” ดังนั้นอับดุล กับเพื่อนชาวอินเดียอีกคนที่มีชื่อว่าโมฮัมเหม็ด (ที่ทั้งเตี้ยและอ้วน) จึงต้องเดินทางรอนแรมหลายเดือนข้ามมหาสมุทรสู่พระราชวังอันเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิเพื่อนำเหรียญกษาปณ์หนึ่งเหรียญมาถวายแด่องค์ราชินี และในเวลาสั้นๆแค่ไม่กี่นาทีนั้นเอง พระองค์ทรงถูกชะตาหนุ่มชาวอินเดียที่กล้าสบตาพระองค์ และมีรับสั่งให้อยู่ต่อเพื่อรับใช้ โดยทั้งสองคนถูกมอบหมายให้นำเยลลี่เข้าไปถวายในมื้ออาหารวันถัดไป และเมื่ออับดุลกล้าที่จะอ้าปากเปล่งคำพูดทูลโดยตรงต่อองค์ราชินี เรื่องราวที่ควรจะจบลงในเวลาค่า 2-3 วันเท่านั้น จึงกลายเป็นตำนานเรื่องยาว
ในเหตุการตั้งแต่เริ่มเดินทางนี้เองเราจะได้เห็นมุมมองที่แตกต่างกันของคนสองคนที่เดินทางออกจากบ้านเกิดมาพร้อมกัน สำหรับอับดุลแล้วการเดินทางนี้คือโอกาสที่จะได้เรียนรู้ และผจญภัยในโลกที่กว้างกว่าเดิม เมื่อถึงกรุงลอนดอนอับดุลมองไปเบื้องหน้า และเห็นอาคารบ้านเรือนอันสวยงาม แต่สำหรับโมฮัมเหม็ด การเดินทางในภารกิจนี้เป็นเรื่องไร้สาระ และไม่มีเหตุผล เขาตั้งคำถามกับอับดุลว่าทำไมเขาสองคนต้องเดินทางกันไกลขนาดนี้เพื่อนำเหรียญที่เป็นสัญลักษณ์ของการที่อินเดียถูกกดขี่ไปให้ราชินีของชาติที่มากดขี่พวกเขาด้วย และในเมื่อเหรียญที่จะนำไปถวายมีแค่เหรียญเดียว ทำไมต้องไปกันสองคน และกับความรู้สึกที่ตัวของโมฮัมเหม็ดเองนั้นไม่เต็มใจมาตั้งแต่แรกแล้ว เพราะคนตัวสูงอีกคนที่ถูกคัดเลือกไว้ดันตกช้างได้รับบาดเจ็บ เขาจึงมองว่าเป็นความซวยของเขา ไม่ใช่โอกาส และตลอดเวลาที่โมฮัมเหม็ดอยู่ในราชสำนักเขาก็ทำหน้าที่เป็นเหมือนกับกระจกให้อับดุลได้เห็นสายตา ท่าที และความคิดของคนรอบข้างว่า ถึงแม้ว่าองค์ราชินีจะชื่นชมอับดุลขนาดไหน ยกฐานะ และตำแหน่งให้สูงส่งเพียงใด แต่สำหรับคนอื่นๆแล้ว อับดุลก็เป็นแค่คนรับใช้ชาวอินเดียอันต้อยต่ำเท่านั้น และความปราถนาเดียวของโมฮัมเหม็ดคือได้กลับบ้านที่อินเดียโดยเร็วที่สุด ในตอนหนึ่งของภาพยนตร์มีการเปรียบเทียบว่าอับดุลก็คือ John Brownฉบับอินเดีย ถ้ามองลึกลงไปก็จะได้เห็นถึงการไม่ยอมรับด้านเชื้อชาติมากกว่าการไม่ยอมรับในด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสองคนที่แตกต่างกันทางฐานะ หรือสถานภาพ “ราชินี กับคนสนิท” ในความเป็นจริงเรื่องราวของอับดุลเกิดขึ้นเพียง 4 ปีหลังการตายจากไปของJohn Browm (คนรับใช้ที่กลายมาเป็นคนสนิท และคนรักลับๆขององค์ราชินี) ในความสัมพันธ์ครั้งก่อนถึงแม้ไม่มีการยอมรับกันอย่างเป็นทางการ แต่ก็ไม่มีการกีดกันนั่นก็เพราะ John Brown เป็นคนผิวขาวชาวสก๊อตแลนด์ ไม่ใช่หนุ่มผิวสีชาวมุสลิมอินเดีย ที่อยู่ดีๆองค์ราชินีก็ตั้งให้เป็นครู และที่ปรึกษา หรือเกีอบๆจะมอบยศชั้นอัศวินให้ด้วยซ้ำ นั่นทำให้ Victoria & Abdul ตั้งคำถามเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา อำนาจ และความไร้สาระของจักรวรรดิอย่างติดตลก
