130 HERITAGE of ALPINA
ย้อนกลับไปเมื่อ ค.ศ. 1883 ขนบแห่งการผลิตนาฬิกาของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในยุคนั้นยังคงเป็นการสร้างงานนาฬิกาโดยนักประดิษฐ์และช่างในเวิร์คช็อปของแต่ละคนเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ไม่สามารถผลิตนาฬิกาคุณภาพสูงในจำนวนที่มากเพียงพอต่อความต้องการของตลาดที่เริ่มแพร่กระจายออกไปทั่วยุโรปจนถึงประเทศต่างๆ ที่อยู่ไกลออกไปได้ เหล่านักประดิษฐ์และช่างนาฬิกาชาวสวิสในยุคนั้น นำโดยชายที่ชื่อ Gottlieb Hauser จึงได้ก่อตั้งกลุ่มนักประดิษฐ์นาฬิกาของสวิตเซอร์แลนด์ขึ้นภายใต้ชื่อว่า Alpina Union Horlogère เพื่อแบ่งปันส่วนประกอบและชิ้นส่วนนาฬิกาที่แต่ละคนเชี่ยวชาญ มาใช้กันภายในกลุ่มและเปิดโรงงานสำหรับผลิตนาฬิกาให้กับเหล่าสมาชิกขึ้นมา วัตถุประสงค์หลักก็คือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการจัดการรวมไปถึงการพัฒนาระบบการกระจายสินค้าให้กับผู้ผลิตนาฬิกาที่เป็นสมาชิกของกลุ่มซึ่งจะเรียกขานกันว่าเหล่า Alpinist ระบบการจัดการนี้เองทำให้ทางกลุ่มสามารถผลิตนาฬิกาทั้งเรือนด้วยกลไกและชิ้นส่วนต่างๆ จากสมาชิกภายในกลุ่มโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ผลิตชิ้นส่วนรายอื่นๆ
ล่วงเลยมาจนถึงปี 1901 Jacob Straub ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม ก็ได้ทำการจดทะเบียนตราสินค้าที่เรียกว่า Alpina ขึ้น ต่อมาในปี 1908 ทาง Alpina Union Horlogère ก็ได้จดทะเบียนชื่อ Alpina ในฐานะชื่อแบรนด์นาฬิกาของกลุ่ม และนอกจากโรงงานในประเทศสวิตเซอร์แลนด์แล้ว ต่อมาไม่นานก็ได้มีการผลิตนาฬิกา Alpina ขึ้นในโรงงานที่เมืองกลาสฮุตเทอ ในประเทศเยอรมนีอีกแห่งหนึ่ง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าซึ่งมีอยู่ทั่วยุโรปได้อย่างรวดเร็วทั่วถึงยิ่งขึ้น การที่มีโรงงานผลิตในเยอรมันทำให้ทางกองทัพเรือเยอรมันมีการสั่งซื้อนาฬิกาโครโนมิเตอร์ของ Alpina ไปใช้ในกิจการของกองทัพซึ่งยิ่งทำให้นาฬิกา Alpina มีชื่อเสียงโด่งดังและได้รับความนิยมมากขึ้นในเยอรมนีจนขจรขจายไปทั่วยุโรปโดยมีเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายถึงราว 2,000 รายในปี 1920 ซึ่งเป็นช่วงที่ทางแบรนด์ได้ทำการผลิตนาฬิกาให้กับกองทัพอากาศในหลายประเทศเพื่อให้เหล่านักบินใช้สวมใส่ปฏิบัติภารกิจ และนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องเล่าขานอันเป็นตำนานแห่งนาฬิกาสำหรับนักบินของ Alpina
เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองความยิ่งใหญ่ในวาระครบรอบ 130 ปีแห่งการก่อตั้ง ในปี 2013 นี้ ทาง Alpina ซึ่งมีฐานการผลิตในปัจจุบันตั้งอยู่ในเจนีวา จึงตั้งใจรังสรรค์นาฬิกาสำหรับนักบินรุ่นใหม่ขึ้นมาในรูปแบบที่มีลักษณะเดียวกับนาฬิกานักบินของแบรนด์ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วยุโรปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เพื่อเป็นการสดุดีแก่ประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของตน โดยใช้ชื่อว่า Alpina 130 Heritage Pilot Chronograph Automatic
ดีไซน์หน้าปัดของนาฬิการุ่นนี้ได้ยึดเอางานออกแบบสุดคลาสสิกของรุ่นประวัติศาสตร์ซึ่งได้รับการยอมรับว่าสามารถอ่านค่าต่างๆ ได้อย่างชัดเจนที่สุดจนเป็นที่ยอมรับของเหล่านักบินในอดีตมาเป็นแม่แบบอย่างที่เรียกได้ว่าถอดแบบกันมาในทุกรายละเอียดเลยทีเดียว ไล่เรียงจากสเกลเทเลมิเตอร์บริเวณขอบรอบหน้าปัด ต่อด้วยสเกลวินาที ฟอนท์ของหลักชั่วโมงเลขอารบิก โลโก้ Alpina แบบวินเทจ สเกลทาคีมิเตอร์แบบเส้นขดที่มีปลายศรสุดคลาสสิกชี้แสดงทิศทางอยู่ที่ส่วนปลาย วงหน้าปัดย่อย 2 วงพื้นลายสเนลที่วงซ้ายเป็นวินาทีและวงขวาเป็นนาทีจับเวลา 30 นาที ไปจนถึงลักษณะของเข็มที่แทบจะเหมือนกันแบบเป๊ะๆ แม้แต่รายละเอียดของเข็มอย่างเข็มของหน้าปัดย่อยทั้งสองที่มีส่วนหัวไม่เหมือนกันก็ยังเป็นเหมือนกับต้นแบบไม่ผิดเพี้ยน ตลอดจนสีสันที่ใช้ก็ไม่แตกต่างกันด้วย
ลักษณะภายนอกของนาฬิกาที่มีการปรับเปลี่ยนจากตัวต้นแบบก็คือรูปทรงของตัวเรือนที่ปรับให้มีดีไซน์และขนาดที่ร่วมสมัยที่ 41.5 มิลลิเมตร แต่ยังคงรากฐานของดีไซน์อย่างปุ่มกดทรงแป้นเอาไว้เช่นเดิมแถมยังสลักลายเพิ่มความคลาสสิกบนส่วนปลายอีกต่างหาก และมีอยู่จุดหนึ่งที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่งนั่นก็คือลักษณะของกระจกหน้าปัดที่ Alpina ตั้งใจและพยายามรักษารูปแบบความโค้งนูนของกระจกทรงโดมอย่างรุ่นต้นแบบเอาไว้โดยไม่ใช่เป็นการนำเพล็กซิกลาสมาทำให้มีลักษณะเหมือนกับกระจกของนาฬิกาวินเทจซึ่งจะสูญเสียคุณสมบัติความแข็งแรงทนทาน ลดการสะท้อนของแสง และป้องกันรอยขีดข่วนได้ดี อันเป็นข้อดีของกระจกแซฟไฟร์ที่ใช้กันในสมัยนี้ไป แต่เป็นการคิดหาวิธีการนำกระจกแซฟไฟร์มาทำให้มีรูปแบบคล้ายกับกระจกนาฬิกาวินเทจแทน ผลลัพธ์ที่ได้จึงออกมาเป็นลักษณะกระจกแซฟไฟร์แบบที่เรียกว่า ‘กลาส บ็อกซ์’ ซึ่งมีโครงสร้างที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นกว่ากระจกแซฟไฟร์ทั่วไปเพราะเป็นกระจกแซฟไฟร์ทรงโดมที่มีขอบขาฉากออกมาจากแนวระนาบปกติของแผ่นกระจกแซฟไฟร์โค้งทั่วไป