วินเทจวันละนิด วันนี้เสนอตอน “เทวดาตกสวรรค์กับ Angelus “Tinkler”

By: Rittidej Mohprasit 

 

1. Stoltz Freres

สามพี่น้อง Stoltz แห่ง Angelus รูปจาก www.angelus-watches.com

 

แบรนด์ Angelus ถือกำเนิดขึ้นในปี 1891 โดยพี่น้อง Stoltz แห่งเมืองเลอโลค จึงถือว่าอยู่ร่วมเมืองกับแบรนด์นาฬิกาขึ้นชื่ออย่าง Zenith, Tissot, Vulcain และ Universal (ที่ต่อมาย้ายไปอยู่เจนีวา) โดยเน้นผลิตนาฬิกาพกที่มีความซับซ้อนสูง แต่ความยิ่งใหญ่ของ Angelus จริงๆ เริ่มในช่วงปี 1920’s-30’s จากการพัฒนากลไกนาฬิกาข้อมือที่มีฟังก์ชั่นจับเวลาแบบปุ่มเดียว หรือที่เรียกกันว่าโมโนพุชเชอร์ รวมไปถึงสร้างประวัติศาสตร์ด้วยกลไกอินเฮาส์คาลิเบอร์ 240 (ที่พัฒนาร่วมกันกับ Zodiac) ซึ่งเป็นกลไกที่สามารถสำรองพลังงานได้นานถึง 8 วัน และมีขนาดเล็กที่สุดในโลก ทั้งยังมีความแม่นยำสูงจนถูกนำมาใช้ในนาฬิกา Panerai บางรุ่นอีกด้วย

 

Screen Shot 2018 12 10 at 13.55.16

กลไกที่เป็นหัวใจของ Panerai Special Edition อย่าง PAM203 และ PAM267

 

แต่หากจะพูดถึงผลงานชิ้นโบว์แดงที่ทำให้โลกนาฬิกาต้องจารึกชื่อ Angelus แล้วล่ะก็ ย่อมเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากกลไกจับเวลาอินเฮาส์คาลิเบอร์ 210/215 กลไกจับเวลาสองปุ่มกดแบบสามวงจับเวลา ซึ่งเกิดในยุค 1940’s ที่ถูกออกแบบอย่างชาญฉลาด จึงมีทั้งความอึด ถึก ทน และแม่นยำมาก จนถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั้งสำหรับพลเรือนและทางการทหารเช่น ในหน่วยกองบิน Legi Ero ของกองทัพอากาศฮังการี รวมทั้งถูกนำไปใช้ใน Panerai รุ่น Mare Nostrum ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ประจำการในกองทัพเรืออิตาลีอีกด้วย

 

3. Angelus Chronograph LE

Angelus Chronograph LE

 

4.Mare Nostrum

Mare Nostrum

 

ผลงานอีกชิ้นที่มีชื่อเสียงโด่งดังไม่แพ้กันของ Angelus คือนาฬิการุ่น Chronodato ซึ่งใช้กลไกอินเฮาส์คาลิเบอร์ 217 (พัฒนาต่อจากคาลิเบอร์ 215) เป็นนาฬิกาที่มีการผลิตขายทั่วไปตัวแรกของโลกที่มีทั้งฟังชั่นจับเวลา และปฏิทินแบบพื้นฐาน กลไกนี้นอกจากจะถูกนำมาใช้ในนาฬิกาของ Angelus เองแล้ว ยังถูกส่งขายให้กับแบรนด์อื่นๆ อย่าง Minerva และ Abercrombie & Fitch ในยุคนี้ จึงเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของ Angelus ซึ่งหากพูดกันถึงนาฬิกาจับเวลาแล้ว ชื่อ Angelus จะต้องเป็นชื่อแรกๆ ที่ผู้บริโภคต้องนึกถึงอย่างแน่นอน

 

5. Chronodato

Chronodato

 

พออ่านมาถึงตรงนี้ หลายๆ คนคงเริ่มสงสัยแล้วว่า ถ้าแบรนด์ Angelus เขายอดเยี่ยมขนาดนั้น ปัจจุบันหายไปไหนแล้วล่ะ?

 

ช่วงปี 1950’s ถือเป็นยุครุ่งเรืองของกลไกนาฬิกา และด้วยความที่ Angelus ขึ้นชื่อเรื่องการเป็นผู้พัฒนากลไกใหม่ๆ อยู่เสมอ จึงทุ่มทั้งเวลาและทุนรอน ในด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างหนัก เพื่อสร้างนวัตกรรมที่สามารถเปิดตลาดใหม่ๆ เพิ่มเติมจากตลาดนาฬิกาจับเวลาที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว โดยเป้าหมายคือนาฬิกาที่มีกลไกเคาะบอกเวลา (Chiming) ซึ่งแต่เดิมเป็นศาสตร์นาฬิกาชั้นสูง ที่ต้องใช้ช่างทำนาฬิกาที่มีความชำนาญ และใช้ระยะเวลาในการผลิตรวมถึงปรับแต่งอย่างยาวนาน จึงทำให้มีราคาสูง แต่ Angelus คิดต่างไปโดยเชื่อว่า กลไกนี้สามารถผลิตในเชิงอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ให้คนทั่วไปเป็นเจ้าของได้ ก็ขนาดกลไกจับเวลายังทำได้สบายๆ เลย นับประสาอะไรกับกลไกเคาะบอกเวลา จริงไหม

