What’s Watch’s Name?
นอกจากนี้ยังอาจมีความสงสัยอีกด้วยว่า ทำไมนาฬิกาบางแบรนด์ถึงกล้านำชื่อตนเองมาใช้ หรือทำไมบางแบรนด์ถึงมีสัญลักษณ์เป็นมงกุฎ ทำไมบางแบรนด์ถึงมีสัญลักษณ์เป็นเครื่องหมายกางเขน ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าตัวนาฬิกาเลยครับ
ประเดิมกันด้วยแบรนด์เจ้าตลาด ที่ยืดหยัดอยู่คู่วงการเครื่องบอกเวลามาอย่างยาวนาน นาฬิกาสามัญประจำบ้านที่นักเล่นนาฬิกาทุกท่านต้องมี (หรือเคยมี) ใครจะรู้หล่ะครับว่าคำว่า Rolex นั้นเกิดขึ้นโดยบังเอิญ เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในปี 1905 โดย Hans Wilsdorf ซึ่งเป็นชาวเยอรมันแต่มาได้สัญชาติอังกฤษจากการสมรส ในสมัยนั้นกระแสชาตินิยมเป็นตัวกำหนดหลักคิดหลายๆ อย่าง แต่สำหรับชายผู้มองการณ์ไกลคนนี้ ก่อนที่ใครจะรู้จักคำว่า "Multinational" เขาได้จดทะเบียนการค้าเครื่องหมาย Rolex ในปี 1908 ไว้แล้ว ซึ่งเขาคิดว่าคำนี้เป็นคำที่ออกเสียงง่ายในหลายภาษาทั่วโลก และสั้นกระชับเหมาะสมที่จะประทับลงบนหน้าปัดนาฬิกา กล่าวกันว่าเขาคิดขึ้นได้ในขณะโดยสารรถบัสในลอนดอน โดยโรงงานของ Rolex ตั้งอยู่ในลอนดอนจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และเมื่อภาษีนำเข้าพุ่งสูงขึ้นจนทำให้การนำเข้าอะไหล่จากสวิสมีต้นทุนสูงเกินไป Rolex จึงต้องไปตั้งฐานการผลิตในเมกกะของโลกนาฬิกา ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์อย่างที่เรารู้จักกันดีในขณะนี้
ฮันส์ วิลส์ดอร์ฟ
Montres Rolex S.A. ได้รับการจดทะเบียนที่กรุงเจนีวาในปี 1920
ส่วนแบรนด์ยอดนิยมในตลาดก็คือ Patek Philippe ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1839 ในกรุงเจนีวา ซึ่งการก่อตั้งบริษัทนี้เป็นการร่วมมือกันของ Antoine Norbert de Patek ชาวโปแลนด์ และช่างทำนาฬิกา Francois Czapek ชาวฝรั่งเศส โดยมีการผลิตนาฬิกาคุณภาพสูงมากมายออกมาในแต่ละปีโดยประมาณถึงกว่า 200 เรือน โดยใช้ชื่อว่า Patek, Czapek & Cie. นานประมาณ 6 ปี จนกระทั่ง Francois Czapek ได้ขอแยกตัวไป จนในปี 1844 ที่ Patek ได้พบกับช่างฝีมืดสุดอัจฉริยะ ที่มีความเก่งและทักษะที่ยอดเยี่ยมอยู่ในตัว ซึ่งก็คือ Jean-Adrien Philippe ซึ่งเขาก็ได้ผลิตและคิดค้นระบบการไขลาน และตั้งเวลาของนาฬิกาด้วยเม็ดมะยมแทนกุญแจสู่ตลาด แถมยังได้ผลิตนาฬิกาถวายให้กับพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งประเทศอังกฤษอีกด้วย โดยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็ได้ใช้ชื่อบริษัทใหม่ว่า Patek Philippe มาตลอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้
Antoine Norbert de Patek
Francois Czapek
Jean-Adrien Philipp
