ปลดปล่อยแนวคิด เพื่ออิสรภาพ และความต้องการที่แท้จริง
WRITER: Dr. Pramote Rienjaroensuk
“คอลเลคเตอร์ทั้งหลายทั่วโลก ยินยอมจ่ายเงินให้กับราคาค่าตัวของนาฬิการะดับสูง แท้จริงแล้วก็เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง” นั่นเป็นส่วนหนึ่งของการสรุปความ หลังจากการพูดคุยกันของผมกับเหล่าคอลเลคเตอร์หลายๆ ท่าน ที่ล้วนแล้วแต่มีนาฬิกาเป็นสินค้าที่ชื่นชอบที่สุดชนิดหนึ่งในจิตใจตลอดเวลา แล้วถ้าคิดถึงว่า อะไรน่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้พวกเขาเหล่านี้ก้าวมาถึงจุดนี้ได้หละ
จริงๆ แล้วคำตอบของคำถามนี้ก็ไม่ได้ยากเกินไปนะครับ และยังค่อนข้างออกไปทางตรรกะมากกว่าด้วยซ้ำ แต่ก่อนที่จะไปถึงคำตอบ ผมขอนำเสนอเรื่องราวของเหล่าผู้กล้า ที่เป็นผู้ริเริ่มการสร้างงานชิ้นพิเศษๆ เหล่านี้กันก่อน เพื่อให้เห็นถึงแนวคิดที่กลายเป็นตัวตนจริงๆ ได้ในปัจจุบัน
URWERK UR202 AlTiN ผลงานนาฬิกากลไกอัตโนมัติบอกเวลาแบบแซทเทลไลต์ พร้อมการแสดงประสิทธิภาพการขึ้นลานในช่วง 2 ชั่วโมงที่ผ่านมา ในตัวเรือนวัสดุไทเทเนียมเคลือบ AlTiN ซึ่งเป็นวัสดุเคลือบแข็งที่ได้จากส่วนผสมของอลูมิเนียม ไทเทเนี่ยม และไนไตรด์
“ผมยังจำได้ตลอดตอนที่ผมเอานาฬิกาของผมให้คุณพ่อดูครั้งแรก แกบอกว่า นี่อะไร นี่ใช่นาฬิกาเหรอเนี่ย แล้วก็ค่อนข้างไม่พอใจที่ผมทำนาฬิกาอะไรแปลกๆ ออกมา เพราะคุณพ่อผมก็เป็นนักประดิษฐ์นาฬิกาเหมือนกัน แกยอมรับไม่ได้กับคอนเซ็ปท์ที่หลุดไปจากแนวคิดเดิมของแก ผมใช้เวลากว่า 10 ปีกว่าแกจะยอมเข้าใจได้ว่านี่คือแนวคิดใหม่ แนวคิดใหม่ที่ไม่เคยลืมแนวคิดเก่า และมีแนวคิดเก่าเป็นรากฐานในการออกแบบเสมอ” Felix Baumgartner แห่ง URWERK เล่าให้เราฟังถึงเรื่องราวช่วงแรกก่อนการเริ่มต้นแบรนด์ URWERK ที่เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์
“เขาค่อนข้างคัดค้านผมในการนำเสนอนาฬิกาแบบนี้ออกสู่ตลาด แต่ผมกับ Martin ก็ยังสู้กันต่อจนประสบความสำเร็จแบบทุกวันนี้” Felix ยังคงเล่าต่อถึงช่วงเวลาเริ่มต้นของแบรนด์ URWERK
“แล้วถ้าถามผมว่าวันนี้คุณพ่อผมเขาคิดยังไงกับ URWERK น่ะเหรอครับ (หัวเราะ) บางครั้งแกก็ยังมาช่วยผมทำนาฬิกา URWERK เลยครับ” Felix สรุปอย่างน่ารักในเรื่องราวระหว่างพ่อกับลูก ที่ก็พอจะเข้าใจได้ว่าอายุมักทำให้แนวคิดต่างกันได้บ้างพอสมควร แต่เหตุผลสรุปที่ชัดเจน ก็ทำให้แนวคิดที่แตกต่างกลับมาหลอมรวมกันได้อย่างลงตัวที่สุด
