ว่าด้วยเรื่องเครื่อง Base
เป็นที่ทราบกันในหมู่คนชอบนาฬิกาว่า เครื่องนาฬิกาจักรกลที่ใช้กันอยู่ในนาฬิกาทั่วไปโดยเฉพาะยุคที่นาฬิกาจักรกลเริ่มฟื้นตัวหลังผ่านวิกฤตควอตซ์ในช่วงทศวรรษที่ 1970-1980 มาแล้ว ส่วนมากมักจะเป็นเครื่องจาก ETA กันทั้งนั้น ETA เป็นบริษัทผลิตเครื่องที่ถือลิขสิทธิ์ในการประกอบเครื่องนาฬิกาดีๆ อยู่มากมาย ทั้งเครื่องแบบต่างๆ ของ Valjoux, Unitas, Lemania, Nouvelle, Frederic Piguet รวมถึงชิ้นส่วนสำคัญอย่างบาลานซ์สปริง Nivarox โดยอยู่ในเครือของสวอทช์กรุ้ป แห่งสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทผู้ผลิตนาฬิการายใหญ่ของโลก และเป็นเจ้าของแบรนด์ดีๆ ดังๆ ต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ระดับไฮเอนด์ อย่าง BREGUET ไล่เรียงไปทุกตลาด อาทิ BLANCPAIN, GLASHUTTE ORIGINAL, OMEGA, RADO, MIDO, HAMILTON, TISSOT ไปจนถึงนาฬิกาแฟชั่นภายใต้แบรนด์ SWATCH และมีแม้กระทั่งนาฬิกาเด็กๆ อย่าง FLIKFLAK เลยทีเดียว
ด้วยวิสัยทัศน์และการประกาศเมื่อปี ค.ศ.2002 ของ Nicolas Hayek ผู้ล่วงลับไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ว่าจะเลิกขายเครื่อง ETA ให้กับแบรนด์นาฬิกานอกเครือสวอทช์ในอนาคตอันใกล้ ก็ทำให้วงการนาฬิกาโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในด้านการผลิตเครื่อง และในปัจจุบัน (ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา) ก็ถึงกำหนดที่ทาง ETA จะเลิกขายเครื่องตามที่ได้ประกาศไว้แล้ว (เว้นแต่ลูกค้ารายใหญ่บางรายที่ยังคงขายให้ต่อไป แต่จะปรับเป็นการขายเครื่องที่ผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้วโดยไม่ให้นำไปโมดิฟายด์เพิ่มเติมเหมือนที่ผ่านมา) แล้วนาฬิกาแบรนด์ต่างๆ ที่เคยใช้เครื่อง ETA ยอดฮิตอย่าง 2824, 2892, 6497 หรือเครื่องโครโนกราฟ 7750 กันมาเป็นเวลานานจะเอาเครื่องอะไรมาใส่กัน บทความนี้มีคำตอบครับ
การที่วงการนาฬิกานิยมใช้เครื่องที่มีการผลิตอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานานโดยเฉพาะเครื่องเบสที่ใช้กับนาฬิกาทั่วไป ไม่ใช่เพราะไม่ยอมหรือขี้เกียจที่จะพัฒนาเครื่องขึ้นใหม่กันนะครับ แต่เป็นเพราะว่า เครื่องที่ใช้นั้นได้รับการพิสูจน์คุณภาพและความทนทานของตนผ่านการใช้งานอันยาวนานมาแล้วต่างหาก ด้วยเหตุว่า หากคุณพัฒนาเครื่องขึ้นมาใหม่ แรกๆ มันอาจจะใช้ได้ดี แต่ไม่มีใครรู้หรือคาดได้อย่างแน่นอนว่า เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ เป็นสิบๆ ปีแล้ว จะมีปัญหาอะไรหนักหนาเกิดขึ้นกับเครื่องนั้นบ้างในการใช้งานจริง ดังนั้นคุณๆ ก็อย่าไปรังเกียจเครื่อง ETA ว่าเป็นเครื่องตลาดๆ เลยนะครับ เพราะแม้จะใช้กันอยู่ทั่วไป แต่ก็เป็นเครื่องที่ทนทาน ไว้ใจได้ และซ่อมบำรุงไม่ยากด้วย แต่ผู้ผลิตนาฬิกาบางบริษัทก็ลงทุนในการสร้างเครื่องขึ้นใช้เองมาเป็นเวลานานแล้ว บริษัทเหล่านี้มักจะขายนาฬิกาของเขาในราคาที่สูงอยู่สักหน่อย (ไม่นับแบรนด์ญี่ปุ่นชาตินิยมอย่าง Seiko หรือ Citizen ที่ผลิตเครื่องใช้เองนะครับ) แต่อย่าไปว่าเขาเลยครับเพราะต้นทุนของบริษัทนั้นๆ จะต้องรวมเอาค่าใช้จ่ายที่สูงลิบในการพัฒนาและผลิตเครื่องไว้ด้วยแน่ๆ อาทิ แบรนด์อย่าง Patek Philippe และ Rolex เป็นต้น หรือบางแบรนด์ อาทิ Frederique Constant หรือ Maurice Lacroix ก็ผลิตเครื่องอินเฮ้าส์เพื่อใช้กับรุ่นราคาแพงของตนเท่านั้น ซึ่งที่ว่ามานี้ก็เป็นเหตุผลหลักที่บริษัทที่ขายนาฬิกาในราคาไม่แพงนักพร้อมใจกันนำเครื่อง ETA รุ่นต่างๆ ไปประจำการในนาฬิกาของตนนั่นเอง