  

ไม่รู้ทาง Angelus ไปเอาความมั่นใจแบบนี้มาจากไหน แต่ด้วยเงินทุนและหยาดเหงื่อแรงงานมหาศาล Angelus คลอดนาฬิกากลไกเคาะบอกเวลาตัวแรกเป็นน้ำจิ้มออกมาในปี 1956 ใช้ชื่อว่า Datalarm ซึ่งจากชื่อก็รู้แล้วว่า คือนาฬิกาที่มีกลไกเสียงปลุกและกลไกปฏิทินพื้นฐาน (ขอแซวหน่อยว่าทีชื่อรุ่นนี่ไม่มีนวัตกรรมเลยนะ)

 

6. Datalarm

Datalarm

 

หลังจากนั้นอีกสองปีคือปี 1958 Angelus จึงปล่อยผลงานอันแสนภาคภูมิใจออกมา และนั่นก็คือ Tinkler พระเอก (หรือผู้ร้าย) ของบทความนี้นั่นเอง Tinkler เป็นนาฬิกาข้อมือที่มีกลไกเคาะบอกเวลาแบบแบบควอเตอร์รีพีทเตอร์ โดยเป็นกลไกรีพีทเตอร์แบบอัตโนมัติเรือนแรกของโลก แถมยังเป็นนาฬิกาข้อมือรีพีทเตอร์ที่กันน้ำได้เป็นรุ่นแรกของโลกอีกด้วย

 

7. Tinkler

Tinkler

 

Angelus คาดหวังไว้กับ Tinkler มาก เพราะตั้งใจผลิตขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงทักษะอันยอดเยี่ยมด้านฝีมือการออกแบบสถาปัตยกรรมกลไก และตั้งใจที่จะทำให้กลไกเคาะบอกเวลาแบบรีพีทเตอร์เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ ซึ่งถ้าพูดแบบเป็นกลางเรื่องการออกแบบกลไก ก็ต้องถือว่านาฬิการุ่นนี้ถือเป็นหนึ่งในสุดยอดของยุค แต่ถ้าพูดในทางธุรกิจแล้วต้องถือว่า Tinkler เป็นหายนะครั้งใหญ่ เพราะมีความซับซ้อนทางด้านการผลิตมากกว่าที่ทาง Angelus คิดไว้มาก แถมผู้บริโภคในตลาดตอนนั้น ก็ไม่ได้สนใจและชื่นชมนวัตกรรมนี้เลย  Angelus จึงสามารถผลิต Tinkler ออกมาได้เพียงราว 100 เรือนเท่านั้น ทำให้ในปัจจุบันนาฬิกาตัวนี้กลายเป็นของหายากและถือเป็นของสะสมชั้นยอดในตลาดไป

 

8. Tinkler and movement

Tinkler-and-movement

  

คลิปวิดิโอ>> https://www.youtube.com/watch?v=fdi3JdBVw5k

 

ผลที่ตามมาจากความล้มเหลวของ Tinkler ทำให้สถานะทางการเงินของ Angelus ต้องอยู่ในสภาพย่ำแย่ จนหลังจากนั้น Angelus ก็ไม่อาจฟื้นคืนมาพัฒนากลไกนาฬิกาแบบอินเฮาส์ได้อีกเลย ต้องหันไปใช้กลไกสำเร็จรูปจากผู้ผลิตรายอื่นประทังชีวิตแทนทั้ง ETA / Valjoux และในท้ายที่สุด Angelus ก็ต้องหยุดผลิตนาฬิกาจับเวลาที่ตัวเองถนัด และที่สำคัญคือต้องเลิกประกอบกิจการไปเอง ก่อนที่อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสจะต้องเข้าสู่วิกฤตินาฬิกาควอทซ์เสียอีก เรียกว่าชิงตายก่อนใครเพื่อนเลย จนกระทั่งถูกปลุกขึ้นมาใหม่เร็วๆ นี้โดยกลุ่ม Citizen

 

9. Angelus U10 Tourbillon Lumière

 Angelus การกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมการเปิดตัวครั้งแรกในงาน Baselworld 2015 ด้วย U10 Tourbillon Lumière

 

นี่ละครับ Angelus สมชื่อเทวดา (Angel) ที่ใครๆ ก็ทำอะไรไม่ได้ แต่จะตกสวรรค์ได้ก็ด้วยฝีมือตัวเองแหละ

 

Rittidej