ที่นี้ก็มาถึงคำตอบกันบ้างว่า อะไรทำให้เหล่าคอลเลคเตอร์ก้าวข้ามมาสู่นาฬิการะดับสูงอย่างเช่นนาฬิกากลุ่มอินดิเพนเดนซ์เหล่านี้ แน่นอนว่าปัจจัยหลักย่อมต้องเป็นงบประมาณเป็นแน่ ถ้าคอลเลคเตอร์ยังไม่มีงบประมาณระดับล้านบาท แต่มีประมาณ 500,000 บาท ก็คงต้องยอมเข้าใจและปรับทิศทางของตัวเองให้เหมาะสมกับงบประมาณกันไปก่อน หรือไม่ก็อาจรอจนงบประมาณเข้าเกณฑ์ที่ต้องการจนได้ แต่ตามประสบการณ์ผม มักไม่ค่อยเห็นอย่างแรกเท่าไหร่ ส่วนใหญ่มักใช้งบก้อนแรกกันไปก่อนที่จะเก็บหอมรอมริบ รอจนถึงงบประมาณก้อนใหญ่ อย่างไรก็ตาม จากสิ่งที่เป็นจริงในปัจจุบัน แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับบุคคล ก็ควรจะมีอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นอายุ 25 ปี มีงบประมาณ 250,000 บาท อายุ 30 ปีมีงบ 300,000 บาท อายุ 40 ปีมีงบ 500,000 บาท อายุ 50 ปีมีงบ 1,000,000 บาท เป็นต้น แต่นี่ก็เป็นคนทำงานทั่วๆ ไป ระดับเงินเดือนแบบปกตินะครับ ไม่งั้นคนที่อ่านอยู่ ก็อาจบอกว่ากว่าจะได้เป็นเจ้าของนาฬิกาแบบอินดิเพนเดนซ์นี่ก็ปาไป 50 แล้ว
ปัจจัยต่อมาคือเรื่องความเข้าใจในศิลปะแขนงนี้ นั่นก็คือการทำความเข้าใจถึงความซับซ้อนและความยุ่งยากในการสร้างเรือนเวลาเหล่านี้ขึ้นมา ยังไม่รวมไปถึงแนวคิดที่กว่าจะสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างได้ ก็ใช้เวลากันอย่างยาวนาน อย่างที่นักประดิษฐ์นาฬิกาทั้งหลายมักบอกว่าสร้างจากประสบการณ์ ที่บางคนใช้เวลาอย่างยาวนานกว่า 20-30 ปีในการเพาะบ่มแนวคิดของแบรนด์จนเป็นรูปเป็นร่างได้ในปัจจุบัน ปัจจัยนี้ต้องยกเว้นไว้สำหรับผู้ที่ไม่อยากทำความเข้าใจ เรียกว่าเห็นแล้วบอกว่าไม่อยากรู้ อยากรู้เฉพาะแต่แบรนด์ที่เคยเห็นอยู่แล้วหรือแบรนด์ดังต่างๆ อันนี้ก็ต้องเข้าใจว่ายังต้องใช้เวลาในการเรียนรู้เพิ่มเติมไปอีก หรือไม่ก็เป็นอันจบได้แค่ตรงจุดนี้ ซึ่งก็เป็นได้ทั้งผู้ที่คลุกคลีอยู่กับนาฬิกามานาน หรือผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นให้ความสนใจกับเรื่องของนาฬิกา
ปัจจัยสุดท้ายที่เห็นอยู่ทั่วไปคือเรื่องของจิตใจ งบประมาณไม่ใช่ปัญหาหลัก ความเข้าใจก็ไม่ใช่ประเด็น แต่เรื่องของจิตใจที่จะก้าวข้ามไปสู่กลุ่มนาฬิกาเหล่านี้ซึ่งมีความพิเศษกว่านาฬิกาทั่วๆ ไปนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินใจกันได้ในชั่วข้ามคืน ปัจจัยนี้เป็นส่วนสำหรับบุคคล ผู้ซึ่งพร้อมแล้วที่จะควักเงินจำนวนนี้เพื่อแลกกับความพึงพอใจในสิ่งพิเศษๆ ที่หาไม่ได้โดยทั่วไป คอลเลคเตอร์หลายท่านเคยผ่านจุดนี้กันมาแล้ว การเก็บสะสมนาฬิกายอดนิยมทั้งหลายนั้นเป็นเรื่องที่ให้ความสนุกสนานได้ไม่น้อย แต่กับหลายๆ ท่าน การเลือกเก็บนาฬิกาในแบบที่ตัวเองชื่นชอบ ไม่ว่าจะเก็บแบบงานศิลปะบนหน้าปัด หรือเลือกเก็บเฉพาะงานวัสดุพิเศษๆ อันหลากหลาย ก็สร้างความพึงพอใจในคอลเลคชั่นของตัวเองได้มากกว่า การเก็บสะสมแบบที่เหมือนๆ กับของคนอื่นหลายต่อหลายคน ดังนั้นส่วนนี้จึงต้องบอกว่าเป็นการได้ก้าวข้ามการเก็บสะสมแบบทั่วๆ ไปแล้ว และนำพาไปสู่ขั้นต่อไปซึ่งสูงกว่าและหาไม่ได้ง่ายๆ
