BREGUET Watch of Josephine de Beauharnais
By: Dr. Pramote Rienjaroensuk
เรื่องราวเล่าขานเกี่ยวกับตำนานรักอันเลื่องลือ ซึ่งมีหลักฐานที่พิสูจน์ความรักของทั้งคู่ที่มีต่อกัน และโยงใยถึงนาฬิกาที่ Josephine เป็นเจ้าของจากการผลิตโดยช่างนาฬิกาชั้นเลิศในยุคนั้นนาม Abraham-Louis Breguet จนผ่านการตกแต่งเพิ่มเติมด้วยความรักจาก Napoleon และส่งทอดต่อถึงรุ่นลูกตามหน้าประวัติศาสตร์โลก
Abraham-Louis Breguet
Josephine de Beauharnais ตามนามสกุลนี้ได้รับจากอดีตสามี ที่เสียชีวิตจากการประหารในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส กับช่วงชีวิตของ Josephine ที่ตกเป็นม่ายและมีชีวิตที่ลำบาก เนื่องจากไม่ได้เกิดมาในตระกูลของชนชั้นสูง และบิดาก็เป็นเพียงนายทหารเรือเท่านั้น แต่เพราะโชคชะตาจึงทำให้ได้พบกับ Napoleon Bonaparte ในปี 1795 เมื่อครั้งยังเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งขณะนั้น Josephine มีอายุ 32 ปีมากกว่า Napoleon ถึง 6 ปี แต่ Napoleon ผู้เป็นนักรบและนักรัก ก็ยังหลงเสน่ห์ Josephine อย่างลึกซึ้ง
Josephine
เรื่องราวชีวิตรักของทั้งคู่ทั้งหวานและขม เนื่องจากเดิมที Josephine ไม่ได้มีใจให้กับ Napoleon หากเทียบกับความรักและความปรารถนาที่ Napoleon มีให้ ดังใจความจดหมายที่เขาเขียนถึงเธอทุกครั้ง เมื่อต้องห่างจากนางอันเป็นที่รักด้วยหน้าที่ทางทหาร โดยจดหมายหลายฉบับนี้ถือเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความเพียรพยายาม และความรักที่มีต่อเธออย่างคลั่งไคล้
Napoleon
“ช่างหวานและไม่มีที่เปรียบเทียบเท่า Josephine เธอทำอย่างไรกับหัวใจของฉันช่างประหลาดใจนัก” เนื้อความในจดหมายที่ Napoleon เขียนถึง Josephine เพียงสองสามเดือนหลังจากที่พวกเขาได้พบกันครั้งแรก และอีกไม่กี่เดือนก่อนที่จะแต่งงานกันในช่วงปลายปี 1796 “ฉันจะต้องอยู่คนเดียวและไกล ไกลจากเธอ แต่เธอจะมาหาฉันใช่ไหม? เพื่อมาอยู่เคียงข้างฉัน อยู่ในอ้อมแขน อ้อมกอด...” บางเนื้อความที่อ้อนวอนให้ Josephine มาหาเขาที่มิลานในขณะนั้น แต่ Josephine ก็ไม่ได้ตอบและตามไปแต่อย่างใด
Painting by François Gérard
“ตั้งแต่จากเธอไปฉันก็เศร้า เพราะฉันจะมีสุขก็ต่อเมื่ออยู่เคียงข้างเธอ ฉันหวนคิดถึงจูบของเธอ น้ำตาของเธอ ความหึงหวงที่มีเสน่ห์ของเธอ และเสน่หาของเธอที่ทำให้ไฟลุกโชนอยู่ในใจและความรู้สึกของฉัน เมื่อใดที่ปราศจากความกังวลจากภารกิจแล้ว ฉันจะใช้เวลาทั้งหมดอยู่กับเธอ จะไม่ทำสิ่งใดนอกจากรักเธอ” เนื้อความที่บ่งบอกถึงความรู้สึก ที่บางครั้งก็ด้วยความรู้สึกโกรธ บางครั้งก็โหยหา และความน่าสงสาร กับความรักที่ไม่ได้รับจากเธอ
Painting by Jacques-Louis David and Georges Rouget
