MAX BILL นามของดีไซเนอร์ชาวสวิส ที่กลายเป็นชื่อคอลเลคชั่นของนาฬิกาเยอรมัน
ผลผลิตจากเยอรมันชนโดยเฉพาะด้านเครื่องจักรกลนั้นเป็นอะไรที่คนทั่วโลกนิยมชมชอบเป็นอย่างยิ่ง ด้วยดีไซน์เฉพาะตัว แข็งแกร่งแต่อ่อนละมุนอยู่ในทีและเทคโนโลยีในการผลิตแบบเหนือชั้นแล้ว ต้องบอกว่าหาใครเปรียบเหมือนหรือเทียบเคียงได้ยาก ซึ่งนาฬิกาจากเยอรมันก็มีคุณสมบัติเหล่านี้อยู่เต็มๆ ในบ้านเราก็มีนาฬิกาจากเยอรมันเข้ามาทำตลาดอยู่บ้างและก็เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่คนชอบนาฬิกาอยู่ไม่น้อย ติดที่ส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์ที่มีราคาสูงอยู่สักหน่อยไม่ว่าจะเป็น A. LANGE & SOHNE หรือ GLASHUTTE ORIGINAL เป็นต้น จะมีย่อมเยาว์ลงมาหน่อยก็คือ NOMOS GLASHUTTE ที่เพิ่งเข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อไม่กี่ปีมานี้ซึ่งก็มีดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองเช่นกันแต่ก็เป็นแบรนด์ที่เกิดขึ้นมาใหม่ไม่นานนักจึงอาจดูด้อยด้านประวัติศาสตร์ไปเมื่อเทียบกับแบรนด์เก่าแก่อื่นๆ
บทความนี้จะพามาชมนาฬิกาจากเยอรมนีอีกแบรนด์หนึ่งที่เคยเข้ามาทำตลาดในบ้านเราอยู่พักหนึ่งแล้วก็หายเงียบไป ที่หายไปนี่ไม่ใช่เป็นเพราะไม่ได้รับการต้อนรับที่ดีหรอกนะครับ แต่เป็นปัญหาด้านการกระจายสินค้าของผู้ผลิตในขณะนั้นเสียมากกว่า เพราะคนรักนาฬิกาบ้านเราก็ชื่นชอบอยู่มากขนาดที่ว่ามีคนถามหาอยู่ตลอดเวลาแม้จะเป็นช่วงสุญญากาศที่ไม่มีผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทยก็ตาม ครับ ผมกำลังพูดถึงแบรนด์ดาวแปดแฉก JUNGHANS (ยุงฮันส์) อันเก่าแก่ที่ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1861 หรือกว่า 150 ปีมาแล้วนั่นเอง โดยรุ่นที่คนรักนาฬิกาต่างนิยมชมชอบกันมากก็ต้องเป็น Max Bill ครับ ซึ่งวันนี้ก็มีตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการประจำประเทศไทยรายใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นั่นก็คือ บริษัท เวิลด์ ออฟ วอทช์ 2 จำกัด (หรือเรียกสั้นๆ ว่า WWII) โดยเปิดจำหน่ายเป็นครั้งแรกที่งานสยามพารากอน วอชท์ เอ็กซ์โป 2012 (31 สิงหาคม – 19 กันยายน 2555) พร้อมๆ กับนาฬิกาอีก 4 แบรนด์ ( อีก 2 แบรนด์มาจากเยอรมนี 1 แบรนด์จากสวิส และอีก 1 แบรนด์จากอิตาลี) ที่ทางบริษัทเป็นผู้แทนจำหน่ายโดยมีเครือข่ายครอบคลุมทั้งในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย
ภาพ Max Bill ขณะกำลังทำงานอยู่ในสตูดิโอของเขา ถ่ายในปี ค.ศ.1959
เพื่อเป็นการต้อนรับนาฬิกา JUNGHANS กลับสู่ตลาดไทยอีกครั้ง ผมจึงขอรำลึกถึงเรื่องราวของ Max Bill ซึ่งเป็นนาฬิกาคอลเลคชั่นยอดนิยมของ JUNGHANS กันสักนิดครับว่ามันมีความเป็นมาอย่างไรถึงทำให้ผู้คนมากมายติดใจได้ถึงเพียงนี้ Max Bill นั้นเป็นชื่อของชาวสวิสท่านหนึ่งซึ่งเป็นทั้งสถาปนิก ศิลปิน และนักออกแบบผลิตภัณฑ์ ในคนๆ เดียวกัน ประวัติของชายผู้นี้ต้องถือว่าไม่ธรรมดาเลย เขาจบการศึกษามาจากโรงเรียน Bauhaus ในเยอรมนี และเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนการออกแบบขึ้นใน Ulm เพื่อสานต่อประเพณีการออกแบบแบบ Bauhaus ซึ่งเป็นงานออกแบบที่งดงามและคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยและการใช้งานในชีวิตประจำวันเป็นหลักหรือที่ต่อมาเรียกกันว่าแนวมินิมัลลิสท์ให้คงอยู่ต่อไป
Max เป็นทั้งผู้อำนวยการคนแรกและสถาปนิกของสถาบันแห่งนี้ ในขณะนั้นเขาได้รับการว่าจ้างให้ทำการออกแบบหน้าปัดนาฬิกาให้กับ JUNGHANS โดยงานชิ้นแรกที่เขาทำให้นั้นเป็นการออกแบบนาฬิกาแขวนผนังสำหรับห้องครัวซึ่งออกจำหน่ายในปี ค.ศ.1956 ครับ แน่นอนว่างานของเขาจะต้องมีจิตวิญญาณแห่ง Bauhaus อยู่เต็มเปี่ยม สามารถอ่านค่าได้ง่ายด้วยขีดนาทีที่คมชัดโดยให้ขีดที่อยู่ตรงกับหลักชั่วโมงมีความยาวมากกว่าขีดอื่นๆ โดยมีหลักชั่วโมงเป็นสไตล์เลขอารบิกสมัยใหม่ที่เขาออกแบบขึ้นและมีเลข 4 ที่เป็นแบบเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร ทั้งหมดนี้ได้กลายเป็นต้นแบบของดีไซน์นาฬิกา Max Bill รุ่นต่อๆ มา ถัดมาในปี ค.ศ.1959 ก็มีนาฬิกาแขวนผนังที่ออกแบบโดย Max Bill ตามมาโดยปรับดีไซน์หน้าปัดจากนาฬิกาครัวเสียใหม่ให้มีตัวเลขนาทีแสดงทุกๆ 5 นาทีบนขอบหน้าปัดด้านริมสุด ถัดมาเป็นขีดหลักนาทีและถัดมาชั้นในใกล้จุดศูนย์กลางเป็นหลักชั่วโมง เขาได้นิยามงานศิลปะของเขาว่า “วัตถุสำหรับการใช้งานอย่างชาญฉลาด” Max Bill เสียชีวิตลงเมื่อปี ค.ศ.1994 แต่งานดีไซน์อันเป็นอมตะที่ถือกำเนิดจากนาฬิกาสำหรับห้องครัวของเขานั้นยังคงทำหน้าที่ของมันต่ออย่างไม่มีที่สิ้นสุด
นาฬิกาแขวนผนังสำหรับห้องครัวจากปี ค.ศ.1957 หนึ่งในผลงานชิ้นแรกๆ ที่ Max Bill ออกแบบให้กับ JUNGHANS
สำหรับนาฬิกาข้อมือรุ่นแรกที่ Max Bill ออกแบบนั้น ถูกแนะนำสู่ตลาดในปี ค.ศ.1961 โดยเป็นนาฬิกาสามเข็มที่มากับหน้าปัด 2 รูปแบบให้เลือกซึ่งมีลักษณะเหมือนกับหน้าปัดนาฬิกาแขวนที่ออกมาก่อนหน้า แบบแรกเป็นเหมือนกับนาฬิกาแขวนจากปี 1959 ที่ได้กล่าวไปแล้ว ส่วนอีกแบบนั้นจะไม่มีตัวเลขโดยจะมีขีดหลักชั่วโมงที่ยาวขึ้นแทน ทั้ง 2 แบบจะมีจุดเรืองแสง ณ ตำแหน่ง 3,6 และ 9 นาฬิกา และเบิ้ล 2 จุด ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา บรรจุเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติ Calibre J84 จำหน่ายเรื่อยมา จนเมื่อก้าวเข้าสู่ยุคทศวรรษที่ 1980 การผลิตนาฬิกา Max Bill ยุคแรกก็ต้องยุติลงเนื่องจากกระแสอันรุนแรงของความนิยมนาฬิกาเครื่องควอตซ์ในสมัยนั้น
เมื่อความนิยมเริ่มหวนกลับมาสู่นาฬิกาจักรกลอีกครั้งในยุคทศวรรษที่ 1990 นาฬิกา Max Bill ก็ฟื้นคืนชีพขึ้นมาในปี ค.ศ.1997 โดยใช้ชื่อคอลเลคชั่นเต็มๆว่า Max Bill by Junghans โดยยังคงมีดีไซน์เหมือนเช่นที่เคยเป็นมาในอดีตและยังคงผลิตอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันคอลเลคชั่น Max Bill มีผลิตขึ้น 4 ซีรี่ส์ด้วยกัน คือ