ซึ่งแน่นอนว่าคนจำนวนมาก อาจบอกว่าการเก็บนาฬิกากลุ่มอินดี้เหล่านี้ เป็นความเสี่ยงที่สูงในแง่ของการลงทุน เพราะราคาค่าตัวที่สูงลิบลิ่วในปัจจุบัน อาจเป็นเพียงราคาไม่เท่าไหร่ในตลาดหลังจากเวลาผ่านไปในช่วงสั้นๆ ซึ่งก็ต้องพิจารณาดูจากความเป็นไปของแบรนด์ ทิศทางของแบรนด์ ความสำเร็จที่ผ่านมา และแนวทางข้างหน้า รวมไปถึงประวัติศาสตร์ และความเอาจริงเอาจังในการพัฒนา ค้นคว้า และสร้างงานใหม่ๆ ให้กับตลาด พร้อมทั้งสร้างให้เกิดตลาดขึ้นมาในความเป็นจริงของภูมิภาคนั้นๆ
PATEK PHILIPPE Sky Moon Tourbillon Ref. 6002G นาฬิการะดับแกรนด์คอมพลิเคชั่นสุดซับซ้อน พร้อมกลไกตูร์บิยองเพอร์เพทชวลคาเลนดาร์ และมูนเฟสบนหน้าปัดด้านหน้า การแสดงแผนที่แห่งดวงดาวบนหน้าปัดด้านหลังของตัวเรือน และกลไกมินิทรีพีทเตอร์ บรรจุในตัวเรือนไวท์โกลด์ที่ได้รับการสลักลวดลายสุดวิจิตรแทบจะทุกส่วน ร่วมด้วยศิลปะเก่าแก่แห่งการรังสรรค์งานตกแต่งบนหน้าปัดอีนาเมลสีน้ำเงินทั้งด้านหน้าและด้านหลังของตัวเรือน
ตัวอย่างของตลาดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาก็มีให้เห็นอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จของ PATEK PHILIPPE ที่ผู้คนทั่วโลกให้การยอมรับและสนับสนุนเป็นอย่างดี โดยเป็นแนวคิดร่วมกันของนักสะสมและผู้ผลิตซึ่ง Mr. Stern เองก็เป็นทั้ง 2 อย่างพร้อมๆ กัน ดังนั้นจึงเข้าใจจิตใจของนักสะสมได้เป็นอย่างดี และในขณะเดียวกันก็เป็นนักการตลาด พร้อมการเป็นเจ้าของแบรนด์ที่เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถสร้างให้นาฬิกา กลายเป็นอีกหนึ่งของสะสมในตลาดไปได้อย่างสวยงาม จนไปถึงความสำเร็จที่ผ่านวิธีการประมูลที่นิยมและแพร่หลายในปัจจุบัน
VIANNEY HALTER Time Machine Perpetual Antiqua นาฬิกาฟังก์ชั่นเพอร์เพทชวลคาเลนดาร์ รูปทรงล้ำยุคแปลกตา แสดงค่าต่างๆ บน 3 หน้าปัดต่างขนาดจัดวางแยกกัน มากับโรเตอร์ที่ผลิตจากแซฟไฟร์โปร่งใส ซึ่งหากดูแต่ตาโดยไม่บอกและไม่ได้สัมผัส ก็อาจไม่รู้ว่านาฬิกาเรือนนี้เป็นนาฬิกากลไกอัตโนมัติ