ด้วยสไตร์ภาพยนตร์ที่มีกลิ่นไอแบบภาพยนตร์ฝั่งอังกฤษ ความสนุกจึงไม่ได้อยู่ที่ฉากแอคชั่นเลือดสาด หรือการต่อสู้กู้โลก ความน่าสนใจของภาพยนตร์อยู่ที่การวางบทสนทนาตอบโต้ของตัวละครแบบมีจังหวะ และความตลกแบบมีชั้นเชิงโดยเฉพาะกับบทบาทขององค์ราชินีเอง เช่นเมื่ออับดุลเล่าถึงผลไม้ที่เรียกว่ามะม่วงให้พระองค์ได้ฟังโดยยกให้เป็น “Queen of fruits” พระองค์จึงรับสั่งให้ราชเลขาฯหามาให้พระองค์ได้ลองเสวย ราชเลขาฯก็ทูลตอบว่าผลไม้ชนิดนี้มีปลูกอยู่แค่ที่อินเดียเท่านั้น พระองค์จึงตอบกลับไปว่า “Well, I’m the Empress of India, so have one send” อย่างที่เทรซี ซีเวิร์ด ผู้อำนวยการสร้าง ได้กล่าวถึงความน่าสนใจของตัวละครนี้ไว้ว่า “คุณนึกภาพการขึ้นครองราชย์ตอนอายุ 18 และอยู่แบบนั้นตลอดกาลออกมั้ย แต่ในวัยเจ็ดสิบเศษ ทรงกลายเป็นนักปฏิวัติเงียบ ทรงเรียนภาษาอูรดู และอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน จากที่ทรงเป็นหญิงสูงศักดิ์ที่น่าสนใจอยู่แล้ว พระองค์ยิ่งน่าสนใจกว่าเดิมในช่วงบั้นปลายชีวิต ทรงเป็นจักรพรรดินีของอินเดีย แต่ทรงตระหนักว่าจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับอินเดียให้มากขึ้น”
สุดท้ายเมื่อเรามองดูกลับไปยังตัวบุคคลในประวัติศาสตร์โดยเฉพาะที่เป็นผู้หญิงที่มีบทบาทอันยิ่งใหญ่แล้ว เราจะได้รับรู้ถึงความเหงา และความโดดเดี่ยวอยู่เสมอ มีสุภาษิตเก่าแก่ของชาวนอร์เวย์กล่าวไว้กว่า “In every woman there is a Queen…” แต่จริงๆแล้วในสถานการณแบบนี้อาจจะกล่าวกลับกันได้ว่า “In every Queen there is still a woman…” ต่างหาก...หรือไม่จริง?
ขอขอบคุณภาพประกอบจากบริษัท ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล พิคเจอร์ส (ฟาร์อีสต์) จำกัด
Tip:
Judi Dence ซึ่งรับบทสมเด็จพระราชินีนาถวิกทอเรีย เคยรับบทตัวละครนี้มาแล้ว 1 ครั้งในภาพยนตร์เรื่อง Mrs. Brown (1997) นอกจากนั้นยังเคยรับบท Queen Elizabeth I ในShakespeare in Love (1998) ซึ่งทำให้เธอได้รับรางวัลออสการ์จากบทนี้ และยังรับบทเป็น M ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของ MI6 เจ้านายของ James Bond ถึง 7 ภาค ตั้งแต่ปี 1995 – 2012
Mrs. Brown เป็นชื่อที่ข้าราชสำนักใช้เรียกQueen Victoriaลับหลัง เนื่องจากมีข่าวลือ/ข่าวซุบซิบว่าพระองค์ได้แอบแต่งงานกับ John Brown มหาดเล็กชาวสก๊อต และคนสนิทของพระองค์อย่าลับๆ
ตลอดรัชสมัยของQueen Victoria นอกจากนายกรัฐมนตรี 10 คนของสหราชอาณาจักรฯที่ถวายงานต่อพระองค์แล้วแล้ว ยังมีนายกรัฐมนตรี หรือผู้มีตำแหน่งตำแหน่งเทียบเท่าอีก 23 คนจากประเทศ หรือดินแดนภายใต้การปกครองที่ได้ถวายงาน คือนิวซีแลนด์15 คน แคนนาดา 7 คน และออสเตรเลีย 1 คน รวมเป็นทั้งสิ้น 33 คน
Abdul Karim เป็นชาวเมืองอักรา รัฐอุตตรประเทศ เมืองอันเป็นที่ตั้งของทัชมาฮาล หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก อนุสรณ์สถานแห่งความรักที่สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะอัน แห่งราชวงศ์โมกุล ทรงสร้างเป็นที่ฝังพระศพพระมเหสีอันเป็นที่รักของพระองค์