ต่อมาเมื่อ Napoleon รู้ความจริงว่า Josephine มิได้จงรักภักดีต่อเขา จึงทำให้เขาผิดหวังและมอบแต่ความเย็นชาให้ ในขณะเดียวกันกับที่ Josephine เพิ่งตระหนักได้ว่า Napoleon รักตนมากเพียงใดและเริ่มจะมีใจให้ แต่ทว่ากลับไม่ได้รับความวางใจจากเขาอีกต่อไป โดยท่ามกลางปัญหาความสัมพันธ์ของทั้งสอง ในปี 1804 Napoleon ก็ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส และแต่งตั้ง Josephine เป็นพระมเหสีพระองค์แรก
Painting by Henri Frédéric Schopin
แต่ท้ายที่สุดการหย่าร้างก็เกิดขึ้นในปี 1809 โดยจักรพรรดิ์ Napoleon ได้อธิบายเจตนารมณ์ในการหย่าร้าง ถึงความต้องการผู้สืบทอดราชบัลลังค์ ซึ่งพระนาง Josephine ไม่อาจมีให้ได้ แม้กระนั้นความรักในตัวพระนาง Johephine ก็ยังคงอยู่ โดยจักรพรรดิ์ Napoleon ได้สั่งบูรณะปราสาทมัลเมซง (Chateau de Malmaison) ให้เป็นที่ประทับของพระนางและยังแวะเวียนไปหา แม้จะหย่าขาดกันไปแล้วก็ตาม
และสำหรับนาฬิกาพกเรือนประวัติศาสตร์นี้ ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าเหตุใด Josephine จึงสั่งซื้อ แต่คาดการณ์ได้ว่า Napoleon ผู้มีความหลงใหลในนาฬิกา น่าจะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของเธอ โดยนาฬิกาเรือนนี้ผลิตโดย Abraham-Louis Breguet และส่งมอบในปี 1800 นาฬิกามีความพิเศษในการแสดงเวลา ที่จะใช้เพียงมือสัมผัสลูกศรบนฝาครอบด้านนอกในการอ่านค่าเวลา ในขณะที่ด้านในเมื่อเปิดออกมา ก็ยังคงมีหน้าปัดเล็กแสดงเวลาชั่วโมงและนาที โดยกลไกที่ใช้นั้น เป็นกลไกในรูปแบบพาราชูตส์ ที่มีระบบป้องกันการกระแทก อันเป็นระบบที่ล้ำหน้าในยุคนั้น จากการใช้บาลานซ์-วีลที่มีการจัดวางอย่างสมมาตรทั้งสองฝั่ง
ซึ่งเมื่อครั้งที่ Napoleon ขึ้นครองราชย์ เขาได้สั่งประดับเพชรเพิ่มเติมรอบตัวเรือนให้กับนาฬิกาเรือนนี้ เพื่อเป็นการสะท้อนถึงเกียรติยศ และฐานะใหม่ของมอัครมเหสีในเวลานั้น และต่อมาในปี 1806 นาฬิกาเรือนนี้ก็ถูกส่งต่อให้กับ Hortense ธิดาของพระนาง Josephine เนื่องในโอกาสการอภิเษกสมรสกับ Joseph Bonparte น้องชายของจักรพรรดิ์ Napoleon ที่ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งฮอลแลนด์ พร้อมการเปลี่ยนสัญลักษณ์ลูกศรบนฝาด้านนอก เป็นตัวอักษร H พร้อมมงกุฎด้านบนขึ้นแทน โดยครั้งล่าสุดในปี 2007 นาฬิกาเรือนนี้ถูกจัดประมูลโดยคริสตี้ส์ในเจนีวา สู่มือเจ้าของใหม่ผู้ไม่เอ่ยนามในราคาประมาณ 1.5 ล้านสวิสฟรังก์
พระนาง Josephine พำนักอยู่ที่ปราสาทมัลเมซงจนวาระสุดท้ายด้วยพิษไข้ และเสียชีวิตลงในปี 1814 ด้วยอายุเพียง 50 ปี ซึ่งเมื่อจักรพรรดิ์ Napoleon ได้รับข่าวร้ายนี้ก็เก็บตัวอยู่ในห้องเป็นเวลาถึง 2 วันในขณะที่ตัวเองก็พ่ายแพ้ต่อสงครามและถูกเนรเทศ โดยถูกส่งตัวไปยังเกาะเซนต์เฮเลนา ที่ซึ่งจักรพรรดิ์ Napoleon ใช้เวลาไปกับการศึกษาภาษาอังกฤษ และการเขียนหมายเหตุพินัยกรรมหลายฉบับก่อนจะสิ้นพระชมน์ในปี 1821 พร้อมกับคำพูดอันเป็นที่เล่าขานต่อกันมาก็คือ “ฝรั่งเศส กองทัพ แม่ทัพ และ Josephine”