อีกตัวอย่างหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ได้สังเกตเห็นนักนั่นก็คือกลุ่มอินดี้ ที่บ่มเพาะความสามารถจนกลั่นออกมาเป็นชิ้นงานระดับมาสเตอร์พีซ และคนทั่วโลกต่างก็ยอมรับถึงงานของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็น Mr. Philippe Dufour, Mr. Kari Voutilainen, Mr. Vienney Halter หรือจะเป็นอย่าง Mr. Michel Parmigiani เองก็ตาม นักประดิษฐ์เหล่านี้เอาความสามารถของตัวเอง เข้าแลกกับความสำเร็จอันงดงามที่ต้องใช้เวลาพิสูจน์กันอย่างยาวนาน Mr. Dufour เองเคยบอกกับผมว่า “ตอนที่ผมนำนาฬิกา Duality ไปให้คอลเลคเตอร์คนแรกชม ผมนั่งเงียบ และนึกในใจว่าถ้าเขาไม่ชอบงานของผม แล้วผมจะทำยังไงดี”
VOUTILAINEN V-8R ผลงานล่าสุดของ Kari Voutilainen กับงานกลไกบอกเวลาพร้อมแสดงพลังสำรองลานที่ออกแบบขึ้นเอง เป็นกลไกไขลานที่มากับระบบไดเร็กอิมพัลส์เอสเคปเม้นท์ ซึ่งมีเอสเคปเม้นท์วีล 2 ชิ้น เมนเพลทกับบริดจ์ผลิตจากเยอรมันซิลเวอร์เคลือบทอง 4N วีลต่างๆ ผลิตจากโรสโกลด์ การผลิตทั้งหมดไปจนถึงการขัดแต่งและประกอบด้วยมือ ถูกกระทำในเวิร์คช็อปของ VOUTILAINEN เอง
นั่นเป็นเรื่องเมื่อประมาณเกือบยี่สิบปีที่แล้วที่ Mr. Dufour ยังไม่กล้าตอบเรื่องผลงานของเขา ไม่เหมือนตอนนี้ที่คิวการรอเป็นเจ้าของนาฬิการุ่น Duality น่าจะเรียกได้ว่าเป็นไปไม่ได้แล้วในปัจจุบันถ้าเป็นการรับเรือนนาฬิกาจาก Mr. Dufour โดยตรง เนื่องจากความเข้มงวดและพิถีพิถันในการผลิตที่ใช้เวลาอย่างยาวนาน จนไม่สามารถส่งมอบให้กับลูกค้าได้ในแต่ละปี ซึ่งรวมความไปถึงเรื่องที่ Mr. Dufour เองเชื่อว่า อายุขัยของตัวเองทั้งหมด คงไม่สามารถสร้างนาฬิกาได้เพียงพอหากรับคำสั่งซื้อไปเรื่อยๆ
PHILIPPE DUFOUR Duality นาฬิกากลไกไขลานดับเบิ้ลเอสเคปเม้นท์ ซึ่งเป็นการใช้บาลานซ์วีล 2 ชุดทำงานแยกกันอย่างอิสระ โดยใช้ระบบดิฟเฟอเรนเชียลสุดซับซ้อน ที่ทำการเฉลี่ยค่าความต่างเพื่อให้แสดงเวลาได้อย่างแม่นยำที่สุด เป็นระบบกลไกอันยอดเยี่ยมที่ Mr. Dufour พัฒนาขึ้นเอง
มาถึงตรงนี้คงต้องสรุปให้เห็นว่านาฬิกากลุ่มอินดี้มีการพัฒนามาอย่างยาวนาน และสามารถสร้างความต้องการให้ตลาดได้จริงๆ เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ในช่วงยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา นาฬิกากลุ่มนี้ไม่ได้มีนักการตลาดมาช่วยสร้างงานมากนัก ทั้งยังไม่ได้มีกลุ่มทุนมาหนุนหลังแบบออกนอกหน้ากันอย่างจริงจัง เพราะนาฬิกากลุ่มนี้ ก็มักไม่ค่อยพึงใจกับนักลงทุนที่คอยมาผลักดันให้ทำอะไรตามใจเจ้าของทุนกันนักอยู่แล้ว จึงนับได้ว่านาฬิกากลุ่มนี้มาไกลพอสมควรเมื่อเทียบกับระยะเวลาที่ผ่านมา ดังนั้นมาถึงตรงนี้แล้ว คำถามสำหรับผู้ที่พร้อมแล้วก็คือ จะถึงเวลาได้ลองสัมผัสกับโลกใหม่ๆ ได้บ้างหรือยังครับ