หากจะมองในมุมสร้างสรรค์วงการ การติดสินใจของ ETA ครั้งนี้ ก็ได้จุดประกายให้หลายๆ แบรนด์เริ่มต้นที่จะผลิตเครื่องของตนขึ้นใช้เอง ซึ่งก็นับว่าเป็นการพัฒนาด้านเทคนิค การลงทุน และบุคลากร ของวงการนาฬิกาครั้งใหญ่อยู่เหมือนกัน และก็เป็นการเปิดโอกาสในการพัฒนาและการค้าให้กับบริษัทผลิตเครื่องรายอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว อาทิ Sellita, Soprod และ La Joux-Perret ให้ขยายการผลิตและกิจการเพิ่มขึ้นได้ด้วยแทนที่จะถูกจำกัดด้วยความแพร่หลายเข้าถึงง่ายของเครื่อง ETA เหมือนที่ผ่านมา
TAG Heuer Carrera 1887 กับเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติโครโนกราฟอินเฮ้าส์ Calibre 1887
Breitling Navitimer 01 Limited Edition ที่ใช้เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติโครโนกราฟอินเฮ้าส์ Calibre B01
Hublot King Power Unico ใช้เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติโครโนกราฟอินเฮ้าส์ Hublot Unico
เครื่องเบสที่หลายๆ บริษัททำการพัฒนาและนำออกมาทดแทนเครื่องจาก ETA นั้นก็มีทั้งเครื่องที่บอกเวลา และเครื่องโครโนกราฟ โดยเริ่มเห็นกันอย่างหนาตายิ่งขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ซึ่งหากจะมองกันแบบเป็นไฮไลต์ก็คงต้องจับตาดูเครื่องที่ทางแบรนด์ต่างๆ พัฒนาออกมาทดแทน ETA 7750 อันโด่งดัง ซึ่งจะเป็นเครื่องที่ทำให้แบรนด์ดูมีกึ๋นและสามารถนำมาเป็นจุดขายได้อย่างดี ตัวอย่างของเครื่องที่ว่าก็คือ เครื่อง 1887 ของ TAG Heuer, เครื่อง B01 ของ Breitling และเครื่อง Hublot Unico เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีบริษัทผลิตเครื่องอย่าง Sellita ที่ออกเครื่องซึ่งโคลนนิ่งเครื่อง ETA มาแบบเนียนๆ หลายรุ่นด้วยกัน โดยเครื่องรุ่น SW500 นั้นทางแบรนด์ต่างๆ สามารถซื้อไปใส่แทนเครื่อง 7750 ในเคสและหน้าปัดเดิมที่ทำไว้สำหรับใส่เครื่อง 7750 ได้เลยและไม่ต้องกลัวเรื่องซ่อมบำรุงอีกด้วยเพราะชิ้นส่วนและการทำงานนั้นเหมือนๆ กับเครื่อง ETA ที่คุ้นเคยกัน ส่วน La Joux-Perret ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนของ Sellita นั้นก็มีเครื่องโครโนกราฟที่ผลิตจำหน่ายให้กับแบรนด์ต่างๆ ใช้ อาทิ นาฬิกาบางรุ่นของ Baume & Mercier เป็นต้น
Alpina Startimer Pilot Chronograph เดินด้วยเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติโครโนกราฟที่โมดิฟายด์จากเครื่อง Sellita SW500 ซึ่งมีพื้นฐานเหมือนกับเครื่อง 7750 ยอดนิยม
Baume & Mercier Capeland Ref.10068 ใช้เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติโครโนกราฟพร้อมฟังก์ชั่นฟลายแบ็ค Calibre 8147-2 ของ La Joux-Perret
ส่วนเครื่องเบสที่ใช้บอกเวลาอย่างเดียวเป็นพื้นฐาน ก็มีทยอยกันออกมาทั้งในแบบเครื่องอินเฮ้าส์ที่ทางแบรนด์พัฒนาและผลิตขึ้นเองอย่าง Calbre 3120 ของ Audemars Piguet, BVL 168 ของ Bulgari เครื่อง P.9000 ของ Panerai และเครื่องรุ่นใหม่ๆ หรือพัฒนาปรับปรุงใหม่จากบริษัทผลิตเครื่องอื่นๆ อาทิ Sellita รุ่นต่างๆ ที่โคลนนิ่งแบบของเครื่อง ETA มาเป๊ะๆ เช่น SW200 ที่เป็นโคลนนิ่งของ ETA 2824-2 และ SW300 ที่ใช้ทดแทน ETA 2892 ได้
