THE AMERICAN WATCH

  

hamilton ventura elvis uniform

 

 

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอเมริกันชนเป็นกลุ่มคนที่มีส่วนกำหนดและมีอิทธิพลต่อสินค้าต่างๆ และเป็นตลาดสำคัญอันดับต้นๆ ของผู้ผลิตจากทั่วโลก ท่ามกลางกระแสตลาดอันเชี่ยวกรากนี้ ก็มีสินค้าอเมริกันทำเองที่ยืนหยัดต่อสู้กับแบรนด์ต่างประเทศอยู่จำนวนมากซึ่งหลายหมวดสินค้าก็มีสินค้าที่กล้าแข็งพอที่จะเป็นผู้นำตลาดในประเทศของตน บางแบรนด์ก็ประสบความสำเร็จในการส่งออกไปตีตลาดทั่วโลกแต่ก็มีสินค้าบางประเภทที่ต้องบอกว่ายังไม่สามารถครองใจคนในประเทศอื่นๆ ได้มากนัก อาทิ รถยนต์และนาฬิกา เป็นต้น บทความนี้จะเล่าถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของประวัติศาสตร์แห่งนาฬิกาอเมริกันในอดีตไล่เรียงจนถึงปัจจุบันให้ทราบกันพอสังเขปนะครับ

 

หากจะว่าถึงนาฬิกาแบรนด์อเมริกันที่เป็นที่รู้จักและมียังคงมีขายอยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะในบ้านเราก็คงคุ้นกันแค่ BALL กับ HAMILTON เท่านั้น แต่หากจะว่ากันถึงอดีตแล้ว ผู้ยิ่งใหญ่ที่ถือเป็นผู้นำแห่งนาฬิกาอเมริกันก็จะมีหลักๆ อยู่ 3 แบรนด์ด้วยกัน คือ ELGIN, GRUEN และ HAMILTON ซึ่งเป็นที่ปรารถนาของผู้นิยมนาฬิกาอเมริกันวินเทจ

 

 

ELGIN

 

ELGIN ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1864 โดยช่างนาฬิกาชื่อ JC Adams ซึ่งชื่อของแบรนด์ก็มาจากชื่อของแหล่งที่ตั้งโรงงานในรัฐอิลลินอยส์นั่นเอง ELGIN แบ่งระดับนาฬิกาที่ตนผลิตออกเป็น 2 ระดับ คือ นาฬิกาทั่วไปใช้ชื่อว่า ELGIN และนาฬิการะดับสูงใช้ชื่อว่า LORD ELGIN บริษัทแห่งนี้ต้องถือว่ามีความไม่ธรรมดาทีเดียวเพราะได้สร้างสรรค์เครื่องขึ้นใช้เองด้วยโดยมีชื่อเสียงเป็นอย่างมากกับเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติของตน ELGIN ปิดตัวลงในช่วงทศวรรษที่ 1960 เพราะไม่สามารถทนทานจากกระแสความนิยมของนาฬิกาสวิสที่เข้าครอบครองตลาดอเมริกันในยุคนั้นได้ และที่เห็นนาฬิกาที่ใช้ชื่อแบรนด์ ELGIN อยู่ในทุกวันนี้นั้นก็ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับ ELGIN ในสมัยก่อนแต่อย่างใด

 

 

elgin antique watches

 

Elgin 17 นาฬิกาเครื่องไขลาน 17 จิวเวล ตัวเรือนเคลือบทอง จากยุคทศวรรษที่ 1960

 

 

GRUEN 

 

GRUEN ก่อตั้งขึ้นที่โอไฮโอเมื่อปี ค.ศ.1874 โดยช่างนาฬิกาชาวเยอรมันชื่อ Dietrich Gruen ที่หอบเอาความรู้ความสามารถด้านการทำนาฬิกาจากเยอรมันและสวิสมาตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกา นาฬิกาของเขานั้นมีทั้งที่ใช้เครื่องนาฬิกาสวิสและเครื่องที่เขาผลิตขึ้นด้วยตนเองโดยใช้ชิ้นส่วนกลไกที่นำเข้าจากสวิสและเยอรมันมาประกอบ GRUEN เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับและได้ไปตั้งบริษัทและโรงงานผลิตเครื่องในสวิตเซอร์แลนด์อีกด้วย จนกลายเป็นผู้ผลิตนาฬิการายใหญ่ที่สุดของอเมริกาเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1930 แต่ต่อมาในปี ค.ศ.1953 GRUEN ในอเมริกาก็ได้ปิดตัวลงแต่ยังคงเดินสายการผลิตต่อในสวิตเซอร์แลนด์จนถึงปี ค.ศ.1977

 

 

556px Gruen jump hour

 

Gruen Airflight Jump Hour นาฬิการุ่นดังจากยุคทศวรรษที่ 1960 โดดเด่นด้วยการแสดงเลขชั่วโมง 2 ชุดบนจานดิสก์ที่บรรจุไว้ภายใน ซึ่งจะแสดงผลผ่านช่องหน้าต่างทั้ง 12 ช่อง ชุดแรกจะเป็นตัวเลข 1-12 และจะเลื่อนเปลี่ยนไปแสดงตัวเลขชุดที่สองซึ่งเป็น 13-24 เมื่อถึงเวลาบ่ายโมง เป็นอีกรุ่นที่หายากและเป็นที่นิยมของนักสะสม

 

 

HAMILTON

 

สำหรับ HAMILTON แล้ว นับว่าเป็นแบรนด์แห่งตำนานนาฬิกาอเมริกันที่ยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งแม้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของ Swatch Group ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสวิสไปแล้วก็ตาม HAMILTON ก็ยังคงเดินหน้าผลิตนาฬิกาสไตล์อเมริกันทั้งแบบสมัยใหม่และเรโทรย้อนยุคตามแบบนาฬิการุ่นดังในอดีตของตนต่อไป