แบรนด์ต่อมาคือ Vacheron Constatin บริษัทผลิตเครื่องบอกเวลาอันเก่าแก่ มีประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปนานถึง 264 ปี ผู้ก่อตั้งบริษัทก็คือช่างผู้เชี่ยวชาญชื่อ Jean-Marc Vacheron และต่อมาคือ Jacques Barthelemy Vacheron ลูกชายของเขา ที่ได้ร่วมมือกับเพื่อนอีกคนคือ Francis Constantin ในการหาลู่ทางเปิดตลาดนาฬิกาออกสู่ต่างประเทศ ต่อมาในปี 1839 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นเมื่อ Georges Leschot เข้าร่วมกับบริษัท ซึ่งทำให้ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี เท่านั้น บริษัทก็สามารถผลิตชิ้นส่วนของนาฬิกาด้วยเครื่องจักรได้ ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าของวงการอุตสาหกรรมครั้งสำคัญในยุคนั้น โดยบในปี 1880 Vacheron Constantin ได้เริ่มใช้สัญลักษณ์กางเขนมอลตา (Maltese Cross) ที่เราคุ้นตากันดีอยู่ เป็นสัญลักษณ์สำคัญของแบรนด์
Jean-Marc Vacheron
Francis Constantin
สุดท้ายคือ Maximilian Büsser & Friends แบรนด์นาฬิกาอินดี้สุดไฮเอ็น ที่เหมาะสำหรับเศรษฐีผู้เบื่อหน่ายความซ้ำซากจำเจ เริ่มต้นขึ้นในปี 2005 โดยในช่วงเริ่มบริษัทชื่อ MB&F เคยถูกดูแคลนจากคนรอบข้างของ Max มาแล้วว่าดูธรรมดาเกินไป ไม่เหมาะกับความสุดโต่งของแบรนด์เลย แต่ Max กลับไม่คิดเช่นนั้น เพราะ MB&F เป็นสิ่งที่เหนือกว่านาฬิกาที่สามารถบอกเวลาได้ และลำพังเค้าคนเดียวคงไม่สามารถรังสรรค์เครื่องบอกเวลาอันวิเศษเหล่านี้ได้อย่างแน่นอน แต่ต้องอาศัยทีมงานที่ต้องเข้าใจและมีอุดมการณ์เดียวกัน ร่วมช่วยกันสร้าง MB&F ให้ดำเนินการต่างๆ ไปได้อย่างที่ตั้งใจ ฉะนั้นการให้เครดิตผู้อยู่เบื้องหลังทั้งหลายที่อยู่เคียงข้างเค้านั้น เป็นสิ่งที่สมควรอย่างยิ่งเพราะเราทุกคนควรให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน ตามแนวคิดของ Max
Maximilian Büsser
ในสังคมที่การตลาดเป็นใหญ่อย่างทุกวันนี้ สินค้าแทบทุกแบรนด์พยายามคิดค้นชื่อเรียกและโลโก้ให้เป็นที่จดจำได้ง่าย แต่แฝงไปด้วยความหมายที่ทรงพลังและชัดเจนให้กับแบรนด์ตนเอง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอะไร แบรนด์จะเล็กหรือใหญ่ จะใหม่หรือเก่าก็ตาม แต่สิ่งที่ดูเหมือนง่ายนั้นย่อมไม่ง่ายเสมอไป เพราะอย่าลืมว่า ชื่อและโลโก้คือนามธรรมไม่มีเครื่องบ่งชี้ใดๆที่ จะสามารถนำมาตัดสินได้ว่าใช่หรือไม่ใช่ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือจะทำอย่างไรให้ ลูกค้าเชื่อมั่นในแบรนด์ได้ เพราะถ้าเกิดความเชื่อ มูลค่าของแบรนด์ก็จะตามมาเองในท้ายที่สุด และผมมั่นใจว่าถ้าของดีจริง จะชื่ออะไรหรือใช้โลโก้แบบไหน ยังไงก็ต้องขายดีอยู่แล้วแน่นอนครับ