Max Bill Hand-winding นาฬิกาสามเข็มขนาด 34 มิลลิเมตร เครื่องไขลาน Calibre J805.1 (ปรับปรุงจาก ETA 2801/2) สวมใส่ได้ทั้งหญิงและชาย บนหน้าปัดมีคำว่า design อยู่ใต้ชื่อแบรนด์
Max Bill Automatic นาฬิกาสามเข็มขนาด 38 มิลลิเมตร เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติ Calibre J800.1 (ปรับปรุงจาก ETA 2824) มีให้เลือกทั้งแบบไม่มีวันที่และแบบมีหน้าต่างแสดงวันที่ ณ ตำแหน่ง 3 นาฬิกา
Max Bill Chronoscope นาฬิกาโครโนกราฟขนาด 40 มิลลิเมตร เดินด้วยเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติโครโนกราฟ Calibre J880.2 (ปรับปรุงจาก Valjoux 7750) มีเคาน์เตอร์ย่อย 2 วงวางในแนวตั้ง บอกชั่วโมงจับเวลากับนาทีจับเวลา มีหน้าต่างแสดงวันที่ ณ ตำแหน่ง 3 นาฬิกา
และ Max Bill Ladies นาฬิกาสามเข็มเครื่องควอตซ์สำหรับคุณผู้หญิง มีให้เลือกในตัวเรือนสตีลขนาด 32.7 มิลลิเมตร และตัวเรือนเยลโลว์โกลด์ 18k
ทั้ง 4 ซีรี่ส์มีหน้าปัดทั้งแบบที่ใช้เลขอารบิกร่วมกับขีดสเกลหรือแบบที่ใช้ขีดเพียงอย่างเดียวให้เลือกเหมือนที่ Max Bill เคยเป็นมาในอดีต แน่นอนว่ามีจุดเรืองแสงในตำแหน่งเดิมด้วย ส่วนตัวเรือนก็มีทั้งสเตนเลสสตีลและแบบเคลือบทอง 10 ไมครอน (Max Bill Chronoscope และ Max Bill Ladies มีการผลิตในแบบตัวเรือนทองคำ 18 k ด้วย โดยเป็นรุ่นพิเศษที่ผลิตขึ้นแบบลิมิเต็ดเอดิชั่นในจำนวนจำกัด) สวมใส่คู่กับสายหนังลูกวัวสีต่างๆ หรือเก๋าได้ใจด้วยสายสตีลถักแบบมิลานีส สำหรับกระจกหน้าปัดเพล็กซิกลาสทรงโดมอันเป็นเอกลักษณ์นั้น ตั้งแต่รุ่นปี ค.ศ.2010 เป็นต้นมาจะถูกเคลือบ Sicralan ซึ่งทำให้แผ่นกระจกที่จริงๆ แล้วทำจากโพลีเมอร์นี้สามารถทนทานต่อการขีดข่วน แสงยูวี และสารเคมีต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมทั้งยังเป็นประกายงดงามอีกด้วย
นี่ล่ะครับความยิ่งใหญ่ของนาฬิกา Max Bill ที่ยืนยงคงความคลาสสิกมากว่า 50 ปี แต่จะบรรยายอย่างไรคงจะไม่เท่าได้สัมผัสกับตัวจริงซึ่งผู้ที่มีโอกาสเป็นเจ้าของคงจะตอบได้ดี ในโอกาสหน้าจะนำแบบอื่นๆ มาแนะนำให้รู้จักกันอีกนะครับ เพราะจริงๆ แล้ว JUNGHANS เองก็ยังมีเรื่องราวปูมหลังที่น่าสนใจและยังมีนาฬิกาคอลเลคชั่นอื่นๆ ที่น่าสนใจอยู่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็น Meister นาฬิกาสไตล์คลาสสิกร่วมสมัยซึ่งนำชื่อคอลเลคชั่นดั้งเดิมที่ถือกำเนิดเมื่อปี ค.ศ.1931 ของแบรนด์กลับมาใช้ใหม่ ไปจนถึงนาฬิกาล้ำๆ ทำงานด้วยเครื่องควอตซ์พลังงานแสงควบคุมการแสดงเวลาด้วยเรดิโอคอนโทรลที่ผลิตขึ้นเองแบบอินเฮ้าส์ในหลากหลายรุ่นด้วยกัน อีกทั้งยังมีแบรนด์ Erhard Junghans (แอร์ฮาร์ด ยุงฮันส์) ที่ตั้งขึ้นในปี ค.ศ.2007 เพื่อเป็นเกียรติแก่ Erhard Junghans ผู้ก่อตั้งแบรนด์ด้วย โดยถือเป็นไลน์นาฬิการะดับสูงของ JUNGHANS ซึ่งก็มีออกมาหลายรุ่นด้วยกัน
By: Viracharn T.