การติดตั้งก็น่าสนใจเพราะเป็นการยึดฝังส่วนขอบขานั้นลงไปบนตัวเรือนซึ่งแตกต่างจากปกติวิธีของการประกบยึดกระจกหน้าปัดแซฟไฟร์ในนาฬิกาทั่วไปทั้งยังผ่านการทดสอบแล้วว่าสามารถป้องกันน้ำได้ถึงระดับ 50 เมตร ตัวกระจกนี้ยังถูกเคลือบด้วยสารลดแสงสะท้อนเพื่อให้สามารถมองเห็นหน้าปัดได้อย่างชัดเจนในทุกองศาของการมองด้วย และด้วยกระจกแซฟไฟร์แบบ ‘กลาส บ็อกซ์’ นี้เองที่ช่วยเสริมสร้างอารมณ์ความวินเทจของนาฬิการุ่นนี้ให้มีมนต์ขลังสะกดสายตาและความรู้สึกได้เหนือกว่านาฬิกาสไตล์รีเมคอีกหลายๆ รุ่นที่หลายแบรนด์ต่างก็ทำออกมาขายกัน
ด้านกลไกที่ใช้ในนาฬิการุ่นนี้ เป็นกลไกอัตโนมัติโครโนกราฟรูปแบบไบคอมแพ็กซ์ Calibre AL-860 จับเวลาได้ 30 นาที ที่ได้รับการขัดแต่งในรูปแบบฟิชสเกลและใช้สกรูว์ต่างๆ เป็นสีน้ำเงิน และมากับโรเตอร์เคลือบดำทรงเอกลักษณ์ของ Alpina เพื่อเพิ่มสุนทรียสัมผัสทางสายตายามพิศผ่านกระจกใสที่กรุอยู่บนฝาหลัง
และเพื่อให้คนรักนาฬิกาสามารถเลือกรูปแบบที่ชอบได้อย่างตรงใจที่สุด ทาง Alpina จึงได้ออกคู่คอมบิเนชั่นของสีตัวเรือน หน้าปัด และสายหนัง มาให้เลือกเป็นเจ้าของได้ถึง 4 แบบด้วยกัน เริ่มจาก ตัวเรือนสตีลเคลือบเยลโลว์โกลด์ที่มีให้เลือกทั้งคู่กับหน้าปัดสีดำ หลักชั่วโมงและเข็มเคลือบทอง สเกลสีทอง สายสีดำ หรือคู่กับหน้าปัดสีเงิน หลักชั่วโมงและเข็มเคลือบทอง สเกลสีดำ สายสีน้ำตาลเข้ม และในแบบตัวเรือนสตีลที่มีให้เลือกทั้งคู่กับหน้าปัดสีเทาเข้ม หลักชั่วโมงและเข็มสีเงินรมดำ สเกลสีเทา สายสีดำ หรือคู่กับหน้าปัดสีเงิน หลักชั่วโมงสีเงินรมดำ เข็มบลูด์สตีล สเกลสีดำ สายสีน้ำตาลเข้มเดินด้ายขาว โดยทุกแบบจะมากับกล่องไม้อย่างหรู
อ่านถึงบรรทัดนี้แล้ว เชื่อว่าหากใครที่ชื่นชอบนาฬิกาแนวรีเมคหรือแนววินเทจได้พิจารณาถึงรายละเอียดและข้อมูลจากภาพประกอบและตัวอักษรที่เรานำเสนอแล้ว คงจะเข้าใจในทันทีว่าทำไมคำสั่งซื้อนาฬิกาคอลเลคชั่นนี้จากตัวแทนจำหน่ายทั่วโลกจึงหลั่งไหลเข้าไปที่โรงงานจนผลิตกันไม่ทันความต้องการ แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่าขณะนี้เจ้า Alpina 130 Heritage Pilot Chronograph Automatic ได้เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้วซึ่งก็ไม่รู้ว่าจำนวนเรือนที่ได้มาจะพอสำหรับผู้ที่รอเป็นเจ้าของอยู่หรือไม่เพราะตอนที่ยังมาไม่ถึงเมืองไทยนั้นมีคนถามไถ่กันเข้ามามากเลยทีเดียว
By: Viracharn T.