WATCH on MOTORSPORT
By Dr. Attawoot Papangkorn
Paris–Rouen, Le Petit Journal Horseless Carriages Contest เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1894 และได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวาง ว่าเป็นการแข่งรถยนต์ครั้งแรกของโลก ซึ่งสมัยนั้นรถยนต์ยังถูกขับเคลื่อนด้วยพลังไอน้ำอยู่ และปัญหาใหญ่ที่ตามมาก็คือ การจับเวลาที่ไม่ยุติธรรมต่อผู้เข้าแข่งขัน เนื่องจากในขณะนั้น ยังไม่มีการประดิษฐ์อุปกรณ์จับเวลาอย่างแม่นยำขึ้น ซึ่งต่อมาในช่วงปี 1935 ในช่วงที่การแข่งขันรถยนต์มีความเข้มข้นขึ้น จากเทคโนโลยีทางยนตรกรรมที่สูงขึ้น Sir Malcolm Campbell หนึ่งในนักแข่งรถยนต์ ผู้ที่ประสบความสำเร็จในด้านการแข่งขันมากที่สุดบนหาดเดย์โทนา ต้องการจะทำลายสถิติความเร็วสูงสุด เท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ซึ่งเขาทำได้สำเร็จและสวมใส่นาฬิกา Rolex Oyster อยู่บนข้อมือด้วยในขณะนั้น เสมือนดั่งตกถังข้าวสาร Rolex มองเห็นโอกาสที่ไม่อาจเมินเฉยได้ จึงใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยง ระหว่างเครื่องบอกเวลาและมอเตอร์สปอร์ตในขณะนั้น จนในที่สุดก็ได้ผลผลิตเป็นนาฬิกา Rolex รุ่น Daytona ซึ่งเป็นหนึ่งในนาฬิกาที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความเร็ว ความแม่นยำ และความเที่ยงตรง รวมทั้งยังเป็นนาฬิกาที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดเรือนหนึ่งของโลกใบนี้ เท่าที่เคยมีมา แต่อย่างไรก็ตาม Rolex เองก็ไม่ใช่พระเอกเพียงคนเดียวของละครเรื่องนี้ซะทีเดียว
Paris–Rouen, Le Petit Journal Horseless Carriages Contest เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1894
Sir Malcolm Campbell
ในปี 1889 Heuer ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์การจับเวลาในขณะนั้น ได้เปิดตัวนาฬิกากลไกจับเวลาเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการ ในงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมนานาชาติที่ปารีส และเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จของแบรนด์ โดยต่อมาในปี 1911 Heuer ประกาศถึงการจดสิทธิบัตร "Time of Trip" ซึ่งเป็นกลไกจับเวลารุ่นแรก ที่ออกแบบมาสำหรับการติดตั้งบนหน้าปัดเครื่องบินและรถยนต์ โดยสามารถวัดระยะเวลาของการเดินทางได้นานหลายชั่วโมง นอกจากนี้ในปี 1916 Heuer ยังมีการนำเสนอ "Mikrograph" กลไกจับเวลาที่มีความแม่นยำ 1/100 ของวินาที ซึ่งทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมและการพัฒนาการของ Heuer ที่ถ่ายทอดสู่โลกมอเตอร์สปอร์ตอย่างเต็มตัว เนื่องจากทุกวินาทีมีความสำคัญในเชิงการตัดสิน และทำให้นาฬิกา Heuer ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม
Time of Trip