Audemars Piguet Royal Oak Ref.15300 ที่ประจำการด้วยเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติอินเฮ้าส์ Calibre 3120
Bulgari Sotirio Calibre 168 ซึ่งใช้เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติอินเฮ้าส์ Calibre 168
Panerai Luminor Submersible 1950 3 Days Bronzo 47mm (PAM00382) ใช้เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติอินเฮ้าส์ P.9000
เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติ Sellita SW200 ที่มีรูปแบบโคลนนิ่งมาจาก ETA 2824-2 ปัจจุบันมีใช้กันอยู่ในนาฬิกาหลายแบรนด์
เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติ Sellita SW300 ที่สามารถใช้ทดแทน ETA 2892 ได้ ปัจจุบันมีใช้กันอยู่ในนาฬิกาหลายแบรนด์
Soprod ก็เป็นอีกเจ้าหนึ่งที่เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ผู้ผลิตเครื่องแห่งนี้ถูกกลุ่ม Festina ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ Perrelet และ Festina เข้าซื้อกิจการมาตั้งแต่ปี 2008 ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าระยะหลังนี้ทาง Perrelet จะมีเครื่องอินเฮ้าส์ใช้เอง แต่ Soprod ก็ยังคงผลิตและพัฒนาเครื่องของตนเพื่อจำหน่ายให้กับแบรนด์ต่างๆ ต่อไป ตั้งแต่เครื่องเบส A10 ซึ่งทาง Soprod ได้พัฒนาขึ้นมาจาก ETA 2892 อีกระดับ จึงไม่ใช่การโคลนนิ่งมาแบบเป๊ะๆ แต่ก็ยังใช้ชิ้นส่วนร่วมกับ 2892 ได้ ไปจนถึงการพัฒนาและผลิตเครื่องให้กับนาฬิกาสุดไฮเอนด์ RM007 ของ Richard Mille เจ้าต่อไปที่ดูดีมีราคาก็คือ เครื่อง VMF4000 ของ Vaucher ซึ่งอยู่ในเครือของผู้ผลิตนาฬิกาหรู Parmigiani เครื่องของ Vaucher นั้น นอกจากคุณภาพในการทำงานแล้วยังเน้นที่การฟินิชชิ่งสวยๆ ด้วย ผู้ที่ใช้เครื่องของเขาส่วนใหญ่จึงเป็นแบรนด์หรูๆ อย่าง Parmigiani (แน่นอนล่ะ), Bovet, Hermes และ Richard Mille เป็นต้น
เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติ Soprod A10 ปรับปรุงและพัฒนาจากพื้นฐานรูปแบบของกลไก ETA 2892
Ball Engineer Hydrocarbon Classic III เป็นนาฬิกาอีกรุ่นที่ใช้เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติ Soprod A10 เป็นเครื่องเบส
เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติ Vaucher VMF4000 ที่ถูกขัดแต่งอย่างสวยสำหรับนำไปใช้ในนาฬิกา Parmigiani
เครื่องเบสรุ่นใหม่ๆ เหล่านี้ ยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์คุณภาพครับ เพราะไม่มีใครรู้ว่าอีกสิบปี ยี่สิบปี เครื่องที่พัฒนาขึ้นใหม่เหล่านี้ (ยกเว้นเครื่องที่โคลนนิ่ง ETA มา ซึ่งน่าจะไว้วางใจได้ในระดับหนึ่ง) จะมีคุณภาพเทียบเท่า ดีกว่า หรือด้อยกว่า เครื่องเบส ETA ที่คุ้นเคยและผ่านการพิสูจน์กันมาเป็นเวลานานแล้วหรือไม่ แต่เชื่อแน่ว่า ผู้ผลิตทุกรายต่างมีความตั้งใจที่จะสร้างผลงานออกมาให้ดีที่สุดกันอยู่แล้ว เพราะหากหัวใจถือเป็นเครื่องแสดงการเต้นของชีวิตคนแล้ว เครื่องนาฬิกาก็ย่อมถือเป็นสิ่งแสดงการดำรงอยู่ของแบรนด์อย่างมั่นคงในอนาคตด้วย
By: Viracharn T.