 

HAMILTON ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1892 ในเมืองแลงคาสเตอร์ รัฐเพนซิลวาเนีย แน่นอนว่าในยุคสมัยนั้นก็จะต้องเริ่มผลิตจากนาฬิกาพกเช่นเดียวกับแบรนด์อื่นๆ ในยุคนั้น แต่นาฬิกาพกของ HAMILTON พิเศษกว่าตรงที่ได้รับการยอมรับด้านความเที่ยงตรงและนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในเหล่าพนักงานการรถไฟทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จุดที่ทำให้ HAMILTON กลายเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางของผู้คนทั่วโลกก็คือ การที่แบรนด์ได้ผลิตนาฬิกาจำนวนมากกว่าล้านเรือนให้กับกองทัพอเมริกันในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองต่อเนื่องถึงสงครามเวียดนาม (เข้าใจว่าผลิตให้กองทัพมากกว่าแบรนด์อเมริกันอื่นๆ) ทำให้ HAMILTON ติดข้อมือของทหารอเมริกันออกไปในพื้นที่ประจำการต่างๆ ทั่วโลก

 

 

hamilton electric ventura

 

Hamilton Ventura รุ่นต้นกำเนิดจากปี ค.ศ.1957

 

 

อีกประการก็คือ การที่ทางแบรนด์กล้าเป็นผู้นำในนวัตกรรมใหม่ๆ อาทิ นาฬิกาที่เดินด้วยพลังงานไฟฟ้าเป็นรุ่นแรกของโลกซึ่งออกมาในปี ค.ศ.1957 ใช้ชื่อว่า Electric 500 (ออกมาตัดหน้า ELGIN ที่พัฒนาอยู่เช่นกัน) อันเป็นที่จดจำด้วยรูปทรงอสมมาตรอันแปลกตาซึ่งนาฬิการุ่นนี้ก็คือต้นกำเนิดแห่งรุ่น Ventura นั่นเอง โดยพีคสุดๆ ในปี ค.ศ.1961 เมื่อราชาร็อคแอนด์โรล เอลวิส เพรสลีย์ สวมใส่นาฬิการุ่น Ventura นี้ในภาพยนตร์เรื่อง Blue Hawaii ส่วนอีกนวัตกรรมก็คือ การร่วมกับ Heuer, Breitling ในนามของ Buren ที่ทางแบรนด์เข้าไปถือหุ้น พัฒนาเครื่องอัตโนมัติโครโนกราฟรุ่นแรกของโลกซึ่งออกสู่ตลาดในปี ค.ศ.1969 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ HAMILTON ตัดสินใจยุติการผลิตในอเมริกาแล้วย้ายมาทำการผลิตที่โรงงานของ Buren แทน

 

 

hamilton ventura elvis uniform1

 

Hamilton Ventura บนข้อมือของเอลวิส เพรสลีย์ ในภาพยนตร์เรื่อง Blue Hawaii ปี ค.ศ.1961

 

 

ถัดมาไม่กี่ปี ในปี ค.ศ.1972 การผลิตนาฬิกา HAMILTON ในยุคแรกก็ยุติลงเนื่องจากการเข้าซื้อกิจการของ SSIH (Omega & Tissot Holding Company Societe Suisse pour I’Industrie Horlogere ซึ่งก็คือ Swatch Group ในปัจจุบัน) ในปี ค.ศ.1971 และทำการผลิตนาฬิกา HAMILTON มาจนถึงทุกวันนี้

 

 

1334827760 MIB3 Hamilton

 

ภาพโฆษณา Hamilton ในแคมเปญร่วมกับภาพยนตร์ MIB 3 ที่ออกฉายในปีนี้ 
เรือนซ้ายเป็น Ventura รุ่นปี ค.ศ.1969 เปรียบเทียบกับ Ventura XXL รุ่นปี ค.ศ.2012 เรือนขวา

 

 

นอกจาก 3 แบรนด์ที่กล่าวมานี้ ก็ยังมีนาฬิกาแบรนด์อเมริกันที่น่าสนใจอยู่อีกหลายแบรนด์ อาทิ แบรนด์ในอดีตอย่าง Illinois หรือ Waltham ไปจนถึงแบรนด์ที่ยังคงผลิตจำหน่ายอยู่ในปัจจุบันอย่าง BALL (แม้ว่าจะไม่ได้ทำในอเมริกาแล้วก็ตาม) ส่วนนาฬิกาแบรนด์อเมริกันอื่นๆ ที่ก่อตั้งขึ้นในยุคหลังและมีชื่อเสียงในปัจจุบัน ก็มักจะเป็นแบรนด์ที่ขยายไลน์การผลิตมาจากแบรนด์แฟชั่นเสียเป็นส่วนใหญ่

 

สำหรับในเมืองไทยเองก็มีหลายท่านเหมือนกันที่ชอบนาฬิกาอเมริกันวินเทจและเก็บสะสมกันอยู่ หากใครพอจะมีอยู่ในมือก็ลองค้นหาประวัตินาฬิกาของท่านในอินเตอร์เน็ตกันดูนะครับ เชื่อว่าแต่ละเรือนน่าจะมีอะไรดีๆ อยู่ด้วยเป็นแน่ 

 

 

11024287 vintage ad 01 DM3000A SCJ BK nightS

 

(ซ้าย) ภาพโฆษณานาฬิกา Ball ในยุคก่อน

(ขวา) Ball Engineer Hydrocarbon DeepQUEST นาฬิกาดำน้ำลึก 3,000 เมตร ตัวเรือนไทเทเนียม รุ่นปี 2012

 

By: Viracharn T.