โดยการพัฒนาการครั้งใหญ่เกิดขึ้นในช่วงปี 60s ซึ่งเป็นช่วงยุคทองของกีฬามอเตอร์สปอร์ต Jack Heuer หลานชายแสนรักของผู้ก่อตั้งและเป็นทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูล ได้เข้ามาปลุกตำนานนาฬิกาสปอร์ตของแบรนด์อีกครั้ง โดยการดีลอย่างจริงจังกับนักแข่งชื่อดังอย่าง Jo Siffert, Nicki Lauda และ Steve Mcqueen และยังเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันฟอร์มูล่าวันแบรนด์แรก นอกเหนือจากค่ายผู้ผลิตบุหรี่ทั้งหลาย รวมถึงเซ็นต์สัญญากับทีม Ferrari และทีมรถยนต์ฟอร์มูล่าวันชั้นนำอีกหลายทีมด้วย ซึ่งส่งผลให้ TAG Heuer ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแข่งขันกีฬามอเตอร์สปอร์ตครั้งสำคัญแทบทุกครั้ง และเป็นผลพวงให้มีการพัฒนานาฬิการุ่น Autavia, Carrera และ Monaco ที่เกี่ยวข้องกับมอเตอร์สปอร์ตอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
Jo Siffert
Nicki Lauda
Steve Mcqueen
Viceroy” Autavia (1972), the Reference 2447S Carrera (circa 1963), and the “Steve McQueen” Monaco (circa 1970)
นอกจากนี้ ยังมี Omega รุ่น Speedmaster ที่ก็ฝากชื่อให้จารึกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์วงการมอเตอร์สปอร์ตเช่นกัน แม้นาฬิการุ่น Speedmaster นี้ อาจเป็นที่รู้จักกันดีจากความทนทาน ความแม่นยำ และความเที่ยงตรง จนถูกเลือกโดยองค์การนาซ่า เพื่อใช้สำหรับโครงการอพอลโลในภารกิจเยือนดวงจันทร์ และสร้างชื่อเสียงให้กับนาฬิการุ่นนี้และแบรนด์อย่างมหาศาล ซึ่งอันที่จริงแล้วจุดกำเนิดของ Speedmaster กลับอยู่ในแวดวงมอเตอร์สปอร์ตนี่เอง โดยในปี 1957 นาฬิการุ่น Speedmaster รุ่นแรกใน Ref. CK2915 หรือที่เรียกกันว่า Broad Arrow ถูกวางตำแหน่งให้เป็นนาฬิกาสปอร์ตกลไกจับเวลา ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการแข่งขันรถยนต์ โดยชื่อ Speedmaster จะสื่อถึงกรอบวัดความเร็วของหน้าปัดรถแข่ง โดยนาฬิการุ่นนี้ ถือเป็นพระเอกที่เข้ามาเติมเต็มให้แบรนด์มีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น โดยมีความสำคัญถึงระดับการเป็นผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการ สำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค จากอดีตจวบจนถึงทุกวันนี้
Speedmaster รุ่นแรกใน Ref. CK2915
นอกเหนือจากที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เก่าแก่อย่าง Blancpain, Chopard, Graham หรือแบรนด์ยุคใหม่อย่าง Hublot, Richard Mile, Azimuth ก็ล้วนรับเอาแรงบันดาลใจ และให้ความสนับสนุนต่อวงการมอเตอร์สปอร์ตเช่นกัน อย่างเช่นที่ Blancpain เป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันรถยนต์รายการ Blancpain Endurance Series ที่โด่งดังไปทั่วโลก หรือแม้แต่ Azimuth ที่ก็นำเสนอนาฬิกาที่มีกลิ่นอายของรถแข่ง โดยเฉพาะนาฬิการุ่น Twin Turbo และ Gran Turismo ที่สื่อถึงหน้าปัดรถแข่งอย่างชัดเจน ทั้งยังเป็นผู้สนับสนุนทีม Noah ในรายการ TCR Japan Touring Car Series หนึ่งในรายการแข่งขันรถยนต์ที่ดังที่สุดรายการหนึ่งของโลก
Twin Turbo
Gran Turismo
TCR Japan Touring Car Series
ดังนั้น กีฬามอเตอร์สปอร์ต ที่นอกจากจะต้องใช้ทุนทรัพย์ที่สูงแล้ว ยังต้องมีฝีมือ ทักษะ ทีมเวิร์ค วิธีการสร้างให้เกิดความเที่ยงตรง แม่นยำ และความทนทาน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการจะได้รับชัยชนะ ไม่ต่างจากนาฬิกาที่ก็ต้องการองค์ประกอบเหล่านี้ด้วยเช่นกัน และนี่จึงเป็นเหตุผลในการเชื่อมโยงโลกแห่งมอเตอร์สปอร์ตและเครื่องบอกเวลาเข้าหากัน และน่าจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป